svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

ไขความลับ ทำไมเราเสพติดโซเชียลมีเดีย ด้วยทฤษฎี “โดริโท”

20 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ทฤษฎี “โดริโท” ถูกพูดถึงอย่างมากในต่างประเทศ ซึ่งทฤษฎีนี้ ช่วยอธิบายสาเหตุที่คนเราเสพติดพฤติกรรมหลายๆ อย่าง ที่มักจะเป็นพฤติกรรมที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ อย่างการเสพติดโซเชียลมีเดีย แต่ทำไมเราถึงหยุดทำสิ่งเหล่านั้นไม่ได้

“โดริโท” เป็นชื่อเรียกของขนมมันฝรั่งทอดกรอบยี่ห้อดังในสหรัฐฯ “โดริโทส” ซึ่งทฤษฎีนี้ เปรียบเทียบพฤติกรรมเสพติดอะไรบางอย่าง ว่าเหมือนกับการกินมันฝรั่งทอด ซึ่งคนกินจะมีความสุขแค่ตอนที่กำลังเคี้ยวขนมอยู่ข้างในปาก แต่เมื่อกลืนลงไปแล้ว ความสุขก็จะหายไปทันที เราจึงต้องหยิบมันขึ้นมากินต่อไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะมีความสุขต่อไป

 

ตรงนี้ แตกต่างจากการที่เราได้กินอาหารที่อร่อยและผ่านการปรุงรสมาอย่างดี เช่น สเต็ก ซึ่งแม้ว่าเราจะกินสเต็กหมดไปทั้งจานแล้ว แต่ความรู้สึกที่ดี ความอร่อย ความพึงพอใจ ยังคงอยู่กับเราต่อไปอีกนาน เราจึงไม่จำเป็นต้องกินสเต็กตลอดเวลา นานๆ ได้กิน สเต็กสักที ก็มีความสุขไปหลายวัน แตกต่างจากการกินขนมหรืออาหารอย่างอื่นที่ไม่ค่อยมีประโยชน์  เช่น น้ำอัดลม หรือ ชานมไข่มุก ที่พอดื่มหมดแก้วแล้ว ความสุขก็หายไปทันที และต้องดื่มบ่อยๆ จึงจะมีความสุข

ไขความลับ ทำไมเราเสพติดโซเชียลมีเดีย ด้วยทฤษฎี “โดริโท”

ทฤษฎี โดริโท ยังถูกใช้นำมาอธิบายสาเหตุการเสพติดโซเชียลมีเดียของคนในยุคนี้ โพสต์แต่ละโพสต์ ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ คลิปวิดีโอ หรือข้อความ ถูกออกแบบมาเพื่อมอบความสุข ความสนุก หรือความตื่นเต้นให้เราเพียงแค่ระยะเวลาสั้นๆ ทันทีที่คลิปจบ ความสนุกก็หายไปทันที ทำให้เราต้องคอยไถฟีด เพื่อดูคลิปใหม่เสมอๆ และยิ่งเราดูมากเท่าไร เราก็ยิ่งติดมากเท่านั้น หากลองนึกดู เราจะพบว่า แทบไม่มีคลิปไหนในโซเชียลมีเดียที่เราได้ดูแล้ว ทำให้เรารู้สึกมีความสุข พอใจมากพอ จนวางสมาร์ตโฟน แล้วลุกไปทำอย่างอื่นได้ แต่เรากลับรู้สึกไม่พอ และต้องคอยไถฟีดตลอดเวลา เพื่อหาความสุขความยาวไม่กี่วินาทีต่อไป

ตรงนี้ก็แตกต่างจากการดูภาพยนตร์สนุกๆ สักหนึ่งเรื่อง ที่แน่นอนว่าระหว่างการนั่งดูหนัง เราก็มีความสุข และเมื่อหนังจบไปแล้ว ความรู้สึกสนุกก็ยังอยู่กับเรา ทำให้เรารู้สึกอิ่มเอมไปได้หลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน

 

หากเรารู้สึกว่ากำลังเสพติดอะไรบางอย่าง แม้เราจะมีทางเลือกให้หยุด แต่กลับหยุดไม่ได้ ก็เป็นไปได่ว่าเรากำลังเสพติดความสุขระยะสั้นๆ อย่างที่ทฤษฎี โดริโท อธิบาย ซึ่งหากใครอยากจะหลุดจากวงจรนี้ อาจจะต้องถามตัวเองว่า “เมื่อเราทำสิ่งนั้นเสร็จแล้ว ความรู้สึกเราจะเป็นอย่างไรต่อไป?” ถ้าคำตอบคือ รู้สึกไม่ดี สิ่งนั้นที่เรากำลังทำอยู่ คงไม่ใช่สิ่งที่ดีสำหรับเรา

logoline