svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

ลุ้นเฟดส่งสัญญาณดอกเบี้ยชี้ชะตาตลาดเงิน-ตลาดทุนโลก

18 มีนาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แบงก์กรุงศรีอยุธยาประเมินเงินบาทสัปดาห์หน้า 33.80-34.80 บาทต่อดอลลาร์ เผยสถิติตั้งแต่ 1 มี.ค.-17 มี.ค.เงินบาทแชมป์แข็งค่ามากสุดในเอเชีย  ส่วนปัญหาวิกฤตแบงก์ยังไม่นิ่งต้องติดตามประเมินรายชั่วโมง แบงก์กรุงไทยแนะเกาะติดผลประชุมเฟดชี้ทิศทางตลาดเงิน-ตลาดทุนโลก

น.ส. รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ Nation Online ว่า  ค่าเงินบาทในสัปดาห์หน้าคาดว่าเคลื่อนไหวในกรอบ สัปดาห์หน้าให้กรอบ 33.80-34.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  ประเด็นที่ต้องติดตามคือผลประชุมธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด

โดยเราคาดว่าหากระหว่างนี้จนถึงวันตัดสินผลประชุม (22 มี.ค.) ไม่มีกระแสข่าววิกฤติสถาบันการเงินเพิ่มเติม เฟดน่าจะเลือกขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ 4.75-5.00% เพื่อสู้เงินเฟ้อต่ออีกระยะ

สำหรับโครงการเสริมสภาพคล่องให้ธนาคารที่มีปัญหา เปิดช่องให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อต่อ แต่ดอกเบี้ยปลายทางไม่น่าจะสูงเท่ากับ 5.8% ที่ตลาดเคยคาดไว้เมื่อช่วงต้นเดือนนี้ โดยดอกเบี้ยปลายทางอาจอยู่ที่ราว 5.25% (ขึ้น 0.25% อีก 2 ครั้ง)

ส่วนจะเริ่มลดดอกเบี้ยเร็วแค่ไหน ขึ้นอยู่กับลักษณะการ landing ของเศรษฐกิจด้วย ตลาดพลิกโทนไวมาก โดยรอบนี้ความผันผวนไปอยู่ที่ตลาดพันธบัตรโลก อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้สถานการณ์ยังไม่นิ่งต้องติดตามประเมินรายชั่วโมง

ทั้งนี้หากเฟดเลือกคงดอกเบี้ยเฟดอาจจะต้องส่งสัญญาณว่าจะขึ้นอีกเดือนพ.ค. คือพักเพื่อดูภาคการเงิน แต่หากลดดอกเบี้ยสัปดาห์หน้า เสี่ยงตลาดจะตื่นตระหนกว่า เฟดรู้อะไรที่ย่ำแย่มาก ๆ หรือเปล่า

ลุ้นเฟดส่งสัญญาณดอกเบี้ยชี้ชะตาตลาดเงิน-ตลาดทุนโลก

ส่วนการเคลื่อนไหวของสกุลเงินในภูมิภาค 1 มี.ค.-17 มี.ค. พบว่า บาท-ไทยแข็งค่าสุด 3.35% รองลงมาคือวอน-เกาหลีใต้  1.75 % เปโซ-ฟิลิปปินส์ 1.25% หยวน-จีน 0.92%  ดอง-เวียดนาม 0.83% ดอลลาร์-สิงคโปร์ 0.46% รูปี-อินเดีย 0.18% ริงกิต-มาเลเซีย 0.17% 

ส่วนรูเปียห์-อินโดนีเซียอ่อนค่า 0.68% ดอลลาร์-ไต้หวันอ่อนค่า 0.40% โดยเงินบาทไทยแข็งค่านำภูมิภาคในเดือนนี้ หลังจากอ่อนค่าลงถึง 7% ใน ก.พ.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้เป็นผลมาจากดอลลาร์ในตลาดโลกอ่อนค่าลง ขณะที่นักลงทุนทบทวนคาดการณ์นโยบายเฟดอีกครั้งว่าจะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวท่ามกลางความเสี่ยงด้านเสถียรภาพของระบบการเงิน นอกจากนี้เงินบาทยังได้แรงหนุนจากราคาทองคำในตลาดโลกที่พุ่งขึ้น ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯและยุโรปลดลง

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ 1 มี.ค.-16 มี.ค.นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 2.2 หมื่นล้านบาท และซื้อพันธบัตรสุทธิ 1.2 หมื่นล้านบาท

ลุ้นเฟดส่งสัญญาณดอกเบี้ยชี้ชะตาตลาดเงิน-ตลาดทุนโลก

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย  กล่าวกับ Nation Onlineว่า  ประเมินเงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ  33.80-34.50 บาทต่อดอลลาร์ (แนวโน้มแข็งค่า แต่จะผันผวนสูง ขึ้นกับผลการประชุมเฟด จับตาแนวรับสำคัญ 34.00 บาทต่อดอลลาร์)

โดยปัจจัยที่มีผลต่อค่าเงินบาทคือ การเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์ รวมถึงทิศทางราคาทองคำ ซึ่งต้องรอลุ้นผลการประชุมเฟดในสัปดาห์หน้าอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ โดยรวมเริ่มมีสัญญาณชะลอการขายลงบ้าง โดยเฉพาะในฝั่งตราสารหนี้ ที่นักลงทุนต่างชาติกลับมาเป็นฝั่งซื้อสุทธิ ขณะที่แรงขายหุ้นไทยยังคงมีอยู่ ซึ่งต้องจับตาบรรยากาศในตลาดการเงินว่าจะกลับมาเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่องได้หรือไม่ หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายกังวลปัญหาเสถียรภาพของธนาคารสหรัฐฯและยุโรป

สำหรับสหรัฐฯ ไฮไลท์สำคัญที่ต้องติดตาม คือ ผลการประชุมเฟด ซึ่งเราคาดว่าเฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย +0.25% สู่ระดับ 5.00% ทั้งนี้ ตลาดจะรอลุ้นว่าคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย หรือ Fed Dot Plot ใหม่จะสะท้อนแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอย่างไร ซึ่งหาก Dot Plot ใหม่ชี้ว่าเฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยจนถึงระดับ 5.50% หรือ สูงกว่านั้น ก็อาจช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้บ้าง

นอกจากนี้ ตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ โดย S&P Global ในเดือนมีนาคม

ส่วนยุโรปตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจผ่านรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการในเดือนมีนาคม นอกจากนี้ ตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้มากน้อยเพียงใด

ขณะที่ฝั่งเอเชียตลาดจะรอประเมินโอกาสการปรับนโยบายการเงินในอนาคตของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนกุมภาพันธ์ รวมถึงรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ

ส่วนปัจจัยกดดันให้ตลาดการเงินผันผวน คือ แนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของเฟด รวมถึง ความกังวลปัญหาในระบบธนาคารสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งล่าสุด ผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายกังวลปัญหาระบบธนาคารสหรัฐฯ และยุโรป

นอกจากนี้การประกาศยุบสภาเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม ซึ่งช่วยลดความไม่แน่นอนของการเมืองไทย ก็อาจช่วยหนุนให้ผู้เล่นต่างชาติเริ่มกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นได้ อย่างไรก็ดี เรามองว่าผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่รีบเพิ่มการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงมากนัก จนกว่าจะรับรู้ผลการประชุมเฟด  อย่างไรก็ตาม คาดว่านักลงทุนซื้อหุ้นไทยสุทธิ 1-2 พันล้านบาท

ขณะที่ตลาดบอนด์นั้นเรามองว่า นักลงทุนต่างชาติอาจยังไม่รีบซื้อบอนด์ไทยมากขึ้น จนกว่าจะรับรู้ผลการประชุมเฟด อย่างไรก็ดี ผู้เล่นต่างชาติบางส่วนอาจทยอยเพิ่มสถานะถือครองบอนด์ระยะสั้น เพื่อลุ้นโอกาสเงินบาทแข็งค่าในระยะสั้นได้ โดยประเมินว่านักลงทุนซื้อบอนด์สุทธิ 2 พันล้านบาท

 

logoline