svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

เจาะดีกรีผู้ว่าแบงก์ชาติ "เศรษฐพุฒิ" ฝ่าบททดสอบฝ่ายการเมือง

07 พฤษภาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เดือดสุดในเวทีเศรษฐกิจนาทีนี้ หนีไม่พ้นประเด็น “อุ๊งอิ๊ง” ถล่มแบงก์ชาติ วิจารณ์ความเป็นอิสระ-นโยบายการเงินธปท. ภายใต้การนำของ "เศรษฐพุฒิ " กระตุ้นความสนใจคนใน-นอกวงการว่า เบื้องลึกผู้ว่าธปท. เป็นใคร ดีกรีระดับไหน ถึงมายืนแลกหมัดกับมหาอำนาจทางการเมืองได้แบบนี้

กลายเป็นประเด็นร้อนที่สังคมต่างจับตามองกันอีกครั้ง หลัง  "อุ๊งอิ๊ง- แพทองธาร ชินวัตร"  หัวหน้าพรรคเพื่อไทย  ขึ้นเวทีปราศรัยในงาน  ‘10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10’ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยได้วิจารณ์ความเป็นอิสระและการดำเนินนโยบายการเงินของ "ธนาคารแห่งประเทศไทย"   เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจสร้างแรงกระเพื่อมต่อ "นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ"  ผู้ว่าการ ธปท.อีกระลอก

หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน อยากจะปลด ผู้ว่าการ ธปท.  เหตุมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันหลายเรื่อง โดยเฉพาะโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ต้องการให้ทำเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เพื่อลดงบประมาณ และโครงการนี้ ก่อให้เกิดภาระทางการคลังจำนวนมากในระยะยาว และหากไม่สามารถรักษาเสถียรภาพภาระหนี้ภาครัฐได้ จะเพิ่มความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ เช่น เกณฑ์การประเมินของ Moody's

ขณะเดียวกันยังระบุด้วยว่าการดำเนินโครงการเติมเงินดิจิวอลเล็ตใช้วงเงินงบประมาณมูลค่าสูงทำให้ความสามารถในการดำเนินนโยบายการคลังอื่นของรัฐบาลลดลง และมีความเสี่ยงที่จะมีงบประมาณไม่เพียงพอรองรับในภาวะฉุกเฉิน พร้อมเสนอแนะว่ารัฐบาลควรพิจารณาถึงความคุ้มค่าของการนำงบประมาณ 5 แสนล้านบาท ไปใช้ลงทุนในโครงการที่จะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

โดยในวันนี้ Nation STORY พาไปทำความรู้จัก  “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ”  ผู้ว่าธปท.คนที่ 21 ให้ลึกมากขึ้น โดยมีรายละเอียดดังนี้

นายเศรษฐพุฒิ เกิดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2508 ปัจจุบันอายุ   59 ปี  และจะครบวาระตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. ในปี 2568  (ตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท.มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี ติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ)

เจาะดีกรีผู้ว่าแบงก์ชาติ \"เศรษฐพุฒิ\" ฝ่าบททดสอบฝ่ายการเมือง

ประวัติการศึกษา​

-  ปี 2529 B.A. (Highest Honors) (Economics), Swarthmore College สหรัฐอเมริกา

- ปี 2534 M.Phil. (Economics), Yale University สหรัฐอเมริกา

- ปี 2537 Ph.D. (Economics), Yale University สหรัฐอเมริกา
 

ประวัติการทำงาน

- ปี 2529 – 2531 Business Analyst, McKinsey & Co., New York สหรัฐอเมริกา

- ปี ​2541 – 2543 ผู้อำนวยการร่วม สถาบันวิจัยนโยบายการคลัง กระทรวงการคลัง

- ปี ​2535 – 2541 / ​2544 – 2547 Senior Economist, World Bank, Washington DC สหรัฐอเมริกา

- ปี 2548 – 2550 ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

- ปี 2550 – 2551 อนุกรรมการจัดการลงทุน (Investment Committee) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด

- ปี ​2551 – 2552 กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ จำกัด

- ปี 2552 – 2554 ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

- ปี ​2554 – 2555 กรรมการ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)

- ปี ​2543 – 2560 Visiting Professor of Economics สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

- ปี 2554 – ม.ค. 2561 ​กรรมการบริษัท และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิแอดไวเซอร์ จำกัด

- ปี 2555 – ก.พ. 2560 ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา

- ปี 2560 – มี.ค. 2563 กรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย

- ปี 2557 – ส.ค. 2563 กรรมการอิสระ ประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง กรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนและกรรมการบรรษัทภิบาลและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)

-ปี 2557 – ก.ย. 2563 กรรมการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

- ปี 2558 – ก.ย. 2563 กรรมการ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย

- ปี 2559 – ส.ค. 2563 กรรมการ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน)

- วันที่ 1 ต.ค. 2563 – ปัจจุบัน ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

เจาะดีกรีผู้ว่าแบงก์ชาติ \"เศรษฐพุฒิ\" ฝ่าบททดสอบฝ่ายการเมือง

นอกจากนี้ยังดำรงตำแหน่งกรรมการของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)  กรรมการในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และในคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

ดร.เศรษฐพุฒิ มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ นโยบายสาธารณะ  และตลาดการเงิน เคยดำรงตำแหน่งในธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง นอกจากนี้ ยังเคยดำรงตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการขององค์กรชั้นนำของประเทศหลายแห่ง เช่น บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) รวมถึงคณะกรรมการของธนาคารแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการนโยบายการเงินด้วย

ก่อนทำงานที่ประเทศไทยได้ทำงานที่ธนาคารโลก (World Bank) ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี และบริษัท แมคคินซีย์ แอนด์ คอมพานี ที่นิวยอร์ก หลังสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) จากวิทยาลัยสวาร์ธมอร์ และในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในสาขาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเยล

สำหรับตำแหน่งผู้ว่าการธปท.นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะเป็นผู้สรรหาและเสนอชื่อไปยังคณะรัฐมนตรี เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติรับรองจึงจะทูลเกล้าฯ ไปยังพระมหากษัตริย์เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป

คุณสมบัติผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย จะต้องมีความรู้ความสามารถในด้านเศรษฐศาสตร์และการธนาคาร มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด และต้องมีอายุน้อยกว่า 60 ปีบริบูรณ์ในวันที่ได้รับแต่งตั้ง ต้องไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของธนาคารแห่งประเทศไทย หากเคยเป็นข้าราชการเมืองหรือมีตำแหน่งในพรรคการเมือง ต้องพ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี

โดยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย มีหน้าที่กำกับดูแลนโยบายและบริหารธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเงินของประเทศ แม้โดยตำแหน่งจะต่ำกว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่ก็มีความสำคัญมาก ดังข้อความเรื่อง "ศาสตร์และศิลป์แห่งการเป็นผู้ว่าการธนาคารกลาง" ของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ว่าตำแหน่งของผู้ว่าการธนาคารชาตินี้ในทำเนียบราชการไทยเป็นตำแหน่งที่ต่ำกว่ารัฐมนตรี และเราจำเป็นที่จะต้องติดต่อกับรัฐมนตรีอยู่เฉพาะอย่างยิ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายเป็นผู้กำกับการงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ใช่เฉพาะแต่ผู้ว่าการเท่านั้น ผู้ใหญ่คนอื่นในธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย เพราะฉะนั้น การติดต่อกับรัฐมนตรีเพื่อที่จะเกลี้ยกล่อมรัฐมนตรีให้ดำเนินนโยบายอย่างใดอย่างหนึ่งที่ธนาคารเห็นสมควรก็ย่อมเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

เพราะถ้านโยบายต่าง ๆ ไม่ประสานกัน การดำเนินราชการแผ่นดินก็จะเป็นไปโดยราบรื่นมิได้ เช่น ถ้างบประมาณแผ่นดินตั้งรายจ่ายไว้เกินกำลัง จะทำให้เงินเฟ้อ ถ้าแก้ไขไม่ได้และต้องการจะรักษาเสถียรภาพไว้ ทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็จำเป็นต้องจำกัดทางด้านการเงินด้านอื่น หมายความว่าเงินที่ปล่อยให้ชาวไร่ชาวนากับพ่อค้าอุตสาหกรรมที่จะต้องน้อยลงไป จะต้องไปหดเครดิตทางธนาคารพาณิชย์ ถ้าเป็นเช่นนี้ก็อาจจะเสียหาย นี่เป็นเรื่องที่เราต้องพูดกับรัฐมนตรีแทบทุกปี

ถ้าเราไม่สามารถที่จะเกลี้ยกล่อมท่านได้ หน้าที่ของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยก็จะด้อยลงไป ความรับผิดชอบและประโยชน์ที่เราจะทำให้ก็จะเสียหายไปเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ในการที่จะติดต่อกับรัฐบาลจึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้มีความเชื่อถือให้รัฐบาลหรือบุคคลในรัฐบาลเชื่อ ถือว่าเราไม่ได้เห็นประโยชน์ของส่วนตัว ไม่ได้เห็นแก่ประโยชน์ของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่เห็นแก่ประโยชน์ของแผ่นดิน 


ด้วยบทบาทและหน้าที่การทำงานของธปท.ทำให้การทำงานระหว่างธปท.และข้าราชการการเมืองอาจมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันบ้าง แต่เชื่อว่าถ้าทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากันหรือพบกันครึ่งทางและคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งมากกว่าผลประโยชน์ทางการเมืองเชื่อว่าทุกปัญหามีทางออกและแนวทางที่ใช้จะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและภาระของประเทศในอนาคต.....

 

logoline