svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

ปฏิรูปโรงเรียน เสียงกู่ก้องจากฐานล่าง โดย "นพ.พลเดช ปิ่นประทีป"

01 พฤษภาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ (ร.ป.ค.15) จังหวัดเชียงราย เป็นอีกหนึ่งโรงเรียนกรณีศึกษาตัวอย่างที่น่าสนใจในด้านการปฏิรูประบบการเรียนการสอน การบริหารจัดการภายใน และการสร้างปัจจัยแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ติดตามได้ในเจาะประเด็น โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป

 

"โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ (ร.ป.ค.15)" จังหวัดเชียงราย เป็นโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ที่พัฒนา เจริญก้าวหน้า จนขึ้นมาเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ประจำอำเภอของ สพฐ. และเป็นกรณีศึกษาตัวอย่างที่น่าสนใจในด้านการปฏิรูประบบการเรียนการสอน การบริหารจัดการภายใน และการสร้างปัจจัยแวดล้อมที่เอื้ออำนวย

 

ขอบคุณภาพจากเพจ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ (ร.ป.ค.15) จังหวัดเชียงราย

 

ด้วยเงื่อนไขที่มีผู้นำและทีมบริหารโรงเรียน ที่เป็นตัวนำการเปลี่ยนแปลงที่มีศักยภาพสูง ประกอบกับการที่มีมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ มูลนิธิมีชัย วีระไวทยะและสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมเข้ามาให้การสนับสนุนอย่างใกล้ชิด จึงเป็นกรณีตัวอย่างของการปฏิรูปการศึกษาที่กำลังเกิดขึ้น ณ ชายขอบระบบโรงเรียนของ สพฐ.และกระทรวงศึกษาธิการ

 

มุ่งแก้ยากจน ลดเหลื่อมล้ำ

 

ร.ป.ค.15 เริ่มเปิดแผนการเรียน “ทวิศึกษา” ในด้านคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ช่างก่อสร้าง และช่างยนต์ เป็นการเรียนเพื่อเตรียมอาชีพ รวมทั้งมีการจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มถนัดเฉพาะทางอีกด้วย เช่น นักมวย กอล์ฟ เทควันโด ฟุตบอล กลุ่มบริหารจัดการ กลุ่มคิดสร้างสรรค์ กลุ่มอาชีพเกษตร กลุ่มอาชีพอุตสาหกรรม

 

ขอบคุณภาพจากเพจโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ (ร.ป.ค.15) จังหวัดเชียงราย

 

ที่นี่ ได้ริเริ่มระบบ Credit Bank เรียนเก็บสะสมหน่วยกิต  รวมทั้งแก้ปัญหาการขาดแคลนโรงงานหรือสถานที่ฝึกปฏิบัติของนักเรียนอันเป็นข้อจำกัดที่หน่วยงานส่วนกลางพบอุปสรรคมากจนถึงขั้นต้องประกาศปิดระบบ “ทวิศึกษา”ไป  แต่ที่นี่เขาสามารถจัดการปัญหากันเป็นรายหลักสูตร รายวิชา โดยมีความร่วมมือกันอย่างเกื้อกูลกับวิทยาลัยการอาชีพ สถาบันการศึกษาของรัฐและเอกชน รวมทั้งภาคธุรกิจต่างๆในพื้นที่ จึงไม่ได้รับผลกระทบดังกล่าว

 

โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา


เมื่อ ร.ป.ค.15 ได้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา(Partnership School Project) ปรับแนวคิดมาสู่การปฏิบัติให้เป็นโรงเรียนแบ่งปัน โรงเรียนแห่งความสุข และโรงเรียนศาสตร์พระราชา ทำให้พบว่ายิ่งให้ก็ยิ่งได้  


นักเรียนที่นี่มีระบบบันทึกความดี ด้วย digital application ทำรายงานแบบหลอกกันแบบแต่ก่อนไม่ได้  ธนาคารกรุงไทยจึงนำไปใช้ประกอบการกู้ยืมเงินกองทุน กยศ.ด้วยความมั่นใจ

 

ขอบคุณภาพจากเพจ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ (ร.ป.ค.15) จังหวัดเชียงราย

 

ทางมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในฐานะองค์กรภาคประชาสังคมระดับแม่ข่าย มีทุนสนับสนุนเด็กด้อยโอกาสเป็นรายปี ในระดับ ปวช.15,000 บาท ปวส. 20,000 บาท และปริญญาตรี 30,000 บาท รวมทั้งยืนยันนโยบายและหลักการที่ไม่เอาระบบ ONET  


ส่วนมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะและสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ก็เข้ามาช่วยสนับสนุนโรงเรียนในด้านการพัฒนาชุมชน และ Young Smart Farmers 



นอกจากนั้นยังมีกองทุนธุรกิจนักเรียน และกองทุนผู้สูงอายุในชุมชนที่เทศบาล อปท.และกศน.สนับสนุน เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ  ซึ่งสิ่งเหล่านี้ แท้ที่จริงแล้ว โรงเรียนขนาดเล็กของ สพฐ.ทุกแห่งสามารถทำได้เลย คือการช่วงชิงเปลี่ยนโรงเรียนให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ตามอัธยาศรัย แทนการนั่งรอให้ถูกยุบ

 

ทักษะอาชีพและทักษะชีวิต


ที่โรงเรียน ร.ป.ค.15 มีห้องแล็บสำหรับเพาะเนื้อเยื่อ เป็นงานขยายพันธุ์พืชเศรษฐกิจในระดับ “ต้นน้ำ”  สร้างความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งตามปกติหลักสูตรนี้จะมีอยู่ในการเรียนการสอนระดับมหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 1 แต่ที่นี่เขาสอนให้เด็กทำเป็นตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา เด็กนักเรียนอาจยังไม่มีพื้นความรู้ทางทฤษฎีมากนัก แต่พวกเขาสามารถปฏิบัติได้จริง นับเป็นพื้นฐานที่ดีต่องานอาชีพและการศึกษาวิชาการในระดับที่สูงขึ้นไป

 

ขอบคุณภาพจากเพจโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ (ร.ป.ค.15) จังหวัดเชียงราย

 

ร.ป.ค.15 มีงานกองจิตอาสาราชภักดี มีหอพักสำหรับนักเรียนยากจน มีการต่อยอดด้วยการฝึกงาน เพิ่ม work experience  มีอบรมระยะสั้นมากมาย ให้เด็กมีโอกาสได้เรียนรู้อย่างหลากหลาย โดยไม่มีเงื่อนไขมาก มีการเทียบระดับทักษะอาชีพและระบบเก็บสะสมหน่วยกิตความรู้ ซึ่งบัดนี้มีมหาวิทยาลัยที่ใจกว้างถึง 29 แห่งที่ยินดีรับผู้เรียนข้ามสถาบัน


ข้อเสนอเชิงนโยบาย


เพื่อการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องโรงเรียนขนาดเล็ก และการปฏิรูปการศึกษาของประเทศจากฐานล่าง มีข้อเสนอแนะทางนโยบายบางประการจากทีมผู้บริหารโรงเรียน ร.ป.ค.15  ดังนี้


1)    โรงเรียนควรเป็นนิติบุคคลและต้องกระจายอำนาจอย่างแท้จริง


2)    พัฒนาหลักสูตรและระบบการศึกษาที่ต่อเนื่อง เชื่อมโยงการศึกษาขั้นพื้นฐานกับอาชีวะศึกษา อุดมศึกษาและสถานประกอบการ


3)    สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ให้เป็นจริง


4)    ยกเลิกระบบที่ไม่สะท้อนคุณค่าจริง ยกเลิกระบบโรงเรียนต้นแบบและโรงเรียนนำร่อง 


5)    จัดตั้งสถาบันอาชีวะศึกษาในพื้นที่เขตเศรษฐกิจชายแดน เช่นวิทยาลัยเทคนิคเชียงแสนนานาชาติ หลักสูตรภาษาอังกฤษ จีน พม่า ลาว


6)    พัฒนาโรงเรียนที่ถูกยุบหรือควบรวม ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ตลอดชีวิต สร้างเครือข่ายและระบบหนุนเสริม ช่วยดูแลทั้งนักเรียน ครอบครัว และโรงเรียนไปด้วยกัน

logoline