svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

"ลดภาษีน้ำมันดีเซล" มาตรการที่รัฐห้ามทิ้ง จริงหรือ?

17 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 35 บาท ผ่านมาตรการ "ลดภาษีน้ำมันดีเซล" ต่อเนื่องถึง 5 ครั้ง นักวิชาการเห็นว่า ยังจำเป็นที่ยังต้องต่อมาตรการออกไป จนกว่าราคาน้ำมันจะอยู่ระดับต่ำกว่า 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แม้จะทำรัฐเจ็บตัวบ้างก็ตาม !

เป็นที่จับตาว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. วันนี้ (17 ม.ค. 2566) กระทรวงการคลังอาจจะยื่นขอขยายมาตรการ “ลดภาษีน้ำมันดีเซล” ออกไปอีก 2-3 เดือน เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน และ ลดภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง  เพราะมาตรการเดิมจะสิ้นสุดลงในวันที่ 20 ม.ค.นี้แล้ว

สำหรับแนวทางที่คาดว่าจะเป็นไป ได้ มีอยู่ 2 แนวทาง คือ ลดภาษีลิตรละ 3 บาท ต่อไปอีก 3  เดือน หรือ ลดภาษีลิตรละ 5 บาทต่อไปอีก 2เดือน แต่ไม่ว่าทางใด กรมสรรพาสามิต จะสูญเสียรายได้ จากการจัดเก็บงบประมาณไปอีก 20,000 ล้านบาท

โดยที่ผ่านมากระทรวงการคลัง ได้ใช้มาตรการนี้มาแล้วทั้งหมด 5 ครั้ง เพื่อพยุงราคาน้ำมันดีเซลไว้ ดังนี้

  • ครั้งแรก ช่วงวันที่ 18 ก.พ.-20 พ.ค.65 ลดภาษีลิตรละ 3 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ 18,000 ล้านบาท
     
  • ครั้งที่ 2 ช่วงวันที่ 21 พ.ค.-20 ก.ค.65 เป็นเวลา 3 เดือน  ลดภาษีดีเซลลงลิตรละ 5 บาท รัฐสูญเสียรายได้ 20,000 ล้านบาท
     
  • ครั้งที่ 3 ช่วงวันที่ 21 ก.ค. - 20 ก.ย.65 เป็นเวลา 2 เดือน ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญเสียรายได้ 20,000 ล้านบาทฅ
     
  • ครั้งที่ 4 ช่วงวันที่ 21 ก.ย.- 20 พ.ย.65 เป็นเวลา 2 เดือน ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญเสียรายได้ 20,000 ล้านบาท
     
  • ครั้งที่ 5 ช่วงวันที่  21 พ.ย.65 - 20 ม.ค.66 เป็นเวลา 2เดือน ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญเสียรายได้ 20,000 ล้านบาท

จากมาตรการลดภาษีดีเซลทั้ง 5  ครั้ง ทำให้รัฐสูญรายได้รวมแล้ว 98,000 ล้านบาท

มาตรการ "ลดภาษีน้ำมันดีเซล" ที่ผ่านมาทั้งหมด

นายพรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการอิสระ ให้ความเห็นกับ "Nation online" ถึงมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลว่า เป็นเรื่องจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องลดภาษีน้ำมันดีเซลต่อ เพื่อตรึงราคาน้ำมันไม่ให้เกิน 35 บาทต่อลิตร เพราะหากหยุดมาตรการนี้ ราคาน้ำมันดีเซลอาจดีดตัวไปถึง 40 บาทต่อลิตรในทันที และ เป็นปัจจัยซ้ำเติมผู้ประกอบการอย่างรุนแรง จนต้องปรับขึ้นราคาสินค้า ที่จะส่งผลเสียไปถึงประชาชนในภาพรวม

นายพรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการอิสระ

จึงเชื่อว่าเพื่อลดผลกระทบ รัฐจะยังคงต่ออายุมาตรการต่อไปเช่นกัน และโดยส่วนตัวเห็นว่า หากราคาน้ำมันโลกยังอยู่ในระดับ 70-80 ดอลลาร์สหรับฯต่อบาร์เบล ก็ยังมีความจำเป็นต้องตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ และสามารถผ่อนคลายมาตรการได้ เมื่อราคาน้ำมันต่ำกว่าระดับ 60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล

นอกจากนี้การตรึงภาษีน้ำมันดีเซล มันมีส่วนช่วยลดภาระ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ให้ต้องชดน้อยลง จากปกติจ่ายชดเชยราคาดีเซลที่ลิตรละ 9.92 บาทต่อลิตร แม้ปัจจุบันกองทุนฯจะมีสภาพคล่องดีขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในสถานะขาดทุนสะสมถึง 119,771 ล้านบาท( ณ วันที่ 8 ม.ค. 66) โดยแบ่งเป็น บัญชีน้ำมันติดลบ 75,214 ล้านบาท และ บัญชีแอลพีจี 44,557 ล้านบาท

“ราคาน้ำมันในปีนี้ยังประเมินค่อนข้างยาก แต่หากดูจากปัจจัยปัจจุบัน โดยเฉพาะสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ยังปะทุต่อเนื่อง ประกอบกับการฟื้นตัวของจีน ซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ของโลก คาดราคาน้ำมันจะยังคงเป็นขาขึ้นมากกว่าขาลง ซึ่งจำเป็นอย่างมากที่รัฐจะต้องลดภาษีน้ำมันดีเซลไว้เพื่อตรึงราคาน้ำมัน แม้จะทำให้รัฐเสียรายได้ สถานะการคลังตึงตัวอยู่บ้าง แต่เชื่อว่ายังอยู่ในกรอบเพดานหนี้ที่รัฐสามารถบริหารจัดการได้อยู่” นายพรายพล กล่าว

 

 

logoline