svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

"เศรษฐกิจไทย"ปลายปีกระเตื้อง ปัจจัยภายนอกดันลงทุนต่างชาติตามเป้า

23 ตุลาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ส่องภาวะเศรษฐกิจไทย ปัจจัยภายนอกดันลงทุนต่างชาติตามเป้า บาทวกกลับแข็งขึ้นปลายปี ส่วนเงินเยนอาจทะลุ 150 เยน ดัชนีหุ้นไปต่อได้ แนะสวัสดิการและทรัพย์สินกองทัพโอนให้กระทรวงคลังดูแล เพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใส ติดตามการวิเคราะห์เศรษฐกิจ โดย "รศ.อนุสรณ์ ธรรมใจ"

 

รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การลงทุนของต่างชาติโดยเฉพาะการลงทุนโดยตรง (Foreign Direct Investment-FDI) ในภูมิภาคอาเซียนและไทยเพิ่มขึ้นชัดเจนยกเว้นเมียนมา

 

แม้นอัตราการขยายเศรษฐกิจโลกโดยรวมปีหน้าชะลอตัว แต่การคลายล็อกดาวน์ทำให้กระแสเม็ดเงินลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ (Global FDI) ทยอยฟื้นตัวต่อเนื่องตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปีนี้ และ ปีหน้าน่าจะเห็นการฟื้นตัวในรูป V-shape ชัดเจนในภูมิภาคอาเซียนและไทย FDI ไหลเข้าภูมิภาคอาเซียนและประเทศกำลังพัฒนาตลาดดาวรุ่งในเอเชียเกือบครึ่งหนึ่งของ Global FDI ทั่วโลก

 

นอกจากนี้ปัญหาทางเศรษฐกิจและการเมืองของ Greater China ทั้งปัญหาในฮ่องกง และ ช่องแคบไต้หวัน นโยบาย zero Covid และ การล็อกดาวน์อยู่เป็นระยะๆ ทำให้มีการย้ายการผลิตจากประเทศจีน ไต้หวัน ฮ่องกง (Greater China) มายัง เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซียและไทย มากขึ้นตามลำดับ

 

รูปแบบการเคลื่อนย้ายการลงทุนระหว่างประเทศนี้เป็นแนวโน้มในระยะปานกลางและระยะยาว นอกจากนี้ ภูมิภาคอาเซียนยังได้รับผล กระทบจากปัญหาสงครามระบอบปูตินรัสเซียกับยูเครนน้อยกว่าภูมิภาคอื่น โดยเฉพาะภูมิภาคยุโรป 

 

รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวต่อว่า การเปิดความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบียนำมาสู่โอกาสทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศจำนวนมาก คาดว่า มูลค่าการค้าและการท่องเที่ยวจากซาอุดิอาระเบียเพิ่มอย่างก้าวกระโดด และคาดว่า ในปีหน้าน่าจะมีการลงทุนต่อกันเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ครอบคลุมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมพลังงานและปิโตรเคมี อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์  

 

ล่าสุด แม้นไทยจะไม่โดดเด่นที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น สิงคโปร์มีมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ระดับ 9.91 หมื่นล้านดอลลลาร์ อินโดนีเซีย 2.01 หมื่นล้านดอลลาร์ และ เวียดนาม 1.57 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ไทยก็เป็นแหล่งรับการลงทุนจากต่างประเทศในระดับเดียวกับ มาเลเซียและฟิลิปปินส์ที่ระดับประมาณหนึ่งหมื่นล้านดอลลาร์หรือประมาณสามแสนแปดหมื่นล้านบาท


โดยแผนการลงทุนระยะที่ 1 ของ EEC ปี ค.ศ. 2018-2022 นั้นบรรลุเป้าหมาย 1.7 ล้านล้านบาท ไทยมีข้อได้เปรียบในฐานะประเทศที่มีพื้นที่ยุทธศาสตร์ใจกลางอาเซียนและยังมีภาคการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่ง ส่วนเงินทุนเคลื่อนย้ายระยะสั้นในตลาดการเงินนั้น ไม่พบเงินไหลออกมากกว่าปรกติแต่อย่างใด มีเงินไหลออกและนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาทและนักลงทุนต่างชาติยังคงเข้าซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์โดยมียอดสุทธิประมาณ 1.4-1.5 แสนล้านบาท การอ่อนค่าลงตามกลไกตลาดของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาเกิดผลดีต่อการลดแรงกดดันจากภายนอก ทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของภาคส่งออกไทยดีขึ้น ช่วยปรับดุลการค้าให้เกินดุลเพิ่มขึ้นและดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลลดลง ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันเงินบาทอ่อนค่าลงประมาณ 12-13%

 

โดยการอ่อนค่าของเงินบาท 1 บาทจะส่งผลต่อราคานำเข้าสูงขึ้นประมาณ 0.7% โดยประมาณ คาดการณ์ว่า เงินบาทจะไม่อ่อนค่าเกิน 39 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงปลายปีเงินบาทจะพลิกกลับมาแข็งค่าได้ หากเงินบาทแข็งค่าจากระดับปัจจุบัน 1 บาทก็จะทำให้สินค้านำเข้าลดลงได้อย่างน้อย 0.5% มีผลทำให้อัตราเงินเฟ้อปลายปีชะลอตัวลงได้หากปัญหาราคาพลังงานแพงและผลกระทบน้ำท่วมต่อภาคเกษตรกรรมไม่รุนแรงเกินไป การว่างงานลดลงต่อเนื่องและเกือบจะกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโควิด-19 

 

รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวต่อว่า เศรษฐกิจไทยปลายปีมีทิศทางกระเตื้องขึ้น โดยผลกระทบจากน้ำท่วมในบางพื้นที่ของประเทศน่าจะผลต่อความเสียหายทางเศรษฐกิจไม่เกินสามหมื่นล้านบาท มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปีจะช่วยประคับประคองกำลังซื้อในประเทศไปได้ เช่น โครงการช้อปช่วยชาติ คนละครึ่งเฟส 6 เป็นต้น

 

ส่วนมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลควรทบทวนเน้นช่วยช่วยอุดหนุนเฉพาะกลุ่มเปราะ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปีจะช่วยรักษาระดับการใช้จ่ายในประเทศได้ ชดเชยการใช้จ่ายในภาคการบริโภคและการลงทุนที่หายไปจากปัญหาอุทกภัย   

 

การปรับลดของทุนสำรองระหว่างประเทศในช่วงที่ผ่านมายังไม่ได้ส่งสัญญาณปัญหาทางเศรษฐกิจใดๆ เนื่องจากไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงเป็นอันดับที่ 6 ของโลก ประกอบกับการลดลงของทุนสำรองเป็นผลจากการตีมูลค่าสินทรัพย์ที่ถืออยู่ในทุนสำรองตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ส่วนการลดลงของทุนสำรองอันเป็นจากการเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทไม่ให้อ่อนค่ามาเกินไปควรทำด้วยความระมัดระวังและไม่ฝืนกลไกตลาด เนื่องจากมีบทเรียนจากการสูญเงินทุนสำรองจำนวนของธนาคารกลางญี่ปุ่นเมื่อเร็วๆนี้  สำหรับการเข้าแทรกแซง "ค่าเงินเยน" ของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ใช้เงินจำนวนมหาศาลกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 2.8 ล้านล้านเยน ในการเข้าดูแลค่าเงินเยนไม่ให้อ่อนค่ามากจนเกินไป

 

ปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นได้เข้าแทรกแซงค่าเงินเยนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนทันทีหลังจากที่เงินเยนอ่อนค่าทะลุระดับ 145 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งนับเป็นการอ่อนค่ามากสุดในรอบ 25 ปี ท่ามกลางความกังวลของคนในรัฐบาลที่แสดงความเป็นห่วงว่า เงินเยนที่อ่อนค่าลงต่อเนื่องและรุนแรงเช่นนี้ จะทำให้ค่าครองชีพของคนญี่ปุ่นสูงขึ้นตามไปด้วย ผลจากการแทรกแซงดังกล่าวส่งผลให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นราว 1.1% และเป็นการแข็งค่าขึ้นชั่วคราวเป็นระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น

 

ขณะที่ล่าสุดเยนอ่อนทะลุแนวต้านจิตวิทยาสำคัญระดับ 150 เยนต่อดอลลาร์และคาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นน่าจะแทรกแซงตลาดเพื่อชะลอความผันผวนและการเก็งกำไรค่าเงินเยน ถือเป็นการอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 32 ปี มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเยนอ่อนค่าอย่างรุนแรง และ คาดว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำประคับคองเศรษฐกิจต่อไปแม้นแรงกดดันเงินเฟ้อในญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นก็ตาม 


จากการสำรวจของ Bloomberg Consensus พบว่า ไทยมีโอกาสเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยต่ำมาก คือ เพียง 15% ในระยะ 12 เดือนข้างหน้า โดยประเทศที่มีโอกาสสูงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย คือ รัสเซีย ยูเครน ศรีลังกา สหราชอาณาจักร อิตาลี

 

โดยกลุ่มประเทศเหล่านี้มีโอกาสเกิดเศรษฐกิจถดถอยมากกว่า 80% ในระยะ 12 เดือนข้างหน้า ส่วนสหรัฐอเมริกาน่าจะมีเศรษฐกิจชะลอตัวอันเป็นผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อ โอกาสเกิดเศรษฐกิจถดถอยไม่มาก ส่วนเศรษฐกิจโลกนั้นมีความไม่แน่นอนสูง และ มีอัตราการขยายตัวประมาณ 2.7% ลดลงจากปีนี้ที่ขยายตัวได้ 3.2% แต่อัตราการขยายตัวโดยภาพรวมของเอเชียยังคงเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เฉพาะ Emerging Market and Developing Economies ของเอเชียน่าจะขยายตัวได้ในระดับ 4.9% จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจประมาณ 4.4% ในปีนี้  

 
รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวถึง ปัญหาเรื่องการหักค่าหัวคิว 5% กู้เงินซื้อบ้านสวัสดิการกองทัพของกำลังพล และ การทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างในการก่อสร้างบ้านสวัสดิการ ว่า การทุจริตคอร์รัปชันเหล่านี้มักเกิดขึ้นในหน่วยงานที่ไม่มีการกำกับควบคุมและการตรวจสอบที่ดี กรณีทุจริตบ้านสวัสดิการและการกู้เงินซื้อบ้านนั้นเกี่ยวพันกับนายทหารระดับสัญญาบัตรและนายพล จึงเสนอว่า ควรให้ธนาคารของรัฐเข้ามาดำเนินการแทนเพราะมีระบบตรวจสอบ การกำกับดูแลที่โปร่งใสกว่า เพื่อไม่ให้ กำลังพลและทหารชั้นผู้น้อย ทหารระดับกลางถูกเอาเปรียบจากการทุจริตเหล่านี้

 

นอกจากนี้ ขอเสนอให้มีการปฏิรูปการจัดการทรัพย์สินและที่ดินต่างๆของกองทัพ ทรัพย์สินและที่ดินของประเทศบางส่วนหากไม่ได้ใช้ในกิจการทางการทหารหรือเพื่อความมั่นคงควรโอนคืนให้ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแล นอกจากนี้ คลื่นวิทยุและคลื่นความถี่ฟรีทีวีของกองทัพ ควรต้องคืนให้เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการบริหารจัดการคลื่นความถี่เพื่อประโยชน์ของสาธารณชนต่อไป 


รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง  เศรษฐกิจจีนแม้นเผชิญนโยบายเข้มงวดโควิดและวิกฤติภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งปัญหาในภาคการเงิน แต่ก็เชื่อมั่นว่า คณะกรรมการกรมการเมืองประจำพรรคคอมมิวนิสต์ (Politburo Standing Committee) ชุดใหม่และประธานาธิบดีและเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สมัยที่สาม "สี จิ้น ผิง" น่าจะรักษาระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ในระดับ 3-4% ได้ในปีหน้า พร้อมเดินหน้าปฏิรูปเศรษฐกิจจีนให้เป็นประเทศสังคมนิยมสมัยใหม่ในทุกๆด้าน และเปิดกว้างเพิ่มขึ้น คณะกรรมการกรมการเมืองประจำพรรคคอมมิวนิสต์ชุดใหม่ ซึ่งมีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ

 

ประกอบไปด้วย สี จิ้น ผิง, หลี่เฉียง, จ้าว เล่อ จี้, หวัง หู หนิง, ไช่ ฉี, ติ้ง เสวีย เซียน และ หลี่ ซี ล้วนเป็นผู้นำสายปฏิรูปเศรษฐกิจ คาดว่า คณะผู้บริหารกลุ่มชุดใหม่นี้จะเดินหน้าลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมผ่านนโยบายความมั่งคั่งรุ่งเรืองร่วมกัน (Common Prosperity) และ น่าจะเพิ่มบทบาทของจีนบนเวทีเศรษฐกิจการเมืองโลกผ่านการวางยุทธศาสตร์ของ หวัง หู หนิง (Wang Hu Ning) ผู้ซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาตั้งแต่ยุค เจียง เจอ หมิง และยุคหู จิ้น เทาและมีภูมิหลังเป็นนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย Fudan เศรษฐกิจจีนเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจโลกน่าจะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดทิศทางเศรษฐกิจโลกปีหน้า

 

ประเทศไทยจำเป็นต้องติดตามแนวนโยบายและยุทธศาสตร์ของ "สี จิ้น ผิง" ในสมัยที่สามว่าจะมีทิศทางอย่างไร ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนระหว่างไทยกับจีนนั้นมีความใกล้ชิดกันมาก ฉะนั้นการกำหนดบทบาทที่เหมาะสมย่อมเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวม      
 

logoline