svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

“จุลพันธ์”สยบดรามา "เงินดิจิทัลวอลเล็ต" ปฏิเสธข่าวลือใช้งบปี 68 แทนกู้เงิน

15 มกราคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

“จุลพันธ์” เตรียมประชุมบอร์ดใหญ่ถกเงินดิจิทัลวอลเล็ตสัปดาห์นี้ ออกโรงปฏิเสธยกเลิกออก พ.ร.บ. กู้เงิน 5 แสนล้าน แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เบนเข็มใช้งบประมาณปี 68 แทน ลดวงเงินเหลือ 3 แสนล้าน

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่า คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่าน Digital Wallet ซึ่งมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลังเป็นประธาน เตรียมประชุม เพื่อยุติการออกพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท และหันมาใช้งบประมาณปี 2568 แทน พร้อมลดวงเงินเหลือเพียง 3 แสนล้านบาทว่า

ไม่เป็นความจริง  ซึ่งรัฐบาลยังมีความพยายามจะออกพ.ร.บ.กู้เงินฯ เพื่อเดินหน้าโครงการฯ ดังกล่าว ส่วนการประชุมบอร์ดชุดใหญ่จะมีขึ้นภายในสัปดาห์นี้ และข่าวที่ออกมาคงไม่ใช่เป็นคณะกรรมการที่เข้าร่วมประชุมกับตน

ทั้งนี้ที่ผ่านมามีกระแสข่าวว่า คณะอนุกรรมการฯ จะชงบอร์ดชุดใหญ่ ซึ่งมีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี  เพื่อยุติออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท และหันไปใช้งบประมาณปี 2568 แทน หลังคณะกรรม การกฤษฎีกา ได้ส่งความเห็นตอบกลับมายังกระทรวงการคลัง

 ซึ่งประเด็นสำคัญในหนังสือตอบความเห็นของกฤษฎีกา คือ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 53 มาตรา 57 มาตรา 6 มาตรา 7 และมาตรา 9 ซึ่งต้องมีความจำเป็นดำเนินการโดยเร่งด่วน และต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน ซึ่งข้อสังเกตดังกล่าว หลายฝ่ายมองว่า เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะปิดประตูไม่ให้รัฐบาลเดินหน้าโครงการ Digital Wallet 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านายจุลพันธ์ ยังคงประกาศยันยืนว่า เงินดิจิทัล Digital Wallet  จะถึงมือประชาชนตามกรอบเวลาเดิม คือ ในเดือนพฤษภาคม 2567 โดยยังไม่มีเหตุต้องให้เลื่อนออกไป

สำหรับมาตรา 6 บัญญัติว่า รัฐต้องดำเนินนโยบายการคลัง การจัดทำงบประมาณ การจัดหารายได้ การใช้จ่าย การบริหารการเงินการคลัง และการก่อหนี้ อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใสและตรวจสอบได้ ทั้งนี้ ตามหลักการรักษาเสถียรและพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และหลักความเป็นธรรมในสังคมและต้องรักษาวินัยการเงินการคลังตามที่บัญญัติในพระราชบัญญัตินี้และตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด 

มาตรา 7 บัญญัติว่า การกู้เงิน การลงทุน การตรากฎหมาย การออกกฎ หรือการดำเนินการใด ๆ ของรัฐที่มีผลผูกพันทรัพย์สินหรือก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังแก่รัฐ ต้องพิจารณาความคุ้มค่า ต้นทุน และผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐด้วย 

มาตรา 9 บัญญัติระบุว่า  คณะรัฐมนตรีต้องรักษาวินัยในกิจการที่เกี่ยวกับเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัตินี้อย่างเคร่งครัด ในการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายการคลัง การจัดทำงบประมาณ การจัดหารายได้ การใช้จ่าย การบริหารการเงินการคลัง และการก่อหนี้ คณะรัฐ มนตรีต้องพิจารณาประโยชน์ที่รัฐหรือประชาชนจะได้รับ ความคุ้มค่า และภาระการเงินการคลังที่เกิดขึ้นแก่รัฐ

รวมถึงความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างรอบคอบ คณะรัฐมนตรีต้องไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจจองประเทศและประชาชนในระยะยาว

มาตรา 53 ระบุว่า การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะและเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน

กฎหมายที่ตราขึ้นตามวรรคหนึ่ง ต้องระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้นั้น

เงินที่ได้รับจากการกู้เงินตามวรรคหนึ่ง ให้กระทรวงการคลังเก็บรักษาไว้เพื่อให้หน่วยงาจของรัฐเบิกไปใช้จ่ายตามแผนงานหรือโครงการตามที่กฎหมายกำหนดได้โดยไม่ต้องนำส่งคลัง เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา 57 บัญญัติว่า การกู้เงินตามมาตรา 53 และมาตรา 56 จะกระ ทำได้แต่เฉพาะเพื่อใช้จ่ายตามแผนงานหรือโครงการที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือสังคม และเมื่อหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นเจ้าของแผนงานหรือโครงการมีความพร้อมที่จะดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการมีความพร้อมที่จะดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการที่จะใช้จ่ายเงินกู้นั้นแล้ว

 

logoline