svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

TDRI จี้รัฐบาล 'ทบทวน' โครงการแจกเงินดิจิทัล

20 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ประธานทีดีอาร์ไอห่วงแจกเงินดิจิทัลกระทบวินัยการคลัง เสี่ยงหนี้สาธารณะพุ่งสูง ฉุดอันดับความน่าเชื่อถือประเทศ แนะรัฐบาลปลดล็อกประเทศแก้กฎระเบียบ กโยตินกฎหมาย ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ การค้าการลงทุน

ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ดร.สมเกียรติ  ตั้งกิจวานิชย์ ระบุ โครงการแจกเงินดิจิทัลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลต้องดูบทเรียนในอดีตไม่เฉพาะในประเทศไทยแต่ต้องดูจากต่างประเทศด้วย กรณีของไทยศึกษาพบว่าตัวคูณที่จะเกิดขึ้นจากการอัดฉีดเงินไม่สูงอย่างที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้ เช่นเดียวกับในต่างประเทศที่ตัวคูณไม่ได้สูงขึ้นจากการแจกเงิน จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรคิดให้ดี

 

นอกจากนี้ บทเรียนของการที่รัฐบาลมีปัญหากับธนาคารกลาง มีตัวอย่างในหลายประเทศ เช่น ตุรเกีย ที่ไล่ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติออก 3 คน เพราะรัฐบาลต้องการลดดอกเบี้ย ผลที่ตามมาคือเกิดภาวะเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 80% เช่นเดียวกับประเทศอังกฤษที่ต้องการลดภาษี ขาดดุลการคลัง ไม่ฟังแบงก์ชาติ ทำให้บอนด์ดิ่ง ตลาดป่วน จนนายกฯ ต้องลาออก

ทั้งนี้ ประเทศไทยถูกล็อกไว้ด้วย 1.กฎระเบียบโบราณ 2.การศึกษาจำท่อง และ 3.การทดลองโดยไม่เรียนรู้ ซึ่งหากประเทศไทยปลดล็อกเรื่องเหล่านี้ได้มีอนาคตแน่นอน เนื่องจากภาคเอกชนไทยมีความเข้มแข็ง บริษัทใหญ่มีความพร้อม สตาร์ทอัพ เอสเอ็มอีมีไดนามิค ขาดแต่กลไกสำคัญที่ล็อกธุรกิจ ประชาชนในการทำมาหากินไว้ก็คือภาครัฐที่มีกฎระเบียบโบราณที่มัดประเทศไทยไว้ เช่น กฎหมายคนเข้าเมืองที่ใช้มากว่า 45 ปี ที่คนต่างด้าวต้องรายงานตัวทุก 90 วัน เป็นอุปสรรคของนักลงทุนที่เข้ามาในประเทศ รวมถึงกฎหมายอื่น ๆ ที่ใช้มาไม่ต่ำกว่า 70 ปี และยังมีกฎหมายใหม่ที่ออกมาปีละ 2-3 หมื่นฉบับ ซึ่งบางเรื่องมีประโยชน์แต่มีจำนวนมากที่สร้างภาระให้ประชาชนทำให้การทำมาหากินยากขึ้นเพราะต้องขอใบอนุญาต

 

ดังนั้น วิธีการที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าไปได้ต้องกิโยตินกฎหมายต่าง ๆ โละกฎหมายที่เป็นอุปสรรคกับการทำธุรกิจ อย่างที่หลายประเทศเคยทำ เช่น เกาหลีใต้ ที่โละกฎหมายกว่าครึ่ง ตั้งแต่ประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ เกาหลีใต้ฟื้นตัวมาได้อย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับประเทศเวียดนาม ที่ทบทวนขั้นตอนราชการ 5,000 กระบวนงาน จนปัจจุบันกลับมาพร้อมดึงดูดการลงทุนและเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว

 

ทั้งนี้ การทดลองทำกิโยตินกฎหมายในประเทศไทยพบว่าประสบความสำเร็จในการทำให้ธุรกิจทำง่ายขึ้น ปี 2560 เคยมีอันดับความง่ายในการทำธุรกิจที่จัดอันดับโดยธนาคารโลกอยู่ที่อันดับ 26 ในปี 2563 ขยับดีขึ้นอยู่ที่อันดับ 21 เพราะการลดกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นปัญหา

โดยทีดีอาร์ไอได้ศึกษาว่าหากประเทศไทยทำกิโยติน 1,000 กระบวนการขออนุญาตจากกว่า 10,000 กระบวนการ แก้ไขให้ดีขึ้น 43% และยกเลิก 39% จะสามารถลดต้นทุนได้ 1.3 แสนล้านบาทต่อปี ทำให้ประเทศไทยมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นได้ 0.8% ซึ่งการแก้ไขกฎระเบียบเป็นวิธีกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีมากโดยไม่ต้องอัดฉีดเงินเข้าระบบ

logoline