svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

โลกเผชิญความเสี่ยงหนุน "ทองคำพุ่ง" แนะถือลงทุนลดความผันผวนพอร์ต

16 เมษายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก ทั้งวิกฤตระบบการเงินสหรัฐฯ-ยุโรป ที่ระเบิดขึ้นมาแบบไม่ทันตั้งตัว สงครามรัสเซีย -ยูเครน ยังคงยืดเยื้อ เป็นตัวบั่นทอนให้ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกเด่นชัดยิ่งขึ้น สะท้อนจากราคาทองคำที่ทำนิวไฮต่อเนื่อง แต่จะร้อนแรงต่อไปแค่ไหนไปดูกันเลย

สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาวิกฤตระบบการเงินในสหรัฐฯและยุโรป  และวิกฤตค่าครองชีพ (Cost of living crisis) จากแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังขยายวงกว้าง หนุนให้ราคาทองคำในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ดีดตัวขึ้นอย่างร้อนแรง เนื่องจากนักลงทุนหันมาถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย (safe haven assets) อย่างทองคำเพิ่มขึ้น ในช่วงเวลาที่สินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น เงินตราต่างประเทศ อสังหาริมทรัพย์ สุ่มเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะวิกฤติ

หากมองย้อนไปดูวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่ดี เช่น วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์หรือวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์เป็นวิกฤตการเงินของสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกภาวะฟองสบู่แตกในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาและการผิดชำระหนี้ของสินเชื่อซับไพรม์และสินเชื่อดอกเบี้ยลอยตัว ทองคำเป็นสินทรัพย์เดียวที่ราคาปรับขึ้นได้ราว 4% 

ขณะที่ในช่วงเกิดวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรปปี 2552-2554 ที่หลายประเทศในยุโรปไม่สามารถชำระหนี้ได้จนนำไปสู่การขอรับความช่วยเหลือทางการเงิน จากกองทุนรักษาเสถียรภาพยุโรป (EFSF) ราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้น 52%  นับตั้งแต่สิ้นปี 2552

 แต่เหตุการณ์ที่ราคาทองคำสปอตในต่างประเทศปรับตัวขึ้นร้อนแรงมากสุด จนทำ All time high เกิดขึ้นในปี 2563 ช่วงวิกฤตโควิด-19 โดยราคาต่างประเทศพุ่งแตะระดับ 2,075 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ จากราคาต่ำสุดในช่วงต้นปีนั้นที่ระดับ 1,451 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ หรือเพิ่มขึ้น 624 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ บวก 25.09%   

ขณะที่ราคาทองแท่งในประเทศปรับขึ้น 8,930 บาท จาก 21,350 บาท เป็น 30,300 บาท   หรือเพิ่มขึ้น  24.82% ภายใต้กรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในปีดังกล่าวที่ 29.75-33.18 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

หลังจากนั้นในปี 2565 ช่วงรัสเซียถล่มยูเครนมีความกังวลว่าเกิดสงครามโลก ราคาทองคำต่างประเทศก็เคลื่อนไหวใกล้สถิติสูงสุดอีกครั้ง โดยไปแตะที่ระดับ 2,070 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ซึ่งในปีที่แล้ว ถือเป็นขวบปีที่ทองคำมีความผันผวน เพราะยังเกิดปัจจัยที่เฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อ ทำให้ดอลลาร์แข็งค่า และทองคำถูกขายสลับกลับมา

ประกอบกับสงครามรัสเซีย-ยูเครนไม่ได้ขยายวงกว้างทำให้ทองถูกเทขายทำกำไร ส่งผลให้ระหว่างปีราคาร่วงลงมาแตะระดับต่ำสุด 1,614 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ขณะที่ราคาทองคำแท่งสามารถปรับขึ้นได้ เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินบาท โดยขึ้นไปแตะจุดสูงสุดที่ 31,700 บาท

สำหรับปีล่าสุด 2566 จากวิกฤตแบงก์ต่างประเทศล้ม อย่างธนาคาร Silicon Valley Bank หรือ SVB และ Signature Bank ล้มกะทันหัน ราคาทองคำต่างประเทศปรับขึ้นมาแตะ 2,009 ดอลลาร์สหรัฐ ทองแท่งขายออก 32,150 บาท  ปรับขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยช่วง 3 เดือนแรก (ม.ค.-มี.ค.) ราคาปรับขึ้น 3,200 บาท หรือเพิ่มขึ้น 7% จากราคาต่ำสุดของคำแท่ง 29,950 บาท ขณะที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น 0.35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1% กรอบการเคลื่อนไหวอยู่ที่ 32.46-35.38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

จากข้อมูลในอดีตที่ผ่านมา แม้การลงทุนในทองคำจะมีความผันผวน แต่ก็มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ และเป็นเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนที่ดีสินทรัพย์หนึ่ง ซึ่งสภาทองคำโลก (World Gold Council) ก็ออกมาระบุว่า ในช่วงที่ตลาดยังมีความผันผวนสูงอย่างในปัจจุบัน นักลงทุนควรมีทองคำติดพอร์ตการลงทุน 3-5%  เป็นอย่างน้อย เพื่อเป็นการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ให้ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งดีกว่าที่ไม่มีพอร์ตการลงทุนในทองคำเลย

นอกจากนี้ทองคำยังสามารถใช้เป็นสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อได้ เนื่องจากในยามที่เงินเฟ้อสูง ราคาทองคำก็จะขยับขึ้นด้วยและหลายๆ ครั้งที่ราคาทองคำนั้นเพิ่มขึ้นสูงกว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ 

ส่วนใครจะลงทุนในรูปแบบไหนขึ้นกับกำลังทรัพย์ และความสนใจการลงทุนว่าจะเป็นแบบระยะสั้นหรือระยะยาว ชอบที่จะเก็บเป็นทองคำแท่ง หรือทองรูปพรรณ หรืออาจจะเป็นโกลด์ฟิวเจอร์ส ก็ได้แล้วแต่ความถนัด

เพียงแต่การเข้าลงทุนทุกครั้ง คงต้องศึกษารายละเอียดอย่างรอบคอบ ทั้งภาวะตลาด และทิศทางของราคาทองคำในรูปแบบต่างๆ เพราะทุกการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง ไม่เว้นแม้แต่ทองคำ ซึ่งถูกเรียกว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย แต่ถ้าเข้าไปลงทุนไม่ถูกที่ถูกจังหวะ ก็อาจจะสร้างความเสียหายให้กับพอร์ตลงทุนได้เช่นกัน...

โลกเผชิญความเสี่ยงหนุน \"ทองคำพุ่ง\" แนะถือลงทุนลดความผันผวนพอร์ต

 

logoline