svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

ส่องปฏิรูปการศึกษาจากชายขอบ ข้อห่วงใยที่กำลังตามมา โดย "พลเดช  ปิ่นประทีป"

29 เมษายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ข้อห่วงใยกำลังเกิดขึ้น ต่อกรณีโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 120 คน กำลังจะถูกยุบหรือควบรวม ซึ่งมีจำนวนมากถึง 15,000 แห่ง ติดตาม การ"ปฏิรูปการศึกษาจากชายขอบ" ได้จากเจาะประเด็นร้อน โดย "พลเดช ปิ่นประทีป"

 

ในการพิจารณาร่างพรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ... ประเด็นหนึ่งที่คณะกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภา(สส.และสว.)รู้สึกเป็นห่วงเป็นใยและมีความเห็นแยกกันเป็นหลายแนว คือกรณีโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 120 คน กำลังจะถูกยุบหรือควบรวม ซึ่งมีจำนวนมากถึง 15,000 แห่ง

 

แต่นั่นก็เป็นผลกระทบที่เกิดกับโรงเรียนในกระแสหลัก จากโครงสร้างประชากรและอัตราเกิดของเด็กไทยที่ลดลงแบบฮวบฮาบ ส่วนโรงเรียนการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษซึ่งตามปกติจะอยู่ในระดับชายขอบ ยังไม่เกิดผลกระทบ ตรงกันข้ามอาจมีบทบาทเป็นจุดเริ่มสำหรับการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงในอนาคตอันใกล้

 

ท่านผู้สนใจหรืออยู่ในแวดวงการศึกษาคงทราบดีว่า ภายในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ  มีหน่วยงานหนึ่งที่ชื่อสำนักบริหารการศึกษาพิเศษ(Special Education Bureau) เป็นหน่วยงานย่อยที่มีหน้าที่ดูแลกลุ่มโรงเรียนสำหรับผู้ด้อยโอกาส ซึ่งกระจายตัวอยู่ในเกือบทุกจังหวัดของประเทศ 

 

ประกอบด้วย โรงเรียนเฉพาะความพิการ 48 แห่ง โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ 52 แห่ง และศูนย์การศึกษาพิเศษ 77 ศูนย์ ในภาพรวม โรงเรียนและศูนย์การเรียนรู้เหล่านี้ ล้วนเป็นมิใช่หน่วยจัดการศึกษา“กระแสหลัก” หากแต่เป็นส่วนที่อยู่ “ชายขอบ”ของระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศ

 

โรงเรียนราชประชานุเคราะห์

 

กล่าวสำหรับโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์  เป็นโรงเรียนที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับเด็กนักเรียนด้อยโอกาส 10 ประเภท ซึ่งหมายถึงเด็กและเยาวชนที่มีปัญหาทางสังคม บกพร่องทางการเรียนรู้ พฤติกรรม และมีอุปสรรคต่อการได้รับบริการทางการศึกษาในระบบโรงเรียนปกติ เช่น เด็กถูกบังคับให้ขายแรงงาน เด็กเร่ร่อน เด็กที่อยู่ในธุรกิจบริการทางเพศ เด็กที่ถูกทอดทิ้ง เด็กที่ถูกทำร้ายทารุณ เด็กยากจนมากเป็นพิเศษ เด็กในชนกลุ่มน้อย เด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติด เด็กที่ได้รับผลกระทบจากโรคเอดส์ เด็กในสถานพินิจและคุ้มครอง 

 

ขอบคุณภาพจากเพจ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 14
 

ในปี 2505 คราวที่เกิดพายุโซนร้อนชื่อ "แฮเรียต" พัดผ่านทางตอนใต้ของประเทศไทย ยังความเสียหายให้เกิดแก่จังหวัดภาคใต้ถึง 12 จังหวัด พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์(ในพระบรมราชูปถัมภ์)ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยพิบัติโดยสร้างโรงเรียนให้ใหม่ และต่อมาได้ขยายไปสู่โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ในพื้นที่อื่นๆ จึงมีชื่อเรียกขานว่า โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ตามด้วยเลขหมายที่เรียงกันมาตามลำดับ จาก 1 ถึง 38

 

โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์

 

ในปัจจุบัน ( ข้อมูล ณ มิถุนายน 2564) โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ ทั้ง 52 แห่ง มีนักเรียนรวมทั้งสิ้น 33,949 คน ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนประจำ มีมากถึง 31,361 คน (92.4%) ที่เหลือเป็นนักเรียนแบบไปกลับ 2,588 คน(7.6%)  ในด้านระดับการเรียนการสอนนั้น มีตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 1-3  ประถมศึกษา 1-6  มัธยมศึกษา 1-6 และ ปวช.1-3  โดยในภาพรวมเด็กส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับมัธยมต้น มัธยมปลาย และประถมศึกษาตามลำดับ

 

เด็กประเภทด้อยโอกาส มีจำนวนมากถึง 27,210 คน(88.1%)  ไม่มีบัตรประชาชนเลข 13 หลักจำนวน 640 คน (1.9%) เป็นเด็กพิการ 4,029 คน(11.9%)  ส่วนใหญ่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ บกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์ บกพร่องทางสติปัญญา และออทิสติค ตามลำดับ

 

ร.ป.ค.15 ดิจิทัลทั้งระบบ


โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 เป็นโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ตัวอย่างที่สามารถพัฒนาตัวเองขึ้นมาอย่างมั่นคงจนกลายเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาโรงเรียนหลักของอำเภอและกำลังเป็นโรงเรียนต้นแบบการปฏิรูปการเรียนการสอนและการบริหารจัดการ เป็นแนวทางรูปธรรมสำหรับกระบวนการปฏิรูประบบการศึกษาและการออก พรบ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่

 

ขอบคุณภาพจาก เพจโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 - เวียงเก่าแสนภูวิทยาประสาท

 

เมื่อปี 2555 โรงเรียนได้ลงทุนจัดหาคอมพิวเตอร์จำนวน 150 เครื่อง ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในสื่อโซเชียล แต่ด้วยการที่ใช้งบประมาณที่หามาได้เอง จากการระดมผู้บริจาคผ่าน “ผ้าป่าการศึกษา” จึงสามารถก้าวข้ามเหตุการณ์มาได้  นอกจากนั้นโรงเรียนยังได้ปรับหลักสูตรทุกชั้นเรียนเป็นดิจิทัลทั้งระบบ ลดการใช้กระดาษ มีแอพลิเกชั่นบันทึกข้อมูลพฤติกรรมและผลการเรียน  


ในปี 2559 เด็กนักเรียนสามารถเรียนหนังสือได้โดยผ่านระบบโทรศัพท์มือถือ โรงเรียนยอมจ่ายค่าเช่าสัญญาณโทรศัพท์เพิ่มเป็น 20,000 บาทต่อเดือนโดยไม่กลัวว่าเด็กจะใช้อินเตอร์เน็ทในทางที่ผิด เพราะมั่นใจว่าพวกเขาเป็นคนดี เป็นเด็กดี 


จนกระทั่งเมื่อเกิดปัญหาโควิด -19 ในเวลาต่อมา ในขณะที่ส่วนกลางสั่งการให้ทุกโรงเรียนทั่วประเทศใช้การเรียนการสอนระบบทางไกล "ออนไลน์ 100%"  แต่เมื่อ ร.ป.ค.15 พบปัญหาเด็กจำนวนมากไม่มีอุปกรณ์ในขณะที่ระบบดิจิทัลในโรงเรียนมีพร้อม จึงจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนตามปกติ "ออนไซท์ 100%"

.
 

logoline