svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

จับตาเฟดเคาะ "ขึ้นดอกเบี้ย"ส่งสัญญาณ "ตลาดเงิน-ตลาดทุนโลก"

30 เมษายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แบงก์กรุงศรีฯ ประเมินเงินบาทสัปดาห์หน้า 33.90-34.70 บาทต่อดอลลาร์ ตลาดคาดเฟด-อีซีบีขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนพ.ค.นี้ ขณะที่แบงก์กรุงไทยมองกรอบ 33.80 - 34.40 บาทต่อดอลลาร์ จับตาเงินเฟ้อไทยหากยังไม่ชะลอตัวอาจทำให้ธปท.เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย

น.ส. รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ Nation Online ว่า  ค่าเงินบาทในสัปดาห์หน้า คาดว่าเคลื่อนไหวในกรอบ 33.90-34.70 บาทต่อดอลลาร์  คาดธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เป็น 5-5.25% ในการประชุมวันที่ 2-3 พ.ค. โดยเชื่อว่าน่าจะเป็นการปรับขึ้นครั้งสุดท้ายของวัฎจักร อย่างไรก็ตาม ตลาดจะให้ความสนใจกับการสื่อสารและสัญญาณจากเฟดเพื่อประเมินทิศทางดอกเบี้ยต่อไป

นอกจากนี้ คาดว่าธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) จะขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.25% ในวันที่ 4 พ.ค.นี้ทางด้านข้อมูลเศรษฐกิจ ติดตามเงินเฟ้อเดือนเม.ย.ของไทย ดัชนี ISM ภาคการผลิตและภาคบริการของสหรัฐฯ ปิดท้ายด้วยการจ้างงานนอกภาคเกษตร (คาด +1.75 แสนตำแหน่งในเดือนเม.ย.)

สำหรับตลาดการเงินในประเทศเปิดทำการเพียง 2 วัน คาดธุรกรรมเบาบาง รอผลประชุมธ.กลางและตัวเลขต่างๆ ซึ่งจะออกมาช่วงคาบเกี่ยววันหยุด

ส่วนการเคลื่อนไหวของสกุลเงินในภูมิภาค 1 เม.ย.-28 เม.ย. พบว่า วอน-เกาหลีใต้อ่อนค่า 2.83% รองลงมาคือ เปโซ-ฟิลิปปินส์  2.12% ริงกิต-มาเลเซีย 1% ดอลลาร์-ไต้หวัน  0.86% หยวน-จีน 0.61% ดอล ลาร์-สิงคโปร์ 0.35% ยกเว้น รูเปียห์-อินโดนีเซียแข็งค่า 2.40%รูปี-อินเดีย 0.51% บาท-ไทย 0.10% ดอง-เวียดนาม  0.04%   

“เงินบาทเคลื่อนไหวกรอบแคบลักษณะแกว่งตัวออกด้านข้าง มีทั้งปัจจัยหนุน เช่น ราคาทองคำในตลาดโลกที่สูงขึ้น และการเกินดุลการค้าในเดือนมี.ค. อย่างไรก็ตาม ปัจจัยฉุดรั้งยังอยู่ที่กระแสเงินทุนไหลออก” อย่างไรก็ตาม เดือนเม.ย.นี้นักลงทุนต่างชาติ ขายสุทธิในหุ้น 5.1 พันล้านบาท และพันธบัตรไทย  3.4 หมื่นล้านบาท  โดยบางส่วนเกิดจากตราสารครบกำหนด

จับตาเฟดเคาะ \"ขึ้นดอกเบี้ย\"ส่งสัญญาณ \"ตลาดเงิน-ตลาดทุนโลก\"

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย  เปิดเผยกับ Nation Online ว่า มองกรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า 33.80 - 34.40 บาทต่อดอลลาร์ โดยเราคาดว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways โดยเส้นค่าเฉลี่ย EMA 50วัน แถว 34.30 บาทต่อดอลลาร์ ได้กลายมาเป็นแนวต้านแรก หลังจากที่เงินบาทได้แข็งค่าหลุดระดับดังกล่าวในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่โซนแนวรับสำคัญจะอยู่ในช่วง 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งหากเงินบาทแข็งค่าหลุดโซนดังกล่าวก็อาจแข็งค่าขึ้นทดสอบโซน 33.80 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก

ทั้งนี้เห็นว่าเงินบาทยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวไปตามทิศทางของทั้งเงินดอลลาร์และราคาทองคำ ซึ่งต้องรอลุ้นผลการประชุมเฟด รวมถึงผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) นอกจากนี้ ควรรอติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ

รวมถึงรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อาทิ ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมและอัตราการเติบโตของค่าจ้าง เป็นต้น และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ตลาดการเงินก็อาจผันผวนไปตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนได้

จับตาเฟดเคาะ \"ขึ้นดอกเบี้ย\"ส่งสัญญาณ \"ตลาดเงิน-ตลาดทุนโลก\"

สำหรับปัจจัยในประเทศ เรามองว่า ควรจับตา ทิศทางเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติทั้งตลาดหุ้นและตลาดบอนด์ ส่วนปริมาณธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์ เพื่อจ่ายปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ ก็อาจเป็นปัจจัยกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้บ้าง (คาดว่าโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคมอาจมีไม่น้อยกว่า 300 ล้านดอลลาร์)

ส่วนฝั่งสหรัฐฯ ไฮไลท์สำคัญ คือ ผลการประชุมเฟดในวันพฤหัสฯ ซึ่งจะรับรู้ในช่วง 1.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย ซึ่งเป็นวันหยุดทำการของตลาดการเงินไทย โดยผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามว่า หากเฟดขึ้นดอกเบี้ย +0.25% ตามคาดสู่ระดับ 5.25% ในการประชุมครั้งนี้ เฟดจะส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องหรือไม่ และถ้าเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณดังกล่าว เฟดจะส่งสัญญาณพร้อมคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25% ได้นานกว่าที่ตลาดคาดการณ์หรือไม่

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อาทิ ดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ รวมถึง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) และอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings)

ขณะที่ยุโรป ตลาดจะรอจับตาผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) รวมถึง รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน โดยควรระวังความผันผวนในตลาดช่วงที่ทยอยรับรู้ผลการประชุม ECB เพราะหาก ECB ส่งสัญญาณชัดเจน พร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ก็อาจหนุนให้เงินยูโร (EUR) แข็งค่าขึ้นต่อได้บ้าง ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรปก็อาจย่อตัวลง โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคฯ ยุโรป

ทางด้านเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ผ่านรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ

ส่วนไทยผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนเมษายน ซึ่งอาจส่งผลต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ โดยเฉพาะหากอัตราเงินเฟ้อไม่ได้ชะลอลงชัดเจน ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดเชื่อว่า ธปท. อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้สู่ระดับ 2% ในการประชุมเดือนพฤษภาคม รวมถึงติดตามรายงานผลประกอบการและคาดการณ์ผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน

logoline