svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

ถอดบทเรียน "แรงงานข้ามชาติ"จากสี่ประเทศเพื่อนบ้าน  โดย "โคทม อารียา"

02 ตุลาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ให้คำอธิบายเรื่องงานที่มีคุณค่าว่า มิใช่แค่ให้ทุกคนมีงานทำ หากต้องมีงานที่มีคุณค่าให้ทำด้วย ร่วมถอดบทเรียน"แรงงานข้ามชาติ" กับ "โคทม อารียา"

 

กฎบัตรสหประชาชาติขึ้นต้นด้วยประโยคที่น่าประทับใจว่า “WE THE PEOPLES OF THE UNITED NATIONS DETERMINED..." ขอแปลความคำขึ้นต้นและข้อความต่อไป ดังนี้


"เรา บรรดาประชาชนทั้งหลายแห่งสหประชาชาติ มุ่งมั่นที่จะ

-  ปกปักษ์ชนรุ่นต่อ ๆ ไปให้พ้นจากภัยพิบัติแห่งสงคราม ...

-  ยืนยันความเชื่อในสิทธิมนุษยชนหลักมูล ในศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ ในสิทธิเท่าเทียมกันระหว่างหญิงและชายและระหว่างประชาชาติน้อยใหญ่ 

- สร้างเงื่อนไขเพื่อที่จะธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมและการเคารพข้อผูกพันอันเนื่องมาแต่สนธิสัญญาและกฎหมายระหว่างประเทศที่มาจากแหล่งอื่น ๆ และ

-  ส่งเสริมความก้าวหน้าทางสังคมและมาตรฐานการครองชีพที่ดีกว่าภายในเสรีภาพที่กว้างขึ้น

 

บทความนี้จะกล่าวถึงแรงงานข้ามชาติ ด้วยความเชื่อว่า "บรรดาประชาชน" หมายรวมถึงแรงงานข้ามชาติ ซึ่งมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหมือนทุกคน โดยที่ "บรรดาประชาชน" คนอื่น ๆ และรัฐบาลไทย พึงเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งหลักการทั่วไปและแนวปฏิบัติเพื่อการจัดหางานที่เป็นธรรมและมีคุณค่า (decent works) ซึ่งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organisation ILO) ให้คำอธิบายเรื่องงานที่มีคุณค่าว่า มิใช่แค่ให้ทุกคนมีงานทำ หากต้องมีงานที่มีคุณค่าให้ทำด้วย งานที่มีคุณค่าหมายถึงงานที่

 

 

1. ทำให้มีรายได้ที่เป็นธรรม

2. ทำให้รู้สึกมั่นคงและปลอดภัยเมื่ออยู่ที่ทำงาน

3. มีความมั่นคง-ความคุ้มครองทางสังคมให้แก่ครอบครัวช่วยให้ได้พัฒนาตนเอง

4. ช่วยให้ได้รับการยอมรับจากสังคม หรือเป็นส่วนหนึ่งของสังคม (social integration)  

5. สนับสนุนการมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกถึงความห่วงกังวลต่าง ๆ

6. สนับสนุนการเข้ามามีส่วนร่วมตัดสินใจในเรื่องใด ๆ ที่อาจจะกระทบกับชีวิตของผู้ที่ทำงาน7. ให้โอกาสและการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมสำหรับหญิงและชายทุกคน 

 

ในเรื่องการจัดหางานนั้น ILO ได้จัดทำเอกสารในหัวข้อ "หลักการทั่วไปและแนวปฏิบัติเพื่อความเป็นธรรมในการจัดหางาน และนิยามของค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในการจัดหางาน" โดยขอยกหลักการทั่วไปข้อ 17. มาอ้างดังนี้

 

"17. ค่าธรรมเนียมในการจัดหางานและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องไม่ตกอยู่กับหรือเป็นภาระแก่ผู้ใช้แรงงานและผู้ที่หางานทำ"


ส่วนแนวปฏิบัติข้อ 17. ยังย้ำอีกว่า "ห้ามมิให้เก็บค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องจากผู้ใช้แรงงาน"

 

ในปัจจุบัน ประมาณการได้ว่ามีแรงงานข้ามชาติจาก 4 ประเทศ (เมียนมา กัมพูชา ลาวและเวียดนาม) จำนวน 4-5 ล้านคน แต่ ณ เดือนธันวาคม 2564 จำนวนแรงงานข้ามชาติที่ลงทะเบียนกับทางการมีเพียง 2.13 ล้านคน เหตุที่การลงทะเบียนมีน้อยเช่นนี้ เพราะแรงงานต้องจ่ายค่าธรรมเนียมสูง และส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าใจระบบลงทะเบียนของทางการได้ จึงต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมแก่นายหน้าเพื่อช่วยลงทะเบียนให้ นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าธรรมเนียมหนังสือเดินทาง ค่าตรวจสุขภาพ ค่าใบอนุญาตทำงาน เป็นต้น

 

 

 

โดยเฉลี่ย ผู้ใช้แรงงานคนหนึ่งต้องจ่ายค่าลงทะเบียนประมาณ 20,000 บาท หลายคนต้องเป็นหนี้นายหน้า นายจ้าง (ที่กฎหมายอนุญาตให้หักเงินเดือนได้ไม่เกิน 10% เพื่อการนี้) และผู้ปล่อยเงินกู้ ทำให้มีโอกาสถูกกดขี่แรงงาน หรือมีการหาประโยชน์โดยมิชอบได้

 

เมื่อวันที่13 มกราคม 2565 กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) สองคนคือ วสันต์ ภัยหลีกลี้ และสุชาติ เศรษฐมาลินี ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า ได้มีรายงานการลักลอบนำเข้าแรงงานผิดกฎหมายผ่านช่องทางธรรมชาติตามแนวชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับปัญหาการค้ามนุษย์ และการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากแรงงานโดยกลุ่มบุคคลต่าง ๆ กสม. จึงได้จัดประชุมเรื่อง "สิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติกับสถานการณ์การลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย" เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564 และได้พบสภาพปัญหาสำคัญ เช่น ปัญหาการขาดแคลนแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะภายหลังจากการที่รัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศและผู้ประกอบการเริ่มกลับมาเปิดกิจการเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564

 

แต่เนื่องจากในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านได้เดินทางกลับประเทศ ทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน และเร็ว ๆ นี้ เมื่อเกิดสถานการณ์ทางการเมืองในเมียนมา ทำให้จำนวนแรงงานชาวเมียนมาที่ต้องการเข้ามาทำงานในประเทศไทยมีมากขึ้น เป็นเหตุให้มีการลักลอบนำเข้าแรงงานอย่างผิดกฎหมายมากขึ้นตามมา


การนำเข้าแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) อย่างถูกต้องตามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน (MOU) ระหว่างประเทศไทยกับประเทศต้นทางนั้น ประสบปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ นานา เช่น การขึ้นทะเบียนแรงงานในประเทศต้นทางใช้ระยะเวลานาน ขั้นตอนการนำเข้าแรงงานข้ามชาติมีหลายขั้นตอน และบางขั้นตอนมีค่าใช้จ่ายสูง สถานพยาบาลหลายแห่งปฏิเสธการตรวจสุขภาพ เป็นต้น ทำให้การขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติบางราย ไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด และต้องถูกส่งตัวกลับประเทศต้นทาง

 

นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคอันเกี่ยวเนื่องกับกฎระเบียบ เช่น ข้อจำกัดเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายแรงงานและการเปลี่ยนนายจ้างของแรงงานข้ามชาติตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ที่อาจเป็นการจำกัดสิทธิของแรงงานข้ามชาติที่ควรเลือกทำงานได้อย่างเสรีและเป็นไปตามหลักอุปสงค์และอุปทาน

 

ขณะเดียวกัน พบว่าคณะรัฐมนตรีมีมติเกี่ยวกับการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติเป็นจำนวนมาก ทำให้การบริหารจัดการทางทะเบียนของแรงงานข้ามชาติไม่เป็นเอกภาพและมีความซ้ำซ้อนกันกสม. จึงมีหนังสือลงวันที่ 30 ธันวาคม 2564 ถึงนายกรัฐมนตรี โดยมีข้อเสนอแนะในระยะสั้น พอสรุปได้ดังนี้


1.  ให้กระทรวงแรงงานพิจารณาทบทวนขั้นตอนการนำเข้าแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ (เมียนมา ลาว กัมพูชา) ตาม MOU พร้อมหารือกับประเทศต้นทางเพื่อปรับลดขั้นตอนการดำเนินการให้มีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น และปรับลดค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยสามารถนำเข้าแรงงานได้ นอกจากนี้ควรแก้ไขเพิ่มเติม MOU การจ้างงานระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เพื่อเพิ่มโอกาสให้แรงงานเวียดนามสามารถทำงานได้ในประเภทกิจการอื่น (นอกเหนือจากกิจการประมงทะเลและการก่อสร้าง) ได้เช่นเดียวกับแรงงานกัมพูชา ลาว และเมียนมา


2. ให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาเปิดจุดผ่านแดนถาวรที่มีความพร้อมเพิ่มเติม เพื่อให้แรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองถูกต้องตามกฎหมายสามารถเดินทางเข้ามาได้รวดเร็วขึ้น


3. ในกรณีที่จำเป็นเพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด -19 ให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดหาสถานที่ที่เพียงพอและมีมาตรฐานสำหรับการกักตัวแรงงานข้ามชาติ


4. ให้กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำฐานข้อมูลแรงงานข้ามชาติให้เป็นระบบเดียวกัน รวมถึงการพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับยืนยันตัวตนเพื่อความสะดวก รวดเร็ว และลดค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนแรงงาน


ส่วนในระยะยาว กสม. มีข้อเสนอว่า รัฐบาลควรสำรวจ ทบทวน และแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย รวมทั้งระเบียบขั้นตอนการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ให้สอดคล้องหรือไม่เป็นอุปสรรคต่อการคุ้มครองแรงงาน เช่น ปรับปรุงระบบการเคลื่อนย้ายและการเปลี่ยนนายจ้างให้มีความเหมาะสมเพื่อให้แรงงานเลือกทำงานตามที่กฎหมายกำหนดได้อย่างเสรี ปรับปรุงระบบการเข้าถึงบริการสาธารณสุข รวมถึงสถานที่ตรวจสุขภาพที่สะดวกและเพียงพอ

 

สืบเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติจากเมียนมา กัมพูชา และลาว ที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุลง มาลงทะเบียนกับทางการเพื่อให้สามารถทำงานต่อในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวได้อีกสองปี เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (The Migrant Working Group MWG) ได้ศึกษาของมติคณะรัฐมนตรีซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์แก่แรงงานข้ามชาติดังกล่าว

 

และประมาณการว่า แรงงานที่อยู่ในข่ายที่จะลงทะเบียนในกรณีที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุลงมีประมาณ 600,000-800,000 คน MWG ได้ประเมินผลกระทบจากการมาลงทะเบียนของแรงงานข้ามชาติ พบว่า การผ่อนผันให้สามารถทำงานต่อแม้ใบอนุญาตทำงานได้หมดอายุลงนั้น แม้จะมีผลดีต่อแรงงานที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย แต่ก็มีผลกระทบในเชิงลบด้วยเช่นกัน คือ การลงทะเบียนอาจทำให้แรงงานบางคนเสี่ยงที่จะตกอยู่ในพันธนาการของหนี้ (debt bondage) MWG ได้จัดทำรายงานอันเป็นผลจากการศึกษาผลกระทบของมาตรการผ่อนผันดังกล่าว และมีข้อเสนอแนะดังนี้


1.  กระทรวงแรงงานควรปฏิบัติตามหลักการและแนวปฏิบัติของ ILO ที่มิให้เก็บค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง กับผู้ใช้แรงงาน หากควรให้นายจ้างเป็นผู้รับภาระนี้ 

2.  ควรปรับปรุงกระบวนการลงทะเบียนให้ง่ายลง

3.  ศูนย์ให้บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (one-stop service (OSS) Centers) ควรให้บริการที่เบ็ดเสร็จสมบูรณ์มากขึ้น เช่น รวมถึงบริการตรวจสุขภาพที่จำเป็น

4.  ควรเพิ่มจำนวนศูนย์รับรองบุคคล (Country Identification (CI) centers) ให้มากขึ้น เพื่อลดความล่าช้าในกระบวนการลงทะเบียน 

5. กระทรวงแรงงานควรปรับปรุงเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน โดยออกแบบให้สะดวกแก่ผู้ใช้ (users-friendly) ที่เป็นแรงงานข้ามชาติมากขึ้น เช่น มีหลายภาษารวมทั้งภาษาของแรงงานข้ามชาติ ลดความซับซ้อนและศัพท์เทคนิค ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานสามารถลงทะเบียนด้วยตัวเองได้จริง 

6.  เมื่อลงทะเบียนแล้วให้ถือเป็นการลงทะเบียนการประกันสังคมไปในตัว โดยไม่ต้องซื้อการประกันสุขภาพอีก

7. ขยายเวลาการยื่นเอกสารที่แสดงผลการตรวจโควิดและการตรวจสุขภาพออกไปให้เหมาะสม

 

เมื่อวันที่  30 มีนาคม 2565 เครือข่ายแรงงานด้านประชากรข้ามชาติและมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ได้มีหนังสือถึงกระทรวงแรงงานและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งต่อข้อเสนอที่ได้จากการประชุมสัมมนาระหว่างภาครัฐ ผู้ประกอบการ นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนและตัวแทนแรงงานข้ามชาติ ต่อมาอธิบดีกรมการจัดหางาน ได้มีหนังสือลงวันที่ 7 มิถุนายน 2565 ตอบผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ มีใจความพอสรุปได้ดังนี้


1. ข้อเสนอของที่ประชุมสัมมนา ขอให้ขยายระยะเวลาการอนุญาตผู้ใช้แรงงานอยู่และทำงานต่อไปได้ถึง 13 กุมภาพันธ์ 2566 หรือจนกว่าด่านถาวรไทย-เมียนมา หลายจุดจะได้อนุญาตให้มีการเคลื่อนย้ายบุคคลจากฝั่งไทยและเมียนมา

คำตอบกรมการจัดหางาน หากแรงงานมีหลักฐานรับรองการได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ครบตามเกณฑ์ หรือหลักฐานการตรวจโรคโควิด-19 แบบ RT-PCT ไม่ต้องเข้ารับการกักตัว

 

2. ข้อเสนอของที่ประชุมสัมมนา  ขอให้รัฐบาลไทยประสานงานกับรัฐบาลเมียนมา ในการจัดทำเอกสารรับรองบุคคล (CI) แบบเคลื่อนที่ เพื่อลดเวลาในการรับรองบุคคล ลดค่าใช้จ่าย และเพื่อการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

คำตอบกรมการจัดหางาน ทางการเมียนมาได้มีหนังสือผ่านช่องทางทางการทูตแจ้งผลการดำเนินการเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพการออกเอกสารรับรองบุคคล หรือ CI ให้ทราบ

 

3. ข้อเสนอของที่ประชุมสัมมนา ขอให้แรงงานที่ยังไม่มีเอกสารรับรองบุคคล (CI)   สามารถดำเนินการ ณ ศูนย์ออกเอกสารรับรองตัวบุคคล โดยถือเป็นการตรวจพิสูจน์สัญชาติ (National Verification)

คำตอบของกรมการจัดหางาน การออกเอกสารรับรองตัวบุคคล หรือการตรวจพิสูจน์สัญชาติ เป็นกระบวนการของประเทศต้นทาง ปัจจุบันทางการเมียนมา ลาว และกัมพูชา ยังไม่ตอบรับการเข้ามาพิสูจน์สัญชาติให้แก่คนชาติของตนในประเทศไทย แรงงานข้ามชาติทั้งสามสัญชาติ จะต้องเดินทางกลับประเทศเพื่อไปทำเอกสารดังกล่าว

 

4. ข้อเสนอของที่ประชุมสัมมนา ขอให้กรมการจัดหางาน พิจารณาและเสนอนโยบายการขึ้นทะเบียนแรงงานสำหรับกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ยังตกหล่นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

คำตอบของกรมการจัดหางาน คณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ในการประชุมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบการบริหารจัดการคนต่างด้าว 4 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเพื่อการทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้จะต้องมีการนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป

 

สืบเนื่องจากการดำเนินงานของกรมจัดหางานดังกล่าว คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ให้แบ่งแรงงานข้ามชาติออกเป็น 2 กลุ่ม

 

กลุ่มแรกได้แก่แรงงานข้ามชาติที่จะต้องดำเนินการตรวจลงตราวีซ่าของแรงงานตามขั้นตอนให้แล้วเสร็จโดยมีการขยายให้ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2565

ส่วนกลุ่มที่สองได้แก่แรงงานข้ามชาติที่ยังไม่มีเอกสารใบอนุญาตทำงาน คณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้นายจ้าง หรือ บริษัทนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้าง (บนจ.) ที่ได้รับการอนุญาตลงทะเบียนภายใต้กรมการจัดหางาน ต้องลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ขอจ้างแรงงานข้ามชาติผ่านระบบออนไลน์ โดยมีระยะเวลาในการลงทะเบียน 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2565 ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2565

 

ทั้งนี้ เพื่อให้ แรงงานข้ามชาติที่หายไปจากระบบกว่า 500,000 คน จากผลกระทบของโรคระบาดโควิด-19 กลับเข้าสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย

 

อย่างไรตาม เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติและมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา  พบว่า นายจ้างหรือผู้ประกอบการและกลุ่ม บนจ. ต้องเผชิญกับปัญหาเกี่ยวกับระบบการขึ้นทะเบียน และเสี่ยงที่จะไม่สามารถนำชื่อคนงานขึ้นทะเบียนและได้รับอนุมัติรายชื่อได้ทันตามที่รัฐบาลกำหนดไว้ โดยพบอุปสรรคซึ่งพอสรุปในเบื้องต้นได้ดังนี้

 

1. มีนายหน้าจำนวนหนึ่งดำเนินการจัดทำบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว (name list) ให้แก่นายจ้าง โดยระบุว่าเป็นบัญชีรายชื่อเพื่อขึ้นทะเบียนที่กำลังจะเปิดใหม่ ทำให้ทั้งฝ่ายนายจ้างและคนต่างด้าววิตกว่า การไม่มีชื่อในบัญชีดังกล่าวจะทำให้หลุดจากระบบการขึ้นทะเบียนที่เป็นทางการหรือไม่

 

2. มีความขลุกขลักในการดำเนินการของนายจ้างในหลายเรื่อง เช่น การแนบรูปถ่ายที่พื้นหลังต้องเป็นสีขาว เมื่อไม่ผ่านการพิจารณานายจ้างไม่สามารถดำเนินการแก้ไขได้เอง จะต้องยื่นคำร้องถึงกรมการจัดหางาน บางรายยื่นคำร้องไปแล้ว 5 วันยังไม่ได้รับการอนุมัติ 

 

3. นายจ้างหลายรายสามารถยื่นบัญชีแรงงานได้สำเร็จในช่วงสัปดาห์แรก แต่ได้รับแจ้งว่าไม่อนุมัติ ก็ไม่มีแนวทางที่ชัดเจนจากกรมการจัดหางานว่าจะต้องดำเนินการแก้ไขอย่างไร 

 

4. การต่อใบอนุญาตทำงาน หรือปรับปรุงเอกสารส่วนบุคคลของแรงงานมีความซับซ้อน และระบบขาดเสถียรภาพ ทำให้ต้องไปดำเนินการจ้างบริษัทนำเข้าหรือนายหน้า ซึ่งมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 12,000 – 18,000 บาท ทั้ง ๆ ที่ควรอยู่ที่ประมาณสามพันกว่าบาทเท่านั้น
เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติและมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาจึงมีข้อเสนอแนะดังนี้

 

ขอให้ทบทวนกรอบระยะเวลาในการดำเนินการขึ้นทะเบียน

 

ขอให้มีการขึ้นทะเบียนแบบสองระบบ ทั้งออนไลน์และดำเนินการผ่านสำนักจัดหางานที่มีอยู่แล้วทั่วประเทศ 

 

กรมการจัดหางานควรมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ และให้ข้อมูลแก่นายจ้างผ่านช่องทางการสื่อสารของกรมการจัดหางานเอง รวมทั้งควรมีช่องทางในการรับเรื่องร้องทุกข์ และการรับฟังความคิดเห็นของนายจ้าง แรงงาน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ 

 

กระทรวงแรงงานร่วมกับ ILO ควรจัดทำรายงานการถอดบทเรียนและการพัฒนาระบบการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติที่สอดคล้องกับหลักการสากล และเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ในระยะที่ 2

 

แรงงานข้ามชาติเป็นปัจจัยหนึ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดของโรคโควิด-19 แน่นอนว่าการบริหารจัดการในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยากลำบาก และหลายฝ่ายอยากให้คำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัย กระนั้นก็ดี ควรยึดมั่นในหลักสากลและมีความเชื่อมั่นในมนุษยชาติด้วย ในโอกาสนี้ ขอส่งความปรารถนาดีมายังกรมจัดหางานสำหรับงานที่ท้าทายที่อยู่ข้างหน้า โดยขอให้การปรับปรุงการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติมีความคืบหน้าและสำเร็จลงด้วยดี ทั้งนี้ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการฟังเสียงของแรงงานข้ามชาติเองด้วย

logoline