svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

จับกระแสทิศทางดอกเบี้ยขึ้นมากแค่ไหน !

24 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ทิศทางดอกเบี้ยเข้าสู่เทรนด์ขาขึ้นหลังจากธนาคารกลางโลกหลายแห่งพาเหรดขึ้นดอกเบี้ยกันคึกคัก ส่วนการประชุมกนง.25 ม.ค.นี้จะขึ้นดอกเบี้ยต่อ เพื่อลดช่องว่างส่วนต่างดอกเบี้ยไทยกับนานาชาติหรือไม่ ในวันนี้ Nation Online ได้มีโอกาสสัมภาษณ์กูรูด้านตลาดเงินมาไขคำตอบ

นับถอยหลังเหลือเวลาอีกไม่กี่วัน ก็จะถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. นัดแรกของปีนี้ ซึ่งตรงกับวันที่ 25 ม.ค. ส่วนทิศทางดอกเบี้ยบ้านเราจะเป็นอย่างไร และต้องบริหารระยะห่างกับดอกเบี้ยของประเทศพัฒนาแล้วอย่างธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด และธนาคารกลางยุโรป หรืออีซีบี แบบไหนถึงจะลงตัว ในวันนี้ Nation Online มีโอกาสได้สัมภาษณ์กูรูตลาดการเงินจะมีความเห็นอย่างไรนั้นตามไปดูกันเลย

โดยนายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT)  มองว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) วันที่ 25 ม.ค.นี้ คาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% รองรับเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว  โดยเฉพาะท่องเที่ยวที่เติบโตดีกว่าคาด  แต่แรงกดดันเงินเฟ้อยังมีต่อเนื่อง แม้ราคาน้ำมันปรับตัวลง  ซึ่งเงินเฟ้อสูงกว่ากรอบที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กำหนดกรอบบนไว้ที่ระดับ 3%  และคาดว่าธปท.ยังมีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ย เพื่อรักษาเสถียรภาพตลาดเงินและตลาดทุน

สำหรับธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดยังเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ แต่ที่เป็นห่วงคือไทยแตกต่างกับประเทศอื่นตรงที่ว่า ไทยขึ้นดอกเบี้ยช้า และน้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้ว นอกจากนี้ในวันที่ 1 ม.ค 65 ที่ผ่านมาธปท.ให้ธนาคารพาณิชย์นำส่งเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินหรือเอฟไอดีเอฟ กลับเข้าสู่อัตรา 0.46% ต่อปี  ส่งผลให้ต้นทุนเงินกู้ปรับตัวขึ้น ดังนั้นสิ่งที่เป็นห่วงคือ ธปท.ขึ้นดอกเบี้ยแล้วจะส่งสัญญาณไปยังธนาคารพาณิชย์อย่างไร

จับกระแสทิศทางดอกเบี้ยขึ้นมากแค่ไหน !

ทั้งนี้เนื่องจากต้นทุนที่ปรับตัวขึ้นจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและรายย่อยได้รับผลกระทบได้ โดยเฉพาะการฟื้นตัวเศรษฐกิจรอบนี้ยังไม่ได้กระจายตัวที่ดี และคนระดับล่างยังอ่อนแอต้องจับตาตรงนี้ว่าระบบการเงินจะทำงานเต็มประสิทธิภาพได้มากน้อยแค่ไหน

“ปีนี้ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น คาดปีนี้ขึ้นไปได้ถึงระดับ 2% จากปัจจุบันอยู่ระดับ 1.25%  หรือปรับขึ้น 3 ครั้ง เพื่อรองรับเสถียร ภาพตลาดเงิน-ตลาดทุนได้ และอาจเห็นเงินเฟ้อเริ่มกลับมาลดลง ถือเป็นโอกาสคลุมอัตราดอกเบี้ยตลอดทั้งปี แต่หลังจากนี้ไปจะลดดอกเบี้ยลงอีกเท่าไหร่ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศด้วย เพราะว่าความไม่แน่นอนก็ยังมีในระหว่างทาง เช่น สหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยเร็วกว่าคาด ความไม่นอนการส่งออกเศรษฐกิจไทยอาจมีความเสี่ยงได้ อาจเป็นปัจจัยให้ธปท.ขึ้นดอกเบี้ยน้อยกว่าคาดก็เป็นได้”

อย่างไรก็ตาม ก่อนโควิดดอกเบี้ยไทยอยู่ที่ 1.25% เท่านั้น ดังนั้นการขึ้นเพื่อรักษาเสถียรภาพตลาดเงินและตลาดทุนหลังเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง 

ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่น่าจะทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอยรุนแรงเหมือนปี 51 และปี 52 โดยมีการขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อ  ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย การค้าปลีก การก่อสร้างบ้านลดลง  แต่ที่กังวลคือการส่งออกของไทยอาจะได้รับผลกระทบตัวเลขติดลบ แต่อาจจะได้ในเรื่องของการเปิดเมืองเข้ามาทดแทนทำให้เศรษฐกิจไม่น่าลดลงหรือชะลอตัวลงแรง

นอกจากนี้มีแผนปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจใหม่ หลังตัวเลขสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสศช.ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ ในกลางเดือนก.พ.นี้ จีดีพีตั้งไว้ปีนี้ 3.2% จากปี 65 โต 3.4% แต่อาจพิจารณาเรื่องการเปิดเมืองของจีนที่ดีกว่าคาด  โดยจีนเป็นปัจจัยเชิงบวก ส่วนสหรัฐฯ เศรษฐกิจถดถอยก็เป็นปัจจัยเชิงลบ ขณะที่ส่งออกปี 66 ติดลบ 1%

 

 

จับกระแสทิศทางดอกเบี้ยขึ้นมากแค่ไหน !

ขณะที่นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด  มองว่า การประชุมกนง.ครั้งนี้คาดว่าปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% จาก 1.25% มาอยู่ที่ 1.5%  เนื่องจากแรงกดดันเงินเฟ้อยังสูง แม้ว่าเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทย โดยเฉพาะจีนหลังผ่อนคลายมาตรการเดินทางจะส่งผลให้กนง.ทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยได้

แต่ในภาพรวมหลังจีนเปิดประเทศไทยได้รับผลบวก  คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ตั้งไว้ 1 ล้านคน เป็น 4.65 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 3 ล้านคน ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักในปีนี้  โดยเพิ่งปรับประมาณการณ์จีดีพีจาก 3.2% เป็น 3.7% หลัก ๆ มาจากจีนเปิดประเทศ

สำหรับภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะทำให้ส่งออกถดถอยมากน้อยแค่ไหน ก่อนจีนเปิดประเทศคาดส่งออกติดลบ 1.5% โดยคำสั่งซื้อจากสหรัฐฯ และยุโรปจะลดลง  ขณะที่ราคาพลังงานต่างประเทศเริ่มย่อลง และฐานปีที่ผ่านมาสูง  อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหากเศรษฐกิจจีนฟื้นกลับมาความต้องการนำเข้าสินค้าอาหารจะเพิ่ม และส่งออกปีนี้จะติดลบน้อยลง 0.5%

ทั้งนี้ประเมินทิศทางดอกเบี้ยทั้งปีไทยจะปรับขึ้น 2 ครั้ง ๆ ละ 0.25% หรือมาอยู่ที่ระดับ 1.75%  และการใช้นโยบายดอกเบี้ยผ่อนคลายอาจยังไม่จำเป็น โดยการทำนโยบายการเงินเพื่อให้มีช่องเผื่อเหลือเผื่อขาดถ้าเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินก็สามารถปรับลดได้  เพื่อมีเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้

เทรนด์ดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ย่อมส่งผลให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และภาคธุรกิจปรับตัวขึ้นตามอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง แนวทางที่จะอยู่รอดให้ได้ในยุคดอกเบี้ยขาขึ้น คงต้องยึดเรื่องของวินัยทางการเงิน ไม่ฟุ่มเฟือย ปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ตลอดจนการหาช่องทางรีไฟแนนซ์ และการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้

ซึ่งหากภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจรู้จักบริหารจัดการในเรื่องนี้ ภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นก็คงยังอยู่ในวิสัยที่รับมือได้ และไม่ต้องกลายไปเป็นหนี้เสียอย่างที่หลายภาคส่วนกังวลกัน...

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

- ดอกเบี้ยเงินกู้แบงก์ใหญ่ปรับขึ้นเท่าไหร่ เช็กรายละเอียดที่นี่

ออมสิน-ธอส.จ่อขยับขึ้น "ดอกเบี้ยเงินกู้" ก.พ.นี้

logoline