svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

เงินบาทจ่อทะลุ 35 บาทต่อดอลลาร์เกิดจากสาเหตุอะไร

26 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เงินบาทเดินหน้าอ่อนค่าเดือนก.พ.สูงถึง 5.2% รองจากวอนเกาหลีใต้ แบงก์กรุงศรีฯมองกรอบสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหว 34.40-35.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เกาะติดดัชนีภาคการผลิต-ภาคบริการ ขณะที่แบงก์กรุงไทยประเมินกรอบไว้ที 34.50 - 35.15 บาทต่อดอลลาร์

น.ส. รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ Nation Online ว่า  เงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ  34.40-35.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ติดตามดัชนี ISM ภาคการผลิต และภาคบริการ เดือนก.พ.ของสหรัฐฯ ข้อมูลภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนม.ค. กระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย และความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ

ส่วนการเคลื่อนไหวของสกุลเงินในภูมิภาค 1 ม.ค.-23 ธ.ค. พบว่า วอน-เกาหลีใต้อ่อนค่ามากสุด 5.43% รองลงมาคือบาท-ไทย 5.21%  ริงกิต-มาเลเซีย 3.61% หยวน-จีน 2.45% ดอลลาร์-สิงคโปร์ 2.18%รูเปียห์-อินโดนีเซีย 1.50% ดอง-เวียดนาม 1.48% ดอลลาร์-ไต้หวัน 1.43% รูปี-อินเดีย 0.99%   และเปโซ-ฟิลิปปินส์ 0.45%

สำหรับเงินบาทเดือนก.พ.อ่อนค่ามากถึง 5.2% เป็นรองเพียงเงินวอนเกาหลีใต้ เกิดจากกระแสเงินทุนไหลออก หลังสหรัฐฯรายงานข้อมูลจ้างงาน เงินเฟ้อ และยอดค้าปลีกสูงเกินคาด ทำให้ตลาดปรับเพิ่มมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐฯ  

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่1-23 ก.พ. นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 3.2 หมื่นล้านบาทและพันธบัตร 6.5 หมื่นล้านบาท  

เงินบาทจ่อทะลุ 35 บาทต่อดอลลาร์เกิดจากสาเหตุอะไร

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยกับ Nation Online ว่า   สัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทอ่อนค่าสุดที่ระดับ 34.90 บาทต่อดอลลาร์  และเคลื่อนไหวต่ำสุดที่ 34.63 บาทต่อดอลลาร์   โดยฟันด์โฟลว์หรือเม็ดเงินลงทุนทั้งสัปดาห์มีการขายหุ้นไทยสุทธิ 1.93 หมื่นล้านบาท  และขายบอนด์สุทธิ 5 พันล้านบาท

สำหรับสัปดาห์หน้ามองกรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า 34.50 - 35.15 บาทต่อดอลลาร์ (มีโอกาสอ่อนค่าทดสอบแนวต้านได้) โดยปัจจัยที่ต้องจับตาสำหรับทิศทางเงินบาท คือ การเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์ รวมถึงทิศทางราคาทองคำ เนื่องจากปริมาณการซื้อขายทองคำยังมีผลกระทบต่อเงินบาทพอสมควร

นอกจากนี้ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ โดยล่าสุด จะเห็นได้ว่า นักลงทุนต่างชาติยังคงเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทยอย่างต่อเนื่อง และหากยังไม่เห็นโอกาสที่เงินบาทจะพลิกกลับมาแข็งค่าได้ชัดเจน นักลงทุนต่างชาติก็อาจจะยังไม่รีบเข้าซื้อสินทรัพย์ไทย

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่าน 1. รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ โดย ISM (Manufacturing & Services PMIs) และ 2. ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินมุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และทิศทางนโยบายการเงินของเฟด

ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดจะรอประเมินทิศทางของอัตราเงินเฟ้อยูโรโซน CPI ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB)

ทางฝั่งเอเชีย ตลาดจะรอติดตามภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (Manufacturing & Services PMIs) ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งคาดว่า อานิสงส์ของการเปิดประเทศอาจช่วยหนุนให้ภาคการบริการของจีนกลับมาขยายตัวในอัตราเร่งขึ้น

นอกจากนี้ เรามองว่า ปัจจัยความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ สงครามรัสเซีย-ยูเครนก็อาจเป็นสิ่งที่สามารถกดดันบรรยากาศในตลาดการเงินได้ หากสถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม บรรยากาศในตลาดการเงินเริ่มกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) และดัชนีหุ้นไทยก็ยังคงอยู่ในช่วงปรับฐาน โดยเฉพาะในจังหวะที่เงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนต่างชาติอาจยังไม่รีบซื้อหุ้นไทยกลับ มองขายหุ้นสุทธิ 5,000 ล้านบาท

ส่วนบอนด์แรงขายบอนด์จากนักลงทุนต่างชาติอาจเริ่มชะลอลง อย่างไรก็ดี นักลงทุนต่างชาติอาจยังไม่รีบกลับเข้ามาซื้อบอนด์ไทย จนกว่าจะเห็นสัญญาณการกลับมาแข็งค่าขึ้นที่ชัดเจนของเงินบาท หรือ ทิศทางบอนด์ยีลด์ในฝั่งสหรัฐฯ เริ่มทรงตัวหรือย่อตัวลงได้บ้าง โดยประเมินขายบอนด์สุทธิ 5,000 ล้านบาท

เงินบาทจ่อทะลุ 35 บาทต่อดอลลาร์เกิดจากสาเหตุอะไร

 

logoline