svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

เงินบาทอ่อน ! ต่างชาติทิ้งหุ้นไทย-พันธบัตร 7.2 หมื่นล้าน

19 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เงินบาทอ่อนค่ารั้งอันดับ 2 รองจากเกาหลีใต้ หลังจากตลาดคาดการณ์ดอกเบี้ยสหรัฐฯ จะปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่แบงก์กรุงศรีฯ มองกรอบเคลื่อนไหว 34.20-34.80 บาทต่อดอลลาร์ แบงก์กรุงไทยแนะเกาะติดเงินเฟ้อ-ถ้อยแถลงเจ้าหน้าที่เฟดต่อเศรษฐกิจ-นโยบายการเงิน

น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ Nation Online ว่า เงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ 34.20-34.80 บาทต่อดอลลาร์ ติดตามรายงานประชุมธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด และดัชนีราคาค่าใช้จ่ายบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (core PCE) เดือน ม.ค. ของสหรัฐฯ เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายเฟดต่อไป

ส่วนการเคลื่อนไหวของสกุลเงินในภูมิภาค 1 ก.พ.-17 ก.พ. พบว่าเงินวอน-เกาหลีใต้อ่อนค่ามากสุด 5.29 % รองลงมาคือบาท-ไทย 4.45% ริงกิต-มาเลเซีย 3.52% ดอลลาร์-สิงคโปร์ 1.90% หยวน-จีน 1.74% ดอง-เวียดนาม 1.37% รูเปียห์-อินโดนีเซีย 1.34% เปโซ-ฟิลิปปินส์ 1.15% ดอลลาร์-ไต้หวัน 1.12% และรูปี-อินเดีย  1.01%    

เงินบาทอ่อน ! ต่างชาติทิ้งหุ้นไทย-พันธบัตร 7.2 หมื่นล้าน

สำหรับค่าเงินบาทที่อ่อนค่า 4.45% ในเดือนนี้ เป็นผลมาจากตลาดทบทวนคาดการณ์ดอกเบี้ยสหรัฐฯสูงขึ้น หลังข้อมูลจ้างงาน เงินเฟ้อ และยอดค้าปลีก เดือน ม.ค. ของสหรัฐฯสูงเกินคาด กระตุ้นกระแสเงินทุนไหลออก นักลงทุนปรับสถานะ ทำกำไรหลังจากเงินบาทในเดือนม.ค.แข็งค่าอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ในเดือนนี้นักลงทุนต่างชาติพลิกกลับมาขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 1.6 หมื่นล้านบาท และพันธบัตรไทย 5.6 หมื่นล้านบาท  อย่างไรก็ตาม คาดว่าการอ่อนค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาทอาจชะลอลง เนื่องจากตลาดได้ปรับคาดการณ์ดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับมุมมองของเฟดมากขึ้นแล้ว

ขณะเดียวกันในระยะกลาง เรายังมองว่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย โดยที่รายได้ภาคท่องเที่ยวจะช่วยประคองเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการซึมลงของภาคส่งออกตามทิศทางการค้าโลก

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย กล่าวกับ Nation Online ว่า  มองกรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า 34.25 - 34.85 บาทต่อดอลลาร์  โดยปัจจัยที่ต้องจับตาสำหรับทิศทางเงินบาท คือ การเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์ รวมถึงทิศทางราคาทองคำ เนื่องจากปริมาณการซื้อขายธุรกรรมเทรดทองคำยังมีผลกระทบต่อเงินบาทพอสมควรในสัดส่วน 80%

นอกจากนี้ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ และ มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มเงินบาท ที่อาจมีผลต่อการปรับสถานะ Long USD THB (ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่เริ่มมองเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าต่อได้) โดยล่าสุดจะเห็นได้ว่า นักลงทุนต่างชาติยังคงเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทยอย่างต่อเนื่อง และหากยังไม่เห็นโอกาสที่เงินบาทจะพลิกกลับมาแข็งค่าได้ชัดเจน นักลงทุนต่างชาติก็อาจจะยังไม่รีบเข้าซื้อสินทรัพย์ไทย

เงินบาทอ่อน ! ต่างชาติทิ้งหุ้นไทย-พันธบัตร 7.2 หมื่นล้าน

ขณะที่สหรัฐฯ ธีมสำคัญที่มีผลกับตลาดในช่วงนี้ คือ การปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด และหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจออกมาดีกว่าคาด หรือ เงินเฟ้อสูงกว่าคาด ก็จะทำให้ ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลว่าเฟดอาจต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง

ซึ่งไฮไลท์สำคัญที่ควรจับตา คือ 1. รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ในเดือนม.ค. 2. รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ โดย S&P Global (Manufacturing & Services PMIs) และ 3. ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงรายงานการประชุมเฟดล่าสุด (FOMC Meeting Minutes) เพื่อประเมินมุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และทิศทางนโยบายการเงินของเฟด

ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรป ผ่าน  รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (Manufacturing & Services PMIs) ของยูโรโซน และ อังกฤษ นอกจากนี้ ตลาดจะรอจับตา สัญญาณเศรษฐกิจเยอรมนี ผ่าน ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (IFO Business Climate) และดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Survey)

ขณะที่เอเชียตลาดจะรอติดตามภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาห กรรมและภาคการบริการ (Manufacturing & Services PMIs) ทั้งนี้ ในฝั่งนโยบายการเงิน ตลาดจะรอติดตาม ผลการประชุมของธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) และ ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK)  ซึ่งตลาดมองว่า ทั้งสองธนาคารกลางอาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง เพื่อคุมให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงกลับสู่เป้าหมายให้สำเร็จ

นอกจากนี้รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนทั่วโลกก็จะมีผลกระทบต่อทิศทางตลาดการเงินในระยะสั้นได้ โดยหากผลประกอบการส่วนใหญ่ออกมาแย่กว่าคาด ก็อาจกดดันให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะขายทำกำไรการปรับตัวขึ้นร้อนแรงของตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมาได้

สำหรับบรรยากาศในตลาดการเงินเริ่มกลับมาอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในจังหวะที่เงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนต่างชาติอาจยังไม่รีบซื้อหุ้นไทยกลับ ทั้งนี้ แรงขายหุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติอาจเริ่มชะลอลงได้บ้าง หลังดัชนี SET50 ได้ย่อตัวลงใกล้โซนแนวรับสำคัญ

ส่วนบอนด์เรามองว่า แรงขายบอนด์จากนักลงทุนต่างชาติอาจเริ่มชะลอลงบ้าง หลังนักลงทุนต่างชาติได้ขายต่อเนื่อง จนสถานะล่าสุดเป็นฝั่งขายสุทธิกว่า -3.4 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ดี นักลงทุนต่างชาติอาจยังไม่รีบกลับเข้ามาซื้อบอนด์ไทย จนกว่าจะเห็นสัญญาณการกลับมาแข็งค่าขึ้นที่ชัดเจนของเงินบาท หรือ บอนด์ยีลด์ระยะยาวมีการปรับตัวขึ้นอีกครั้ง  

เงินบาทอ่อน ! ต่างชาติทิ้งหุ้นไทย-พันธบัตร 7.2 หมื่นล้าน

 

logoline