svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

เลือกตั้งหนุน "ฟันด์โฟลว์" ต่างชาติเข้าตลาดหุ้นไทยมากแค่ไหน !

13 พฤษภาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรุงศรีฯมองเลือกตั้งภายในประเทศมีปฏิกิริยาระยะสั้นต่อตลาด ประเมินกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์ไว้ที่ 33.50-34.50 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่แบงก์กรุงไทยประเมินเลือกตั้งหากเป็นไปตามผลโพลหนุนเม็ดเงินต่างชาติไหลกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยทะลัก

น.ส. รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ Nation Online ว่า  ค่าเงินบาทในสัปดาห์หน้า คาดว่าเคลื่อนไหวในกรอบ 33.50-34.50 บาทต่อดอลลาร์ ปัจจัยต่างประเทศติดตามข้อมูลยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ขณะที่ตลาดยังคงมองว่าเฟดจบการปรับขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วสำหรับวัฎจักรนี้ ส่วนปัจจัยภายในการประกาศจีดีพีไตรมาส 1/66 ของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) โดย กรุงศรีคาดจีดีพี ไตรมาส 1/66 ที่ +2.2% YOY

สำหรับการเลือกตั้งภายในประเทศจะมีปฏิกริยาระยะสั้นของตลาด ขึ้นอยู่กับ

1. เลือกตั้งผ่านพ้นเรียบร้อย ไม่มีปัญหาติดขัดเหมือนเลือกตั้งล่วงหน้า

2. จำนวน สส. เสียงแพ้ ชนะขาด จัดตั้งรัฐบาลได้เร็ว แบบนี้ตลาดจะตอบรับเชิงบวก เพราะมองว่ามีเสถียรภาพทางการเมือง

3. การผลักดันนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งถ้าหากพลิกขั้วอำนาจ คือเน้นประชานิยม ต้องดูว่าในระยะถัดสามารถทำนโยบายที่สมเหตุสมผลกับบริบทของไทยได้มากน้อยเพียงใด รวมถึงการจัดหาแหล่งเงินทุน

ส่วนการเคลื่อนไหวของสกุลเงินในภูมิภาค 1พ.ค.-12 พ.ค. พบว่า บาท-ไทยแข็งค่าสุด 0.77% รองลงมาเป็นวอน-เกาหลีใต้  0.32% ดอล ลาร์-สิงคโปร์ 0.23% ยกเว้น เปโซ-ฟิลิปปินส์อ่อน 0.79% รูเปียห์-อินโดนีเซีย  0.52%หยวน-จีน 0.47% รูปี-อินเดีย 0.36% 

ริงกิต-มาเลเซีย 0.34% ดอลลาร์-ไต้หวัน   0.05%  ดอง-เวียดนาม  0.01% โดยเงินบาทแข็งค่านำสกุลเงินภูมิภาคในเดือนนี้ จากเงินไหลเข้าพันธบัตร และธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับทองคำบางส่วน อย่างไรก็ตาม  เดือนนี้ต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 2.8 พันล้านบาท ซื้อพันธบัตรสูงถึง 5.58 หมื่นล้านบาท

เลือกตั้งหนุน "ฟันด์โฟลว์" ต่างชาติเข้าตลาดหุ้นไทยมากแค่ไหน !

 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยกับ NationOnline ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า 33.50 - 34.20 บาทต่อดอลลาร์  คาดว่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแกว่งตัว sideway ในกรอบเดิม โดยมีโซนแนวต้านแรกแถว 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนเส้นค่าเฉลี่ย EMA 50 วัน แถว 34.15-34.20 บาทต่อดอลลาร์ จะเป็นโซนแนวต้านถัดไป ขณะที่โซนแนวรับจะอยู่ในช่วง 33.50 บาทต่อดอลลาร์

ซึ่งต้องรอลุ้นผลการเลือกตั้งทั่วไปของไทยอย่างใกล้ชิด โดยหากผลการเลือกตั้งเป็นไปตามผลโพลส่วนใหญ่ อาจหนุนให้นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยเพิ่มมากขึ้น (สอดคล้องกับข้อมูลย้อนหลังในอดีตที่นักลงทุนต่างชาติจะกลับเข้ามาซื้อสุทธิหุ้นไทยในระยะ 1 เดือน หลังรับรู้ผลการเลือกตั้ง)

อย่างไรก็ดี ปริมาณธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์ เพื่อจ่ายปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงเม็ดเงินขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาดบางส่วนและธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์ของผู้นำเข้า ก็อาจช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทได้บ้าง

เลือกตั้งหนุน "ฟันด์โฟลว์" ต่างชาติเข้าตลาดหุ้นไทยมากแค่ไหน !

นอกจากนี้เงินบาทยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวไปตามทิศทางของทั้งเงินดอลลาร์ (รวมถึงสกุลเงินหลัก อย่าง เงินยูโร เงินเยนญี่ปุ่น) และราคาทองคำ ซึ่งต้องรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อาทิ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญจากฝั่งยุโรป ญี่ปุ่น อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Survey) และอัตราเงินเฟ้อ CPI ของญี่ปุ่น

รวมถึงปัจจัยการเมืองสหรัฐฯ ในประเด็นการเจรจาเพดานหนี้ (Debt Ceiling) และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ก็อาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินได้เช่นกัน

สำหรับปัจจัยในประเทศ เรามองว่า ไฮไลท์สำคัญ คือ ผลการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ ทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะในฝั่งตลาดหุ้น ได้อย่างมีนัยสำคัญ และนอกเหนือจากปัจจัยการเมืองของไทย รายงานอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรก ก็อาจส่งผลกระทบต่อทิศทางตลาดการเงินไทยได้ นอกจากนี้ควรจับตาปริมาณธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์เพื่อจ่ายปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้บ้าง

ส่วนตลาดสหรัฐฯ ตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่าน รายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนเมษายน รวมถึงรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน เพื่อประเมินภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ส่วนยุโรป ตลาดจะรอจับตารายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Survey)

ขณะที่ตลาดเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือน อาทิ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) เป็นต้น

ส่วนฝั่งญี่ปุ่น ตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของญี่ปุ่น เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)  ขณะที่ไทยผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีนี้อย่างไรก็ตาม

นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก อาทิ เฟด ECB และ BOE เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลัก นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะยังคงติดตามการเจรจาขยายเพดานหนี้ (Debt Ceiling) ของสหรัฐฯ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่กดดันบรรยากาศในตลาดการเงินได้ ส่วนของไทย ผลการเลือกตั้งทั่วไปจะเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อทิศทางของฟันด์โฟลว์ในระยะสั้น

 

logoline