svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

"กัญชา"ทางการแพทย์ความเป็นไปได้กับไทย!!

07 สิงหาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กลางเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นำคณะผู้แทนไทยเดินทางไปศึกษาดูงานการแก้ปัญหายาเสพติดแบบครบวงจรในประเทศออสเตรเลีย

ไฮไลท์ของทริปนี้ไม่ใช่เพียงการแสวงหาความร่วมมือในการป้องกัน ปราบปรามยาเสพติด ภายใต้ปฏิบัติการร่วมของเชฟแม่โขง ซึ่งเป็นการผนึกความร่วมมือสกัดกั้นยาเสพติดจากสามเหลี่ยมทองคำ แต่ยังเข้ารับฟังการบรรยายสรุปและศึกษาดูงานด้านการศึกษาวิจัยและผลิตกัญชาทางการแพทย์อย่างถูกกฎหมาย ณ บริษัท Medifarm เมือง Sunshine Coast โดยผลิตภัณฑ์กัญชาที่ผลิตเป็นชนิดน้ำมันเท่านั้น และแพทย์เท่านั้นที่สามารถสั่งจ่ายน้ำมันกัญชาดังกล่าวเพื่อใช้รักษาโรคลมชัก และอาการเจ็บปวดแบบเรื้อรัง โดยการสั่งจ่ายน้ำมันกัญชามักไม่ได้เป็นทางเลือกแรกของแพทย์ที่จะใช้ในการรักษา




การศึกษากัญชาเพื่อใช้รักษาโรคของประเทศออสเตรเลียยังอยู่ในขั้นตอนของการทดลอง โดยจะนำกัญชามาสกัดเป็นน้ำมัน จนถึงขณะนี้ยังไม่มีผลการศึกษาวิจัยชัดเจนว่าสามารถใช้รักษาโรคมะเร็งให้หายขาดเหมือนที่มีการแชร์ข้อมูลกันอย่างแพร่หลายในโซเชียลมีเดียของไทย เนื่องจากกัญชามีทั้งสารเสพติดที่เป็นประโยชน์ต่อการรักษาทางการแพทย์ และสารเสพติดที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการรักษา ในแปลงทดลองจึงนำกัญชามาสกัดเพื่อคัดแยกเฉพาะสารที่เป็นประโยชน์ต่อการรักษา โดยจะนำมาใช้บำบัดผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งด้วยการทำรังสีบำบัด หรือคีโม และใช้ได้ผลดีต่อผู้เป็นโรคชักเกร็ง และโรคลมชัก โดยการศึกษาวิจัยของออสเตรเลียยังไม่ไปถึงขั้นใช้น้ำมันกัญชารักษามะเร็งได้โดยตรง





ทั้งนี้ศูนย์เมดิฟาร์มของออสเตรเลียจะทำการวิจัยน้ำมันกัญชาแบบครบวงจร ว่าจ้างนักวิจัยของเอกชนเข้าไปทำงานวิจัยให้โรงพยาบาล เริ่มต้นศึกษาตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดพันธุที่จะนำมาเพาะปลูก โดยสายพันธุ์ที่ได้รับคัดเลือกเป็นเมล็ดพันธุ์กัญชาจากประเทศอิสราเอล ปลูกในโรงเรือนแบบปิด ผู้ที่ได้รับอนุญาตเข้าไปในโรงเรือนเพาะชำกัญชาและห้องทดลองสกัดน้ำมันกัญชามีไม่กี่คน จำกัดเฉพาะผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องโดยตรงเท่านั้น






การสกัดน้ำมันกัญชาเพื่อรักษาโรคของออสเตรเลียจึงไม่ใช่การเปิดรับซื้อกัญชาจากต่างประเทศ ข้อเรียกร้องในโซเชียลมีเดียที่ต้องการส่งเสริมให้ปลูกกัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจจึงยังห่างไกลความเป็นจริง เนื่องจากกัญชายังมีสถานะเป็นพืชเสพติดที่ต้องจำกัดพื้นที่เพาะปลูกและสถานที่วิจัยเพื่อสกัดน้ำมันกัญชา การจำกัดลักษณะของโรคที่ควรได้รับการรักษาด้วยน้ำมันกัญชา และมะเร็งกลุ่มใดบ้างที่ควรรักษาด้วยน้ำมันกัญชา เพื่อกำหนดเป็นนโยบายควบคุมพืชเสพติดของไทยต่อไป









บทความจาก หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 7 ส.ค. 2561


คอลัมน์ "ขยายปมร้อน" โดย ปิยะนุช ทำนุเกษตรไชย

logoline