svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

เปิดเอกสาร สตช. สั่งไม่ฟ้องทหาร 8 นาย คดี "เหตุการณ์ตากใบ" ระบุ เป็นเหตุสุดวิสัย

26 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดเอกสาร สตช. ส่งถึงอัยการสูงสุด สั่งไม่ฟ้องทหาร 8 นาย คดี "เหตุการณ์ตากใบ" ระบุ กระทำตามสมควรแก่กรณี และเป็นเหตุสุดวิสัย

26 เมษายน 2567 นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.พรรคก้าวไกล โพสต์เอกสารลงนามโดย พล.ต.ท.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปฏิบัติราชการแทน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เรื่องส่งสำนวนการสอบสวนคดีวิสามัญฆาตกรรม ถึงอัยการสูงสุด โดยแนบเอกสาร

1. สำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่ 13/2567 ของสถานีตำรวจภูธรหนองจิก จังหวัดปัตตานี จำนวน 4 แฟ้ม

2. สำนวนขันสูตรพลิกศพที่ ช.27–104/2547 ของสถานีตำรวจภูธรหนองจิก จังหวัดปัตตานี และ สำนวนการไต่สวนการตายของศาลจังหวัดสงขลา คดีหมายเลขดำที่ ช.16/2548 คดีหมายเลขแดงที่ ช.8/2552 จำนวน 4 แฟ้ม

ระบุว่า ด้วยตำรวจภูธรภาค 9 ได้ส่งสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่ 13/2567 (คดีวิสามัญฆาตกรรม) ของสถานีตำรวจภูธรหนองจิก จังหวัดปัตตานี คดีระหว่าง พันตำรวจเอก พัฒนชัย ปาละสุวรรณ ผู้กล่าวหา กับ พลเอก เฉลิมชัย วิรุฬเพชร กับพวกรวม 8 คน ผู้ต้องหาในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 83 พร้อมสำนวนซันสูตรพลิกศพ และสำนวนการไต่สวนการตายของศาลจังหวัดสงขลา ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย รวมทั้งสิ้น 8 แฟ้ม

โดยผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 มีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งแปดคน เนื่องจากพฤติการณ์และการกระทำของผู้ต้องหาทั้งแปดคน เป็นการกระทำตามสมควรแก่กรณีและเป็นเหตุสุดวิสัย ซึ่งเป็นการแสดงเจตนาให้เห็นว่าผู้ต้องหาทั้งแปดคน ไม่ประสงค์หรือย่อมเล็งเห็นผลว่าจะมีความตายของผู้ชุมนุมเกิดขึ้นในระหว่างการขนย้าย

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอส่งสำนวนการสอบสวนคดีวิสามัญมาตกรรม ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย เพื่อโปรดพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 143 ต่อไป

นายรอมฎอน สรุปประเด็นนี้คือ #คดีตากใบ สำนวนของตำรวจสั่งไม่ฟ้องเจ้าหน้าที่ในเหตุโศกนาฏกรรมตากใบ เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน รอดูว่าอัยการว่าอย่างไร คดีนี้ฟื้นขึ้นมาใหม่หลังถูกทักท้วง และถามไถ่ทั้งในสภาฯ และในพื้นที่ โดยพบว่าอัยการเสนอให้ #งดสอบสวน หรืองดทำคดีต่อในปี 52

ส่วนคดีใหม่ที่ฟื้นมานี้เคยมีเรื่องร้องเรียนมา กมธ.หลายคณะว่า เจ้าหน้าที่พยายามเข้าไปคุยกับชาวบ้านให้ไม่ฟ้องใดๆ จนเกิดความรู้สึกว่าถูกคุกคามกันหลายกรณี

การฟื้นคดีนั้น อาจทำให้เหมือนว่าไม่ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แต่ท้ายที่สุดนอกจากผู้ต้องหาจะไม่ใช่ผู้รับผิดชอบหลักๆ แล้ว ในท้ายสุดยังสั่งไม่ฟ้องอีก ส่วนคดีที่ญาติฟ้องเอง (เมื่อวานนี้เหมือนกัน) ก็ต้องเข้าสู่ขั้นตอนไต่สวนมูลฟ้อง 24 มิถุนายน 

การหาความยุติธรรมนั้นเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ โดยเฉพาะในชายแดนใต้เช่นนี้ จึงต้องการความกล้าหาญและตรงไปตรงมา

ย้อนเหตุการณ์โศกนาฏกรรม 20 ปี ตากใบ

"เหตุโศกนาฏกรรมตากใบ" ต้องย้อนไปในปี 2547 ซึ่งเป็นปีที่ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นและต่อเนื่อง

เริ่มจากเหตุการณ์ปล้นปืน 413 กระบอก จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือค่ายปิเหล็ง ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2547 ก่อนที่จะมีประโยคที่สังคมจดจำ จากคำพูดของ นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นว่า "โจรกระจอก" พร้อมมีการประกาศขยายการใช้กฎอัยการศึก จากเดิมที่มีประกาศอยู่แล้ว ในบางพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานี

ต่อมาช่วงเช้าตรู่ของ 28 เมษายน 2547 ได้เกิดเหตุ กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ออกปฏิบัติการโจมตีจุดตรวจฐานปฏิบัติการ ของเจ้าหน้าที่รัฐนับสิบจุด ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเกิดการปะทะกันในหลายจุด เป็นเหตุให้มีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บหลายคน มีผู้เสียชีวิตรวม 108 ราย ในจำนวนนี้ มี 5 คนเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และอีก 32 คน คือกลุ่มผู้ก่อเหตุที่เสียชีวิตขณะเข้าไปหลบภัย ในมัสยิดหรือเซะ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ปิดล้อมนาน 9 ชั่วโมง และใช้อาวุธหนักยิงถล่ม

เปิดเอกสาร สตช. สั่งไม่ฟ้องทหาร 8 นาย คดี \"เหตุการณ์ตากใบ\" ระบุ เป็นเหตุสุดวิสัย

จากนั้น เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ได้เกิดเหตุ ประชาชนประมาณ 2,000 คนได้มารวมตัวกัน บริเวณด้านหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จ.นราธิวาส เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ชาวมลายูมุสลิม 6 คน ที่อยู่ระหว่างถูกควบคุมตัว เนื่องจากไม่เห็นด้วยที่ถูกกล่าวหาว่า มอบอาวุธให้กับผู้ก่อความไม่สงบ

ก่อนที่ผู้ชุมนุมจะมีการขว้างปาก้อนหิน และพยายามจะบุกสถานีตำรวจ เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจได้พยายามสลายการชุมนุม ด้วยการยิงแก๊สน้ำตา ใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง และกระสุนจริงกับผู้ชุมนุมประท้วง ส่งผลให้ผู้ชุมนุมเจ็ดคนเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ และอีกหลายคนได้รับบาดเจ็บ

ภายหลังการสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่ได้จับกุมผู้ชุมนุมประท้วง 1,370 คน ผูกมือไพล่หลัง และบังคับให้ขึ้นไปนอนคว่ำทับซ้อนกันด้านหลังรถบรรทุกทหาร เพื่อขนย้ายไปยังสถานที่ควบคุมตัวในค่ายทหาร ส่งผลให้มี 85 คนที่เสียชีวิตจากการถูกกดทับ หรือขาดอากาศหายใจในระหว่างการขนส่ง

ผู้ชุมนุมอีกหลายร้อยคนยังคงถูกควบคุมตัวโดยทหาร และต่อมามีการส่งตัวไปยังค่ายทหารในจังหวัดอื่นๆ รวมทั้งชุมพรและสุราษฎร์ธานี เพื่อควบคุมตัวเพิ่มเติมอีกเป็นเวลาเจ็ดวัน

เปิดเอกสาร สตช. สั่งไม่ฟ้องทหาร 8 นาย คดี \"เหตุการณ์ตากใบ\" ระบุ เป็นเหตุสุดวิสัย

จากนั้นในวันที่ 24 มกราคม 2548 พนักงานอัยการจังหวัดนราธิวาส ได้สั่งฟ้องผู้ถูกควบคุมตัว 58 คน ในข้อหาร้ายแรง รวมทั้งขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน และมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ตามมาตรา 139 และ 215 ของประมวลกฎหมายอาญา ตามลำดับ ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2549 พนักงานอัยการได้ถอนฟ้องคดีทั้งหมด โดยอ้างเหตุว่า ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ

ขณะเดียวกันรัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการ 11 คนเพื่อสืบสวนหาความจริง คณะกรรมการได้รายงานข้อค้นพบกับรัฐบาลในเดือนธันวาคม 2548 แต่ข้อค้นพบดังกล่าวไม่ได้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ

โดยคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงสรุปว่าวิธีการสลายการชุมนุมที่ใช้กำลังติดอาวุธและใช้กระสุนจริง โดยเฉพาะใช้กำลังทหารเกณฑ์ และทหารพราน ซึ่งมีวุฒิภาวะไม่สูงพอเข้าร่วมในการเข้าสลายการชุมนุมนั้น เป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสมไม่เป็นไปตามแบบแผน และวิธีปฏิบัติที่ใช้กันตามหลักสากล

นอกจากนี้คณะกรรมการดังกล่าวยังพบว่าผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องละเลยไม่ควบคุมดูแลการลำเลียง และเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมประท้วงที่ถูกควบคุมตัวให้แล้วเสร็จ แต่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารระดับชั้นผู้น้อยที่มีข้อจำกัดด้านประสบการณ์

ในส่วนการดำเนินคดีฝั่งเจ้าหน้าที่ "แอมเนสตี้" รายงานเมื่อปี 2566 ว่า ยังไม่มีการสั่งฟ้องเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ตามที่คณะกรรมการระบุถึงแต่อย่างใด มีเพียงแต่รายงานข่าวว่า แม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น ถูกโยกย้ายให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่อื่น พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลให้ใช้โอกาสนี้ อำนวยให้เกิดความยุติธรรม กับผู้เสียหายจากการสลายการชุมนุมที่อำเภอตากใบ ก่อนคดีจะหมดอายุความในเดือนตุลาคม 2567

เหตุการณ์โศกนาฏกกรมตากใบ รัฐต้องจ่ายเงินเยียวยาผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บ รวมทั้งผู้ได้รับผลกระทบในทางคดี สูงถึงเกือบ 700 ล้านบาท แบ่งเป็น

1.ยอดเงินเยียวยาที่จ่ายเมื่อปี 2556 ตามมติคณะรัฐมนตรีรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวม 641,451,200 บาท แบ่งเป็น

  • -ผู้เสียชีวิต 85 ราย รายละ 7.5 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 561,101,000 บาท
  • ผู้ได้รับบาดเจ็บ 51 ราย จ่ายรายละ 1 ล้านบาทขึ้นไปตามอาการ รวมเป็นเงิน 60,455,000 บาท
  • ทุพพลภาพ 1 ราย เป็นเงิน 6,380,000 บาท
  • ผู้ที่ถูกดำเนินคดีแล้วอัยการถอนฟ้อง 58 ราย เป็นค่าเยียวยาจิตใจ รายละ 30,000-50,000 บาท เป็นเงิน 2,025,200 บาท
  • ผู้ที่ถูกควบคุมตัวแต่ไม่ถูกดำเนินคดี 1,280 ราย เป็นค่าขาดโอกาสในการทำมาหารายได้ รวม 11,490,000 บาท ส่วนนี้ยังจ่ายไม่ครบ เพราะมีผู้ที่ไม่กล้าออกมาแสดงตัวอีกจำนวนหนึ่ง

2.ค่าเสียหายทางแพ่ง ที่กองทัพบกจ่ายให้กับครอบครัวผู้สูญเสีย รวม 42 ล้านบาท

 

อ้างอิงข้อมูล : สำนักข่าวอิศรา, เนชั่นออนไลน์

logoline