svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

พลังของโกะโจคืออะไร? อธิบายไสยเวท ‘มุเก็น’ หรือพลังอนันต์

16 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สิ่งหนึ่งที่ทำเอาแฟนๆ ที่ได้อ่านมังงะหรือดูอนิเมะเรื่อง มหาเวทย์ผนึกมาร ต้องเกาหัวไปตามๆ กัน ก็คือความน่าสับสนและเข้าใจยากของพลังตัวละครสุดเทพอย่าง โกะโจ ซาโตรุ สำหรับใครที่อยากเข้าใจไสยเวทของอาจารย์ตาฟ้าคนนี้ มาฟังคำอธิบายจากมุมวิทยาศาสตร์แบบลงลึก

หนึ่งบุรุษ ผู้ที่ยืนอยู่บนจุดสูงสุดของวงการไสยเวท ผู้ใช้คุณไสยที่แข็งแกร่งที่สุดของยุค ‘โกะโจ ซาโตรุ’ หรือ ที่เรารู้จักในชื่อ ‘อาจารย์โกะโจ’ อาจารย์ประจำชั้นเด็กปีหนึ่งของโรงเรียนไสยเวท สาขาโตเกียว ผู้มีวาจา และลีลายียวนกวนประสาทเป็นจุดขาย ตัวตนที่ไม่มีใครเทียบชั้นได้ด้วยพลังไสยเวทไร้จำกัด หรือ ‘มุเก็น’ และดวงตาริคุกันที่สืบทอดกันในตระกูลโกะโจ โดยมีคำกล่าวว่า โกะโจคือเสาหลักของเหล่าผู้ใช้คุณไสย การดำรงอยู่ของโกะโจส่งผลกระทบต่อทิศทางของวงการไสยเวททั่วทั้งโลก

สำหรับที่ใครที่อ่านมังงะหรือดูอนิเมะเรื่อง มหาเวทย์ผนึกมาร แล้วงงกับไสยเวทมุเก็นของโกะโจ ไม่ต้องห่วง วันนี้เราจะมาอธิบายด้วยวิทยาศาสตร์กันแบบลงลึก

มหาเวทย์ผนึกมาร. ภาพจาก: IMDb

มุเก็น หรือ อนันต์ ในการ์ตูนเรื่อง มหาเวทย์ผนึกมาร คือไสยเวทที่เรามักเห็นอาจารย์ใช้อยู่บ่อยๆ ตลอดทั้งเรื่อง และยังเป็นหัวใจของความแข็งแกร่งของอาจารย์นอกจากดวงตาริคุกันที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ถ้าให้พูดกันอย่างจริงจัง พลังมุเก็นจะสามารถอธิบายได้ผ่าน Zeno's Paradoxes หรือ ปฏิทรรศน์ของซีโน ที่ได้ถูกคิดโดย นักคิดชาวกรีกที่ชื่อ ซีโนแห่งอีเลีย (Zeno of Elea) เมื่อ 490-430 ปีก่อนคริสตกาล
 

สมมติว่า เต่าตัวหนึ่งยืนห่างจากนักวิ่งลมกรด 10 เมตร หากนักวิ่งต้องการที่จะแซงเต่าที่เคลื่อนที่อย่างเชื่องช้า เขาจะแทรกเต่าสำเร็จในในตำแหน่งใด? หากสมมติว่าความเร็วในการวิ่งของนักวิ่งจะอยู่ที่ 2.7 เมตร/วินาที และความเร็วเต่าคือ 1.3 เมตร/วินาที นักวิ่งจะวิ่งแทรกเต่าในเวลา 7.1 วินาที แต่ปฎิทรรศน์ของซีโนเสนอว่านักวิ่งจะไม่มีวันวิ่งแซงเต่าได้ เมื่อนักวิ่งวิ่งไป เต่าจะเดินออกจากนักวิ่งไปเรื่อย ๆ ทำให้เต่ายังคงอยู่ด้านหน้านักวิ่งไปเรื่อย ๆ ด้วยตรรกะนี้เองระยะทางระหว่างเต่ากับนักวิ่งจะลดลงไปเรื่อย ๆ โดยที่เต่ายังคงอยู่ข้างหน้า แต่นักวิ่งจะวิ่งแซงเต่าไม่ได้ เพราะเมื่อนักวิ่งไปข้างหน้า เต่าก็จะเดินนำหน้านักวิ่งเสมอ

Zeno

ในการอธิบายปฎิทรรศน์ของซีโน เรามักจะอธิบายผ่านวิธีการที่เรียกว่า Dichotomy Paradox หรือการแบ่งทีละครึ่ง โดยเราสนใจที่ระยะทางของเต่าและนักวิ่งในปฎิทรรศน์ของซีโนในแต่ละวินาที เราจะได้ลำดับอนุกรมอนันต์หน้าตาแบบนี้ (เห็นสมการแล้วอย่าเพิ่งตกใจนะ)

5, 2.5, 1.25, 0.625, …. Sn เมื่อ Sn = D/2n กำหนดให้ D คือระยะห่างที่วินาทีที่ 0
 

คำอธิบายจากสมการก็คือ การเคลื่อนที่ของวัตถุไปยังจุดหมายจำเป็นต้องผ่านจุดกึ่งกลางของแต่ละช่วง โดยจุดกึ่งกลางของแต่ละช่วงมีเป็นอนันต์จุด การที่เราจะกระทำการที่เป็นอนันต์ครั้งในเวลาที่ถูกจำกัดนั้นเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่วัตถุจะเคลื่อนที่ไปยังจุดหมายได้ หรือก็คือการเคลื่อนที่ของวัตถุเป็นคำลวง เพราะวัตถุจะไม่สามารถผ่านจุดกึ่งกลางของวัตถุกับเป้าหมายที่มีอยู่อย่างไม่จำกัดในเวลาที่จำกัดได้

อีกตัวอย่างของปฎิทรรศน์ของซีโนคือ ปริศนาลูกธนู โดยซีโนสนใจลูกธนูที่พุ่งจากคันศรไปยังเป้าที่เล็งไว้ หากเราพิจารณาที่ ณ เวลาหนึ่ง ลูกธนูย่อมลอยอยู่กลางอากาศ ณ ตำแหน่งหนึ่ง ถ้าเราเลื่อนเวลาออกไปก็จะพบว่าลูกธนูนี้จะยังคงเคลื่อนที่อยู่ในระนาบเดียวกัน แต่ลูกธนูจะเข้าใกล้เป้าหมายเรื่อยๆ ซีโนตั้งคำถามต่อลูกธนูว่า ลูกธนูที่เคลื่อนที่กับไม่เคลื่อนที่ต่างกันอย่างไร ในเมื่อที่เวลาหนึ่งๆ ลูกธนูทั้งสองนั้นไม่ได้ดูแตกต่างกัน

มหาเวทย์ผนึกมาร. ภาพจาก: IMDb

ปฎิทรรศน์ของซีโนนี้ได้ถูกอธิบายด้วยการต่อสู้ของ โจโกะ และ โกะโจ ในอนิเมะตอนที่ 7 ที่มือของโจโกะเหมือนจะหยุดนิ่งบริเวณช่องว่างระหว่างโกะโจและโจโกะ ทั้งที่ความจริงมือของโจโกะไม่ได้หยุดนิ่ง แต่มือกำลังเคลื่อนที่ช้าลง เนื่องจากจำเป็นต้องผ่านจุดกึ่งกลางระหว่างพื้นที่ว่างที่มีอยู่เป็นอนันต์ ทำให้ดูคล้ายๆ ว่ามือกำลังหยุดนิ่งอยู่ ถ้าหากเรานำระยะของพื้นที่ว่างที่เป็นอนุกรมอนันต์นี้มาคำนวณหาผลรวมของอนุกรมอนันต์ ก็จะพบว่าผลลัพธ์ที่ได้นี้จะมีค่าเท่ากับพื้นที่ว่างทั้งหมดในวินาทีที่ 0 พอดี

ปัญหาที่ปริทรรศน์ของซีโนได้สร้างขึ้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องกลับไปทบทวนถึงความเข้าใจเรื่องพื้นที่ว่าง เวลา และความเป็นอนันต์ โดยนักคณิตศาสตร์บางคนที่ศึกษาปฎิทรรศน์ของซีโนกล่าวว่า การคำนวณความเร็วของวัตถุในทฤษฎีฟิสิกส์ เป็นเพียงแค่การเอาปัญหาอันลึกซึ้งของที่ว่างและเวลาฝังกลบไปก่อน เพื่อสร้างทฤษฎีการเคลื่อนที่ตามกฎฟิสิกส์ที่เข้าใจได้ ซึ่งการฝังกลบปัญหานี้ได้สร้างข้อจำกัดในการแก้ไขปัญหาอีกหลายๆ ปัญหาที่เกิดจากความไม่เข้าใจเรื่องที่ว่างและเวลาในอีกแง่มุมหนึ่ง นักคณิตศาสตร์ได้ต่อยอดถึงปัญหาความเป็นอนันต์ โดยการกลับไปนั่งขบคิดถึงการไม่จำกัดรูปแบบอื่นๆ เช่น ปฏิทรรศน์โรงแรมอนันต์ (Infinite Hotel Paradox) ขนาดของอนันต์ที่ใหญ่กว่าอนันต์

มหาเวทย์ผนึกมาร. ภาพจาก: IMDb

หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมในมหาเวทย์ผนึกมาร ‘ภาคเกมคัดสรร’ ที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน โกะโจที่มีพลังมุเก็นซึ่งสามารถป้องกันไม่ให้มีสิ่งใดมาทำอันตราย กลับถูกสุคุนะฟันตัวขาดครึ่งได้ ความลับของท่าผ่าโลกาที่สุคุนะใช้เพื่อตัดความเป็นอนันต์ของโกะโจ มันคืออะไรกันแน่

จุดอ่อนเดียวของมุเก็นของโกะโจคือ ตราบใดที่โกะโจยังอาศัยอยู่บนโลก โกะโจก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของเซตขนาดยักษ์ที่ชื่อว่าโลก ดังนั้น การตัดโลกาที่สึคุนะได้มารับ จากการเรียนรู้ของมโหราคาก็คือ การโจมตีที่ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่โกะโจ แต่เป็นการพุ่งเป้าไปที่ทุกสิ่งบนโลก ซึ่งโกะโจและพื้นที่ว่างของโกะโจ คือสมาชิกที่อยู่ในเซตเป้าหมาย อาจจะเปรียบได้ว่าโลกคือเซตอนันต์ที่มีขนาดใหญ่กว่าอนันต์ของโกะโจ

แนวคิดการเปรียบเทียบว่าอนันต์ใดใหญ่กว่ากันเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นหลังจากที่นักคณิตศาสตร์ เกออร์ค คันทอร์ สามารถพิสูจน์ว่า “ขนาดของเซตจำนวนนับมีขนาดเล็กกว่าขนาดของเซตจำนวนจริง” โดยคันทอร์เรียกขนาดของเซตที่เป็นอนันต์ซึ่งมีขนาดเล็กสุดนี้ว่า Countable Infinity และแทนด้วยสัญลักษณ์ ℵ0 (Aleph-zero) และเรียกขนาดของเซตอนันต์ที่ใหญ่กว่า ℵ0 ว่า ℵ1 ซึ่งคันทอร์ได้ตั้งข้อสงสัยที่ต่อมาเราจะเรียกกันว่า Continuum Hypothesis ซึ่งเป็น 1 ใน 23 ปัญหาทางคณิตศาสตร์ที่ยากที่สุดในโลก ซึ่งเวลาต่อมา เคิร์ต เกอเดิล และ พอล โคเฮน ได้ตอบปัญหานี้ว่า เราไม่สามารถหาคำตอบได้ เนื่องจากไม่มีสัจพจน์หรือความจริงใดทางคณิตศาสตร์ที่สามารถยืนยันว่าสมมติฐานนี้เป็นจริงหรือเป็นเท็จได้

มหาเวทย์ผนึกมาร. ภาพจาก: IMDb

นอกจากมุเก็นแล้ว โกะโจยังมีการประยุกต์ใช้มุเก็นเป็นท่าโจมตีสามรูปแบบคือ ไสยเวทหมุนทวน (แดง), ไสยเวทหมุนตาม (น้ำเงิน), และรูปแบบว่างเปล่า (ม่วง)

ไสยเวทหมุนทวน (แดง) คือ การบีบอัดความว่างขนาดเล็กที่มีความเป็นอนันต์และปลดปล่อยออกไป เมื่อถูกปลดปล่อยออกมา ความเป็นอนันต์ที่ถูกบีบอัดจะขยายตัวอย่างรวดเร็วเกิดเป็นระเบิดขนาดยักษ์ ที่ทำลายคู่ต่อสู้ ซึ่งหลักการนี้คล้ายๆ กับการเกิดบิ๊กแบง ซึ่งได้ให้กำเนิดเอกภพที่แรกเริ่มเดิมทีเอกภพเราถูกบีบอัดในจุดเล็กๆ ก่อนที่จะขยายตัวอย่างรวดเร็วและความร้อนมหาศาลจนอนุภาคมูลฐานต่างๆ สามารถรวมตัวเป็นอะตอมของธาตุแรกเริ่มอย่าง H หรือไฮโดรเจน ไสยเวทหมุนทวนจึงเป็นเหมือน แบบจำลองของบิ๊กแบงขนาดย่อมๆ

มหาเวทย์ผนึกมาร. ภาพจาก: IMDb

ไสยเวทหมุนตาม (น้ำเงิน) คือ การสร้างสนามความโน้มถ่วงอันมหาศาล ที่ดึงดูดทุกสรรพสิ่งคล้ายกับเป็นหลุมดำขนาดย่อมๆ ซึ่งตามปกติแล้วจะเกิดขึ้นกับดาวฤกษ์ที่มีมวลมหาศาลในช่วงสิ้นอายุขัยที่แรงดันภายในและแรงโน้มถ่วงเสียสมดุลจากกัน ทำให้ดาวเกิดการยุบตัว ก่อนที่แรงผลักของไอออนที่อยู่ชิดกันมากๆ จะผลักอนุภาคพลังงานสูงออกจากดวงดาว เรียกว่า ซูเปอร์โนวา ในขณะเดียวกันแก่นของดาวที่มีมวลมหาศาลจะยุบตัวอีกครั้ง หากมวลมีมากเพียงพอจะทำให้แกนของดาวยุบตัวจนกลายเป็นบริเวณที่มีแรงโน้มถ่วงมากมายมหาศาล มากเสียจนกระทั่งอนุภาคโฟตอนของแสงก็ถูกดูดกลืนไปด้วย ทำให้หลุมดำเป็นวัตถุบนท้องฟ้าที่น่าพิศวงที่สุดอย่างหนึ่ง นักดาราศาสตร์และนักฟิสิกส์ต่างค้นหาวิธีการเพื่อไขความลับของวัตถุอนธการแห่งนี้ โดยในปัจจุบันเราค้นพบวิธีการในการถ่ายภาพหลุมดำผ่านเลนส์ความโน้มถ่วงที่ได้บิดเบือนแสงที่อยู่รอบนอกขอบฟ้าเหตุการณ์รอบๆ หลุมดำ

มหาเวทย์ผนึกมาร. ภาพจาก: IMDb

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ต้องขอยกความดีความชอบให้อาจารย์เกเกะ อากูตามิ ผู้เขียนมหาเวทย์ผนึกมาร ที่สามารถนำคอนเซปต์ของความเป็นอนันต์มาต่อยอดเป็นพลังในการต่อสู้ของอาจารย์โกะโจได้อย่างลงตัว และขี้โกงแบบสุดๆ จนโกะโจกลายเป็นตัวบัคของเรื่องที่แม้แต่ตัวอาจารย์เองก็รู้สึก จนนำมาสู่การผนึกอาจารย์โกะโจในโกคุมงเคียวเพื่อให้ตัวละครต่างๆ เติบโตและแข็งแกร่งขึ้น ก่อนที่จะเข้าสู่ภาคเกมคัดสรรที่จัดว่าเป็นจุดพีคของเรื่อง

 

ข้อมูลอ้างอิง

 

บทความโดย พีรวุฒิ บุญสัตย์

logoline