svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เทคโนโลยี

หูฟังเสียบสายดีกว่าหูฟังไร้สายจริงไหม?

15 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

'หูฟังเสียบสาย' VS 'หูฟังไร้สาย' ประเด็นที่คนชอบฟังเพลงจะต้องเอามาตบตีกันในหัวเสมอ มาหาคำตอบกันแบบลงลึกว่าอะไรดีกว่ากัน

‘หูฟัง’ อีกหนึ่งไอเท็มที่หลายๆ คนขาดไม่ได้ เดินไปไหนก็จะเห็นคนใส่หูฟังกันจนเป็นเรื่องปกติ และจากเดิมที่เป็นแบบเสียบสาย มาถึงแบบไร้สายที่เริ่มใช้แพร่หลายกันแล้ว เมื่อมีสองตัวเลือก มันก็ทำให้เกิดคำถาม นั่นคือ หากเราสนใจเรื่องคุณภาพเสียงจริงๆ หูฟังแบบเสียบสายยังไงก็ดีกว่าหูฟังไร้สายจริงรึเปล่า? วันนี้เราจะมาหาคำตอบพร้อมๆ กัน

 

รู้จักการส่งข้อมูลแบบอะนาล็อก (analog) และ ดิจิทัล (digital) กันก่อน

สิ่งที่แตกต่างกันหลักๆ ของ หูฟังแบบเสียบสายและไร้สายในปัจจุบันคือ กลุ่มที่ใช้สายส่วนใหญ่จะส่งข้อมูลเสียงเป็นแบบระบบอะนาล็อก และหูฟังไร้สายที่เกิดมาในยุคใหม่จะใช้งานในดิจิทัล ซึ่งทั้งสองแบบต่างมีข้อดีและข้อเสียของตัวเอง
 

การส่งข้อมูลอะนาล็อกเป็นรูปแบบที่เราใช้งานกันมายาวนาน ตั้งแต่สมัยเครื่องเล่นแผ่นเสียง (turntable) หรืออาจจะนานกว่านั้น หลักการคือ เราจะแปลงคลื่นเสียงเป็นสัญญาณไฟฟ้าตรงๆ และส่งผ่านตัวกลางอย่างสายและไดรฟ์เวอร์ (driver) ที่ทำหน้าที่เป็นแหล่งกำเนิดเสียง เป็นการรับสัญญาณไฟฟ้าแล้วแปลงเป็นเสียงออกมาแบบตรงไปตรงมา ข้อดีคือเราจะได้คลื่นเสียงที่ตรงกับต้นฉบับแบบ 100% ในทางทฤษฎี เสียงต้นทางมาอย่างไร ปลายทางได้รับแบบนั้นเป๊ะๆ แต่ข้อเสียคือมันถูกรบกวนได้ง่าย ส่งผลให้เสียงที่ได้ปลายทางอาจแตกต่างจากต้นทาง มากหรือน้อยขึ้นกับ ค่าการรบกวน ไปจนถึงความต้านทานทางไฟฟ้าของทั้งสาย สำหรับตัวไดรฟ์เวอร์ ในกลุ่มคนเล่นหูฟังก็จะมีการปรับแต่ง หรือ ‘โมหูฟัง’ เช่น การเปลี่ยนสายไปใช้เงินบริสุทธิ์มากขึ้น และการใช้ฉนวน (insulation) เพื่อลดสัญญาณรบกวน ทำให้ได้เสียงที่ตรงกับต้นฉบับที่สุดนั่นเอง

ด้วยข้อเสียที่ถูกรบกวนได้ง่าย ระบบสมัยใหม่อย่างดิจิทัลจึงออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหานี้โดยเฉพาะ เพราะแทนที่จะส่งข้อมูลในรูปแบบของคลื่นเสียง ข้อมูลที่ส่งจะอยู่ในรูปแบบของสัญญาณไฟฟ้าที่ประกอบด้วยค่า 1 และ 0 เท่านั้น ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า digitisation (อ่านต่อเรื่อง digitisation  เพิ่มเติมได้ที่นี่)

หากใครฟังเพลงผ่านระบบสตรีมมิ่ง (streaming) อาจจะเคยเห็นชุดตัวเลขเช่น 24-bit/192 kHz ผ่านตาอยู่บ้าง ซึ่งตัวเลขพวกนี้คือค่าที่แสดงคุณภาพของไฟล์ ยิ่งเลขสูง ยิ่งรักษาคุณภาพสัญญาณเมื่อเทียบกับต้นฉบับได้ดีกว่า แต่ก็แลกมากับขนาดไฟล์ที่ใหญ่กว่า สตรีมได้ช้ากว่า และกินเน็ตเยอะกว่า
 

ดังนั้น การส่งสัญญาณแบบอะนาล็อกและดิจิทัลจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งสองมีข้อดีและเสีย อะนาล็อกสามารถรักษาคุณภาพสัญญาณหรือเพลงของเราให้ใกล้เคียงกับต้นฉบับได้มากกว่า แต่แพ้สัญญาณรบกวนที่ก็มีปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องไม่น้อย กลับกัน ระบบดิจิทัลจะทนทานต่อสัญญาณรบกวนสูงมากๆ แต่แพ้เรื่องคุณภาพที่ต้องผ่านขั้นตอนการทำ digitisation จึงทำให้สูญเสียคุณภาพไป

 

หูฟังแบบสาย

หูฟังแบบสายก็อย่างที่เรารู้กัน คือแค่เสียบหูฟังเข้าไปที่เครื่องเล่น โดยอาจเป็นช่องเสียบประเภท Jack 3.5mm ที่ใช้งานกันทั่วๆ ไป หรือในกลุ่มเครื่องเสียงราคาสูงๆ ก็จะเป็น Balanced Jack ประเภทต่างๆ การทำงานคือเครื่องเล่นจะอ่านเสียงออกมา เช่น ถ้าเสียงมาจากเทปที่เป็นระบบอะนาล็อก คลื่นเสียงจะแปลงให้เป็นสัญญาณไฟฟ้าแล้วส่งผ่านไปที่หูฟัง จากนั้นไดรฟ์เวอร์ภายในหูฟังจะแปลงเป็นคลื่นเสียงกลับไปที่หูของเรา

แต่หากเครื่องเล่นที่ใช้อยู่เป็นเครื่องเล่นเสียงระบบดิจิทัล แต่ไดรฟ์เวอร์ภายในหูฟังทำงานบนอะนาล็อก เราจำเป็นจะต้องใช้อุปกรณ์อีกตัวหนึ่งที่แปลงสัญญาณดิจิทัลกลับไปเป็นอะนาล็อก ซึ่งเรียกกันว่า Digital to Analog Converter (DAC) ยิ่งอุปกรณ์นี้มีความสามารถในการแปลงมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ปลายทางอย่างไดรฟ์เวอร์สามารถรับเสียงที่ตรงกับต้นฉบับมากขึ้น

ดังนั้น เสียงจะมีคุณภาพสูงหรือใกล้เคียงกับต้นฉบับที่สุดหากเครื่องเล่นเป็นแบบอะนาล็อกอยู่แล้ว ส่วนถ้าเป็นระบบดิจิทัล คุณภาพเสียงจะขึ้นอยู่กับ DAC แทน

 

หูฟังแบบไร้สาย

หูฟังแบบไร้สายแตกต่างจากหูฟังแบบมีสายค่อนข้างมาก แต่การใช้งานคล้ายกันคือ เราทำการเชื่อมต่อหูฟังของเราเข้ากับเครื่องเล่น ที่ตอนนี้ส่วนใหญ่เราใช้งานผ่านโปรโตคอลที่เรียกว่า Bluetooth ซึ่งทำงานในระบบดิจิทัล

นั่นแปลว่า หากเครื่องเล่นเราทำงานในระบบอะนาล็อก เครื่องจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์แปลงกลับไปเป็นดิจิทัลที่เรียกว่า Analog to Digital Converter (ADC) แล้วจึงส่งสัญญาณดิจิทัลที่แปลงแล้วผ่าน Bluetooth ไปให้หูฟัง หลังจากนั้นหูฟังจะใช้ DAC แปลงกลับไปเป็นอะนาล็อกอีกครั้ง แล้วจึงส่งไดรฟ์เวอร์เล่นเป็นเสียงออกมา มาถึงตรงนี้เราจะเห็นว่าขั้นตอนมีความซับซ้อนกว่าเดิมมาก เป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไมคนส่วนใหญ่ที่ใช้เครื่องเล่นระบบอะนาล็อกเช่นเครื่องเล่นแผ่นเสียง จึงมักจะไม่ค่อยใช้หูฟังไร้สายกันเท่าไหร่ แต่อาจจะส่งผ่านไปที่เครื่องเล่นระบบดิจิทัลแทน และ ADC ในท้องตลาดเองก็มักจะเป็นเครื่องใหญ่ๆ ตั้งในบ้านมากกว่าอุปกรณ์พกพา เช่น Devialet Arch ที่รับสัญญาณจากเครื่องเล่นแผ่นเสียง แปลงเป็นดิจิทัล แล้วส่งผ่านระบบไปที่ลำโพงปลายทาง

กลับกันหากเครื่องเล่นเป็นระบบดิจิทัลอยู่แล้ว ก็จะลดความซับซ้อนละไปได้ เพราะเครื่องเล่นสามารถส่งสัญญาณดิจิทัลไปที่หูฟัง และใช้ DAC ภายในหูฟังส่งให้ไดรฟ์เวอร์เล่นเสียงตรงๆ ได้เลย

ปัญหาของการทำทั้งสองวิธีนี้คือ การส่งสัญญาณผ่านอากาศหรือไร้สายนั้น มีข้อจำกัดในการส่งข้อมูลมากกว่าแบบสาย เช่น การส่งข้อมูลแบบดิจิทัลผ่านสาย Lan (ทางเทคนิคเรียกสาย UTP) เราสามารถส่งได้ที่ความเร็วหลัก 1-50 Gbps แต่การส่งข้อมูลผ่านอากาศอย่าง Bluetooth เราสามารถส่งได้เพียง 5 Mbps เท่านั้น ยังไม่นับว่า ยิ่งอุปกรณ์ทั้งสองอยู่ห่างออกจากกัน ความเร็วยิ่งน้อยลงกว่านี้

ทำให้ผู้ผลิตหลายๆ เจ้าเริ่มมองหาวิธีเพิ่มคุณภาพของเสียงที่ส่งไป โดยยังใช้ความเร็วในการส่งข้อมูลเท่าเดิม วิธีการคือกำหนดภาษาขึ้นมา ซึ่งในทางเทคนิคเรียกว่า Codec หลักการคือยิ่งภาษานั้นออกแบบมาให้มีประสิทธิภาพมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งส่งคุณภาพเสียงได้มากขึ้นเท่านั้น เหมือนกับภาษาคนที่ การจะใช้งานได้ ผู้พูดและผู้ฟังทั้งสองฝั่งต้องรู้จักและเข้าใจภาษาเดียวกัน ในกรณีนี้ ทั้งเครื่องเล่นและหูฟังจำเป็นต้องรองรับ Codec นั้นๆ จึงจะสามารถทำงานได้

ในปัจจุบันมีหลากหลาย Codec ให้ใช้งาน เริ่มต้นจากคุณภาพต่ำอย่าง Low-complexity Sub-band Codec (SBC) ที่สามารถหาได้ในแทบทุกอุปกรณ์ฟังเพลง และมักใช้ในกลุ่มอุปกรณ์ที่ประสิทธิภาพไม่สูงมาก เพราะส่งข้อมูลได้เพียง 192-320 kbps เท่านั้น และอีก Codec ที่คุณภาพใกล้เคียงกันคือ Advanced Audio Codec (AAC) ที่มักจะอยู่ตามอุปกรณ์ Apple ทั้งหลาย และสามารถส่งได้เพียง 250 kbps เท่านั้น แต่ก็เพียงพอสำหรับไฟล์เสียงทั่วๆ ไปที่สามารถหาฟังได้ตามสตรีมมิ่ง

ยกตัวอย่างเช่น Apple AirPods Pro พอเป็นหูฟังจาก Apple เอง Codec ที่รองรับจะมีทั้ง AAC และ SBC หากนำไปใช้กับอุปกรณ์ของ Apple ตัวอุปกรณ์จะสลับไปใช้ AAC หากอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อด้วย ไม่รองรับ AAC มันจึงจะสลับไปใช้ SBC แทน ทำให้คุณภาพของเสียงที่ถูกส่งผ่านไปจะขึ้นกับอุปกรณ์ที่เราเชื่อมต่อด้วย

จาก Apple AirPods Pro ขยับคุณภาพสูงขึ้นอีกหน่อยอย่าง Qualcomm aptX และ aptX HD เป็น Codec ของ Qualcomm ที่ให้คุณภาพเพียง 352 kbps เท่านั้นมากกว่า SBC อยู่ไม่มาก ถ้าฟังแล้วไม่คุ้น เรามักเจอพวกนี้ได้ในอุปกรณ์ที่ใช้ Qualcomm SoC ซึ่งก็คือโทรศัพท์ Android ทั้งหลายนั่นแหละ (ล่าสุดมีการพัฒนาขึ้นมาเป็น aptX HD ที่เพิ่มความสามารถส่งคุณภาพที่สูงขึ้นได้เป็น 576 kbps)

และกลุ่มที่เรียกว่าเป็นจุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร คือกลุ่ม Codec คุณภาพสูง อย่าง LDAC ของ Sony ที่สามารถส่งได้ถึง 990 kbps สูงกว่าคนอื่นๆ ทำให้สามารถส่งเสียงคุณภาพสูงระดับ 24-bit/96 kHz ได้สบายๆ แต่อุปกรณ์ที่รองรับในตอนนี้ก็มีเพียงหูฟังและสมาร์ทโฟนของ Sony เองเสียส่วนใหญ่ 

ตัวอย่างของหูฟังที่รองรับ LDAC หนีไม่พ้น หูฟัง Truly Wireless เรือธงจาก Sony อย่าง Sony WF-1000XM5 ที่มีการรองรับ LDAC ในตัว รวมไปถึง Codec ประเภทอื่นอย่าง SBC, AAC, และ LC3 อีกด้วย ทำให้หากนำไปเชื่อมต่อกับเครื่องเล่นที่รองรับ LDAC จะสามารถเล่นเสียงคุณภาพสูงได้ แต่กลับกัน หากนำไปใช้กับอุปกรณ์ที่ไม่รองรับก็จะทำได้เท่าที่ Codec รองรับคุณภาพสูงสุดทำได้

อีกตัวที่คุณภาพใกล้เคียงกันมากๆ คือ Hi-Res Wireless Audio (HWA) มาจากฝั่ง Huawei สามารถส่งได้ระดับ 900 kbps หรือเสียงในคุณภาพระดับ 24-bit/96 Hz เทียบเท่าได้กับ LDAC เลยทีเดียว ซึ่งสามารถหาอุปกรณ์ที่รองรับได้ไม่มากเท่าไหร่ ส่วนใหญ่เครื่องเล่นจะเป็นสมาร์ทโฟนของ Huawei เอง

 

สรุป

จากที่เล่าไปทั้งหมด หากมองกันที่คุณภาพและความสามารถในการส่งเสียงคุณภาพสูง ก็ถือเป็นเรื่องจริงที่ ‘หูฟังไร้สาย’ ในตอนนี้จะยังสู้ ‘หูฟังแบบเสียบสาย’ ไม่ได้ แต่ทั้งนี้ก็อยู่ที่คุณภาพของไฟล์ที่นำมาเปิดด้วย หากคุณภาพไฟล์ไม่ดีเล่นออกมาไม่ว่าจะผ่านอะไรก็ไม่รอดทั้งนั้น และหากส่วนใหญ่ชีวิตประจำวันเน้นฟังเพลงผ่านระบบสตรีมิ่งเช่น Spotify หรือ Apple Music การใช้หูฟังไร้สายในปัจจุบันก็ไม่ได้ลดทอนคุณภาพเสียงมากนัก เพียงพอแล้วสำหรับการใช้งาน แต่ถ้าอยากเน้นการฟังไฟล์เสียงคุณภาพสูงๆ การใช้หูฟังแบบเสียบสายยังให้คุณภาพที่สูงกว่าแน่นอน…แต่ก็ต้องใช้ DAC ที่ให้คุณภาพสูงด้วยนะ
 

logoline