svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

ทำไม ! เงินบาทแชมป์แข็งค่านำโด่งภูมิภาค

11 มีนาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แบง์กรุงศรีฯ ประเมินเงินบาทสัปดาห์หน้า 34.60-35.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เผยสถิติตั้งแต่ 1 มี.ค. -10 มี.ค. เงินบาทแข็งค่าสุดในภูมิภาค 0.90% รองลงมาเป็นรูปี-อินเดีย ขณะที่แบงก์กรุงไทยมองแนวโน้มเงินบาทแกว่งไซด์เวย์อัพ  เกาะติดเงินเฟ้อเดือนก.พ.สหรัฐฯ-ลุ้นผลประชุมอีซีบี

น.ส. รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ Nation Online ว่า  ค่าเงินบาทในสัปดาห์หน้าคาดว่าเคลื่อนไหวในกรอบ 34.60-35.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ติดตามดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.พ.ของสหรัฐฯ (คาด +6.0%) ซึ่งเป็นอัตราที่ชะลอลงจากเดือนม.ค. รวมถึงยอดค้าปลีกสหรัฐฯ และผลการประชุมดอกเบี้ยธนาคารกลางยุโรป

ส่วนการเคลื่อนไหวของสกุลเงินในภูมิภาค 1มี.ค.-10 มี.ค. พบว่า บาท-ไทยแข็งค่าสุด 0.90% รองลงมาคือ รูปี-อินเดีย 0.78% ดอง-เวียดนาม 0.40% เปโซ-ฟิลิปปินส์ 0.35% ยกเว้นรูเปียห์-อินโดนีเซียอ่อนค่า 1.29% รองลงมาคือ ดอลลาร์-ไต้หวัน 1.25% ริงกิต-มาเลเซีย 0.72% ดอลลาร์-สิงคโปร์ 0.48% หยวน-จีน 0.42% วอน-เกาหลีใต้  0.11 %

โดยเงินบาทแข็งค่าที่สุดในเดือนมี.ค.นี้  หลังจากอ่อนค่าที่สุดในเดือนก.พ. เป็นผลมาจากความผันผวนสูงจากปัจจัยภายนอก เช่น แนวโน้มดอกเบี้ยเฟด และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ 1-9 มี.ค. ต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 1.1 หมื่นล้านบาท  ซื้อพันธบัตรสุทธิ  8.7 พันล้านบาท

ทำไม ! เงินบาทแชมป์แข็งค่านำโด่งภูมิภาค

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย  กล่าวกับ Nation Online  ว่า มองกรอบเงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ 34.50-35.25  ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์  โดยแนวโน้ม sideways UP จับตาแนวต้านแรก 35.25 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อค่าเงินบาทคือ การเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์ รวมถึงทิศทางราคาทองคำ เนื่องจากปริมาณการซื้อขายทองคำยังมีผลกระทบต่อเงินบาทพอสมควร

นอกจากนี้ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ เริ่มเป็นภาพขายสุทธิที่ชะลอลง โดยฟันด์โฟลว์ในฝั่งบอนด์เริ่มกลับมาเป็นฝั่งซื้อสุทธิ โดยเฉพาะในส่วนของบอนด์ระยะสั้น อย่างไรก็ดี ฟันด์โฟลว์หุ้นยังมีความเสี่ยงที่จะเป็นทิศทางไหลออกสุทธิอยู่บ้าง

ส่วนสหรัฐฯ ไฮไลท์สำคัญที่ต้องติดตาม คือ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่อาจกระทบต่อการตัดสินใจปรับดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในการประชุมเดือนมีนาคมได้ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่าน รายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนกุมภาพันธ์ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน ซึ่งข้อมูลที่น่าสนใจ คือ คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะสั้นและระยะกลาง

ขณะที่ฝั่งยุโรป ตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งตลาดมองว่า ECB อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก +0.50% สู่ระดับ 3.00% (Deposit Facility Rate)

ทางฝั่งเอเชียตลาดจะจับตาภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนหลังการผ่อนคลายมาตรการ Zero COVID ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือน อาทิ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) และยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production)

สำหรับปัจจัยกดดันให้ตลาดการเงินยังคงผันผวน คือ ความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งจะขึ้นกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ทำให้ ผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่รีบเพิ่มสถานะการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง

อย่างไรก็ดี ในเชิงเทคนิคัล ดัชนี SET แม้จะอยู่ในช่วงปรับฐาน แต่เริ่มมีโอกาสเกิดสัญญาณ RSI Bullish Divergence ซึ่งอาจชี้ว่าดัชนีมีโอกาสกลับตัวหรือเริ่มแกว่งตัว sideways ทำให้ แรงขายหุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติอาจเริ่มชะลอลงได้ คาดว่าต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 1-2 พันล้านบาท

ส่วนบอนด์นักลงทุนต่างชาติอาจไม่รีบปรับสถานะการถือครองบอนด์ไทยมากนัก จนกว่าจะรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้โดยรวมฟันด์โฟลว์ไม่ได้มีทิศทางที่ชัดเจน แต่เรามองว่า นักลงทุนต่างชาติจะเริ่มชะลอการขาย และอาจรอจังหวะกลับเข้าซื้อ โดยเฉพาะบอนด์ระยะสั้น หากเงินบาทอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านสำคัญ 35.25-35.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยประเมิน ซื้อบอนด์สุทธิ 1-2 พันล้านบาท

logoline