svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

พรรคการเมืองเกาหลีใต้ชูนโยบายลดชั่วโมงทำงาน เพื่อเรียกคะแนนเสียง

08 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เกาหลีใต้ขึ้นชื่อว่าเป็นหนี่งในประเทศที่พนักงานมีชั่วโมงการทำงานตลอดทั้งปีมากที่สุดในโลก และเรื่องนี้เป็นหนึ่งในประเด็นร้อนที่พรรคการเมืองแข่งขันกันชูนโยบายลดชั่วโมงทำงานเพื่อหวังเรียกคะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

ในปี 2565 ชั่วโมงการทำงานต่อคนเฉลี่ยทั้งปีในเกาหลีใต้สูงถึง 1,901 ชั่วโมง ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ถึง 149 ชั่วโมง

และการลดชั่วโมงทำงานเป็นหนึ่งในประเด็นที่มีการหาเสียงอย่างเข้มข้น ก่อนที่ชาวเกาหลีใต้จะใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 10 เมษายนนี้ พรรคการเมืองที่มีแนวคิดเสรีและหัวก้าวหน้าต่างทุ่มเทหาเสียงด้วยการให้คำมั่นลดชั่วโมงทำงานมากกว่าคำสัญญาจากพรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยม

พรรคประชาธิปไตย (DP) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลัก ให้คำมั่นว่า จะลดเวลาทำงานเหลือเพียง 4.5 วันต่อสัปดาห์ และจะออกมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการที่ปฏิบัติตามนโยบายนี้ นอกจากนี้ยังห้ามใช้ระบบ blanket wage system ซึ่งเป็นระบบการจ่ายเงินเดือนที่ไม่มีการจ่ายค่าล่วงเวลาให้พนักงาน  พรรคประชาธิปไตย (DP)

นอกจากนี้พรรคกรีน จัสทิซ (Green Justice) ซึ่งเป็นพรรคหัวก้าวหน้า เสนอนโยบายทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์  และให้วันลาหยุดประจำปีโดยได้รับค่าจ้างรวม 30 วันสำหรับผู้มีบุตรทุกคน รวมทั้งเพิ่มวันลาหยุดสำหรับพนักงานช่วงก่อนและหลังคลอดบุตร และสิทธิการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร และสัญญาเพิ่มวันลาพักร้อนที่ได้รับค่าจ้างอีก 5 วัน แก่พนักงานทุกคนด้วย

ปัจจุบันเกาหลีใต้ให้สิทธิการลาคลอดโดยได้รับค่าจ้างเฉลี่ยที่ 44.6% ของค่าจ้าง ซึ่งอยู่ในระดับรั้งท้ายเมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกอื่น ๆ ในกลุ่ม OECD

ส่วนพรรค แซมิแร (Saemirae)  ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านขนาดเล็ก มีนโยบาลลดชั่วโมงทำงานของพนักงานจาก 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เหลือเพียง 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และจะเพิ่มวันลาพักร้อนที่ได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นจาก 15 วัน เป็น 25 วัน

พรรคพลังประชาชน (PPP) ขณะที่พรรคพลังประชาชน (PPP) ซึ่งเป็นพรรรครัฐบาลไม่ได้ให้คำสัญญาเฉพาะเจาะจงว่าจะลดชั่วโมงทำงาน แต่จะเพิ่มวันลาคลอดเป็น 1 เดือน, ให้ลาหยุดเพื่อเลี้ยงดูบุตรโดยได้รับค่าจ้างจนกว่าเด็กจะมีอายุครบ 9 ขวบ และอนุญาตให้บิดาใช้วันลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรก่อนวันกำหนดคลอดได้ เพื่อหวังลดปัญหาอัตราการเกิดต่ำในประเทศ

อย่างไรก็ตามยังมีการโต้เถียงกันในสังคมว่า คำสัญญาลดชั่วโมงทำงาน และการเพิ่มวันลาพักร้อนจะเป็นจริงได้หรือไม่ และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศหรือไม่ โดยแหล่งข่าวในภาคธุรกิจ บอกว่า แต่ละอุตสาหกรรมมีความแตกต่างกัน และบางคนเตือนด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงระบบอย่างกะทันหัน อาจสร้างความวุ่นวายในตลาดแรงงาน มีการตัดลดค่าจ้างพนักงาน และบีบให้ลูกจ้างต้องหารายได้เสริม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลิตภาพของแรงงานและบริษัทด้วย

logoline