svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

Kingdom of the Planet of the Apes วานรวิวัฒน์ มนุษย์วินาศ

Kingdom of the Planet of the Apes (2024) หนังเรื่องแรกในไตรภาคใหม่จากแฟรน Planet of the Apes เล่าเรื่องในช่วงเวลาหลายยุคสมัยหลังการเสียชีวิตลงของชิมแปนซี ซีซาร์ และอารยธรรมของมนุษย์ได้ล่มสลายลง

ครั้งหนึ่ง มีคนเคยถาม มาร์กาเร็ต มีด (Margaret Mead) นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันว่า สำหรับเธอแล้ว หมุดหมายที่ชี้ชัดว่าสังคมใดสังคมหนึ่งนั้นมี ‘อารยธรรม’ (civilized) แล้วคืออะไร และคำตอบของเธอนั้นอยู่นอกเหนือความคาดหมายของหลายๆ คน เมื่อเธอบอกว่า สัญญาณแรกของการมีอารยธรรมคือการที่กระดูกต้นขาของมนุษย์ที่หัก—ไม่ว่าจะด้วยอุบัติเหตุหรือจากเงื่อนไขใดๆ—ได้รับการสมานในที่สุด

มีดให้เหตุผลว่า ในสังคมสัตว์ป่า หากสัตว์ได้รับบาดเจ็บ มันมักถูกล่าหรือถูกกินก่อนที่กระดูกท่อนนั้นจะสมานหรือเชื่อมกันติดอีกครั้ง กล่าวคือมันไม่มีทางหายดีได้ทันก่อนจะถูกฆ่าเป็นอาหาร ดังนั้น การที่มีร่องรอยว่ากระดูกต้นขาของมนุษย์ในอดีตเชื่อมต่อกันได้อีกครั้งหนึ่งนั้นย่อมเป็นสัญญาณว่าผู้บาดเจ็บได้รับการปกป้องจากคนในสังคมจนกลับมาหายดีอีกครั้ง ดังนั้นแล้ว ”การช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความยากลำบากย่อมเป็นจุดเริ่มต้นแรกของการมีอารยธรรม”

คำตอบของมีดถูกบอกเล่าหลายต่อหลายครั้ง พร้อมกันกับที่อีกหลายคนก็สำรวจคำตอบอื่นๆ ของเธอผ่านสารคดีและบทสัมภาษณ์เก่าๆ เมื่อเธอถูกถามว่า เมื่อไหร่กันที่วัฒนธรรมเริ่มกลายเป็นอารยธรรม และมีดตอบว่า “มองย้อนกลับไปในอดีต เราเรียกสังคมที่มีอารยธรรมก็จากการที่พวกเขามีเมืองใหญ่โต มีระดับขั้นทางสังคมซับซ้อน มีบทบันทึกต่างๆ สิ่งเหล่านี้เองที่สร้างอารยธรรมขึ้นมา”
Kingdom of the Planet of the Apes (2024). ภาพจาก IMDb

คำตอบของมีดและความหมายที่เธอมองคำว่า ‘อารยธรรม’ ปรากฏขึ้นมาในสำนึกอยู่หลายครั้งระหว่างที่ดู Kingdom of the Planet of the Apes (2024) หนังจากแฟรนไชส์ Planet of the Ape กำกับโดย เวส บอลล์ (Wes Ball) คนทำหนังซึ่งเป็นที่คุ้นตากันดีจากแฟรนไชส์ The Maze Runner (2014-2018) และจะว่าไป บอลล์ก็อาจจะเป็นตัวเลือกที่ถูกต้องในการทำหนังที่พูดถึงโลกซึ่งฝูงวานรเป็นใหญ่ เมื่อพิจารณาจากไตรภาค The Maze Runner หนังที่ว่าด้วยโลกที่เด็กหนุ่มสาวถูกจับไปขังรวมกันเพื่อให้เอาตัวรอดออกจากมาเขาวงกตมรณะ เพราะ Kingdom of the Planet of the Apes ก็พูดถึงโลกล่มสลาย (dystopia) เช่นกัน โดยหนังเล่าถึงโลกหลายร้อยปีหลังจากที่ ซีซาร์ ชิมแปนซีที่เป็นผลจากการทดลองของมนุษย์ผู้ก่อการปฏิวัติและกลายเป็นผู้นำของเหล่าวานร ภายหลังจากนั้นวานรแบ่งออกเป็นหลายเผ่า ปกครองกระจัดกระจายกันต่างถิ่น มนุษย์กลายเป็นสิ่งมีชีวิตโง่เขลาไม่รู้ภาษา โนอา ชิมแปนซีหนุ่มต้องทำพิธีกรรม ‘เก็บไข่’ นกอินทรีซึ่งทำรังอยู่บนที่สูงลิ่วและยากต่อการปีนป่ายเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการเติบใหญ่ และภายหลังจากการทุ่มทั้งชีวิตจนเก็บไข่อินทรีมาได้จากจุดยอดของผา โนอาก็พบว่าหมู่บ้านของเขาถูกวานรอีกเผ่าหนึ่ง—ที่นำทัพโดยกอริลลา—เผาราบเป็นหน้ากลอง พ่อของเขาซึ่งเป็นหัวหน้าเผ่าถูกสังหาร ขณะที่แม่, เพื่อน, และสมาชิกอื่นๆ ในเผาถูกพาตัวไปเป็นเชลย

Kingdom of the Planet of the Apes (2024). ภาพจาก IMDb

โนอาจึงออกเดินทางเพื่อล้างแค้นและตามครอบครัวเขากลับมาอีกหน ระหว่างนั้น เขาเจอ รากา อุรังอุตังที่ทำหน้าที่ดูแลองค์ความรู้อันได้แก่บรรดาตำราและหนังสือจาก ‘โลกเก่า’ หรือคือโลกในยุคสมัยของซีซาร์ พร้อมกันนี้ ทั้งสองพบว่าพวกเขาถูกมนุษย์เพศหญิงติดตามอย่างใกล้ชิด ด้วยความเชื่อที่ว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตอ่อนแอและโง่เขลา รากาจึงยื่นผ้าห่มให้เธอ ไม่นานหลังจากนั้น ทั้งโนอาและรากาพบว่าแท้จริงแล้วหญิงสาว—หรือคือ เม—ไม่ได้ไร้สติปัญญาดังที่เข้าใจแต่แรก หากแต่เป็นสิ่งมีชีวิตเฉลียวฉลาดที่สื่อสารได้ ทั้งยังมีเป้าประสงค์ในการออกเดินทางชัดเจน ไม่นานพวกเขาก็ถูกวานรกลุ่มที่ทำลายเผ่าของโนอาจับมาเป็นเชลยยังเกาะแห่งหนึ่งซึ่งปกครองโดย พร็อกซิมัส ซีซาร์ วานรที่ตั้งตนเป็นกษัตริย์ เป้าหมายของพร็อกซิมัสคือการเข้าถึง ‘คลังความรู้’ ของมนุษย์จากโลกเก่าที่ถูกปิดตายอยู่บนเกาะ และดูเหมือนมันจะเชื่อมั่นเหลือเกินว่าโนอาจะเป็นผู้ที่เปิดประตูดังกล่าวออกได้

Kingdom of the Planet of the Apes (2024). ภาพจาก IMDb

ว่าไปแล้ว Kingdom of the Planet of the Apes ก็ดูฉายภาพการเดินทางของ 'วิวัฒนาการ' ในสังคมได้เป็นอย่างดี ตัวละครเกิดในอนาคตที่ระเบียบต่างๆ ในโลกไม่เป็นอย่างเคย วานรสนทนากันด้วยภาษาและไวยากรณ์เรียบง่าย หากแต่แฝงกระบวนการคิดและการใช้เหตุผลซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งมีชีวิตที่มีระบบคิดซับซ้อน เช่น การที่โนอาเข้าใจเรื่องความอาวุโสและลำดับขั้นต่างๆ ในเผ่า, การมีพิธีกรรมอย่างการเก็บไข่อินทรี หรือแม้แต่การที่เผ่าเองเลี้ยงอินทรีทั้งในฐานะสัญลักษณ์และในฐานะสัตว์เลี้ยงคู่ใจ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากว่าสังคมนั้นๆ ไม่มีวัฒนธรรมซึ่งเป็นบ่อเกิดสำคัญของ 'อารยธรรม' ในทางกลับกัน มันย่อมหมายถึงการไล่ล่าเอาชีวิตโดยมีเหตุผลอยู่เหนือไปจากฆ่าเพื่อกินอย่างที่สัตว์ส่วนใหญ่เป็น ฝูงวานรกลุ่มใหญ่ล้างบางเผ่าของโนอาแล้วพาสมาชิกที่เหลือทั้งหมดกลับไปเป็นเชลย นี่ย่อมฉายให้เห็นภาพของกระบวนการคิดที่ซับซ้อนอีกขั้น เพราะวานรไม่ฆ่าและเลือกเก็บเหยื่อไว้เพื่อใช้เป็นแรงงานบนเกาะต่อไป

Kingdom of the Planet of the Apes (2024). ภาพจาก IMDb

ทว่า ฉากที่ทำให้ผู้เขียนนึกถึงวาทะของมีดคือเมื่อ รากา อุรังอุตังชราแนะให้โนอาส่งมอบผ้าห่มให้มนุษย์หญิงเพราะเธอหนาว ชวนนึกถึงคำตอบของมีดที่ว่า สัญลักษณ์แรกที่ชี้ให้เห็นว่าเรามีอารยธรรมคือการเอื้ออาทร ประคับประคองกันและกันให้อยู่รอดต่อไป โดยเฉพาะเมื่อมนุษย์ถูกปฏิบัติด้วยความเข้าใจว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่อ่อนแอและปกป้องดูแลตัวเองไม่ได้—ซึ่งด้านหนึ่งก็จริง เพราะหนังฉายให้เห็น 'พลัง' ของความเป็นสัตว์ป่าอยู่หลายครั้ง หนึ่งในนั้นคือกล้ามเนื้อแขนขาของวานรที่ใช้ปีนป่าย—มนุษย์จึงไม่มีสถานะอื่นนอกไปเสียจากการเป็นภาระในการเดินทางของโนอา

Kingdom of the Planet of the Apes (2024). ภาพจาก IMDb

หากแต่หนังก็เข้มข้นขึ้นเมื่อถึงที่สุดแล้ว เธอไม่ใช่มนุษย์ที่กลายเป็น 'สิ่งมีชีวิตในป่า' แบบเดียวกับมนุษย์ทั่วไปที่หนังฉายให้เห็น ทว่าเป็นสิ่งมีชีวิตทรงภูมิที่อ่านออกเขียนได้ พูดสื่อสารได้ และคำแรกที่เธอเลือก 'แสดงตน' ว่าพูดได้คือการเรียกชื่อของโนอาเพื่อขอความช่วยเหลือ ชวนให้นึกถึงฉากที่ซีซาร์จาก Rise of the Planet of the Apes (2011) พูดคำแรกว่า "ไม่" หรือ "No." เพื่อแสดงเจตจำนงในการปฏิเสธชะตาชีวิตในกรอบกรงที่มนุษย์ยัดเยียด

อย่างไรก็ดี เช่นเดียวกับที่มีดกล่าวในอีกบทสัมภาษณ์หนึ่งว่า สัญลักษณ์ของการมีอารยธรรมนั้นคือการมีระดับขั้นทางสังคมอันซับซ้อน เพราะโนอาและเพื่อนร่วมทางถูกจับไปอยู่ในเกาะซึ่งปกครองโดยวานรที่ตั้งตนเป็นกษัตริย์ทรราช อ้างคำสอนเก่าแก่ของซีซาร์เพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง ดังนั้นจะว่าไปแล้ว อีกด้านหนึ่งของพัฒนาความคิดไปสู่ขั้นสูงกว่าคือความอำมหิต การสามารถ 'คิด' เพื่อสร้างเชลยและนักโทษในการใช้แรงงาน ออกแบบระบบระเบียบที่ทำให้ผู้ใต้ปกครองก้มหน้าจำยอม วานรเป็นทาสที่ใช้แรงงาน มนุษย์เป็นทาสในฐานะตัวตลกและผู้สร้างสีสันของกษัตริย์ ซึ่งโนอาก็ลุกขึ้นสู้และทำลายระบอบการปกครองนี้ในที่สุด

Kingdom of the Planet of the Apes (2024). ภาพจาก IMDb

สิ่งหนึ่งที่ตรึงใจที่สุดในเรื่องคือ ในฐานะสิ่งมีชีวิตที่อ่อนแอทางด้านร่างกายที่สุดในบรรณพิภพ มนุษย์เลือกลุกขึ้นสู้ด้วยอาวุธ และอาวุธแรกๆ ที่พามนุษยชาติในอดีตไปสู่การยึดครอง ไปสู่การออกล่าและสร้างอาณานิคม ไปสู่การพิชิตดินแดนในสมรภูมิแห่งใหม่คือ 'ปืน' ปืนในเรื่องทรงพลังเสียยิ่งกว่าไม้ช็อกติดไฟฟ้าของพร็อกซิมัส มันสังหารผู้อื่นจากระยะไกลและหวังผลได้ ทั้งยังรวดเร็วและเสียแรงน้อยที่สุด ปืนจึงกลายเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ฉายให้เห็นการมีพัฒนาการและผ่านกระบวนการคิดของมนุษย์ในอดีตมาอย่างยาวนาน ทั้งยังเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่จะว่าไปแล้วก็ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อเป้าหมายเดียว—นั่นคือการทำลายล้าง

Kingdom of the Planet of the Apes (2024). ภาพจาก IMDb

Kingdom of the Planet of the Apes จึงชวนสำรวจแง่มุมของการวิวัฒน์ของสิ่งมีชีวิต ที่แม้ด้านหนึ่งมันจะหมายถึงการพัฒนาและความเข้าอกเข้าใจกันและกัน สร้างวัฒนธรรมและพิธีกรรมบางอย่างร่วมกัน อีกด้านมันก็อาจหมายถึงความอำมหิตและความปรารถนาในการประหัตประหารกันอย่างถึงที่สุดก็ได้

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

  • Lasco, G. (2022, June 16). Did Margaret Mead Think a Healed Femur Was the Earliest Sign of Civilization?. Sapiens. https://www.sapiens.org/culture/margaret-mead-femur/