svasdssvasds
เนชั่นทีวี

รักษ์โลก

นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน สิ่งที่หลายฝ่ายอยากเห็นจากพรรคการเมือง

13 มีนาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จะทำอย่างไร เมื่อยังไม่มีพรรคการเมืองใดเสนอนโยบายเกี่ยวกับการปรับตัวและการลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาใหญ่ของไทยที่มีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันดับที่ 9 ของโลก

รู้หรือไม่? ประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันดับที่ 9 ของโลก ตามการประเมินของ Global Climate Risk Index 

จากบทวิเคราะห์ที่ว่าด้วย “นโยบายสิ่งแวดล้อม-พลังงงาน ในการเลือกตั้ง 66” ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ผ่านบทความ ข้อเสนอสำหรับพรรคการเมืองต่อ “4 นโยบายด้านสังคม ในการเลือกตั้งทั่วไป 2566  ซึ่งรวมถึงบทวิเคราะห์ต่อนโยบายด้าน “สวัสดิการสังคม – สุขภาพ – การศึกษาพื้นฐาน” ในการเลือกตั้งครั้งที่กำลังจะมาถึง โดยคณะผู้จัดทำรายงาน บุญวรา สุมะโน (นโยบายสวัสดิการสังคม) วิโรจน์ ณ ระนอง (นโยบายด้านสุขภาพ) ณัฐวุฒิ เพิ่มจิตร (นโยบายการศึกษาระดับพื้นฐาน) และ ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์ และขจรพงศ์ ประศาสตรานุวัตร (นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน)

นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน สิ่งที่หลายฝ่ายอยากเห็นจากพรรคการเมือง

 

สะท้อนให้เห็นว่าหากลงลึกในรายละเอียดและเปรียบเทียบกับนโยบายด้านอื่นๆ ที่มีให้เห็นในทุกพรรคจากการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ อย่างนโยบายการให้สวัสดิการสังคม นโยบายด้านสุขภาพ  นโยบายการศึกษาระดับพื้นฐานแล้ว ดูเหมือนว่า “นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน” ยังคงไม่ได้รับความสนใจจากพรรคการเมืองต่างๆ มากนัก หรือถูกนำเสนอเพียงในลักษณะของนโยบายด้าน “ปากท้อง” 

ซึ่งตัวอย่างนโยบายที่หลายพรรคการเมืองนำเสนอ ได้แก่ การใช้พลังงานหมุนเวียน การขายคาร์บอนเครดิต การแก้ไขระเบียบการซื้อขายไฟฟ้า และการแก้ไขปัญหา PM2.5 เป็นต้น 

แต่นโยบายที่สำคัญและยังไม่มีพรรคการเมืองใดเสนอเลยคือ นโยบายที่เกี่ยวกับการปรับตัวและการลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะเป็นปัญหาใหญ่มากต่อประเทศไทยที่มีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันดับที่ 9 ของโลกตามการประเมินของ Global Climate Risk Index

นอกจากนี้ พรรคการเมืองก็ยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนนักในการทำให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2065 หรือ พ.ศ. 2608 ตามที่ประกาศต่อประชาคมโลก แม้จะมีบางพรรคการเมืองเสนอให้เลิกการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินภายในปี พ.ศ. 2580 หรือส่งเสริมการใช้มอเตอร์ไซค์หรือรถยนต์ไฟฟ้า (EV) มากขึ้น ซึ่งเป็นแนวนโยบายที่ดี แต่นโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็ถูกบางพรรคการเมืองลดทอนลงจนเหลือเพียงการสร้างรายได้จาก “คาร์บอนเครดิต” ของเกษตรกร ซึ่งเป็นการแปลงนโยบาย “สิ่งแวดล้อม” เป็นนโยบาย “ปากท้อง” ทั้งที่การจะสร้างรายได้ดังกล่าวให้เกิดขึ้นจริง และทำให้คุณภาพคาร์บอนเครดิตไทยสูงขึ้นนั้น จะต้องพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิตของไทยให้ได้มาตรฐานสากล ซึ่งจะต้องดำเนินการในด้านต่างๆ อีกมาก  

นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน สิ่งที่หลายฝ่ายอยากเห็นจากพรรคการเมือง

นโยบายที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่หลายพรรคการเมืองนำเสนอคือ การเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน (Energy Transition) ไปสู่การใช้พลังงานสะอาด เช่น การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าด้วยแผงโซล่าร์ หรือเลิกการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ในขณะเดียวกันก็มีหลายพรรคการเมืองเสนอนโยบายลดค่าไฟฟ้าหรืออุดหนุนค่าไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ไฟบางกลุ่ม เช่น เกษตรกร หรือแก่ประชาชนทั่วไปทั้งหมด ซึ่งอาจนำไปสู่การเพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจก หากไม่สามารถเปลี่ยนผ่านทางพลังงานได้อย่างรวดเร็วเพียงพอ  

นอกจากนี้ นโยบายการลดค่าไฟฟ้าน่าจะมีความท้าทายในทางปฏิบัติมาก เนื่องจากข้อจำกัดในปัจจุบันจากสัญญาการซื้อขายพลังงานระยะยาวจากผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชน และการสำรองไฟฟ้าของประเทศในระดับสูงมาก แม้บางพรรคการเมืองเสนอนโยบาย “รื้อโครงสร้างพลังงาน” แต่ก็ยังไม่เสนอรายละเอียด  ดังนั้นพรรคการเมืองที่เสนอนโยบาย “ลดค่าไฟฟ้า” หรือ “รื้อโครงสร้างพลังงาน” จึงควรให้รายละเอียดต่อแนวทางในการบรรลุวัตถุประสงค์ของนโยบายดังกล่าวด้วย  

ปัญหา PM2.5 เป็นปัญหาที่สำคัญ เนื่องจากก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตของประชาชนปีละกว่า 3 หมื่นคน และยังมีผลกระทบด้านสุขภาพต่อประชาชนจำนวนมาก เป็นเรื่องดีที่หลายพรรคการเมืองเสนอนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่น นโยบายในการส่งเสริมระบบขนส่งสาธารณะที่ใช้พลังงานไฟฟ้า การห้ามเผาป่าและแปลงเกษตร ซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหานี้ให้เกิดผลสำเร็จจะต้องอาศัยความร่วมมือของหลายกระทรวง ซึ่งจะเป็นเรื่องท้าทายมากในรัฐบาลผสมที่น่าจะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง พรรคการเมืองจึงควรสร้างฉันทามติร่วมกันในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมากกว่าจะแข่งขันกันทางนโยบายเหมือนในเรื่องอื่น

 

logoline