svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"PRIMETIME กับ เทพชัย" : แฉ! นักการเมืองในสภา ดูงาน หรือ ท่องเที่ยว?

29 กันยายน 2559
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แม้ในขณะนี้ จะยังไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ที่มาจากการเลือกตั้ง อย่างสมบูรณ์แบบ แต่ข้อมูลการใช้งบประมาณเพื่อการดูงานในต่างประเทศของบรรดา ส.ส.และส.ว.ในอดีต มีประเด็นที่น่าสนใจ ที่"ไพร์มไทม์" พบว่า ในแต่ละปี เราต้องเสียงบประมาณในการดูงานเป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นคำถามขึ้นว่า แล้วสิ่งที่ได้กลับมามันคืออะไร


"PRIMETIME กับ เทพชัย" : แฉ! นักการเมืองในสภา ดูงาน หรือ ท่องเที่ยว?


ถ้าจะถามหาความคุ้มค่าของการเดินทางไปดูงานต่างประเทศของนักการเมืองในสภา   รายงานผลการเดินทางเหล่านี้ดูจะเป็นคำตอบเดียวที่เป็น "รูปธรรม"  ที่สุด แต่คำถามที่ไม่มีใครตอบได้คือ  มีใครบ้างที่สนใจจะอ่านรายงานเหล่านี้  หรือใครจะเอาข้อมูลจากการงานดูงานไปใช้ประโยชน์  เมื่อรายงานการดูงานเหล่านี้ถูกเก็บขึ้นหิ้ง จึงกลายเป็นเรื่องปกติที่การดูงานในหัวข้อเดียวกันจึงเกิดขึ้นตลอดเวลา 

การตรวจสอบของรายการ"ไพร์มไทม์" พบว่าการเดินทางไปต่างประเทศของ ส.ส. และสมาชิกวุฒิสภาจะคึกคักมาเป็นพิเศษในช่วงที่รัฐบาลและสภามาจากการเลือกตั้ง   ในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  การเดินทางไปต่างประเทศของกรรมาธิการในสภาที่มีอยู่35 คณะใช้งบประมาณมากเกือบ 200 ล้านบาทต่อปี แม้แต่หน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้งบประมาณแผ่นดินยังตั้งคำถามถึงความจำเป็นและความคุ้มค่าของการเดินทางเหล่านี้

นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่า   "คุณสมบัติของผู้ที่ต้องดำรงตำแหน่งสมาชิกรัฐสภาทั้งสองสภา ล้วนแล้วแต่ผู้ทรงคุณวุฒิ ก็อาจจะมีคนตั้งคำถามว่า แล้วทำไม พอมาเป็นตำแหน่งหน้าที่สูงขึ้น ทำไมความรู้ความสามารถหายไปไหน ทำไมยังต้องไปหาความรู้เพิ่มเติมที่ต่างประเทศอีก"
    การเดินทางไปดูงานต่างประเทศของนักการเมืองได้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในทุกยุคทุกสมัยฉายา "จองล้าง จ้องผลาญ" ที่สื่อมวลชนรัฐสภาให้กับสภาผู้แทนราษฎรใน ปี 2555 สะท้อนถึงภาพลักษณ์ของสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติ ได้เป็นอย่างดี

ในปีนั้นมีการตั้งงบประมาณถึง 175 ล้านบาท เพื่อให้ ส.ส. และผู้ติดตามเดินทางไปดูงานต่างประเทศ ซึ่งเกิดขึ้นเฉลี่ยปีละ 2 ครั้งต่อคณะกรรมาธิการ ความจำเป็นและความคุ้มค่าของการเดินทางแต่ละครั้งเป็นคำถามที่ไม่มีใครให้คำตอบได้ และดูเหมือนนักการเมืองที่เกี่ยวข้องก็ไม่คิดว่ามีความจำเป็นต้องตอบ                 
จำนวนคนที่ร่วมคณะและเป้าหมายของการเดินทางมักเป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามเสมอ   หลายครั้งถ้าดูจากโปรแกรมการเดินทางแล้ว ดูเหมือนว่าเวลาส่วนใหญ่จะหมดไปกับการท่องเที่ยวมากกว่าการศึกษาดูงานจริงๆ ไม่มีการเดินทางไปดูงานในต่างประเทศของนักการเมืองครั้งไหนที่ตกเป็นข่าวอื้อฉาวมากไปกว่าในยุคที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร  ในปี 2555 นายสมศักดิ์นำคณะที่มีจำนวนคนถึง 39 คน พร้อมตัวแทนสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งดูงานในประเทศอังกฤษ       
วัตถุประสงค์ที่เป็นทางการคือการเยี่ยมชมสถานีโทรทัศน์บีบีซี ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะของอังกฤษในกรุงลอนดอนและพบปะกับผู้บริหารเพื่อเอาข้อมูลมาปรับปรุงสถานีโทรทัศน์รัฐสภาของไทย         
แต่ที่ปรากฎเป็นข่าวกลับไม่ใช่การเยือนบีบีซี แต่เป็นภาพของคณะขณะกำลังชมการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกของอังกฤษ คู่แดงเดือด ระหว่างสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด พบ ลิเวอร์พูลเฉพาะการเดินทางของคณะนายสมศักดิ์ครั้งนั้น ต้องใช้งบประมาณถึง 7 ล้านบาท         
ถึงแม้จะไม่ถึงใช้คำว่า "ผลาญเงิน" แต่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินมีข้อสงสัยอย่างมากต่อความจำเป็นและความคุ้มค่าในการใช้ภาษีประชาชนโดยนักการเมืองในการเดินทางไปต่างประเทศ และไม่มีอะไรที่จะเป็นตัวฟ้องได้ดีไปกว่าตัวเลข   " ไพร์มไทม์" ได้รับการเปิดเผยว่าสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้รวบรวมข้อมูลและตัวเลขเกี่ยวกับการใช้งบประมาณสำหรับการเดินทางไปต่างประเทศของทั้ง ส.ส. และสมาชิกวุฒิสภาย้อนหลัง 5 ปี และตัวเลขเหล่านี้ยิ่งทำให้เกิดคำถามมากขึ้น

"การใช้จ่ายเงินช่วงที่มีสภาฯมีส.ส. ส.ว. ในอดีตมีการใช้จ่ายเงินเดินทางไปต่างประเทศจำนวนมากขณะเดียวกันในการตรวจสอบบัญชีการเงินของสตง.เราก็พบข้อเท็จจริงตามนั้นเกือบทุกกรรมาธิการในสภาล้วนแต่ต้องไปศึกษาดูงานต่างประเทศค่าใช้จ่ายมีทั้งใกล้และไกล .แต่มีประเด็นข้อสงสัยว่าแล้วจะได้ประโยชน์อะไรตามวัตถุประสงค์ที่มุ่งหมายนี่จึงเป็นเหตุที่มามันถึงเวลาแล้วที่จะปฏิรูปในครั้งนี้ซึ่งประเทศเราเสียต้นทุนไปมากเรื่องปัญหาที่ผ่านมาล้วนเกิดจากธรรมาภิบาลซึ่งการใช้จ่ายเงินของสมาชิกสภาฯส.ส. /ส.ว.จะได้รับรู้รับทราบข้อเท็จจริงที่ผ่านมาว่าการใช้จ่ายเหมาะสมหรือไม่และควรวางกฏเกณฑ์กฏหมายเพื่อควบคุมดูแลเพื่อการใช้จ่ายเงินเหมาะสมตามความจำเป็นคุ้มค่าเราจึงตรวจสอบศึกษาย้อนหลังกลับไป 5 ปีที่ผ่านมาตัวเลขงบประมาณการดูงานต่างประเทศของทั้งส.ส.และส.ว. ในฐานะกรรมาธิการรวมแล้วเกือบ 1,000 ล้านบาท"

"ไพร์มไทม์"  ตรวจสอบตัวเลขงบประมาณและรายละเอียดการดูงานของ สมาชิกรัฐสภาย้อนหลังกลับไป 5 ปี และพบว่า ในส่วนของ ส.ส.ใช้งบดูงานต่างประเทศกว่า 600 ล้านบาท   ขณะที่ ส.ว. ใช้งบประมาณ 70-100 ล้านบาท 

การเดินทางไปต่างประเทศของนักการเมืองหยุดชะงักลงหลังการยึดอำนาจของ คสช. ในเดือนพฤษภาคม 2557   งบประมาณ17 ล้านบาทที่เกิดขึ้นได้รับการอธิบายว่าเป็นค่าใช้จ่ายของเจ้าหน้าที่รัฐสภา ที่ใช้รับรองแขกจากต่างประเทศ

ข้อมูลของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินระบุว่าสมาชิกของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ที่มาจากการแต่งตั้งของยังไม่มีรายงานการใช้งบประมาณดูงานต่างประเทศ 

ประเทศที่นักการเมืองไทยเลือกไปเยือนบ่อยที่สุดในช่วง 5 ปีที่มีการเก็บข้อมูลของสำนักงานตรวนเงินแผ่นดิน คือ สหรัฐอเมริกา ที่มีมากถึง 17 ครั้ง รองลงมาคือญี่ปุ่น  9 ครั้ง  หลายคนอาจจะรู้สึกประหลาดใจก็ได้ที่รู้ว่าประเทศยอดฮิตอันดับสามสำหรับการเยือนของนักการเมืองไทย คือ ประเทศกัมพูชา ซึ่งมีโอกาสต้อนรับคณะ ส.ส. ของไทยถึง 7 ครั้ง

คำเฉลยอยู่ที่ว่า ในช่วงเวลานั้นมีอดีตนักการเมืองไทยคนไหนที่ยังลี้ภัยอยู่ต่างแดนและมีความสนิทชิดเชื้อกับผู้นำกัมพูชามากเป็นพิเศษ  และมักทำตัวเป็นแม่เหล็กดึงบรรดา ส.ส. จากประเทศไทยให้ไปพบปะหรือร่วมงานวันเกิดเป็นระยะๆ          
รัฐสภาไทยไม่มีกฎระเบียบที่บังคับ ส.ส. หรือ ส.ว. ต้องชี้แจงเหตุผลหรือความคุ้มค่าของการเดินทางไปดูงานต่างประเทศ     การทำรายงานเกี่ยวกับผลการเดินทางดูจะเป็นหน้าที่เดียวที่นักการเมืองต้องทำ แต่คำถามอยู่ที่ว่าเคยมีใครสนใจอ่านรายงานเหล่านี้แค่ไหน

สามารถ แก้วมีชัย อดีตรองประธานสภาผู้แทนฯ ยอมรับว่า การดูงานต่างประเทศของกรรมาธิการสภาถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก และเคยมีความพยายามสร้างกลไกเพื่อควบคุมการใช้งบประมาณในส่วนนี้
ค่าใช้จ่ายดูงานต่างประเทศของสภาใหญ่ ที่ว่าสูงมากแล้ว  แต่แทบไม่น่าเชื่อว่า งบดูงานต่างประเทศของสภาเล็กหรือ สภา กทม.กลับใช้มากกว่า ถึง 10 เท่าตัว และงบก้อนนี้ ถูกเรียกว่า งบ"ล้างท่อ" ที่ต้องใช้ให้หมดภายในปีงบประมาณนั้นๆ      การตรวจสอบของ"ไพร์มไทม์" พบว่าวงเงินที่สมาชิกรัฐสภา แบ่งสรรปันส่วนเพื่อเดินทางไปต่างประเทศอยู่ที่5 ล้านบาทต่อหนึ่งคณะกรรมาธิการ หรือเฉลี่ยคนละ 3 แสนบาทแต่ปรากฏว่างบต่อหัวของ สภากรุงเทพมหานครกลับสูงถึงคนละ 3 ล้านบาทวิลาศ อดีตประธานกรรมาธิการ ป.ป.ช.สภาฯ ระบุว่า กทม.ไม่ได้มีงบเป็นคณะ ของสภาผู้แทนเป็นคณะ 15 คน 5 ล้าน แต่ของกทม.คนละ 3 ล้าน ตรงนี้ สตง.ควรเข้าไปตรวจอย่างยิ่ง เพราะ 3 ล้าน ไม่ต้องมีเป้าหมายอะไร เช่น คณะกิจการ กทม.จะไปดูงานที่อังกฤษ สมมุติ 3 แสน ก็ตัดวงเงินนี้ออก ลบไปเรื่อยๆ จนกระทั่งใช้หมด 3 ล้าน  ฉะนั้นเค้าจะไปได้คนหนึ่งเป็น 10 เที่ยว ... ไม่มีวัตถุประสงค์เลย เพราะใครจะไปยังไงก็ได้ ข้ามไปข้ามมา มั่วไปหมด เมื่องบมีจำนวนมหาศาลและต้องใช้ให้หมดในปีงบประมาณนั้น  จึงกลายป็นช่องโหว่ ที่เกิดการทุจริตได้ไม่ยาก  "วิลาศ" ในฐานะอดีตประธานกรรมาธิการ ป.ป.ช.สภาฯ เคยรับเรื่องร้องเรียนและตรวจพบกระบวนการฮั้ว ที่ใช้ช่องโหว่ของระเบียบ การเดินทางไปต่างประเทศ ที่แม้ว่าจะต้องใช้ตั๋วของบริษัทการบินไทย แต่หากเจตนาไปจองในวันที่ตั๋วเต็ม สามารถใช้สายการบินอื่นและออกใบเสร็จโดยบริษัททัวร์ได้ การตรวจสอบยังพบว่าหลายครั้งมีการบวกราคา เกินกว่า"ราคาหน้าตั๋วจริง" แต่งบดูงานในต่างประเทศ จะไม่ใช่มีแค่นักการเมืองระดับส.ส.-ส.ว. หรือสภา กทม. เท่านั้น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินพบว่าปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ทั้ง อบจ. อบต. และเทศบาล  มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อดูงานต่างประเทศจนเป็นเรื่องปกติ   และพฤติกรรมไม่ได้ต่างจากนักการเมืองระดับชาติ ที่การเดินทางแต่ละครั้งจะมีที่ปรึกษาและผู้ติดตามเดินทางไปด้วยขณะที่ความจำเป็นและความคุ้มค่าก็เป็นคำถามใหญ่พอๆ กันผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแสดงความหวังว่าการสร้างกลไกควบคุมการใช้งบประมาณสำหรับการเดินทางไปต่างประเทศของนักการเมืองจะเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้   และหวังว่ารายงานของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินในเรื่องนี้ที่จะส่งให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงนี่อาจจะเป็นโอกาสเดียวในการที่จะปฏิรูป ทั้งสภาเล็ก สภาใหญ่ เพราะเป็นช่วงที่ปลอดจากนักเลือกตั้ง สิทธิพิเศษที่บรรดาผู้ทรงเกียรติเหล่านี้จะได้รับนั้นจะต้อง คุ้มค่ากับงบประมาณแผ่นดินที่สูญเสียไปด้วย

logoline