svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

"บี.กริมเพาเวอร์" ขยายอาณาจักรพลังงาน-รุกต่างประเทศ

08 พฤษภาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ฮาราลด์ ลิงค์” นักธุรกิจมหาเศรษฐีไทย ควักกระเป๋า3.39 ล้านเหรียญสหรัฐ ซื้อหุ้นพลังงานหมุนเวียนจาก ThreeEightSix Holdings Ltd. หวังขยายตลาดในตะวันออกกลาง และมีแผนลงทุนอนาคตอย่างไรบ้างนั้น ตามไปส่องกันเลย

สยายปีกการลงทุนไม่หยุด สำหรับ บมจ. บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ล่าสุดประกาศการลงทุนครั้งใหม่ รุกตลาดพลังงานสะอาดในภูมิภาคตะวัน ออกกลาง ด้วยเงินลงทุนกว่า 3.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการเข้าซื้อหุ้นจำนวน 40% ที่ออกโดย ThreeEightSix Holdings Ltd. ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่มุ่งเน้นการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมในกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานสะอาดที่มากขึ้นของภูมิภาค

จุดประกายการลงทุนครั้งนี้ เกิดจากการเล็งเห็นศักยภาพในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนของตะวันออกกลาง ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมพลังงานสะอาดในหลากหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ที่มีนโยบายเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนจาก 3.7 กิกะวัตต์ในปี 2566 เป็น 19.8 กิกะวัตต์ภายในปี 2573 (ข้อมูลจากกระทรวงพลังงานและโครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์)

เช่นเดียวกับประเทศซาอุดิอาระเบียที่มีนโยบายเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนจากต่ำกว่า 1 กิกะวัตต์ในปี 2565 เป็น 58 กิกะวัตต์ในปี 2573 (ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาโครงการพลังงานทดแทนของกระทรวงพลังงานของซาอุดีอาระเบีย) นอกจากนี้ที่น่าจับตาคือประเทศบาห์เรน ถึงแม้จะเป็นตลาดขนาดเล็ก แต่ก็มีนโยบายพลังงานหมุนเวียนที่ชัดเจน โดยมีเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 710 เมกะวัตต์ภายในปี 2578 (ข้อมูลจากหน่วยงานพลังงานที่ยั่งยืนของบาห์เรน)

\"บี.กริมเพาเวอร์\"  ขยายอาณาจักรพลังงาน-รุกต่างประเทศ

สำหรับ ThreeEightSix Holdings Ltd. มีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาและข้อตกลงการขายพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับกำลังการผลิตพลังงานไฟฟ้ารวม 33.7 เมกะวัตต์ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย และประเทศบาห์เรน แบ่งออกเป็นโครงการที่กำลังดำเนินการ 5 โครงการ มีกำลังการผลิตรวม 4.1 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและก่อสร้างอีก 10 โครงการ มีกำลังการผลิตรวม 29.6 เมกะวัตต์ โดยทั้งหมดมีเป้าหมายดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ในช่วงปี 2567-2568 ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการการใช้พลังงานหมุนเวียนที่มากขึ้น และนับเป็นการลงทุนครั้งใหม่ของ บี.กริม เพาเวอร์ ในตลาดพลังงานสะอาดของภูมิภาคตะวันออกกลางผ่านบริษัทร่วมค้า ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการลงทุนที่สำคัญในภูมิภาคตะวันออกกลางในอนาคต

หากย้อนไทม์ไลน์ของบริษัทเริ่มต้นการทำธุรกิจเป็นบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศไทย ที่ครอบคลุมทั้งในด้านการพัฒนาโครงการ  การจัดการด้านการเงิน การก่อสร้าง และการบริหารจัดการโครงการโรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างใหม่ บริษัทฯ เริ่มดำเนินธุรกิจในปี  2536 โดยเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนของประเทศไทย ในช่วงเริ่มต้นของการลงทุนเราใช้ชื่อ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด และได้มีการก่อตั้ง บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด ในเวลาต่อมา

บี.กริม เพาเวอร์ ดำเนินการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงหลายหลายชนิด ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังน้ำ รวมถึงได้ใบอนุญาตจัดหาค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper) ซึ่งเข้ามาช่วยด้านการบริหารและเสริมความมั่นคงของห่วงโซ่คุณค่าและรองรับการขยายธุรกิจในอนาคตทั้งในและต่างประเทศ

\"บี.กริมเพาเวอร์\"  ขยายอาณาจักรพลังงาน-รุกต่างประเทศ

 ปัจจุบัน บริษัทฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 4,005  เมกะวัตต์ และมีเป้าหมายที่จะได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ 10,000 เมกะวัตต์ ภายในปี   2573 และตั้งเป้าที่จะเป็นองค์กรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero Carbon Emissions) ภายในปี  2593

ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย การใช้พลังงานของโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าระดับประเทศนั้น การสร้างโรงไฟฟ้ากระจายอยู่ทั่วประเทศจะทำให้เกิดเสถียรภาพและรักษาสมดุลระหว่างความต้องการใช้พลังงานและปริมาณการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกันบริษัทฯ มีความสำคัญในการส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยการจัดหาพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำที่มีคุณภาพสูง ผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งมีส่วนช่วยลดภาระการก่อหนี้สาธารณะจากการลงทุนในระบบสาธารณูปโภคของภาครัฐลงได้

ทั้งนี้ บี.กริม เพาเวอร์ จะยังคงมุ่งหน้าตามวิสัยทัศน์ “สร้างพลังให้กับสังคมโลกด้วยความโอบอ้อมอารี” ต่อยอดชื่อเสียงและความสำเร็จในด้านการพัฒนาโครงการ การก่อสร้าง และการจัดหาแหล่งเงินทุนสำหรับโรงไฟฟ้า รวมไปถึงการให้บริการด้านพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำที่สะอาดและเชื่อถือได้ในราคาที่เหมาะสมและแข่งขันได้

บี.กริม เพาเวอร์ ได้วางยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจ Green Leap: Global and Green ภายใต้วิสัยทัศน์ สร้างพลังให้กับสังคมโลกด้วยความโอบอ้อมอารี โดยตั้งเป้าหมายในการเป็นผู้ให้บริการพลังงานและนำเสนอบริการด้านพลังงานแบบครบวงจร สร้างความสัมพันธ์กับพันธมิตรทางธุรกิจที่แข็งแกร่งระดับโลกและก้าวสู่การเป็นองค์กรที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ.2050 โดยกลยุทธ์ทั้ง 3 ด้าน ประกอบด้วย

1. INDUSTRIAL SOLUTIONS  พัฒนาระบบเครือข่ายเพื่อรองรับการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานที่หลากหลายและธุรกิจใหม่ในอนาคต 

 2. INDEPENDENT POWER PRODUCER ขยายการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน เน้นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจในหลากหลายภูมิภาค ปรับปรุงประสิทธิภาพ  

3. SUSTAINABLE FUELS จัดหาและลำเลียงก๊าซธรรมชาติ (LNG) รวมถึงเชื้อเพลิงสังเคราะห์ และ Green Hydrogen ในอนาคต เพื่อรองรับธุรกิจของ บี.กริม เพาเวอร์ รวมทั้งลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมอื่น
 

สำหรับแผนการลงทุนในประเทศนั้น บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ เซอร์วิส จำกัด (BGPS) บริษัทย่อยของ BGRIM ได้จัดตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่โดย BGPS ถือหุ้นทั้งหมดได้แก่ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ ฟิวเจอร์ โซลูชั่น จำกัด (BGPFS) ด้วยทุนจดทะเบียนจำนวน 5 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญจำนวน 50,000 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ หุ้นละ 100 บาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุนในบริษัทอื่น (Holding Company)

โดย BGPFS จะเข้าลงทุนในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับบริษัท สยามซิตี้พาวเวอร์ จำกัด (SCP) บริษัทย่อยที่บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหา ชน) หรือ SCCC ถือหุ้นทั้งหมด โดยจะจัดตั้งบริษัท อินทรี บี.กริม โซล่าร์ จำกัด (IBS) เพื่อประกอบธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 

บริษัท อินทรีบี.กริม โซล่าร์ จำกัด (IBS) จดทะเบียนจัดตั้ง ภายในไตรมาสที่สองของปี 2567 ทุนจดทะเบียน 5,000,000 บาท แบ่งออกเป็นหุ้นบุริมสิทธิจำนวน 37,500 หุ้น และหุ้นสามัญจำนวน 12,500 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท โครงสร้าง การถือหุ้น 1. BGPFS ถือหุ้นสามัญ 12,500 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 25% ของหุ้นที่ออกทั้งหมด และ 2. SCP ถือหุ้นบุริมสิทธิ 37,500 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน  75% ของหุ้นที่ออกทั้งหมด

ทั้งนี้โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ดังกล่าวมีขนาดกำลังการผลิตรวมประมาณ 80 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1,920 ล้านบาท ซึ่งเงินลงทุนในส่วนของ BGPFS  ประมาณ 480 ล้านบาท 

ขณะที่แผนการลงทุนต่างประเทศก่อนหน้านี้ได้  บริษัท บี.กริม เพาเวอร์เซอร์วิส จำกัด บริษัทย่อยที่ บี.กริม เพาเวอร์ ถือหุ้น  100% ของ หุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด  ตั้งบริษัท ย่อยแห่งใหม่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ชื่อบริษัท B.Grimm Power (Europe) AG. ทุนจดทะเบียน 250,000 ฟรังก์สวิส (เทียบเท่ามูลค่าประมาณ 10.19 ล้านบาท)    เพื่อการลงทุนในบริษัทอื่น (Holding Company)

ล่าสุดบี.กริม เพาเวอร์ เซอร์วิส จำกัด  ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่บี.กริม เพาเวอร์ถือหุ้น 100% ตั้งบริษัท BGP Holding (US) LLC โดยมีเงินลงทุน 100 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3,719.90 บาท เพื่อลงทุนในบริษัทอื่น  (Holding Company)

ผู้ถือหุ้นใหญ่ 5 อันดับแรกประกอบด้วย

1. นาย ฮาราลด์ ลิงค์  ถือหุ้น 621,389,700  หุ้น สัดส่วน 23.84%

2.UBS AG SINGAPORE BRANCH   ถือหุ้น 605,747,100 หุ้น สัดส่วน 23.24%

3. B.GRIMM POWER (SINGAPORE) PTE.LTD.   ถือหุ้น 273,502,000 หุ้น สัดส่วน  10.49%

4. บริษัท บี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้น  203,373,228 หุ้น สัดส่วน 7.80%

 5.บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด ถือหุ้น 88,313,696 หุ้น สัดส่วน 3.39%

นอกจากนี้ยังพบว่า นายฮาราลด์ ลิงค์ ถือหุ้นใน  บมจ. อมตะ วีเอ็นจำนวน 7,686,000  หุ้น สัดส่วน 0.82%    ซึ่งประกอบธุรกิจการลงทุนในบริษัทอื่น (Holding Company) โดยถือหุ้นใน  Amata City Bien Hoa Joint Stock Company (บริษัทแกน)   89.99 % ประกอบธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Amata City Bien Hoa ประเทศเวียดนาม

โดยมีรายได้จาก 1. การขายที่ดินในเขตนิคมอุตสาหกรรม เขตพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัย 2.การให้บริการเช่าโรงงานสำเร็จรูป อาคารสำนักงาน 3. การบริการสาธารณูปโภค
 

รายได้ 5 ปี

ปี 62 อยู่ที่  44,421.39 ล้านบาท

ปี 63 อยู่ที่ 44,337.67 ล้านบาท

ปี 64 อยู่ที่ 46,816.24 ล้านบาท

ปี 65 อยู่ที่ 63,247.16 ล้านบาท

ปี 66 อยู่ที่ 58,228.53 ล้านบาท

 

กำไรสุทธิ

ปี 62 อยู่ที่ 2,331.15 ล้านบาท

ปี 63 อยู่ที่ 2,174.76 ล้านบาท

ปี 64 อยู่ที่ 2,275.70 ล้านบาท

ปี 65 อยู่ที่ -1,244.08 ล้านบาท

ปี 66 อยู่ที่ 1,884.60 ล้านบาท

อัตราส่วนเงินปันผลตอบแทน 

ปี 62 อยู่ที่  0.76%

ปี 63 อยู่ที่  1.11%

ปี 64 อยู่ที่  1.06%

ปี 65 อยู่ที่  0.24%ปี 66 อยู่ที่  1.36%

จากการขยายการลงทุนธุรกิจพลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง  จึงไม่น่าแปลกใจที่ "นายฮาราลด์ ลิงค์"  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ  บมจ. บี.กริม เพาเวอร์   จะติดโผมาเป็นอันดับ 10  ของมหาเศรษฐีที่มั่งคั่งที่สุดในไทยประจำปี 2567ของฟอร์บส์ ไทยแลนด์ (Forbes Thailand) ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 2,100 ล้านดอลลาร์  หรือ 7.7 หมื่นล้านบาท  และถ้าการขยายอาณาจักรยังดำเนินต่อไป ก็มีลุ้นที่อันดับของ ฮาราลด์ ลิงค์ จะไต่ขึ้นอีกในปีต่อ ๆ ไป....

logoline