svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

เงินบาทแข็ง ! ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ต่ำกว่าตลาดคาด

03 กรกฎาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 35.27 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น หลังตัวเลขเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ต่ำกว่าตลาดคาดการณ์ ขณะที่ราคาทองคำรีบาวด์ เกาะติดตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ – การเมืองในประเทศ -เงินเฟ้อไทย

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า  ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.27 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 35.45 บาทต่อดอลลาร์ หลังเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงจากรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ที่ออกมาต่ำกว่าคาด ส่วนราคาทองคำก็รีบาวด์ขึ้นทด สอบโซน 1,930 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท แม้ว่าโมเมนตัมฝั่งอ่อนค่าจะแผ่วลง แต่ควรระวังความผันผวนจากสถานการณ์การเมืองไทย ซึ่งอาจกระทบต่อทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติได้ ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า แนวต้านของเงินบาทจะอยู่ในโซน 35.75 บาทต่อดอลลาร์

ขณะที่แนวรับแรกจะอยู่ในโซน 35.15-35.25 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งหากเงินบาทแข็งค่าหลุดโซนดังกล่าวก็อาจแข็งค่าต่อทดสอบแนวรับสำคัญแถว 35.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก นอกจากนี้ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ ซึ่งยังคงเคลื่อนไหวสอดคล้องกับค่าเงินบาทพอสมควรในช่วงนี้

เงินบาทแข็ง ! ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ต่ำกว่าตลาดคาด

ส่วนเงินดอลลาร์นั้น หากยอดการจ้างงานสหรัฐฯ และการเติบโตของค่าจ้างชะลอลงกว่าคาด ก็อาจกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อได้ แต่หากออกมาตามคาดหรือดีกว่าคาดไม่มาก ก็อาจช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้เล็กน้อย เพราะตลาดก็ยังไม่มั่นใจว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ถึง 2 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและการปรับเปลี่ยนมุมมองไปมาของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายเฟด ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

ส่วนกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้อยู่ที่ระดับ 34.90-35.75 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.10-35.40 บาทต่อดอลลาร์

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลง หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าคาด โดยในสัปดาห์นี้ ควรรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ โดยเฉพาะยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Non farm Payrolls) และการเติบโตของค่าจ้าง พร้อมจับตาสถานการณ์การเมืองไทย อย่างใกล้ชิด

ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญที่อาจส่งผลต่อมุมมองผู้เล่นในตลาดต่อทิศทางดอกเบี้ยนโยบายเฟด คือ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยนักวิเคราะห์ต่างมองว่า ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อาจเพิ่มขึ้นราว 2 แสนตำแหน่ง ในเดือนมิ.ย.  ชะลอลงจากที่เพิ่มขึ้นเกือบ 3.4 แสนตำแหน่ง ในเดือนก่อนหน้า

ซึ่งการชะลอลงของการจ้างงานจะส่งผลให้อัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) อยู่ที่ระดับ +0.3%m/m หรือ +4.2%y/y ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า

ทั้งนี้หากยอดการจ้างงานออกมาสูงกว่าคาดมาก เช่น +3 แสนตำ แหน่ง หรือ อัตราการเติบโตของค่าจ้างมากกว่า +4.3%y/y ก็อาจทำให้ ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดมีโอกาสมากขึ้นที่จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุมเดือนก.ย.

โดยล่าสุด จาก CME FedWatch Tool ตลาดให้โอกาส 87% เฟดขึ้นดอกเบี้ยในเดือนก.ค. และโอกาส 21% ในการขึ้นดอกเบี้ยต่อในเดือนก.ย. ซึ่งกรณีดังกล่าวข้อมูลการจ้างงานนั้นออกมาดีกว่าคาดมาก เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้พอสมควร หากตลาดให้โอกาสเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยต่อในเดือนก.ย.ไม่น้อยกว่า 40%

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากรายงานข้อมูลตลาดแรงงาน ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (ISM Manu facturing & Services PMIs) ในเดือนมิ.ย. พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานการประชุม FOMC ล่าสุด และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในอนาคต

ยุโรป – ตลาดประเมินว่า ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนพ.ค. ของยูโรโซน อาจขยายตัว +0.2%m/m ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า หนุนโดยตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่งและตึงตัว ทว่าปัญหาเงินเฟ้อสูงจะยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันการใช้จ่ายของครัวเรือน

แม้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งยุโรปอาจมีไม่มากนัก แต่ผู้เล่นในตลาดก็จะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของทั้งสองธนาคารกลาง

เอเชีย – ตลาดคาดว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะได้แรงหนุนจากแนวโน้มภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการที่ยังคงสดใส สะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ ซึ่งสำรวจโดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (Tan kan Survey) ทั้งภาคการผลิตและภาคการบริการที่จะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องในไตรมาสที่ 2 ทั้งในส่วนธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจขนาดเล็ก-กลาง

สำหรับนโยบายการเงินในฝั่งเอเชีย ตลาดมองว่า แนวโน้มการชะลอตัวลงของทั้งภาพรวมเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ อาจทำให้ ธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) และธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ตัดสินใจ “คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย” ไว้ที่ระดับ 3.00% และ 4.10% ตามลำดับ

ไทย – คาดว่าภาคการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่องอาจส่งผลให้ ภาคการผลิตของไทยขยายตัวในอัตราชะลอลงมากขึ้น โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตในเดือนมิถุนายน อาจลดลงสู่ระดับ 56 จุด จากระดับ 58.2 จุด ในเดือนก่อนหน้า

นอกจากนี้ ความกังวลต่อแนวโน้มการส่งออก ต้นทุนภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้น อาจกดดันให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจในเดือนมิ.ย.ลดลงสู่ระดับ 49.3 จุด

อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของภาคการบริการที่ดีขึ้นต่อเนื่องจะเป็นปัจจัยที่ช่วยพยุงความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ ในส่วนรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนมิ.ย.มองว่า ผลของฐานราคาสินค้าและบริการที่อยู่ในระดับสูงในปีก่อนหน้า อาจส่งผลให้ อัตราเงินเฟ้อ CPI ชะลอลงหนักสู่ระดับ 0.04% (+0.4%m/m)

ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI อาจทรงตัวที่ระดับ 1.50% นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ควรติดตามสถานการณ์การเมืองไทยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการโหวตเลือกประธานสภาฯ ซึ่งอาจสะท้อนถึงแนวโน้มการจัดตั้งรัฐบาลว่าจะมีความล่าช้าหรือไม่

logoline