svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

ญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะลงทะเล แม้มีเสียงคัดค้าน

24 สิงหาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงทะเลแล้วในวันนี้ โดยคาดว่า ขั้นตอนการระบายน้ำปนเปื้อนรวมกว่า 1.3 ล้านตันอาจใช้เวลาอย่างน้อย 30 ปี

ญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะลงทะเล แม้มีเสียงคัดค้าน บริษัทโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ คอมพานี โฮลดิงส์ หรือ เทปโก (TEPCO) เจ้าของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ เริ่มปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกแล้วในเวลา 13.03 น. ของวันพฤหัสบดี (24 สิงหาคม) ตามเวลาท้องถิ่น หลังจากสภาพอากาศและทะเลเอื้ออำนวย และเบื้องต้นยังไม่พบความผิดปกติใด ๆ

บริษัท คาดว่า วันนี้จะระบายน้ำบำบัดแล้วลงทะเลราว 200-210 ลูกบาศก์เมตร และตั้งแต่วันศุกร์จะปล่อยน้ำลงสู่ทะเล 456 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยคาดว่า จะสามารถระบายน้ำได้รวม 7,800 ลูกบาศก์เมตรในช่วง 17 วัน

นอกจากนี้บริษัทตั้งเป้าระบายน้ำ 31,200 ตันต่อปี หรือราว 30 ถัง ขณะที่น้ำบำบัดแล้วมีมากเกือบ 1.34 ล้านตัน บรรจุอยู่ในถังขนาดใหญ่มากกว่า 1,000 ถัง หรือเกือบ 98% ของความสามารถกักเก็บไว้ในโรงไฟฟ้า จึงคาดว่า อาจใช้เวลาอย่างน้อย 30 ปีจึงจะระบายได้หมด

ญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะลงทะเล แม้มีเสียงคัดค้าน ขณะที่เทปโกให้ความมั่นใจว่า กระบวนการนี้อาจระงับทันที และจะมีการตรวจสอบ หากตรวจพบความผิดปกติในอุปกรณ์การระบายน้ำ หรือ ระดับความเจือจางของน้ำที่ผ่านการบำบัด บริษัทจะส่งเรือไปที่อ่าวเพื่อเก็บตัวอย่างไปตรวจสอบเพื่อให้มั่นใจว่า น้ำบำบัดแล้วเหล่านี้ได้มาตรฐานความปลอดภัยสากล และอาจเผยแพร่ข้อมูลได้อย่างเร็วสุดในวันรุ่งขึ้น

น้ำปนเปื้อนเหล่านี้เป็นน้ำหล่อเย็นแท่งเชื้อเพลิง หลังจากเกิดวิกฤตเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หลอมละลายเมื่อเดือนมีนาคม 2554 และน้ำได้รับการกำจัดสารกัมมันตรังสีเกือบหมดยกเว้น ทริเทียม จากนั้นน้ำที่บำบัดแล้วดังกล่าวถูกเจือจางด้วยน้ำทะเลด้วยความเข้มข้น 1 ต่อ 40 ตามที่ได้รับอนุญาตตามมาตรฐานของญี่ปุ่น ก่อนระบายลงสู่ทะเลผ่านอุโมงค์ใต้น้ำที่ห่างจากโรงไฟฟ้า 1 กม.

ญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะลงทะเล แม้มีเสียงคัดค้าน การกำจัดน้ำปนเปื้อนดังกล่าวเป็นขั้นตอนสำคัญของกระบวนการรื้อถอนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ และแผนการระบายน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วได้รับการรับรองความปลอดภัยและเป็นไปตามมาตรฐานสากลจากสำนักงานพลังงานปรมาณูสากล หรือ ไอเออีเอเมื่อเดือนกรกฎาคม

แต่จีนยังคงคัดค้านการปล่อยน้ำลงทะเล โดยกล่าวหาว่า ญี่ปุ่นทำสิ่งที่เป็นการเห็นแก่ตัว และเมื่อเดือนที่แล้วประกาศห้ามนำเข้าอาหารทะเลจาก 10 จังหวัด รวมถึงฟุกุชิมะของญี่ปุ่น นอกจากนี้ชาวประมงญี่ปุ่นและฟิลิปินส์แสดงความกังวลต่อความปลอดภัยของสัตว์น้ำ

ขณะที่การประมงญี่ปุ่นจะตรวจสอบความเข้มข้นของสารกัมมันตรังสีในปลาที่จับได้ในรัศมี 10 กม. รอบโรงไฟฟ้า และคาดว่า จะเผยแพร่ข้อมูลผ่านเวบไซต์ได้ไม่เกินวันเสาร์นี้

logoline