svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

การพูดคุยสันติภาพในชายแดนใต้และการถดถอยของหมู่บ้านชาวพุทธ โดย โคทม อารียา

27 สิงหาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ความรุนแรงในชายแดนใต้ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2547 ได้เพิ่มขึ้นจนถึงขีดสุดในปี 2550 สันนิษฐานว่าเหตุการณ์ “กรือเซะ-ตากใบ” ในปี 2547 เป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งของการใช้ความรุนแรงตอบโต้กัน

 

แต่หลังจากปี 2550 ความรุนแรงได้ลดลงตามลำดับ อาจเป็นเพราะฝ่ายขบวนการผ่านการสูญเสียอย่างต่อเนื่อง และฝ่ายความมั่นคงเริ่มเห็นความสำคัญของการเคารพสิทธิมนุษยชน ขอยกสถิติของ ศอ.บต. มาแสดงประกอบดังนี้
 

การพูดคุยสันติภาพในชายแดนใต้และการถดถอยของหมู่บ้านชาวพุทธ โดย โคทม อารียา

 

วิธีการลดความรุนแรงที่ยอมรับกันอย่างเป็นสากลคือการพูดคุยสันติภาพ (peace talk) เพื่อที่จะหาทางแก้ไขสาเหตุความรุนแรงและหาทางออกที่ยั่งยืน การพูดคุยสันติภาพอย่างไม่เป็นทางการได้เริ่มมานานแล้ว แต่ต้องรอถึงปี 2556 ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงเริ่มการพูดคุยอย่างเป็นทางการโดยมีรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลคือ พล.ท. ภราดร พัฒนถาบุตร ฝ่ายบีอาร์เอ็นคือ ฮัสซัน ตอยิบ

 

มาถึงสมัยรัฐบาลประยุทธ์ ชื่อเรียกอย่างเป็นทางการของการพูดคุยคือ "การพูดคุยเพื่อสันติสุข" เพื่อเลี่ยงที่จะใช้คำว่าสันติภาพ หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลคือ พล.อ. อักษรา เกิดผล ที่พูดคุยกับฝ่ายมารา ปาตานี ซึ่งมีสุกรี ฮารี เป็นหัวหน้าคณะ ได้พูดคุยกันร่วมยี่สิบครั้งจนได้ร่างข้อตกลงเรื่องการมีพื้นที่ปลอดภัยที่อำเภอเจาะไอร้อง ปรากฏว่าฝ่ายรัฐบาลไม่ยอมลงนามในข้อตกลง จึงเป็นอันพับไป

 

รัฐบาลได้ตั้ง "พล.อ. อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์" เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยคนใหม่ แต่ไม่ทันไร ฝ่ายมารา ปาตานี แสดงความไม่พอใจต่อหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลและจะไม่ขอเข้าร่วมพูดคุยด้วย พอดีได้จังหวะการมีรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง จึงเป็นโอกาสแต่งตั้ง พล. อ.วัลลภ รักเสนาะ เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยคนที่สาม คราวนี้ กลับมาคุยกับบีอาร์เอ็นที่คุมกองกำลังอยู่ตามเดิม บีอาร์เอ็นส่งอานัส อับดุลเราะห์มาน มาเป็นหัวหน้าคณะพูดคุย

 

คณะพูดคุยวัลลภ-อานัส คุยกันมา 5 ครั้งแล้ว สองครั้งแรกในเดือน มกราคม และ มีนาคม 2563 แล้วได้หยุดไปเกือบสองปีเหตุด้วยการระบาดของโรคโควิด-19 (ฟังว่ามีการคุยกันบ้างในระดับเทคนิคผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์) การคุยกันครั้งที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11-12 มกราคม 2565 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ในการประชุมครั้งนี้ ได้มีข้อตกลงว่าจะคุยกันในเรื่องที่เป็นเนื้อหาสาระหรือที่ใช้ศัพท์ว่า เรื่องที่เป็นสารัตถะ 3 เรื่อง ได้แก่ การลดความรุนแรง การปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ และการแสวงหาทางออกทางการเมือง

 

การพูดคุยครั้งที่ 4 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อวันที่ 31 มีนาคมและ 1 เมษายน 2565 ได้บรรลุข้อตกลงที่จะหยุดใช้ความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอน โดยมี “กลุ่มอิสระติดตามผลประกาศหยุดยิง” ครั้งนี้ด้วย อย่างไรก็ดี หลังการประชุมครั้งนี้ นักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งรายงานผ่าน เบนาร์ นิวส์ ว่า "การพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ล่าสุด : ไปไกลเกินไปไหม" เพราะดูเหมือน ‘เอกราช’ จะไม่อยู่บนโต๊ะเจรจาแล้ว ไม่รู้ชัดว่ากองกำลังบีอาร์เอ็นจะเห็นด้วยหรือไม่ ในการพูดคุยครั้งที่ 4 ทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องต้องกันว่า การเจรจาในอนาคตจะมีพื้นฐานอยู่ภายใต้ความเป็นรัฐเดี่ยวของราชอาณาจักรไทยตามที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ  และข้อความนี้ก็ได้ปรากฏในแถลงการณ์ของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย

 

มีรายงานข่าวว่า กองกำลังในพื้นที่ทราบถึงการที่ผู้แทนบีอาร์เอ็น "ยอมรับการอยู่ภายใต้ความเป็นรัฐเดี่ยวของราชอาณาจักรไทย" และได้แนะนำให้อยู่ในความสงบโดยกล่าวว่าข้อตกลงนั้นเป็น "วิถีทางทางการทูต" เชื่อว่าปีกทหารของบีอาร์เอ็นจะแยกตัวออกมา หากว่าพวกเขาเกิดความรู้สึกว่าเป้าหมายทางการเมืองและ “จุดมุ่งหมายอันศักดิ์สิทธิ์” ถูกลดทอนลง บทวิเคราะห์นี้ลงท้ายว่า ทั้งฝ่ายรัฐบาลและบีอาร์เอ็นมีความจำเป็นที่จะต้องคิดว่า ทำอย่างไรทหารและกองกำลังของตนจะเห็นด้วยกับกระบวนการสันติภาพ และร่วมขับเคลื่อนกระบวนการนี้ให้ไปในทิศทางเดียวกัน

 

ในการพูดคุยครั้งที่ 5 ที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 1-2 สิงหาคม 2565 คณะพูดคุยสองฝ่ายได้ประเมินผลการหยุดยิงในช่วงเดือนรอมฎอนว่าประสบความสำเร็จ และฝ่ายรัฐบาลหวังจะขยายผลไปถึงช่วงเข้าพรรษาด้วย มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญในเรื่องที่เป็นสารัตถะข้อที่ 2 คือการปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะต้องวางหลักเกณฑ์และวิธีการอย่างรัดกุม เพื่อความปลอดภัย โดยเฉพาะของตัวแทนของบีอาร์เอ็นที่จะเข้าร่วมการปรึกษาหารือดังกล่าว หลังการพูดคุยครั้งที่ 5 มีการแถลงข่าวว่าคณะพูดคุยแต่ละฝ่ายได้ยื่นข้อเสนอเป็นลายลักษณ์อักษรให้อีกฝ่ายหนึ่งพิจารณา ซึ่งคณะทำงานด้านเทคนิคจะได้ปรับให้เกิดความเห็นพ้องต้องกัน ก่อนที่จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาในระหว่างการพูดคุยครั้งที่ 6 ที่คาดว่าจะมีขึ้นในเดือนตุลาคมปีนี้
    

สังเกตว่ามีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นค่อนข้างถี่ในระยะนี้ ซึ่งพอลำดับได้ดังนี้

 

  • เมื่อคืนวันที่ 25 พ.ค. 2565 ก่อนการพูดคุยครั้งที่ 5 เพียงไม่กี่วัน มีเหตุโจมตีสถานีตำรวจน้ำตากใบ และเหตุขว้างระเบิดอีก 3 จุด ในพื้นที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ซึ่งมาสั่นคลอนความสำเร็จช่วงหยุดยิงรอมฎอน
  • หลังการพูดคุยครั้งที่ 5 เพียงวันเดียว คือในเวลาหัวค่ำของวันที่ 3 สิงหาคม ชาวบ้านที่เป็นชาวพุทธ 5 คน เข้าไปหาหมูป่าที่ตำบลโต๊ะเด็ง อำเภอสุไหงปาดี ถูกคนร้ายซุ่มยิงเสียชีวิต 2 ราย ขณะที่อีก 3 คนที่แยกกันไปหาหมูป่าปลอดภัย 
  • ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม หญิงชาวบ้านโคกโก ตำบลโต๊ะเด็ง เข้าไปกรีดยางแล้วเหยียบกับระเบิด ทำให้ขาขาดทั้งสองข้าง เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ เหยียบกับระเบิดซ้ำอีกลูก เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บอีก 3 คน 
  • ในวันถัดมา คือคืนวันที่16 ต่อถึงเช้าวันที่ 17 สิงหาคม มีการลอบวางระเบิดและวางเพลิงร้านสะดวกซื้อ รวม 18 เหตุการณ์ บางแห่งไฟลุกลามเผาปั๊มน้ำมัน มีผู้ที่ติดอยู่ในร้านสะดวกซื้อเสียชีวิต 1 ราย 
  • เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ที่ตำบลเจ๊ะเห คนร้ายซุ่มยิง ผบ. หมู่งานป้องกันและปราบปราม สภ.ตากใบ เสียชีวิต ในวันเดียวกันที่ตำบลจะแนะ คนร้ายซุ่มยิงอาสาสมัครทหารพราน เสียชีวิต 1 รายและอีกคนหนึ่งโดนระเบิดไปป์บอมบ์บาดเจ็บ 
  • ต่อมาในวันที่ 24 สิงหาคม ที่ตำบลรือเสาะ คนร้ายปาระเบิดไปป์บอมบ์ใส่อาสาสมัครทหารพราน ทำให้มีผู้บาดเจ็บสองคน


เหตุการณ์เผาร้านสะดวกซื้อรวม 18 เหตุการณ์นั้น เป็นเรื่องสะเทือนขวัญและทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปต่าง ๆ นานา โดยชวนให้คิดว่าเหตุการณ์นั้นเกี่ยวเนื่องกับการพูดคุยเพื่อสันติสุข เพราะว่าในวันที่เกิดเหตุ (วันที่ 17 สิงหาคม) คณะพูดคุยฯได้นัดปรึกษาหารือกับผู้นำภาคประชาสังคมหลายคนในพื้นที่ และในวันถัดมา ก็จัดประชุมเพื่อรายงานผลการพูดคุยและรับฟังความเห็นกับ “คณะประสานงานระดับพื้นที่ (สล.3)” มีการปล่อยข่าวว่าบีอาร์เอ็นเสียใจที่มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ซึ่งเกิดขึ้นนอกเหนือความตั้งใจ ที่มุ่งต่อต้านการรุกคืบหน้าทางธุรกิจจากภายนอกพื้นที่

 

อย่างไรก็ดี โดยอาศัยช่องทางการสื่อสารที่เชื่อถือได้ ทั้งบีอาร์เอ็นและพูโลต่างก็ปฏิเสธ ว่าไม่ได้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์เผาร้านสะดวกซื้อดังกล่าว แม้จะเร็วเกินไปที่จะมีหลักฐานพอให้สืบสวนสอบสวนหาสาเหตุอย่างชัดเจนได้ แต่ดูเหมือนว่า ในบรรดาฝ่ายผู้เห็นต่างที่เป็นกองกำลัง อาจมีส่วนหนึ่งที่ไม่สนับสนุนการพูดคุยสันติภาพ เพราะไป ยอมรับมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญ

 

ส่วนอีกความเห็นหนึ่งคือ ในช่วงเวลาสองปีที่บีอาร์เอ็นประกาศยุติการปฏิบัติการเพื่อให้ทุกฝ่ายมุ่งแก้ไขและบรรเทาปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19นั้น ฝ่ายผู้เห็นต่างได้รับคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งมาสมทบ และได้ฝึกฝนคนกลุ่มนี้ให้เป็นกองกำลัง และเหตุการณ์วันที่ 17 สิงหาคม อาจเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกซ้อมคนรุ่นใหม่ก็เป็นได้
จะขอพักเรื่องความรุนแรงไว้ก่อน โดยได้แต่หวังว่าเหตุการณ์จะไม่กลับมารุนแรงมากขึ้นอีก และหวังว่าการพูดคุยในสารัตถะข้อแรกเรื่องการลดความรุนแรงนั้น จะประสบความสำเร็จเหมือนในช่วงเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา


เรื่องที่จะขอนำมากล่าวต่อไป เป็นเรื่องความรู้สึกของชาวบ้านในพื้นที่ เป็นธรรมดาที่ชาวบ้านจะรู้สึกกลัว เพราะอาจตกเป็นเป้าของการใช้ความรุนแรงเหมือนในอดีตได้อีก ทุกฝ่ายจึงต้องรับรองว่า การลดความรุนแรงหมายความในทางปฏิบัติว่า พลเรือนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสู้รบจะต้องรู้สึกปลอดภัย โดยทุกฝ่ายเคารพกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยมนุษยธรรม (International Humanitarian Law - IHL) ดัชนีชี้วัดตัวหนึ่งคือ จะต้องไม่มีใครที่ต้องย้ายถิ่นฐานออกไปอยู่นอกพื้นที่ เหตุเพราะรู้สึกไม่ปลอดภัย หากชาวมุสลิมจะไปทำงานในมาเลเซียหรือในพื้นที่อื่น ก็ต้องไม่ใช่ด้วยเหตุผลว่าถ้าอยู่ในพื้นที่แล้วจะไม่มั่นคงปลอดภัย เช่นกลัวหมายเรียก ชาวพุทธอาจย้ายออกจากพื้นที่เพราะย้ายตามลูกหลานที่มีงานทำในที่อื่น หรือด้วยเหตุจำเป็นทางเศรษฐกิจ แต่ไม่ใช่ด้วยความรู้สึกว่าถูกคุกคาม

 

คำศัพท์ภาษาอังกฤษสำหรับผู้ถูกบังคับย้ายถิ่นภายในประเทศคือ Internally Displaced Person (IDP) เราไม่ค่อยมีการสำรวจหรือมีสถิติที่น่าเชื่อถือว่า มี IDP จากเหตุการณ์ความรุนแรงในชายแดนใต้จำนวนเท่าใด ชาวพุทธในพื้นที่คิดว่ามี IDP ที่เป็นชาวพุทธจำนวนมาก แต่ยืนยันเป็นตัวเลขรวมไม่ได้ ส่วนทางการคิดว่ามีจำนวนน้อย (เพราะต้องนับเฉพาะคนที่ต้องย้ายถิ่นเพราะรู้สึกไม่ปลอดภัย เช่น ถูกข่มขู่ หรือเพื่อนบ้านชาวพุทธในหมู่บ้านถูกทำร้าย) สำหรับมุสลิม มีจำนวนหนึ่งที่โดนหมายเรียก พ.ร.ก. ก็ย้ายถิ่นไปทำมาหากินในมาเลเซีย ได้มีความพยายามสำรวจตัวเลขกันอยู่ แต่ยังดีที่ทางการเลิกออกหมายเรียกดังกล่าวแล้ว

 

การคืนดีกันในชายแดนใต้ คือการต้อนรับผู้ที่ต้องย้ายถิ่นและประสงค์จะกลับคืนถิ่น ให้สามารถทำได้อย่างปลอดภัย มีศักดิ์ศรี และมีที่ทางทำมาหากิน แต่ก่อนอื่นควรศึกษาสาเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้หมู่บ้านชาวพุทธในชายแดนใต้ประสบภาวะถดถอย เพื่อจะได้ช่วยกันแก้ปัญหาให้ตรงจุด อันอาจนำไปสู่การฟื้นฟูหมู่บ้านเหล่านั้น โดยมีชาวพุทธบางครอบครัวสามารถกลับคืนถิ่นสู่หมู่บ้านเดิมของตนได้

 

จากการสำรวจของสมาพันธ์ไทยพุทธจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่าในชายแดนใต้ มีชุมชนพุทธอยู่ 277 ชุมชน แต่ยังไม่ชัดเจนว่า ในจำนวนนี้มีหมู่บ้านที่อยู่ในสภาพถดถอยจำนวนเท่าไร สุภาสเมต ยุนยะสิทธิ์ อาจารย์จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ศึกษาหมู่บ้านชาวพุทธจำนวน 18 หมู่ ซึ่งอยู่ในภาวะถดถอย ในที่นี้ ขอสรุปผลการศึกษาหมู่บ้าน 6 หมู่บ้าน ซึ่งพอจะช่วยให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งการอภิปรายผลน่าจะบอกแนวทางการฟื้นฟูหมู่บ้านชาวพุทธในชายแดนใต้ ให้พ้นจากภาวะถดถอยต่อไป 

 

กรณีศึกษาที่ 1 : ชุมชนโต๊ะเด็ง ตำบลโต๊ะเด็ง อำเภอสุไหงปาดี 


ชุมชนโต๊ะเด็งมีทั้งหมด 5 หมู่บ้าน คนพุทธจะอยู่ที่หมู่ 2 ค่อนข้างมาก ส่วนในหมู่ 1 แต่ก่อนเคยมีครัวเรือนคนไทยพุทธอยู่มากถึง 80 ครัวเรือน ในปัจจุบันเหลือเพียง 4-5 ครัวเรือนเท่านั้น และแต่ละครัวเรือนก็มีสมาชิกเพียง 1-2 คน ส่วนมากเป็นผู้สูงอายุ วัยรุ่นหรือวัยทำงานมักจะออกจากชุมชนไปศึกษาเล่าเรียนหรือทำงานนอกพื้นที่ ชาวพุทธที่นี่เป็นเจ้าของสวนยาง ซึ่งจะอยู่ลึกเข้าไปในบริเวณที่เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของคนมลายู แต่ก่อนเคยเข้าไปกรีดยางเอง แต่ตั้งแต่มีเหตุการณ์ความไม่สงบ ส่วนใหญ่จะว่าจ้างคนมลายูในพื้นที่เข้าไปกรีดยางให้แทน วัยรุ่นมลายูเป็นกลุ่มที่ไทยพุทธบ้านโต๊ะเด็งไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์ด้วย "เรารู้จักคนรุ่นตายาย ลุงป้าของเด็กวัยรุ่น แต่ตัวเด็กเอง เราไม่ได้ใกล้ชิด หรือรู้จักสนิทสนม"

 

ชุมชนบ้านโต๊ะเด็งนั้นเริ่มมีอาการของความถดถอยมาตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุการณ์ และเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นหลังปี 2547 เป็นต้นมาก็เป็นสาเหตุผสมโรงที่ทำให้ชุมชนพุทธแห่งนี้ตกอยู่ในสภาพเกือบร้างอย่างที่เป็นอยู่ ทางราชการไม่ได้ใส่ใจว่าความรุนแรงทำให้ความถดถอยเพิ่มมากขึ้น อันที่จริงทางราชการควรพยายามแก้ปัญหาตั้งแต่เริ่มปรากฏสัญญาณความถดถอย และสร้างโครงการเพื่อสนับสนุนให้คนอยู่ในพื้นที่สามารถอยู่ได้โดยมีอาชีพและรายได้ที่เหมาะสม 

 

กรณีศึกษาที่ 2 : ชุมชนเทศบาลบันนังสตา อำเภอบันนังสตา


ชุมชนนี้เคยมีชาวพุทธประมาณ 100 ครัวเรือน อาชีพส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ชาวพุทธและมุสลิมเคยมีการพบปะสังสรรค์ตามร้านน้ำชา กินข้าวร่วมกัน และร่วมงานประเพณีวัฒนธรรมได้อย่างไม่มีความกังวล พอเกิดเหตุการณ์รุนแรง กลายเป็นต่างคนต่างอยู่ พระจะออกไปบิณฑบาตไม่ได้ ชาวบ้านจะมาทำบุญที่วัด ส่วนพิธีทางศาสนา เช่น การสวดศพ เวียนเทียน ต้องทำเวลากลางวัน


เหตุการณ์รุนแรงหลาย ๆ เหตุการณ์มุ่งบีบให้คนพุทธออกไป ชาวจีนตลาดล่างไปแล้วทั้งหมด คนที่ไม่ไปก็คือคนที่ไม่มีที่ไป คนที่มีสวนก็ทำสวนไม่ได้ กรีดยางไม่ได้ คนที่รับราชการ ก็รอเกษียณ เด็กรุ่นใหม่ที่ครอบครัวมีเงินพอก็จะย้ายไปเรียนที่อื่น และมักจะไม่กลับกันมา เพราะอยู่ก็ไม่ปลอดภัย คนที่กลับมาก็เป็นคนที่มีที่มีบ้าน พวกเขาว่าง ๆ นาน ๆ ทีก็กลับมาดูบ้านเสียที


ทางราชการรู้ปัญหาดี แต่ไม่ช่วยทำอะไร เคยเสนอให้ช่วยพาคนพุทธกลับมาอยู่เพิ่มขึ้น และให้มีข้าราชการที่เป็นคนพุทธมากขึ้น แต่รัฐก็ไม่ได้ทำ


กรณีศึกษาที่ 3 : บ้านเคียน ตำบลพ่อมิ่ง อำเภอปานาเระ
    

บ้านเคียนเป็นชุมชนที่คนพุทธมาบุกเบิก ในอดีตมีคนพุทธอยู่ประมาณ 200 คน  มีโรงเรียนบ้านเคียน แต่ต่อมาถูกยุบ เด็กจึงต้องไปเรียนที่ตำบลท่าข้ามแทน การเดินทางไปมา เข้าออกชุมชนนั้นสะดวกสบาย ความสัมพันธ์กับคนมุสลิมค่อนข้างดี 

 

ปัจจุบัน มีคนพุทธ 62 ครัวเรือน มีมุสลิมแค่ 2 ครัวเรือน แต่คนพุทธก็มีจำนวนลดน้อยลงเรื่อย ๆ คนคนรุ่นใหม่ย้ายออกไปหางานทำข้างนอก เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นทั่วไปหรือบริเวณใกล้ ๆ หมู่บ้าน ไม่ได้ส่งผลให้ชาวบ้านกลัวจนไม่กล้าออกไปทำงาน แต่ก็ต้องระวังตัวเมื่อออกไปนอกหมู่บ้าน ส่วนใหญ่เหตุเกิดระหว่างทาง ในหมู่บ้านไม่เคยมีเหตุการณ์ แต่ถ้าผ่านไปบ้านพ่อมิ่ง ก็ต้องระวัง

 

สาเหตุความถดถอยไม่ค่อยเกี่ยวกับเหตุการณ์รุนแรง แต่เป็นเพราะอาชีพที่มีในชุมชนไม่ตรงกับความรู้ความสามารถของคนรุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษานอกพื้นที่

 

กรณีศึกษาที่ 4 : บ้านมะพร้าวต้นเดียว อำเอหนองจิก


ก่อนเหตุการณ์ความรุนแรง ความสัมพันธ์ระหว่างชาวพุทธและมุสลิมมีลักษณะพึ่งพาอาศัย ร่วมทำงานรับจ้างและช่วยเหลือกัน ในช่วงฤดูฝน น้ำจะท่วมอยู่เสมอปีละ 2-3 รอบ โดยท่วมรอบละประมาณหนึ่งสัปดาห์  ชาวบ้านจะนำรถไปจอดไว้บนโคกที่สูงซึ่งอยู่บริเวณนอกหมู่บ้าน
มีเหตุการณ์ความสูญเสียซึ่งทำให้วิถีชีวิตของคนในหมู่บ้านเปลี่ยนไปอย่างมาก แต่ผู้ก่อเหตุมักจะไม่เข้ามาก่อกวนในเขตหมู่บ้าน เพราะหมู่บ้านเป็นทางปิด ไม่สามารถหลบหนีไปไหนได้ ดังนั้น เหตุความรุนแรงมักจะเกิดขึ้นบริเวณก่อนที่จะเข้ามาในหมู่บ้าน เช่น การเผาหม้อแปลงไฟฟ้า การเผาบ้านที่อยู่ชั้นนอก การฆ่าตัดคอ แล้วนำมาปักไว้นอกหมู่บ้านของชาวพุทธ คนในหมู่บ้านถูกยิงตาย 2 ศพ ขณะที่เดินทางผ่านหมู่บ้านมุสลิม เมื่อมีการก่อสร้างถนนสี่เลน ทำให้หมู่บ้านมีทางเข้าออกสะดวกขึ้น ไม่ต้องเดินทางผ่านหมู่บ้านมุสลิม จึงรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น


ความสัมพันธ์กับเพื่อนมุสลิมนั้นก็ยังมีด้วยความสนิทสนมกันมาตั้งแต่เด็ก โดยมักพบเจอกันในพื้นที่นอกหมู่บ้านของทั้งสองฝ่าย เช่น ในตลาดหรือร้านค้า ร้านน้ำชา การพบปะกินข้าวร่วมกันในพื้นที่หมู่บ้านนั้นไม่มีแล้ว และการจ้างงานระหว่างกันก็ไม่มีเช่นกัน 


สาเหตุความถดถอยนอกจากเรื่องความรุนแรงแล้ว ชุมชนยังประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง บางปีน้ำท่วมถึง 5 ครั้ง พืชผักที่ปลูกไว้ก็เสียหาย คนที่มีสวนยางพาราประสบปัญหากรีดยางไม่ได้ คนรุ่นใหม่ที่พอมีความรู้ ส่วนใหญ่จึงออกไปรับจ้างข้างนอก เช่น เป็นลูกจ้างรัฐ เอกชน ซึ่งเป็นรายได้หลักให้แก่ครอบครัว


หากแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ ก็จะทำให้วิถีการทำมาหากินสะดวกขึ้น ขณะเดียวกัน ควรส่งเสริมให้คนในชุมชนสามารถหารายได้เสริมด้วย

 

กรณีศึกษาที่ 5 : หมู่บ้านโคกดีปลี อำเภอหนองจิก
    

ชุมชนโคกดีปลีมีชาวพุทธ 174 ครัวเรือน และมุสลิม 22 ครัวเรือน ชาวบ้านทำการเกษตร รับราชการ ครู เปิดกิจการเล็ก ๆ ส่วนตัว แต่ชาวพุทธส่วนมากประกอบอาชีพรับจ้าง นับแต่มีเหตุรุนแรง จะมีรถรับพระจากวัดดุยงมาเดินบิณฑบาตในหมู่บ้านชาวพุทธและรับกลับไปส่งที่วัด
สาเหตุหลักที่ทำให้มีการย้ายออกไปอยู่นอกชุมชน นอกจากเรื่องความไม่ปลอดภัยแล้ว ยังมีความต้องการงานที่มีรายได้ดี เรื่องที่อยากให้ทางราชการแก้ไขคือ เมื่อถึงช่วงน้ำท่วม น้ำจะขังอยู่นานประมาณครึ่งเดือน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการปิดเปิดน้ำของชลประทาน ทำให้น้ำถ่ายเทไม่ทัน แตกต่างจากอดีต ปัญหาน้ำท่วมเป็นเรื่องปกติของฤดูกาล น้ำจะไหลลงสู่ทะเลโดยไม่ขังนาน นอกจากนี้ ชาวพุทธไม่พอใจภาครัฐ ในเรื่องความไม่เท่าเทียม และความไร้ประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ


กรณีศึกษาที่ 6 : หมู่ 2 บ้านบางตาวา อำเภอหนองจิก

 

ชาวพุทธ หมู่ 2 เรียกชุมชนตนเองว่า บ้านคร (คอน) เพราะคนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่ย้ายมาจากนครศรีธรรมราช ชาวพุทธมีความสัมพันธ์กับมุสลิมในฐานะเพื่อนร่วมชุมชนเดียวกัน ไปมาหาสู่กันอย่างปกติสุข และมีความสัมพันธ์แบบสนิทสนมกันมาตั้งแต่เด็ก เพราะเข้าเรียนในโรงเรียนเดียวกัน โดยทั่วไปแล้วชาวบางตาวาประกอบอาชีพประมง แต่ส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ชาวพุทธส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างนอกพื้นที่ในเมือง โดยเดินทางไปกลับ มีการย้ายถิ่นเพียง 1 หลังคาเรือน ที่ขายที่และบ้านให้มุสลิม ส่วนลูกหลานในวัยทำงาน ส่วนใหญ่ออกไปทำงานนอกพื้นที่ในเมือง และเช่าบ้านอยู่ใกล้ที่ทำงาน วันหยุดจึงกลับมาเยี่ยมบ้าน คนที่อยู่ในหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ

 

สาเหตุความถดถอยคือเหตุการณ์ความรุนแรง เช่น ลูกที่ย้ายไปทำร้านค้าอยู่ข้างนอก ถูกยิงตายทั้งผัวและเมีย ซึ่งได้สร้างความเสียใจอย่างมากต่อญาติพี่น้องจนต้องตัดสินใจย้ายไปอยู่เชียงใหม่ นอกจากนี้ยังมีความขัดแย้งในเรื่องอื่น ๆ เช่น มีชาวพุทธเพียง 3 ครัวเรือนเท่านั้นที่ทำประมงโดยการใช้อวนลาก แต่ไม่สามารถทำได้เนื่องจากมุสลิมได้วางเครื่องมือประมง (ไอ้โง่) เต็มพื้นที่ ชาวพุทธมีความไม่พอใจเพราะเห็นว่า มุสลิมเวลาชวนละหมาดจะส่งเสียงดังเกินความจำเป็น และในช่วงการเฉลิมฉลองฮารีรายอ มุสลิมวัยรุ่นมักจะจุดประทัดโยนใส่บ้านแม้จะเป็นเวลาค่ำคืนที่ปิดบ้านเข้านอนแล้ว

 

จากกรณีศึกษาข้างต้น เห็นได้ว่าสาเหตุหนึ่งของความถดถอยของชุมชนพุทธคือสถานการณ์ความรุนแรง ถ้าจะแก้ที่สาเหตุ ต้องมีข้อตกลงอันเป็นผลจากการพูดคุยสันติภาพในเรื่องการลดความรุนแรง และมีการติดตามผลข้อตกลงดังกล่าวที่มีประสิทธิภาพ สาเหตุสำคัญประการที่สองคือความมั่นคงในการประกอบอาชีพที่ให้รายได้พอเพียง เรื่องนี้ภาครัฐต้องเร่งดำเนินการ โดยการแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการประกอบอาชีพ เช่น เรื่องน้ำ และมีการสร้างงานที่ดีพอในพื้นที่เพื่อลูกหลานจะได้ไม่ต้องออกไปทำงานในเมือง มีอีกสาเหตุหนึ่งที่ต้องการนโยบายภาครัฐที่ชัดเจน คือการสร้างสิ่งแวดล้อมให้คนรุ่นใหม่ทั้งพุทธและมุสลิมเป็นเพื่อนกัน แต่เดิมเขาเป็นเพื่อนเพราะเรียนโรงเรียนเดียวกัน ปัจจุบันมักแยกกันเรียน ความเป็นเพื่อนและความสัมพันธ์ก็ถดถอยลง นี่เป็นปัญหาใหญ่ที่ระบบการศึกษายังหาคำตอบไม่ได้มาหลายสิบปีแล้ว 
 

logoline