svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

เงินบาทสัปดาห์หน้าผันผวนแค่ไหน ! หลังเผชิญวิกฤตระบบธนาคารสหรัฐฯ -ยุโรป

26 มีนาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แบงก์กรุงไทยประเมินเงินบาทสัปดาห์หน้าผันผวน จับตาเสถียรภาพของระบบธนาคารฝั่งสหรัฐฯ-ยุโรป -เงินเฟ้อสหรัฐฯ  ขณะที่แบงก์กรุงศรีฯ คาดกนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เปิดสถิติ 1 มี.ค.-24 มี.ค. เงินบาทแข็งค่าสุดนำโด่งภูมิภาค

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย  เปิดเผยกับ Nation Online ว่า เงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ 33.85 - 34.50 บาทต่อดอลลาร์  โดยแนวโน้มแกว่งไซด์เวย์ จับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ และ ปัญหาเสถียรภาพของระบบธนาคารฝั่งสหรัฐฯ รวมถึงยุโรป 

สำหรับปัจจัยที่ต้องจับตาสำหรับทิศทางเงินบาท คือ การเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์ รวมถึงทิศทางราคาทองคำ ซึ่งต้องรอลุ้นทั้งรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ รวมถึงบรรยากาศในตลาดการเงิน หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มกังวลต่อเสถียรภาพของระบบธนาคารในฝั่งยุโรป  โดยราคาหุ้น Deutsche Bank รวมถึงราคาหุ้นกลุ่มธนาคารยุโรป ต่างปรับตัวลงต่อเนื่อง 

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ว่าจะมีมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยอย่างไร รวมถึง กนง. จะส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้หรือไม่ ส่วนปัจจัยฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ โดยรวมพบว่า เริ่มมีสัญญาณชะลอการขายหุ้นลงชัดเจนขึ้น

ส่วนในฝั่งตราสารหนี้ นักลงทุนต่างชาติกลับมาเป็นฝั่งซื้อสุทธิในระยะหลัง แต่ส่วนใหญ่อาจเป็นการซื้อบอนด์ระยะสั้น เพื่อเก็งกำไรค่าเงิน ทั้งนี้ ในช่วงปลายเดือนก็อาจมีโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้ส่งออก รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมช่วงปิดปีงบประมาณของบรรดาบริษัทข้ามชาติญี่ปุ่น (Japanese MNCs) ซึ่งอาจช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาท หรือ กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้บ้าง

สำหรับฝั่งสหรัฐฯ ไฮไลท์สำคัญที่ต้องติดตาม คือ อัตราเงินเฟ้อ PCE ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งหากอัตราเงินเฟ้อ ชะลอลงชัดเจน ก็มีโอกาสที่เฟดอาจไม่จำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยไปไกลมากนัก นอกจากนี้ ตลาดจะรอติดตามรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดย Conference Board รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต

 

 

เงินบาทสัปดาห์หน้าผันผวนแค่ไหน ! หลังเผชิญวิกฤตระบบธนาคารสหรัฐฯ -ยุโรป

ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจผ่านรายงานดัชนี ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนีโดย Ifo (Ifo Business Climate) นอกจากนี้ ตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้ง ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และ ธนาคารกลางยุโรป (ECB)

ทางฝั่งเอเชีย ตลาดจะรอประเมินภาพรวมเศรษฐกิจญี่ปุ่นผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนกุมภาพันธ์ ส่วนในฝั่งไทย ไฮไลท์สำคัญที่ต้องติดตาม คือ ผลการประชุมคณะกรรม การนโยบายการเงิน (กนง.) ว่าจะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย +0.25% สู่ระดับ 1.75% และส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องได้หรือไม่ (เราคาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะแตะระดับสูงสุดที่ 2.00%)

โดยต้องจับตาการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยของแบงก์ชาติ ซึ่งเรามองว่า กนง. มีโอกาสคงอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP growth) ไว้ที่ระดับ +3.7%y/y ตามการปรับคาดการณ์การบริโภค การท่องเที่ยวที่ดีขึ้น ขณะที่ กนง. อาจปรับประมาณการยอดการส่งออกลดลง ตามภาพการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ

สำหรับปัจจัยกดดันให้ตลาดการเงินยังคงผันผวน คือ ความกังวลปัญหาในระบบธนาคารสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งล่าสุด  ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลต่อปัญหาดังกล่าวอยู่ สะท้อนผ่านการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มธนาคาร โดยหากตลาดการเงินกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) แรงขายหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติก็อาจยังพอมีอยู่บ้าง

แต่เราประเมินว่า แรงขายหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติอาจชะลอลงต่อเนื่อง และนักลงทุนต่างชาติอาจกลับมาเป็นฝั่งซื้อสุทธิได้บ้างในช่วงปลายสัปดาห์หน้า มองซื้อหุ้นสุทธิ 1-2 พันล้านบาท

ส่วนบอนด์เรามองว่านักลงทุนต่างชาติอาจยังไม่รีบซื้อบอนด์ไทย โดยเฉพาะบอนด์ระยะยาวมากนัก เนื่องจากระดับยีลด์ปัจจุบันถือว่าไม่ได้สูงจนน่าสนใจ โดยเฉพาะหากแบงก์ชาติส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ผู้เล่นต่างชาติบางส่วนอาจทยอยเพิ่มสถานะถือครองบอนด์ระยะสั้น เพื่อลุ้นโอกาสเงินบาทแข็งค่าในระยะสั้นได้   โดยประเมินต่างชาติซื้อบอนด์สุทธิ 1-2 พันล้านบาท

เงินบาทสัปดาห์หน้าผันผวนแค่ไหน ! หลังเผชิญวิกฤตระบบธนาคารสหรัฐฯ -ยุโรป

น.ส. รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวกับ Nation Online ว่า  ค่าเงินบาทในสัปดาห์หน้าคาดว่าเคลื่อนไหวในกรอบ  33.75-34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  โดยปัจจัยที่ต้องติดตามคือรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ  

การประชุมณะกรรมการนโยบายการเงินหรือกนง.วันที่ 29 มี.ค.นี้คาดว่า ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เป็น 1.75%  แต่อาจมีมติไม่เป็นเอกฉันท์เพื่อส่งสัญญาณว่าอาจพิจารณาหยุดขึ้นในรอบถัดไป ขณะเงินเฟ้อไทยมีแนวโน้มเข้าสู่กรอบเป้าหมายช่วงกลางปี อย่างไรก็ตาม กรุงศรีมองสิ้นปีนี้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 1.75% และจีดีพีไทยเติบโต 3.3% ในปีนี้

ส่วนการเคลื่อนไหวของสกุลเงินในภูมิภาค 1 มี.ค.-24 มี.ค. พบว่า บาท-ไทยแข็งค่าสุด 3.66% รองลงมาคือวอน-เกาหลีใต้  2.57 % เปโซ-ฟิลิปปินส์ 1.96% ดอลลาร์-สิงคโปร์ 1.55% ริงกิต-มาเลเซีย 1.38% หยวน-จีน  1.30% ดอง-เวียดนาม  1.18% รูปี-อินเดีย 0.51%  รูเปียห์-อินโดนีเซีย  0.41% ดอลลาร์-ไต้หวัน  0.34%  

สำหรับเดือนมี.ค.นี้ เงินบาทแข็งค่านำภูมิภาค ขณะที่ตลาดมองว่าสหรัฐฯใกล้จะยุติวัฎจักรการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว โดยการสื่อสารล่าสุดของเฟดบ่งชี้ว่ายังต้องคุมเงินเฟ้อ แต่ระมัดระวังต่อความเสี่ยงในภาคธนาคารมากขึ้น กดดันค่าเงินดอลลาร์ในตลาดโลกให้อ่อนลง นอกจากนี้เงินบาทยังได้แรงหนุนจากการที่บอนด์ยิลด์สหรัฐฯดิ่งลง ซึ่งทำให้ราคาทองคำในตลาดโลกพุ่งขึ้น กระตุ้นการส่งออกของกลุ่มผู้ค้าทองในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่  1-23 มี.ค. ต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 2.9 หมื่นล้านบาท แต่มียอดซื้อพันธบัตรสุทธิ 1.3 หมื่นล้านบาท

เงินบาทสัปดาห์หน้าผันผวนแค่ไหน ! หลังเผชิญวิกฤตระบบธนาคารสหรัฐฯ -ยุโรป

 

logoline