svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

อีก 8 ปี "กรุงเทพฯ"อาจจมทะเล สัญญาณถึงผู้บริหาร ย้ายเมืองหลวงหยุดขยายกทม.

04 กันยายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ต้องรู้ หากมีอุทกภัยใหญ่แบบปี 54 การฟื้นฟูในปี พ.ศ. 2565 จะยากกว่ามากเพราะครัวเรือนมีหนี้ครัวเรือนสูง ภาครัฐมีหนี้สาธารณะสูง จีดีพีไตรมาสสี่ปี 65 อาจติดลบมากว่าปี 54 ติดตามได้จากเจาะประเด็น โดย "อนุสรณ์ ธรรมใจ"    

 

"รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ" อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ และ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความไม่มั่นใจต่อการบริหารจัดการเรื่องอุทกภัย การจัดการน้ำท่วมขังและการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบเกิดขึ้นต่อสาธารณชน และ เริ่มวิตกกังวลมากขึ้นว่า จะเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ ผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต การทำงาน การสูญเสียรายได้และทรัพย์สินแบบปี พ.ศ. 2554 หรือไม่ และการ เตรียมการรับมือมีประสิทธิภาพอย่างไร

 

เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในกทม. เมื่อปี 2554

 

ขณะที่ ปัญหาที่ใหญ่กว่าน้ำท่วมขัง อุทกภัยใหญ่แบบปี 54 ก็คือ อีก 8 ปี กรุงเทพฯอาจจมทะเล สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจสังคมรุนแรงหากไม่ทำอะไรเพื่อป้องกันตั้งแต่ตอนนี้อย่างจริงจัง จากคำเตือนในงานวิจัยของกรีนพีซที่เผยแพร่ตั้งแต่ปีที่แล้ว ประเมินเบื้องต้นโดยกรีนพีซ กรุงเทพฯและปริมณฑลจะเผชิญสภาวะจมทะเล กระทบพื้นที่ 1,521 ตารางกิโลเมตร (กรุงเทพฯมีพื้นที่ทั้งหมด 1,569 ตารางเมตร)

 

ความเสียหายทางเศรษฐกิจเบื้องต้น 5.12 แสนล้านดอลลาร์ (คำนวณเป็นเงินบาท อัตราแลกเปลี่ยนที่ 36.5  ณ 2 ก.ย. 65) หรือ 18.6 ล้านล้านบาท กระทบประชาชนขั้นต่ำ 10.45 ล้านคน ความเสียหายทางเศรษฐกิจ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และ จำนวนประชากรที่ได้รับผลกระทบสูงสุดในบรรดาเมืองใหญ่ริมชายฝั่งในเอเชียที่มีความเสี่ยงที่จมน้ำทะเล ( Coastal flooding ) ความเสียหายคิดเป็น 96% ของจีดีพีของกรุงเทพฯ

 

หากรัฐบาลและพรรคการเมืองต่างๆไม่นำเสนอนโยบายหรือโครงการเพื่อแก้ปัญหานี้ตั้งแต่บัดนี้ หากช้ากว่านี้จะไม่ทันการณ์ ระดับความเป็นตัวแทนเชิงนโยบายของพรรคการเมืองไทยทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านไทยยังอยู่ในระดับต่ำมาก พรรคการเมืองส่วนใหญ่มุ่งเน้นอย่างไรให้ชนะการเลือกตั้งและเป็นรัฐบาลโดยไม่สนใจสัญญาประชาคมที่ทำไว้ในระหว่างรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง และไม่มุ่งแก้ปัญหาวิกฤติหลายอย่างของประเทศในระยะยาว

 

กรณีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำเป็นสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดของการไม่สามารถในการดำเนินการตามนโยบายที่หาเสียงไว้ รวมทั้งค่าแรงขั้นต่ำที่จะมีการปรับขึ้นในเดือนตุลาคมก็ต่ำกว่านโยบายค่าแรงขั้นต่ำที่นำเสนอโดยพรรคการเมืองหลายพรรคค่อนข้างมาก

 

มูลนิธิเนชั่น เข้าให้การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนจากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 64

 

การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยเพียง 5% ซึ่งต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อจึงช่วยกระตุ้นการบริโภคและเศรษฐกิจโดยภาพรวมไม่มากนักแต่บรรเทาความเดือดร้อนได้บ้าง เศรษฐกิจไทยโดยภาพรวมนั้นกระเตื้องขึ้นจากภาคการท่องเที่ยวหลังเปิดประเทศและอัตราการขยายตัวของการส่งออกมากกว่า ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ จะเกิดปัญหาน้ำท่วมแบบปลายปี พ.ศ. 2554 หรือไม่

 


ผลกระทบของน้ำท่วมในปี พ.ศ. 2554 นั้นกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง มีมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท จีดีพีติดลบในไตรมาสสี่ปี 54 เนื่องจากน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งในภาคกลาง ทำให้โรงงานพันกว่าโรงงานต้องหยุดดำเนินการผลิตและหยุดกิจการเป็นเวลาหลายเดือน

 

ช่วงเวลา 11 ปีที่ผ่านมาหลังน้ำท่วมใหญ่ รัฐบาลและพรรคการเมืองก็ไม่สามารถพลักดันให้เกิดการลงทุนในเรื่องการบริหารจัดการน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพและเพียงพอ โครงการขนาดใหญ่เกี่ยวกับการบริหารจัดงานน้ำต้องชะลอไปหลังการรัฐประหาร

 

เหตุการณ์น้ำท่วมพื้นที่กทม. เมื่อปี 2554

 

โครงการเจ้าพระยา 2 คลองระบายน้ำหลากความยาวประมาณ 22-23 กิโลเมตรเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยซ้ำซากลุ่มจังหวัดแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ก็เพิ่งจะมีการเร่งรัดให้ดำเนินการหลังจากที่จะเกิดความเสี่ยงน้ำท่วมใหญ่แบบปี 2554 ในตอนนี้ การก่อสร้างที่มีความคืบหน้าเพียง 20% ย่อมไม่สามารถช่วยอะไรได้หากเกิดน้ำท่วมใหญ่ขึ้นในปีนี้ และ โครงการก่อสร้างก็จะได้รับความเสียหายอีก

 

เราจึงเห็นระดับน้ำท่วมรุนแรงในหลายอำเภอของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ หลายจังหวัดในภาคกลาง รวมทั้งน้ำท่วมขังพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมในสมุทรปราการ  หากเกิดน้ำท่วมใหญ่แบบปี 2554 ครัวเรือนและภาคธุรกิจไทยมีความเปราะบางต่อภัยธรรมชาติสูงกว่าเดิม ความทนทานต่อการสูญเสียรายได้ ทรัพย์สินน้อยกว่าเดิม และการกลับคืนสู่สภาพเดิมยากกว่าเดิม มีข้อจำกัดทางการคลังมากขึ้นในการจ่ายเงินเยียวยาและชดเชยรายได้

 

ความสามารถในการกลับคืนสู่สภาพเดิม (Resilience) ของเศรษฐกิจโดยรวมทำได้ยากกว่าปี พ.ศ. 2554 เมื่อปี 54 เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวอย่างสูง 6.5% จากการขยายตัวเพียง 0.1% ปี 54 โดยไตรมาสสี่  จีดีพีติดลบสูงถึง 9% หากมีอุทกภัยใหญ่แบบปี 54 และปล่อยให้น้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมและศูนย์กลางทางธุรกิจ การฟื้นฟูในปี พ.ศ. 2565 จะยากกว่ามากเพราะครัวเรือนมีหนี้ครัวเรือนสูง ภาครัฐมีหนี้สาธารณะสูง ภาคธุรกิจภาคผลิตเพิ่งฟื้นตัวหลังวิกฤติเศรษฐกิจโควิด

 

หากเกิดสถานการณ์แบบปี 54 เกิดขึ้น จีดีพีไตรมาสสี่ปี 65 อาจติดลบมากกว่าปี 54 ก็ได้ความสามารถในการเยียวยา ชดเชยรายได้และฟื้นฟูเศรษฐกิจก็ทำได้ยากกว่าเพราะมีข้อจำกัดทางงบประมาณ ฉะนั้นต้องอย่าปล่อยให้น้ำท่วมพื้นที่ศูนย์กลางเศรษฐกิจและนิคมอุตสาหกรรมแบบปี 54

 

อย่างไรก็ตาม บทเรียนจากปี 54 ทำให้ นิคมอุตสาหกรรมมีระบบป้องกันน้ำท่วมดีขึ้นมาก รัฐเองก็มีวิธีการจัดการที่มีประสิทธิภาพที่ดีกว่าเดิม จึงหวังว่า ไม่เกิดผลกระทบแบบปี 54        

 

เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 65  กรมชลประทาน สั่งให้ปรับเพิ่มการระบายน้ำ หลังน้ำเหนือเพิ่ม เขื่อนเจ้าพระยา

 

"ดร. อนุสรณ์" กล่าวอีกว่า ปัญหาวิกฤติใหญ่น้ำท่วมขัง อุทกภัย และกรุงเทพฯกำลังจมลง เป็นปัญหาที่ต้องเอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหาตั้งแต่บัดนี้ หากช้ากว่านี้จะไม่ทันกาลอย่างแน่นอน คือ กรุงเทพฯและปริมณฑลกำลังจะจมลงใต้ระดับน้ำทะเล น้ำทะเลจะเอ่อล้นหนุนสูง และ พื้นดินทรุดตัวลง ทรุดตัวเฉพาะปีละ 1-2 เซนติเมตร มีความหนาแน่นของประชากรมาก มีโครงการก่อสร้างตึกสูงจำนวนมากในพื้นที่ดินอ่อน ทางด้านกายภาพ กรุงเทพสูงกว่า ระดับน้ำทะเลเฉลี่ยเพียง 1.5 เมตรเท่านั้น

 

ภาวะโลกร้อนรุนแรงทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น กรีนพีซประจำเอเชียตะวันออก เคยระบุว่า พื้นที่มากกว่า 96% ของกรุงเทพฯ มีความเสี่ยงน้ำท่วมรุนแรงจากระดับน้ำทะเลหนุนสูง อีกไม่เกิน 10 ปี พื้นที่ศูนย์กลางทางธุรกิจของประเทศ อย่าง สีลม สาทร เพลินจิตร รัชดา ล้วนได้รับผลกระทบหมด รวมทั้งศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ ที่ทำการของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ รวมทั้ง ที่ทำการรัฐสภา สภาวะดังกล่าวจะเกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและศูนย์กลางการบริหารประเทศได้   


"รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ" อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การป้องกัน กรุงเทพและปริมณฑล ไม่ให้จมอยู่ใต้น้ำนั้น ต้องดำเนินการดังนี้ทันที

 

ข้อแรก ต้องพิจารณาสร้าง "เขื่อนกั้นน้ำ" หรือ ถนนเลียบชายฝั่งยกสูง ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากซึ่งรัฐบาลต้องวางแผนงบประมาณให้ดี

 

ข้อสอง การเร่งปลูกป่าชายเลนเพื่อให้เป็นพื้นที่กันชน ซับน้ำ รองรับความรุนแรงของคลื่นทะเล การปลูกป่าชายเลนตลอดแนวพื้นที่ จาก บางขุนเทียน สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทรปราการจะฟื้นฟูธรรมชาติและยังสามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้อีกด้วย

 

ข้อสาม ต้องมีจัดระเบียบการใช้ที่ดินริมชายฝั่งทั้งหมด การใช้ที่ดินริมแม่น้ำลำคลองเพื่อขยายแม่น้ำและขุดลอกคูคลองได้เต็มที่

 

ข้อสี่ ต้องหยุดขยายตัวของกรุงเทพฯและปริมณฑล กระจายการลงทุนและความเจริญไปยังภูมิภาค ลดความเป็นศูนย์กลางของกรุงเทพฯ

 

ข้อห้า สังคมไทยต้องร่วมกันลดการปล่อยคาร์บอนและลดภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง รัฐบาลต้องเร่งส่งเสริมและเปลี่ยนผ่านระบบพลังงานของประเทศให้เป็นระบบพลังงานหมุนเวียน ระบบพลังงานทางเลือกที่เป็นพลังงานสะอาดกว่า

 

ข้อหก  นโยบายการย้ายเมืองหลวงแบบกรุงจาร์กาตาควรถูกนำมาศึกษาอย่างจริงจัง  การสร้าง"เขื่อนกั้นน้ำ" หรือ "ถนนเลียบชายฝั่งยกสูง"  เป็นโครงการเมกาโปรเจกต์ที่ต้องใช้งบประมาณสูงแต่ก็คุ้มค่าการลงทุนหากไม่ย้ายเมืองหลวง เนื่องจากขณะนี้เองปัญหาน้ำท่วมขัง น้ำทะเลหนุนสูงก็สามารถสร้างความเสียหายปีละ 40,000 ล้านบาทอยู่แล้ว และมีปัญหาทุกปี หากปล่อยให้กรุงเทพจมลงความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมจะรุนแรงมาก

 

เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 65  กรมชลประทานสั่งให้ปรับเพิ่มการระบายน้ำ หลังน้ำเหนือเพิ่ม ที่เขื่อนเจ้าพระยา

 

จากงานวิจัยของกรีซพีซ ระบุว่า ภายในปี 2573 การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและน้ำท่วมแนวชายฝั่งในสภาวะสุดขีดใน 7 เมืองของเอเชียอาจนำไปสู่ความเสียหายทางเศรษฐกิจราว 724,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รายงานฉบับนี้คาดการณ์ว่าภายในปี 2573 ประชาชนกว่า 15 ล้านคนใน 7 เมือง อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อน้ำท่วม

 

การวิเคราะห์ครั้งนี้เป็นหนึ่งในการวิเคราะห์ครั้งแรกที่ใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่ที่มีความละเอียดสูงในการระบุถึงพื้นที่ของเมืองที่อาจได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และขอบเขตของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

 

ข้อค้นพบหลักจากรายงานวิจัย บ่งชี้ว่า ไม่เกิน 8 ปี ภายในปี 2573 มากกว่า 96% ของพื้นที่กรุงเทพฯ อาจถูกน้ำท่วมหากเกิดอุทกภัยคาบอุบัติซ้ำทุก 10 ปี ซึ่งในปีนี้ก็ครบ 10 ปีน้ำท่วมใหญ่ปี พ.ศ. 2554 พอดี กระทบพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่มีความหนาแน่นสูงใจกลางเมือง นโยบายเพื่อย้ายเมืองหลวงไปยังพื้นที่อื่นๆของประเทศควรได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังโดยพรรคการเมืองและรัฐบาล

 

ในส่วนของประเทศอินโดนีเซีย ได้วางแผนย้ายเมืองหลวงออกจาก กรุงจาการ์ตา แล้ว ในรายงานของกรีซพีซ ระบุว่า กรุงจาการ์ตาเผชิญกับภัยคุกคามสองประการ ทั้งจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและแผ่นดินทรุด ราว 17% ของพื้นที่ทั้งหมดของจาการ์ตาซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ในปี 2573 อาจถูกน้ำท่วมภายใต้สถานการณ์อุทกภัยอุบัติซ้ำ 10 ปี  ซึ่งจะเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจราว 6.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

 

นอกจากนี้ยังมี พื้นที่ลุ่มต่ำทางตะวันออกรวมถึงแขวงโคโตซึ่งเป็น 1 ใน 23 แขวงพิเศษของกรุงโตเกียว(ประกอบด้วยเขตสุมิดะ โคโตะ อาดาจิ คัตสึชิกะและเอโดงาวะ) มีความเสี่ยงเป็นพิเศษต่อระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ความเสียหายทางเศรษฐกิจราว 68,000 ล้านเหรียญสหรัฐ อาจจะเกิดขี้นจากน้ำท่วมชายฝั่งภายในปี 2573 หรือคิดเป็น 10% ของ GDP รวมของกรุงโตเกียว

 

ส่วนกรุงไทเป สถานีกลางไทเปซึ่งเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญที่สุดทางตอนเหนือของไต้หวัน มีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมเช่นเดียวกับเขตต้าถงอันเก่าแก่ คิดเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจราว 24% ของ GDP รวมของกรุงไทเป

 

ประเทศฟิลิปปินส์เอง เกือบ 87% ของพื้นที่กรุงมะนิลาเป็นที่ลุ่มต่ำที่เสี่ยงน้ำท่วมซึ่งหากระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น เมื่อพิจารณาถึงอุทกภัยคาบอุบัติซ้ำ 10 ปี ที่จะเกิดขึ้นภายในปี 2573 ผู้คนมากกว่า 1.54 ล้านคนอาจได้รับผลกระทบและเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่ารวม 3.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

 

"รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ" อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ และ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พรรคการเมืองเป็นองค์ประกอบสำคัญของกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และต้องผลิตนโยบายสาธารณะที่แก้ปัญหาสำคัญในอนาคต ไม่ใช่นำเสนอเพียงนโยบายประชานิยมแบบฉาบฉวยเฉพาะหน้ามุ่งหาคะแนนนิยมเป็นหลัก สร้างระบอบอุปถัมภ์ใหม่ ไม่ก่อให้เกิดความยั่งยืน และ ทิ้งภาระให้คนรุ่นต่อๆไป  

 

พรรคการเมืองไม่ว่าฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้านจึงต้องทำหน้าที่ในการรวบรวมความคิดเห็นจากประชาชนและจัดทำชุดนโยบายสาธารณะในนามพรรคการเมือง (Party Policy Platform) รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2550 ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวมากกว่า รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2560 การเกิดการรัฐประหารสองครั้งในรอบ 15 ปีที่ผ่านมาเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาความเป็นสถาบันของพรรคการเมือง การขาดความต่อเนื่องของประชาธิปไตยและบทบาทของพรรคการเมืองทำให้ข้อเสนอนโยบายของพรรคการเมืองไม่หลุดไปจากวังวนของนโยบายเชิงอุปถัมภ์และนโยบายประชานิยมที่มีลักษณะละเมิดต่อกรอบการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ดีและทำให้ฐานะการเงินการคลังของประเทศสั่นคลอนได้ในอนาคต

 

แนวนโยบายจะเน้นการอุดหนุนเรื่องปากท้องและการให้สวัสดิการตามระบอบอุปถัมภ์ เกิดความสัมพันธ์ด้านกลับ (Reverse Relationship) ระหว่างระบอบประชาธิปไตยกับการกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองในลักษณะอุปถัมภ์และอุดหนุนระยะสั้น การมีนโยบายในลักษณะดังกล่าวมากๆจะส่งผลต่อฐานะการเงินการคลังของประเทศและส่งผลกระทบต่อคุณภาพของระบอบประชาธิปไตยระยะยาว 

 

ภาพมุมสูง น้ำท่วมใหญ่ เมื่อปี 2564  ซึ่งได้รับอิทธิพลจากพายุ "เตี้ยนหมู่"
 

"รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ" อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นต่อ บทบาทของภาครัฐต่อการกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองว่า ควรเป็นบทบาทในการสนับสนุน มากกว่า บังคับให้ปฏิบัติตาม ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ต้องเป็นยุทธศาสตร์ที่ต้องปรับเปลี่ยนตลอดเวลาตามพลวัตทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในอัตราเร่ง กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองควรให้ความสนใจกับการพัฒนากระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะมากกว่าการพัฒนาสาขาพรรคการเมือง

 

เนื่องจาก เมื่อพรรคการเมืองได้ผ่านการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง ไม่สะดุดลงจากการรัฐประหารอีก การพัฒนากระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะจะทำให้พรรคสามารถสร้างและขยายฐานคะแนนเสียงของตนเองได้และสาขาพรรคก็จะพัฒนาตามมาเมื่อพรรคการเมืองได้รับการสนับสนุนจากประชาชน จะเป็นพัฒนาการความเป็นสถาบันของพรรคการเมืองที่มีความยั่งยืนมากกว่า

 

นอกจากนี้ กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองควรจะเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองเสนอกระบวนการพัฒนาแนวนโยบายผ่านการเสนอทำ "โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติเพื่อการบริการชุมชน" ในพื้นที่ที่พรรคการเมือง สนใจ และนำไปปฏิบัติจริง (ตามข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้า วิจัยโดย ธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ) และ ส่งเสริมให้เกิดสถาบันวิเคราะห์นโยบายภายใต้พรรคการเมือง โดยสถาบันเหล่านี้ควรสามารถขอทุนทำวิจัยจากหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่จัดสรรทุนได้ 
 

logoline