svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

เช็กที่นี่ ! สิทธิประโยชน์ภาษี TESG-SSF-RMF ต่างกันอย่างไร

27 พฤศจิกายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

บลจ.ขานรับนโยบายรัฐตั้งกองทุน TESG เตรียมเปิดขายธ.ค.นี้ โดยกองทุนใหม่จะมีความแตกต่างจาก SSF-RMF มากน้อยแคไหนวันนี้ “เนชั่นออนไลน์” พาไปไขคำตอบ

ดีเดย์ธ.ค.นี้ !  บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน  (บลจ.) เตรียมกดปุ่มสตาร์ทขายกองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน หรือ Thailand ESG Fund (TESG) ซึ่งเป็นกองทุนรวมที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติมจากกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF)และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) 

โดยภาครัฐหมายมั่นปั้นมือว่า กองทุนนี้จะทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าตลาดหุ้นปีละ 1 หมื่นล้านบาท  แม้ว่าการยกเว้นภาษีให้แก่ผู้ลงทุนในกองทุน TESG จะทำให้รัฐสูญรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีแรก 3,000 ล้านบาท และในปีต่อไปปีละ 10,000 ล้านบาท

แต่เมื่อคิดคำนวณผลลัพธ์แล้ว เชื่อว่าจะได้มากกว่าเสีย เพราะนอกจากเป็นการส่งเสริมการออมในระยะยาวแล้วยังเป็นการกระตุ้นให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หันมาดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG มากขึ้น สอดรับเทรนด์ของโลก และยังทำให้ตลาดหุ้นไทยลุ้นกลับมาคึกคัก จากเม็ดเงินใหม่ที่เข้ามาหนุนตลาด และการลงทุนระยะยาวของนักลงทุนด้วย

โดยกองทุนน้องใหม่นี้จะมีแตกต่างจาก SSF-RMFอย่างไร ในวันนี้ “เนชั่นออนไลน์” ได้นำข้อมูลมาเปรียบเทียบให้ดูว่าแต่ละกองทุนมีจุดเด่นอะไรบ้าง ลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่ จะมีรายละเอียดอย่างไร ตามไปดูกันเลย

 

เช็กที่นี่ ! สิทธิประโยชน์ภาษี TESG-SSF-RMF ต่างกันอย่างไร

วัตถุประสงค์แต่ละกองทุนเป็นอย่างไร

กองทุน TESG : ส่งเสริมการออมระยะยาว ผ่านการลงทุนในธุรกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืน

กองทุน SSF: หนุนการออมระยะยาว

กองทุน RMF ส่งเสริมการออมเพื่อการเกษียณ

สิทธิประโยชน์ทางภาษี

กองทุน TESG : ลดหย่อนภาษีได้ในอัตราไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาท   ในปีที่ลงทุนเริ่มปี 66-75

กองทุน SSF : ลดหย่อนภาษีได้ในอัตราไม่เกิน  30% ของเงินได้พึงประเมิน  และไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท  ในปี 63– 67 หลังจากนี้ต้องรอประกาศนโยบายของภาครัฐอีกครั้ง

กองทุน RMF : ลดหย่อนภาษีได้ในอัตราไม่เกิน  30% ของเงินได้พึงประเมิน   และไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ ในปีที่ลงทุน  (กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และประกันชีวิตแบบบำนาญ)

เช็กที่นี่ ! สิทธิประโยชน์ภาษี TESG-SSF-RMF ต่างกันอย่างไร

จำนวนเงินลงทุน    

กองทุน TESG : ไม่มีขั้นต่ำ-ไม่ต้องลงทุนทุกปี  

กองทุน SSF :  ไม่มีขั้นต่ำ-ไม่ต้องลงทุนทุกปี  

กองทุน RMF  :  ไม่มีขั้นต่ำ แต่ต้องลงทุนทุกปี  เว้นได้ไม่เกิน 1 ปี


ระยะเวลาการถือครอง

กองทุน TESG : ถือหน่วยลงทุน 8 ปีนับจากวันที่ซื้อ  

กองทุน SSF : ถือหน่วยลงทุน 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ  

กองทุน RMF:  ต้องลงทุนอย่างน้อย 5 ปีต่อเนื่อง และต้องมีอายุครบ 55 ปี ถึงจะสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้  

เป้าหมายการลงทุน 

กองทุน TESG : ลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ไทยที่เน้น ESG ( Environment  Social Governance ) หุ้นไทยจะอิง SET ESG Ratings เป็นหลักจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ได้รับการคัดเลือกจำนวน 193 บริษัท แต่ ณ ปัจจุบัน TESG ยังไม่ระบุสัดส่วนการถือหุ้นและตราสารหนี้ขั้นต่ำที่กองทุนมีนโยบายลงทุน

กองทุน SSF : ลงทุนในสินทรัพย์ทุกประเภท ( ตามนโยบายของกองทุนนั้น ๆ และตามความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ ) เช่น ตลาดเงิน ตราสารหนี้ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ สินทรัพย์ทางเลือกอาทิ ทองคำ และอสังหาริมทรัพย์ หรือจะเลือกกองทุนผสม ที่มีนโยบาลการลงทุนในหลายประเภทสินทรัพย์ได้

กองทุน RMF : ลงทุนในสินทรัพย์ได้ทุกประเภท เช่น หุ้น ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ ทั้งในหรือต่างประเทศก็ได้ ผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ตามความสามารถในการรับความเสี่ยงของตัวเอง

แม้ TESG จะเป็นอีกทางเลือกในการลงทุน ที่มีโอกาสให้ทั้งผลตอบแทน และสิทธิประโยชน์ทางภาษี แต่ก็หนีไม่พ้นหลักการที่ว่า การลงทุนมีความเสี่ยง และผู้ลงทุนควรต้องศึกษาข้อดี ข้อเสีย และความเสี่ยงให้รอบด้าน รวมทั้งเลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะกับตัวเอง เพื่อให้กองทุนนี้ เป็นตัวช่วยในการสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืน สอดรับไปกับแนวทางของ ESG  ได้อย่างแท้จริง...

 

 

logoline