svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

โลกโซเชียลสะเทือน ! สรรพากรไล่บี้ภาษีอินฟลูเอนเซอร์-ยูทูบเบอร์อ่วม

17 พฤศจิกายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

โลกโซเชียลปั่นป่วนหลัง อินฟลูเอนเซอร์ ด้านไอทีชื่อดังออกมาแชร์ประสบการณ์ถูกกรมสรรพากรเก็บภาษีย้อนหลังอ่วม ในวันนี้ “เนชั่นออนไลน์”พามาไขคำตอบว่า หากเป็นบุคคลที่ทำงานฟรีแลนซ์ รีวิวสินค้า โชว์ตัว อินฟลูเอนเซอร์ ยูทูปเบอร์ จะต้องยื่นเสียภาษีอะไรบ้าง

กลายเป็นดรามาสนั่นโซเชียล หลังจากงานเข้า เพจ “ท็อฟฟี่เป็นตุ๊ดซ่อมคอม” อินฟลูเอนเซอร์ ด้านไอทีชื่อดังออกมาแชร์ประสบการณ์หลัง โดนกรมสรรพากรเรียเก็บภาษีย้อนหลัง 2.6 ล้านบาท ทั้งที่จ่ายภาษีครบทุกปี  

ทั้งนี้จากการตรวจสอบของกรมสรรพากรระบุว่า  การที่ต้องเสียภาษีย้อนหลัง แม้ว่าจะยื่นภาษีทุกปี ส่วนหนึ่งเกิดจากรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) เข้าไปด้วย และการยื่นเสียภาษีที่ผ่านมาเจ้าของเพจ ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้ง ภ.ง.ด.90และ 91 เท่านั้น ไม่ได้ยื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม

สำหรับใครที่เจอแบบนี้ก็คงต้องช็อกเหมือนกัน  ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้ไม่ใช่ว่าจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดารา นักแสดง นักร้อง ที่มีชื่อเสียงก็ต่างก็เคยโดนกันมาทั้งนั้น แต่ทุกคนที่มีรายได้ต้องเรียนรู้กฏหมายและวิธีการป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง 

แต่ที่แน่ ๆ ใครที่ก้าวเข้าสู้การเป็นนักรีวิวสินค้า หรือ Influencer ซึ่งมีรายได้เข้ามาจากหลายช่องทาง ก็ต้องทำความเข้าใจว่า รายได้จากช่องทางเหล่านี้จะเข้าสู่การเสียภาษีรูปแบบไหนบ้าง  

โลกโซเชียลสะเทือน ! สรรพากรไล่บี้ภาษีอินฟลูเอนเซอร์-ยูทูบเบอร์อ่วม

โดยกรมสรรพากรได้ระบุไว้ว่า การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ หรือ ยูทูบเบอร์ ที่มีรายได้จากค่าตอบแทนในการทำคอนเทนต์ลงเผยแพร่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ จะต้องนำรายได้ ที่ได้รับในปีภาษีตั้งแต่ 1 มกราคม–31  ธันวาคม มายื่นแบบแสดงรายการเพื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  

- ซึ่งเงินได้ที่ได้รับนั้น จะต้องแยกว่าเป็นเงินได้ประเภทใด เช่น ถ้าทำคนเดียวไม่มีสำนักงาน ไม่มีลูกจ้าง หรือค่าใช้จ่ายใดๆ จะเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (2) หมายถึง เป็นเงินจากการรับทำงานให้ทั้งแบบประจำ หรือแบบชั่วคราว ในการยื่นแบบเพื่อคำนวณภาษีจะหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ไม่เกิน 100,000 บาท   

- ถ้าหากผู้นั้นมีรายได้ โดยมีรายจ่ายเป็นจำนวนมาก เช่น อาจจะมีรายจ่าย เช่น ช่างภาพ ช่างแต่งหน้าทำผม เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ช่างไฟ หรือ ค่าสถานที่ เป็นต้น เงินได้ประเภทนี้จะเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) ในการยื่นแบบเพื่อคำนวณภาษี จะหักค่าใช้จ่ายได้ตามที่จ่ายจริง โดยนำมีหลักฐานรายจ่ายแสดงด้วย 

- การยื่นแบบเพื่อเสียภาษีเงินได้นั้น หากเป็นคนโสด ถ้ามีเงินได้ประเภทอื่นๆ ที่ไม่ใช่เงินเดือน มีรายได้เกิน 60,000 บาท หรือกรณีมีคู่สมรสมีรายได้เกิน 120,000 บาทต่อปี จะต้องมีหน้าที่ยื่นแบบ โดยกำหนดเวลาจะเป็นช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.ในปีถัดไป

อย่างไรก็ตาม ในการคำนวณภาษีตามโครงสร้าง การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ รายได้ หักค่าใช้จ่าย หักค่าลดหย่อน หักเงินบริจาค คงเหลือเป็นเงินได้สุทธิ คูณด้วยอัตราภาษีเงินได้ ซึ่งอัตราภาษีจะคำนวณแบบขั้นบันได  

ทั้งนี้จะได้รับยกเว้น ภาษีเงินได้สุทธิ จำนวน 150,000 บาทแรก และเงินได้สุทธิตั้งแต่ 150,001-300,000 บาท จะเสียภาษี 5% เงินได้สุทธิ 300,001-500,000 บาท เสียภาษี 10% เงินได้สุทธิ 500,001-750,000 บาท อัตราภาษี 15% 

นอกจากนี้ผู้มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต)  โดยเฉพาะผู้ที่มีอาชีพอิสระ ฟรีแลนซ์ ฟลูเอนเซอร์ หรือ ยูทูบเบอร์  ทำธุรกิจร้านอาหาร   เป็นต้น

สำหรับคนที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการ หากไม่ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90, 91 หรือ 94 ภายในเวลาที่กำหนดจะต้องมีบทลงโทษ ดังนี้ 

1. ยื่นแบบภาษีทันกำหนด แต่เสียภาษีไม่ครบ   

- เสียเบี้ยปรับ 0.5 - 1 เท่า ของค่าภาษีที่ต้องจ่าย 

- เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบจนถึงวันที่จ่ายครบ 

2. ไม่ได้ยื่นแบบภาษีภายในกำหนด    

- มีโทษปรับทางอาญาสูงสุด 2,000 บาท 

- เสียเบี้ยปรับ 1 - 2 เท่า ของค่าภาษีที่ต้องจ่าย 

- เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบจนถึงวันที่จ่ายครบ 

3. เจตนาละเลยไม่ยื่นแบบภาษีภายในกำหนดเพื่อเลี่ยงภาษี   

- มีโทษปรับทางอาญาสูงสุด 5,000 บาท จำคุกสูงสุด 6 เดือน 

- เสียเบี้ยปรับ 2 เท่าของค่าภาษีที่ต้องจ่าย 

- เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบจนถึงวันที่จ่ายครบ 

4. หนีภาษี   

- มีโทษปรับทางอาญาตั้งแต่ 2,000 - 200,000 บาท จำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี 

- เสียเบี้ยปรับ 2 เท่าของค่าภาษีที่ต้องจ่าย 

- เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบจนถึงวันที่จ่ายครบ 

นายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ รองอธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยกับ "เนชั่นออนไลน์" ว่า  คนที่ประกอบอาชีพฟรีแลนซ์ รับจ้างทั่วไป กรณี รับรีวิวสินค้า พิธีกรถือว่าเป็นผู้มีรายได้ ถ้ารับงานสำหรับตัวเองต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ถ้ารับงานในนามบริษัทก็ต้องเสียภาษีนิติบุคคล  แต่กรณีของอินฟูเอ็นเซอร์ ยูทูปเบอร์อาจเข้ากรณีการให้บริการต้องมีการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ถ้ารายได้ตั้งแต่ 1.8 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป ต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มทุกเดือน 

ทั้งนี้หากไม่ได้ดำเนินการจะต้องมีเบี้ยปรับเงินเพิ่มหรือที่เรียกว่าภาษีย้อนหลัง  ดังนั้น บริษัท ห้างร้านจ่ายเงินค่าบริการจะต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งจะเป็นข้อมูลแสดงรายได้ แต่บางครั้งการยื่นเสียภาษีเป็นกระดาษการประมวลผลต้องใช้เวลานาน เพราะคนใช้บริการจำนวนมาก แต่ถ้ายื่นแบบอิเล็กทรอนิกส์จะรวดเร็วทำให้กรมฯ แจ้งได้ว่าจะต้องมีการจ่ายภาษีเพิ่มหรือไม่  

" ผู้ที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนใหญ่เป็นการรับทำงานอื่นที่ไม่ใช่งานประจำและมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี  ส่วนโทษปรับมี 2 ส่วนคือ ส่วนแรกเป็นเบี้ยปรับคิดอัตรา 1-2 เท่าของภาษี  แต่จะมีการพิจารณาเป็นรายกรณี  ซึ่งจะมีหลักเกณฑ์ในการปรับลดเบี้ยลงให้ได้  ส่วนที่สองคือเงินเพิ่ม คิดอัตรา 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย ไม่สามารถลดได้"  

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับอินฟลูเอนเซอร์กรณีตัวอย่างนี้ ถือเป็นอุทาหรณ์กับอาชีพอินฟลูเอนเซอร์ หรืออาชีพอื่น ๆ ที่มีรายได้หลากหลายช่องทาง ซึ่งนอกจากการยื่นภาษีเงินได้ ภงด.90, ภงด.91 และภงด.94 แล้ว ยังต้องดูให้ดีว่ามีรายได้ส่วนอื่นหรือไม่ และถ้ารายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องเสียแวตเพิ่มตามกฏหมาย  หากใครมีข้อสงสัย หรือไม่ชัวร์ตรงไหน ก็รีบเคลียร์หาคำตอบจากกรมสรรพากรให้สิ้นสงสัยกันไว้ก่อน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาและภาระภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มอีกในภายหลัง

logoline