svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

"90 ปี ประชาธิปไตย" สานภารกิจ "คณะราษฎร" อุปสรรครั้วหนามล้อมรอบประชาธิปไตย

24 มิถุนายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ผลงานของ"คณะราษฎร" เมื่อ 2475 ถึง "90 ปี ประชาธิปไตย" มีเยาวชนจำนวนหนึ่งประสงค์จะสานต่อในนามของคณะราษฎรใหม่ แต่เส้นทางย่อมลำบากเหมือนเดิม ติดตามได้จากเจาะประเด็น โดย โคทม อารียา

 

"คณะราษฎร" เป็นผู้บุกเบิกประชาธิปไตย แต่ฝ่ายต้านพยายามเล่าเรื่องใหม่ให้เข้าข้างฝ่ายตน ผลงานของ"คณะราษฎร"เมื่อ 75 ถึง 90 ปีก่อนนั้น มีเยาวชนจำนวนหนึ่งประสงค์จะสานต่อในนามของคณะราษฎรใหม่ แต่เส้นทางย่อมลำบากเหมือนเดิม เพราะต้องผ่านฝ่ายทหารที่คุมกำลังและพร้อมแย่งชิงอำนาจทางการเมืองผ่านการรัฐประหาร และต้องผ่านฝ่ายจารีตนิยมที่มีเครือข่ายเหนียวแน่นและมีระบบถ่ายทอดอุดมการณ์ที่แทรกซึมไปทั่ว 
    

"90 ปี ประชาธิปไตย" สานภารกิจ "คณะราษฎร" อุปสรรครั้วหนามล้อมรอบประชาธิปไตย

 

แต่ในโอกาสครบรอบ 90 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitution monarchy) เราควรรำลึกถึงคนวงนอก (outsiders) ที่ร่วมการต่อสู้จากฐานรากเมื่อโอกาสการมีส่วนร่วมได้เปิดออกอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองดังกล่าวด้วย ในสมัยนั้น พวกเขาก็คล้าย ๆ กับคณะราษฎรใหม่ในปัจจุบัน เราต้องระวังมิให้บทบาทของ"คณะราษฎร"ก็ดี ของคนวงนอกในสมัยนั้นก็ดี ถูกกลบเกลื่อนกลืนกลายให้เลือนหายจากความทรงจำ 

 

ขออ้างอิงบทวิจารณ์หนังสือที่เขียนโดย คริส เบเกอร์ ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2565 หนังสือที่เขาวิจารณ์ชื่อ "Amnesia: A History Of Democratic Idealism In Modern Thailand" (การสูญเสียความทรงจำ: ประวัติศาสตร์ของอุดมคติประชาธิปไตยในประเทศไทยสมัยใหม่") เขียนโดย Arjun Subrahmanyan อรชุนเป็นชื่อของตัวละครเอกในมหากาพย์มหาภารตะ  ส่วนอรชุนผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เป็นอาจารย์สอนประวัติศาสตร์เอเชียที่ออสเตรเลีย

 

ขอบคุณภาพวิกีพีเดีย   การเคลื่อนไหวกลุ่มคณะราษฎร ในอดีต

 

เขาสรุปว่าเหตุการณ์เมื่อเดือนมิถุนายน 2475 เป็นการปฏิวัติก็จริง แต่เป็นการปฏิวัติที่ถูกลดทอน (a compromised one) ในสมัยนั้น มีชนชั้นกลางใหม่ประมาณ 100,000 คน ท่ามกลางประชากรประมาณ 12 ล้านคน"คณะราษฎร"ประกอบด้วยข้าราชการทหารและพลเรือนเป็นหลัก หลายคนเป็นญาติหรือเป็นเพื่อนกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ต่อต้าน"คณะราษฎร" คณะรัฐมนตรีคณะที่ 1 ของสยาม นำโดยพระยามโนปกรณนิติธาดา ได้ประกาศนโยบายที่เรียกกันว่าหลัก 6 ประการดังนี้


1) จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในบ้านเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ให้มั่นคง


2) จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก


3) จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจไทย รัฐบาลใหม่ จะพยายามหางานให้ราษฎรทำโดยเต็มความสามารถ จะร่างโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก


4) จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน


5) จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการ ดังกล่าวแล้วข้างต้น


6) จะต้องให้มีการศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

 

หลักที่คณะราษฎรจะต้องดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมได้แก่หลักประการที่ 3) และประการที่ 6) ปรากฏว่าร่างเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติที่ปรีดี พนมยงค์ ได้ยกร่างขึ้นตามหลักประการที่ 3) ได้ยังความตระหนกตกใจให้แก่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมรวมทั้งบางคนใน"คณะราษฎร"ด้วย สุดท้ายเค้าโครงดังกล่าวเป็นอันพับไป

 

สำหรับหลักประการที่ 6) คณะราษฎรตั้งเป้าหมายให้ประชากรอย่างน้อยกึ่งหนึ่งจบการศึกษาชั้นประถม แต่ด้วยมีทรัพยากรที่จำกัด ครูก็ขาดแคลน จึงต้องลดเกณฑ์ต่าง ๆ ลงมา เช่น อนุญาตให้ครูใหญ่สมัยนั้นมีอายุขั้นต่ำ 19 ปี มีประกาศนียบัตรเป็นครู และมีประสบการณ์การสอนอย่างน้อย 1 ปี ผลของหลักประการที่ 6 คือราษฎรตื่นตัวด้านการศึกษามากขึ้น เช่น เมื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปิดรับนักศึกษาในปี 2478 สามารถรับนักศึกษาเข้าเรียนได้ประมาณ 7,000 คน ซึ่งมากกว่าจำนวนนิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเกือบ 10 เท่าตัว  

 

เมื่อเผชิญกับอุปสรรครวมทั้งการต่อต้านด้วยกำลังทหาร "คณะราษฎร"ได้พยายามขับเคลื่อนการปฏิรูป แต่ก็ทำได้ในขีดจำกัด จำเป็นต้องยกเลิกแผนที่จะสร้างมวลชนให้เป็นฐานสนับสนุน นโยบายสำคัญกลายมาเป็นการรักษาอำนาจพร้อมทั้งการอบรมสั่งสอนคุณธรรม อรชุนจึงเรียกลักษณะการปกครองนี้ว่า "พ่อปกครองลูกอย่างประชาธิปไตย" (democratic paternalism) ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่ขัดแย้งกันในตัว

 

ในส่วนที่เป็นข้อค้นพบแปลกใหม่ของหนังสือเล่มนี้ อรชุน เสนอว่า การปฏิวัติ 2475 ได้จุดประกายสามัญชนจำนวนหนึ่งให้มีแรงบันดาลใจในอันที่จะมีสิทธิ มีส่วน มากขึ้นในการปกครอง รวมทั้งในการสร้างสรรค์สังคมที่เท่าเทียมกันมากขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่ง คนที่อยู่วงนอกของคณะราษฎรเกิดแรงบันดาลใจที่จะขับเคลื่อนการปฏิรูปต่าง ๆ ที่กว้างออกไป

 

ตัวอย่างเช่น ครูหนุ่มสาวกดดันรัฐบาลให้ถอดถอนครูรุ่นเก่าสมัยสมบูรณาญาสิทธิฯ ที่ไม่ทำหน้าที่ครู หากมุ่งส่งเสริมความคิดอนุรักษ์นิยม นักหนังสือพิมพ์และนักกิจกรรมผลักดันให้ผู้ใช้แรงงานในโรงงานรวมทั้งคนจูงรถลากจีนให้มีค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้นและสภาพการทำงานที่ดีขึ้น ครูและข้าราชการในชนบทร้องเรียนว่ารัฐบาลไม่ใส่ใจภาคการเกษตรที่ถือเป็นอาชีพของคนส่วนใหญ่ นักกิจกรรมในชนบทชี้ช่องว่างมหาศาลระหว่างเมืองหลวงกับต่างจังหวัดและเรียกร้องให้รัฐบาลลงทุนมากขึ้นในโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงชนบทกับเมืองหลวง เครือข่ายของพระหนุ่มประท้วงเจ้าอาวาสบางรูปแล้วเลยไปถึงการขอลดบทบาทที่ธรรมยุตนิกายที่มีเหนือมหานิกายลง เป็นต้น

 

หลังการเลือกตั้งที่เริ่มในปี 2480 ส.ส.หลายคนอาศัยเวทีของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อวิจารณ์ส่วนแบ่งงบประมาณมากเกินไปที่จัดสรรให้แก่กองทัพ โดยขอให้เพิ่มงบประมาณในส่วนของการศึกษา การปกครองส่วนท้องถิ่น  ตลอดจนการพัฒนาเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม พร้อมทั้งวิจารณ์ท่าทีครอบงำของผู้นำรัฐบาลและเรียกร้องท่าทีที่เป็นประชาธิปไตยให้มากขึ้น

 

      เส้นเวลาการเมืองร่วมสมัย รวม 38 รัฐบาล ใน 90 ปี 

 

นักกิจกรรมที่เป็นคนวงนอกเหล่านี้ ส่วนใหญ่มาจากต่างจังหวัดและมีฐานะเดิมที่ไม่ดีนัก แต่เป็นคนเล่าเรียนดี บางคนจบกฎหมายจากธรรมศาสตร์ บางคนได้งานอาชีพเป็นครู เป็นเจ้าหน้าที่อำเภอ หรือมีตำแหน่งราชการอื่น ๆ พวกเขาได้ตำแหน่งเหล่านี้ด้วยเหตุที่ขาดแคลนผู้มีการศึกษาในต่างจังหวัด พวกเขามีผู้คนเคารพนับถือ เพราะมีการศึกษา มีตำแหน่งหน้าที่และพอเป็นปากเสียงให้พี่น้องในชนบทได้

 

"90 ปี ประชาธิปไตย" สานภารกิจ "คณะราษฎร" อุปสรรครั้วหนามล้อมรอบประชาธิปไตย


การรัฐประหารในปี 2490 ทำให้บทบาทเต็มคณะของคณะราษฎรยุติลง เหลือแต่ปีกทหารของคณะราษฎรที่อยู่ในอำนาจต่อไปอีก 10 ปี มาถึงปี 2565 นี้ เราควรรำลึกถึงคุณูปการทางการเมืองของ"คณะราษฎร" เต็มคณะ ที่พยายามขับเคลื่อนประเทศชาติไปบนหนทางอันขรุขระของประชาธิปไตย อีกทั้งยังไม่ควรลืมบทบาทของคนวงนอก ที่ในระยะแรกเริ่มของประชาธิปไตยไทย ได้ต่อสู้จนบางคนต้องสละชีวิตภายใต้ระบอบอำนาจนิยมภายใต้ผู้นำฝ่ายทหาร ซึ่งอุดมการณ์ประชาธิปไตยอยู่ในวจีกรรมมากกว่ามโนกรรม คราวนี้ลองมาดูกันบ้างว่า 90 ปีที่ผ่านมา เรามีรัฐบาลที่ผู้นำเป็นฝ่ายทหารกี่ปี และผู้นำเป็นฝ่ายพลเรือนกี่ปี (ดูตารางข้างต้น)

 

"90 ปี ประชาธิปไตย" สานภารกิจ "คณะราษฎร" อุปสรรครั้วหนามล้อมรอบประชาธิปไตย

สรุปจากตารางได้ว่า 


1)    ทหารครองอำนาจทางการเมืองแบบอยู่ยาว เฉลี่ย 4 ปี 7 เดือนต่อรัฐบาล 


2)    พลเรือนครองอำนาจทางการเมืองช่วงสั้น เฉลี่ย 9.3 เดือนต่อรัฐบาล 


3)    ทหารครองอำนาจทางการเมืองช่วงสั้น เฉลี่ย 8 เดือนต่อรัฐบาล 


4)    พลเรือนครองอำนาจทางการเมืองได้ยาวขึ้น เฉลี่ย 1 ปี 11 เดือน


5)    แต่การรัฐประหารปี 2557 ทหารย้อนกลับไปขออยู่ยาว (เป็นการย้อนยุคไปถึงเมื่อพลเอกเปรมบอกว่า "ผมพอแล้ว" ในปี 2531 หลังจากนั้นถึงแม้นมีการรัฐประหารปี 2534 และ 2549 แต่ทหารครองอำนาจเพียงช่วงสั้น)

 

"90 ปี ประชาธิปไตย" สานภารกิจ "คณะราษฎร" อุปสรรครั้วหนามล้อมรอบประชาธิปไตย

 

มาถึงปัจจุบัน คำถามคือว่าทหารจะอยู่ยาวต่อไปอีกกี่ปี พวกที่เชียร์ ทั้งที่มีผลประโยชน์และไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง เชื่อว่ายิ่งอยู่ยาวยิ่งดี พวกนี้ส่วนใหญ่มีความคิดแบบอนุรักษ์นิยมและไม่ไว้ใจนักการเมือง พวกเขาถือว่าทหารที่ครองอำนาจไม่ใช่นักการเมือง (อันที่จริงคือใช่) น่าไว้ใจได้ดีกว่าและจงรักภักดีมากกว่านักการเมือง (ทั้ง ๆ ที่นักการเมืองก็แข่งกันแสดงความจงรักภักดีเช่นกัน) อีกพวกหนึ่งเห็นว่าฝ่ายทหารขาดความชอบธรรม เริ่มตั้งแต่การเข้าสู่อำนาจโดยใช้กำลัง การดำรงอยู่ในอำนาจโดยใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ตนเขียนขึ้น และโดยใช้รัฐธรรมนูญปัจจุบันที่เขียน "เพื่อพวกเรา" และการยึดอยู่ในอำนาจแม้จะเสื่อมลงทุกที


การรัฐประหารครั้งที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งอาศัยการปลุกกระแส "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง" รัฐธรรมนูญที่มาจากรัฐประหารเลยมีบทบัญญัติมากมายเกี่ยวกับการปฏิรูป เพียงแต่ว่างเว้นที่จะกล่าวถึงการปฏิรูปทหาร ซึ่งมีสาระ เช่น  การปลูกฝังอุดมการณ์ประชาธิปไตย การยอมรับระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างตรงไปตรงมา การทำให้ทหารรักอาชีพของตนมากกว่าอาชีพแฝงอื่น ๆ (รวมทั้งการเป็นนักการเมืองจำแลง) การปรับปรุงเรื่องทหารเกณฑ์ การทำกองทัพให้ทันสมัย การลดจำนวนนายพลและจำนวนทหารประจำการ ฯลฯ 


ในที่นี้จะขอวิจารณ์พวกนายพลสักเล็กน้อย โดยอ้างอิงบทความชื่อ "สื่อญี่ปุ่นชี้ "นายพลไทย" ล้นกองทัพ ชาติอื่นใช้ "นายพัน" ทำหน้าที่เดียวกัน" ที่เผยแพร่เมื่อเดือนมกราคม 2563 นิตยสาร นิคเคอิ เอเชียน รีวิว ของญี่ปุ่น เผยแพร่บทความที่ใช้ชื่อว่า "ประเทศไทย ดินแดนแห่งนายพลนับพัน" โดยอ้างงานวิจัยว่า ไทยมีนายพล 1 คน ต่อทหารที่มียศต่ำลงมา 600 คน ถือเป็นสัดส่วนสูงกว่าประเทศสหรัฐฯ ซึ่งมีนายพล 1 คน ต่อทหาร 1,600 คน อย่างไรก็ดี นิตยสารฉบับนี้ระบุว่า ในปี 2562 มีการเลื่อนยศทหารขึ้นเป็นนายพล 789 คน น้อยกว่าเมื่อปี 2557 ที่มีทหารขึ้นเป็นนายพล 980 คน และปี 2560 ที่มี 944 คน อย่างมีนัยสำคัญ


ในบรรดาทหารที่มียศ "พลเอก" มีเพียง 150-200 คน ที่มีตำแหน่งบังคับบัญชาจริง ๆ ที่เหลืออาจอยู่ในตำแหน่ง "ขาลอย" เช่น ที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำหรับประเทศอื่น ๆ ทหารระดับ "นายพัน" จะทำหน้าที่หลาย ๆ อย่างที่ทหารระดับ "นายพล" ของไทยเป็นผู้รับผิดชอบ จึงอาจเกิดปัญหาทางพิธีการทูตขึ้นได้ เช่น เมื่อต้องเจรจาสื่อสารที่บริเวณชายแดน แล้วพม่าส่งทหารที่ยศต่ำกว่าไปพบทหารไทย


เงินเดือนของทหารไทยไม่มากนัก อยู่ที่ราว 6 หมื่นบาทต่อเดือนสำหรับทหารยศ "พลตรี" แต่ทหารที่มีตำแหน่งบังคับบัญชาจะมีเงินประจำตำแหน่งด้วย ช่วงเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ที่มีการประกาศกฎอัยการศึก จะนับเวลาราชการเพิ่มเป็นสองเท่า หลายคนเมื่อถึงวัยเกษียณ จึงจะได้รับเงินบำนาญเกือบเท่าเงินเดือนก่อนเกษียณราชการ

 

ผมเคยคุยกับเพื่อนที่เป็นนายพลคนหนึ่ง เขาบอกว่าเขา"พอแล้ว" ชีวิตไม่ต้องขวนขวายที่จะมีรายได้เพิ่มเติม อยู่สบาย ๆ ได้ไปจนตาย ไม่อยากไปช่วยทำรัฐประหารหรือรับตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ เพราะไม่ถนัด เพื่อนผมคงไม่ต้องการมี "งานที่สอง" เช่น มีตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจที่ทำให้มีรายได้เพิ่ม หรือในวิสาหกิจอย่างสถานีโทรทัศน์หรือสถานีวิทยุ ที่กองทัพเป็นเจ้าของโดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงของประเทศ


ในปี 2562 พรรคอนาคตใหม่ เสนอให้ปฏิรูปโครงสร้างกองทัพให้เป็น "กองทัพในศตวรรษที่ 21" หนึ่งในแนวทางคือการปรับลดกำลังพลลง 40% หรือจาก 330,000 คน เหลือ 170,000 คน และลดนายพลลง 4 เท่าตัว จาก 1,600 คน เหลือ 400 คน ทั้งนี้ พรรคอนาคตใหม่อ้างว่าหากมีการลดขนาดกองทัพจะทำให้มีงบประมาณ 50,000 ล้านบาทเพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศในด้านอื่น


ในเรื่องนี้ โฆษกกระทรวงกลาโหม ยอมรับว่ากองทัพไทยไม่ใช่ "กองทัพสมัยใหม่" เหมือนกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งใช้เทคโนโลยีทันสมัยและระบบดิจิทัลควบคุมบังคับบัญชา อย่าง C4ISR (Command, Control, Communications, Computers, Intelligence, Surveillance, Reconnaissance) เรายังใช้กำลังคนเป็นหลัก หากเราเติมเทคโนโลยี เติมอาวุธให้ทันสมัย ก็จะทำให้ลดกำลังพลลงได้ตามสมควร แต่พอกองทัพจะจัดซื้ออาวุธเข้ามา ก็กลายเป็นว่านี่ไงซื้ออาวุธอีกแล้ว ทั้งที่ความจริงเราซื้ออาวุธเพื่อลดคน เพราะถ้าไปลดคนก่อนแล้วอาวุธยังไม่เข้ามา มันอันตราย กองทัพมีแผนยุทธศาสตร์ปรับลดขนาดกำลังพลลง โดยตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2572 กำลังพลน่าจะลดลงเหลือครึ่งหนึ่งโดยประมาณ ซึ่งทำให้จำนวนนายพลที่เป็นผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิลดลงตามไปด้วย คงเหลือแต่นายพลในสายบังคับบัญชาที่เป็นตำแหน่งหลัก


ผมอยากขอให้กองทัพยอมรับหลักการ "พลเรือนเป็นใหญ่" (civilian supremacy) ในหลายประเทศ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมเป็นพลเรือนเต็มขั้น ประเทศที่ตั้งผู้หญิงเป็นเจ้ากระทรวงก็มี ก็ไม่เห็นว่ามีปัญหาความมั่นคงแต่ประการใด ในกรณีของเรา คนวงนอกจะไปนั่งในสภากลาโหมก็ยากเต็มที ทหารอาวุโสจะปกป้องเต็มที่ ด้วยเกรงว่าจะเป็นการแทรกแซงที่เป็นภัยต่อความมั่นคง (อ้างอีกแล้ว) 


ผมเชื่อว่าถ้าไม่ปฏิรูปกองทัพ ถ้าทหารโดยเฉพาะทหารอาวุโสยึดมั่นอยู่กับค่านิยมเดิม ๆ ที่คล้ายการผูกขาดการรักชาติ รักสถาบัน เราคงจะวนเวียนอยู่กับการรัฐประหาร และกังวลว่าคราวนี้จะอยู่สั้นหรืออยู่ยาว แล้วสะสมความไม่เข้าใจกันให้เพิ่มขึ้นต่อไป

 

"90 ปี ประชาธิปไตย" สานภารกิจ "คณะราษฎร" อุปสรรครั้วหนามล้อมรอบประชาธิปไตย

 

วันที่ 24 มิถุนายน 2565 เป็นวันครบรอบปีที่ 90 ของการปฏิวัติเพื่อให้รัฐธรรมนูญเป็นหลักในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในโอกาสนี้ ขอน้อมระลึกถึงคุณูประการของคณะราษฎรและของคนวงนอก ที่ได้เพียรพยายามทำตามหลัก 6 ประการ เป็นเวลา 15 ปี หลังจากนั้น เราก็เผชิญกับปัญหาที่ว่า ทหารไม่ยอมรับหลักการ "พลเรือนเป็นใหญ่" โดยตั้งตนเป็นใหญ่ทางการเมืองเสียเอง แล้วคนรุ่นใหม่จะใช้เวลาอีกกี่ปีเล่า จึงจะสถาปนาราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญให้สถิตสถาพร ... "คำตอบกำลังมากับสายลม"      
 

logoline