svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ตรวจแถวการเมือง

อ่านทางร่างพ.ร.ป.เลือกตั้ง"ตกแน่...แต่ไม่จบ" 

06 สิงหาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เรื่องกฎหมายลูก โดยเฉพาะ ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ที่มีข่าววุ่นๆ เกี่ยวกับสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์หาร 100 หรือหาร 500 นั้น สถานะปัจจุบันเป็นอย่างไร และบทสรุปของข้อถกเถียงเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับนี้จะไปจบที่ตรงไหน

สำหรับ ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. หรือกฎหมายลูกเลือกตั้ง สถานะปัจจุบันยังเป็น "บัตร 2 ใบ หาร 500" และค้างรอการพิจารณาของที่ประชุมใหญ่รัฐสภา 

 

อ่านทางร่างพ.ร.ป.เลือกตั้ง"ตกแน่...แต่ไม่จบ" 

 

-องค์ประชุมล่ม เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ยังไม่ถึงคิวพิจารณา ติดร่าง พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม 

 

-มีข่าว 2 พรรคใหญ่จับมือข้ามขั้ว ใช้ยุทธการ "ยื้อ-ดึง-ล่ม" เพื่อให้ร่างกฎหมายตกไปหล้งพ้น 180 วัน ซึ่งจะครบในวันที่ 15 ส.ค.นี้ 

 

-ยังเหลือการประชุมร่วมของรัฐสภาก่อน 15 ส.ค. เพียงนัดเดียว คือ วันพุธที่ 10 ส.ค.

 

-หากร่างกฎหมายตก เพราะรัฐสภาพิจารณาไม่ทัน คือ ลงมติวาระ 3 ไม่ทันในวันที่ 15 ส.ค. รัฐธรรมนูญบังคับให้กลับไปใช้ร่างที่เสนอเข้าที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสูตรหาร 100 

 

คำถามสำคัญที่หลายฝ่ายตั้งตารอ ก็คืออะไรจะเกิดในวันที่ 10 ส.ค.นี้

 

"เนชั่นทีวี" ไปสอบถามความเห็นจากหลายฝ่าย รวมทั้งตรวจสอบจุดยืนทางการเมืองที่ประกาศสู่สาธารณะของผู้นำพรรคการเมือง 

 

1.พรรคเพื่อไทยจะเล่นเกม "ล่มองค์ประชุม" ต่อไป ซึ่งเป็นคำประกาศของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค และผู้นำฝ่ายค้านเอง เมื่อวันที่ 4 ส.ค.

 

2.แกนนำพรรคอื่นๆ แทบทุกพรรคอ่านเกมว่าองค์ประชุมล่มแน่ เพราะ

 

-สัญญาณชัด นัดประชุมวันเดียว คือ 10 ส.ค. จากเดิม 2 วัน คือวันที่ 9 กับ 10 ส.ค. ถ้านัด 2 วันยังมีโอกาสแก้ตัว แต่เมื่อนัดวันเดียว ถ้าองค์ประชุมล่มตอนไหนก็คือจบทันที ซึ่งมีการมองกันว่า นี่คือสัญญาณของผู้มีอำนาจส่งออกมาชัดๆ ว่ากำหนดเกมให้เป็นแบบนี้ 

 

-ฝ่ายหนุนหาร 500 ซึ่งเป็นกลุ่มพรรคเล็ก และ ส.ส. ส.ว. ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คาดหมายว่าจะฮึดสู้ แต่ปรากฏว่าพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองที่เป็นตัวแปร ไม่มีใครเอาด้วยแล้ว 

 

ขณะที่ อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ในฐานะแกนนำกลุ่มสามมิตร แม้จะยืนยันว่าไม่มีการจับมือข้ามขั้วระหว่างเพื่อไทยกับพลังประขารัฐ แต่ก็พูดถึงปมสภาล่ม ดึงเวลาให้ร่างกฎหมายตกไปว่า "เป็นวิถีทางสภา ไม่ใช่เรื่องแปลก" 

 

ด้าน ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์พิเศษ "เนชั่นทีวี" ก็ประเมินว่า สภาล่ม เพราะกำหนดวันประชุมไว้แค่วันเดียว 

 

ส่วนแกนนำพรรคภูมิใจไทย บอกว่าก้าวข้ามเรื่องสูตรคำนวณไปแล้ว เพราะมุ่งแย่งชิง ส.ส.เขต และรู้ตัวแล้วว่าสูตรบัตร 2 ใบ หาร 500 อาจทำให้ไม่ได้ปาร์ตี้ลิสต์เลย ฉะนั้นจึงอยู่นิ่งๆ อะไรก็ได้ ถ้าผลสุดท้ายออกมาสูตรหาร 100 ก็อาจจะดีกว่า 

คำถามต่อมา คือ ตกแล้วยังไงต่อ? 

 

-ตอนนี้เริ่มมีการตีความเข้าข้างตัวเอง เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 132 กับ 131 เขียนไม่ชัดว่าเมื่อร่าง พ.ร.ป. หรือ ร่างพระราชบัญญัตติประกอบรัฐธรรมนูญตกไป เนื่องจากพิจารณาเสร็จไม่ทัน 180 วัน จะกลับไปใช้ร่างไหน กรณีมีเสนอหลายร่าง

 

รัฐธรรมนูญมาตรา 132 วรรค 1 บัญญัติว่า "...ถ้าที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว คือ 180 วัน ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบตามร่างที่เสนอตามมาตรา 131" 

 

ย้อนกลับไปดูรัฐธรรมนูญ มาตรา 131 พูดถึงผู้ที่เสนอร่าง พ.ร.ป.ได้ ประกอบด้วย ครม. หรือ ส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนเท่าที่มีอยู่ 

 

ปัญหา คือ ถ้าร่างที่เสนอเข้ารัฐสภา และรัฐสภาให้ความเห็นชอบมีหลายร่าง จะใช้ร่างไหน อย่างกรณี ร่างกฎหมายลูกเลือกตั้งฉบับที่มีปัญหาอยู่นี้ ก็มีทั้งร่างของ ครม. และร่างของพรรคการเมือง ได้แก่ เพื่อไทย พลังประชารัฐ ก้าวไกล รวมทั้งหมด 4 ร่าง 

 

นี่คือปัญหา โดย คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา ยอมรับว่ารัฐธรรมนูญเขียนไว้ไม่ชัดจริงๆ และเป็นปัญหา จึงต้องไปดู "ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563" ข้อ 101 ที่เขียนเอาไว้ชัดกว่า กล่าวคือ 

 

"ในกรณีที่รัฐสภาพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ไม่แล้วเสร็จภายใน 180 วัน...ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบตามร่าง พ.ร.ป.ที่เป็นหลักในการพิจารณาวาระ 2"

 

เมื่อเป็นแบบนี้ ฝ่ายหนุนหาร 100 ก็ส่งเสียงตรงกันว่า ต้องเป็นสูตรหาร 100 อย่างเช่น สุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน ที่บอกว่า "ยอมรับร่าง ครม. เพราะทำได้ดีที่สุดเท่านี้ และถือว่าเสียหายน้อยกว่าร่าง พ.ร.ป.ฉบับอื่นที่เสนอเข้ามา" 

 

แต่ฝ่ายที่หนุนหาร 500 กลับตีความว่า ร่างหลักที่ใช้พิจารณาในชั้นกรรมาธิการ คือ หาร 500 เพราะมีการปรับแก้กันจนได้สูตรหาร 500 เป็นเสียงส่วนใหญ่ในวาระ 2 และชั้นกรรมาธิการไปเรียบร้อยแล้ว 

 

ดูอาการแล้ว เป็นการตีความแบบ "ตีรวน" งานนี้จึงไม่จบแค่รัฐธรรมนูญ มาตรา 131-132 ประกอบข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 101 เพราะสุดท้ายจะต้องมีคนบอกว่า "ข้อบังคับการประชุม" เล็กกว่ารัฐธรรมนูญ จึงต้องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะมีคนยื่นตีความแน่ งานนี้จึงบอกได้คำเดียวว่า ร่างกฎหมายลูกเลือกตั้ง "ตกแน่...แต่ไม่จบ"

logoline