svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

‘Atomic Breath’ ของก็อดซิลลารุนแรงแค่ไหน?

18 พฤศจิกายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

พฤศจิกายนปีนี้คือเดือนเกิดครบรอบ 70 ปีของราชาสัตว์ประหลาด ‘ก็อดซิลลา’ (Godzilla) เราขอใช้โอกาสนี้ชวนทุกคนมาเป็นประจักษ์พยานความรุนแรงลมหายใจปรมาณูของก็อดซิลลา ท่าไม้ตายที่ต่อให้ยืนห่างหลายกิโมเมตรคุณก็อาจจะไม่รอด

'ก็อดซิลลา' (Godzilla) เป็นตัวละครสมมติที่ไม่ได้มีจริงในธรรมชาตินะครับ เจ้าสัตว์ประหลาดขนาดยักษ์ที่หน้าตาไม่เหมือนสิ่งมีชีวิตใดๆ บนโลกเลยตัวนี้ เมื่อมองรูปร่างภายนอกจะเห็นว่ามีเค้าโครงเหมือนกับสัตว์เลื้อยคลานที่ยืนสองขา ผิวบนร่างกายมีลักษณะหยาบๆ สีดำแข็ง คล้ายกับหินภูเขาไฟที่เย็นตัวลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ดูเหมือนว่าร่างกายของก็อดซิลลาโดนห่อหุ้มไปด้วยหนาม รวมกับร่างกายที่ไม่มีอาวุธชิ้นใดของมนุษย์สามารถทำอันตรายมันได้

Godzilla Minus One (2023). ภาพจาก: IMDb

จุดสำคัญจากในนิยายดั้งเดิมคือ ก็อดซิลลาจะมีความสามารถในการพ่นลำแสงทำลายล้างที่แม้แต่เหล็กกล้าก็ไม่สามารถทนทานได้ และละลายง่ายดายเสมือนเราเอาเท้าเหยียบบนหน้าเค้ก ลำแสงดังกล่าวถูกตั้งชื่อว่า ‘Atomic Breath’ หรือลมหายใจปรมาณู เรียกได้ว่านี่คือจุดขายของก็อดซิลลาที่ไม่ได้มีแค่ขนาดใหญ่โตเท่าตึกสูงหลายสิบชั้น แต่ยังสามารถปลดปล่อยลมหายใจปรมาณูได้เมื่อไหร่ก็ตามที่ต้องการ และดูจะไม่มีข้อจำกัดด้านการใช้งาน

ด้วยเหตุนี้เลยทำให้ก็อดซิลลาเป็นสิ่งมีชีวิตที่น่ากลัวเหมือนหลุดออกมาจากฝันร้ายของผู้คน โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้สรรค์สร้างไอเดียนี้ขึ้นมา โดยเปรียบเปรยกับเหตุการณ์อันเลวร้ายที่ประเทศญี่ปุ่นได้ประสบในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่นได้ทำการถล่มกองทัพเรือของสหรัฐอเมริกาเพื่อชิงความได้เปรียบทางการทหารในน่านน้ำทะเลแปซิฟิก แต่นั่นคือการทำให้ยักษ์ตื่น ส่งผลให้สหรัฐอเมริกาตัดสินใจไม่ยากในการเข้าร่วมสงครามกับทางฝั่งสัมพันธมิตร และในท้ายที่สุดของสงครามนองเลือดที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก สหรัฐอเมริกาได้ทิ้งระเบิดนิวเคลียร์แบบฟิชชันจำนวนสองลูกที่จังหวัดฮิโรชิมะและนางาซากิของประเทศญี่ปุ่น—จุดสิ้นของสงครามโลกครั้งที่ 2

Godzilla (1954). ภาพจาก: Wikimedia Commons
 

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ความกลัวและความโศกเศร้าเกาะกินอยู่ในใจชาวญี่ปุ่นอย่างยาวนาน หนังเรื่องก็อดซิลลาที่ฉายครั้งแรกในปี 1954 จึงเป็นที่นิยมของชาวญี่ปุ่น หนังเปรียบเปรยว่าสัตว์ประหลาดยักษ์ที่ตื่นขึ้นสร้างความเสียหายให้แก่ผู้คนในประเทศ เปรียบเสมือนกับระเบิดนิวเคลียร์ที่ถูกปล่อยลงมา เป็นโศกนาฏกรรมที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

วันนี้เราจึงตั้งใจมาพูดคุยกันถึงเรื่องลำแสงจากลมหายใจปรมาณูของก็อดซิลลา โดยใช้ฟิสิกส์ที่มนุษย์เราค้นพบมาอธิบายกัน นับตั้งแต่ช่วงแรกของตัวละครนี้ปรากฏ ลำแสงที่ถูกปล่อยออกมาจะมีสีแดงๆ สื่อไปในเชิงว่าร้อนแรง ซึ่งหากเราดูจากสเปกตรัมของแสงที่มองเห็นได้นั้น สีแดงมีความยาวคลื่นมากที่สุด ประมาณ 700 นาโนเมตร ทำให้มีพลังงานน้อยที่สุดในย่านคลื่นแสงที่มนุษย์มองเห็น ทำให้ในช่วงหลังๆ การออกแบบลำแสงจะให้ก็อดซิลลาค่อยๆ ชาร์จพลังจากลำแสงที่มีพลังงานต่ำหรือสีแดงๆ ส้มๆ แล้วค่อยเพิ่มระดับพลังงานขึ้นเรื่อยๆ จนเห็นเป็นสีฟ้าปนม่วงไปในที่สุด ซึ่งมีระดับพลังงานสูงที่สุดในย่านคลื่นแสงที่มนุษย์มองเห็น โดยมีความยาวคลื่นอยู่ที่ 400 นาโนเมตร เพราะคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (แสงเป็นส่วนหนึ่งของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า) ยิ่งมีความยาวคลื่นต่ำเท่าไหร่ก็จะมีพลังงานสูงมากขึ้นเท่านั้น

Godzilla vs. Kong (2021). ภาพจาก: IMDb
 

ก็อดซิลลาสร้างลำแสงลมหายใจปรมาณูจากพลังงานปรมาณูแบบฟิชชั่นที่อยู่ภายในร่างกาย ซึ่งก็คือปฏิกิริยาลูกโซ่การสลายตัวของธาตุใหญ่ เช่น ยูเรเนียม หรือพลูโตเนียม ให้เป็นธาตุที่เล็กลง พลังงานที่ได้จากปฏิกิริยาดังกล่าวที่มีจำนวนมหาศาลได้ผ่านจากร่างกายของก็อดซิลลาออกมาทางปาก และพ่นไปยังเป้าหมายเป็นการทำลายล้างที่ประกอบไปด้วยสององค์ประกอบหลัก โดยเทียบกับระเบิดปรมาณูที่มนุษย์สร้างขึ้น อย่างแรกคือ แรงระเบิดและพลังงานความร้อนอันมหาศาลที่มีอุณหภูมิสูงมากๆ จนแม้แต่โลหะยังหลอมละลายหรืออาจจะระเหิดกลายเป็นไอได้ด้วยซ้ำ ซึ่งพลังงานส่วนนี้คิดเป็น 95% ของพลังงานทั้งหมด ส่วนที่เหลือคือรังสีที่ถูกปลดปล่อยออกมา ถึงแม้จะคิดเป็นสัดส่วนของพลังที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับพลังการทำลายล้าง แต่ที่จริงแล้วรังสีเหล่านี้เรียกว่าเป็นรังสีมรณะที่อาจจะเป็นอันตรายต่อคนที่อยู่ไกลออกไปได้ และจำนวนคนที่ได้รับผลกระทบจากรังสีจากลมหายใจปรมาณูของก็อดซิลลานี้อาจจะพุ่งสูงมากกว่าคนที่โดยแรงระเบิดกับพลังงานความร้อนจากตรงกลางด้วยซ้ำ

ทีนี้เรามาดูกันว่ารังสีมรณะนี้ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง โดยปกติสารกัมมันตรังสีจะปลดปล่อยรังสีออกมา 3 ชนิด คือ แกมมา เบตา และแอลฟา โดยเรียงตามขนาดของมวลจากน้อยไปมาก

เริ่มต้นจาก รังสีแกมมา ที่เป็นรังสีจากกลุ่มคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ย่านต่างๆ อาจจะมีตั้งแต่ความถี่สูงอย่าง X-ray จนไปถึงระดับความถี่ต่ำอย่างไมโครเวฟ โดยปกติรังสีเหล่านี้จะไม่ค่อยทำอันตรกิริยา (interaction) กับมวลสารหรือร่างกายของมนุษย์มากนัก แต่หากจำนวนที่ปลดปล่อยออกมานั้นมหาศาล ย่อมต้องมีพลังงานตกค้างจากรังสีแกมมาบนร่างกายมนุษย์บ้าง หากได้รับตรงๆ วิธีการที่จะป้องกันร่างกายเราจากรังสีชนิดนี้คือการหลบอยู่ภายในพื้นที่ที่มีโลหะหนักกำบัง ซึ่งโลหะที่มีความหนาแน่นและกำบังกัมมันตภาพรังสีได้ดีที่สุดคือตะกั่ว อาจจะต้องใช้ตะกั่วที่มีความหนาเป็นเมตรในการกำบังรังสีดังกล่าวที่เกิดจากโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟิชชัน

Godzilla (2014). ภาพจาก: IMDb

รังสีต่อมาที่น่าจะออกมาจากลมหายใจมรณะนั่นคือ รังสีเบตา หรือที่จริงแล้วมันคืออิเล็กตรอนพลังงานสูงที่วิ่งด้วยความเร็วใกล้ความเร็วแสง แม้จะไม่ได้มีอำนาจทะลุทะลวงสูงเหมือนรังสีแกมมา แต่มันสามารถทิ้งพลังงานไว้ที่เนื้อเยื่อร่างกายได้ดีกว่า ทำให้มีความน่ากลัวเช่นกันหากได้รับตรงๆ ซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยแผ่นไม้หนาๆ

รังสีที่สามคือ รังสีแอลฟา หรือเป็นนิวเคลียสของอะตอมฮีเลียม เป็นรังสีที่มีความสามารถในการทะลุทะลวงต่ำที่สุดและมีมวลมากที่สุด เราใช้แผ่นกระดาษ A4 แผ่นเดียวก็สามารถกันได้โดยไม่ต้องกังวลการแพร่กระจายใดๆ อ่านแล้วเหมือนจะอันตรายน้อยสุด แต่หากมันหลุดรอดมาได้ ด้วยความที่มันเป็นอนุภาคใหญ่ที่สุดในกลุ่ม ทำให้พลังงานทั้งหมดจะถูกดูดซับบนร่างกาย และยิ่งร่างกายได้รับพลังงานจากรังสีมากเท่าไหร่ ก็จะทำให้ชิ้นส่วนเนื้อเยื่อบนร่างกายที่ประกอบไปด้วยโปรตีนเป็นหลักเกิดการสลายตัวด้วยกระบวนการโปรตีนเสื่อมสภาพ (protein denaturation) เนื่องจากไม่สามารถคงสภาพหรือรูปร่างเดิมได้ อันเป็นเหตุทำให้เกิดสภาวะอวัยวะหยุดการทำงานและตายลงในที่สุด

Godzilla: King of the Monsters (2019). ภาพจาก: IMDb

ระดับพลังงานรังสีที่ได้กล่าวไป อ้างอิงจากการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ระดับก็อดซิลลาต้องไม่ธรรมดาอยู่แล้ว เพราะสิ่งที่ออกมาจากปากของก็อดซิลลาก็เหมือนกับพลังงานที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ปล่อยออกมากว่าพันปี เพราะด้วยความเข้มและแสงสีฟ้าที่เรามองเห็น นั่นคือการที่รังสีที่ออกมานั้นทำอันตรกิริยากับอากาศโดยรอบ แล้วเกิดการแตกตัวของประจุหรือ ionization นอกจากปลดปล่อยแสงสีฟ้าแล้ว ยังปลดปล่อยรังสีแกมมา เบตา และแอลฟามหาศาลไปยังพื้นที่โดยรอบ นั่นทำให้พื้นที่ที่ได้รับรังสีจะเป็นแหล่งกัมมันตภาพรังสีไปอีกหลายร้อยหลายพันปี ไม่มีสิ่งมีชีวิตไหนสามารถทนกับสภาพแวดล้อมนั้นได้ หรืออาจจะตายแม้เพียงเข้าไปใกล้จากจุดดังกล่าวในรัศมีหลายกิโลเมตรด้วยซ้ำ

ทุกครั้งที่เราเห็นก็อดซิลลาในหนังพ่นรังสีมรณะนั้นออกมา ไม่ใช่แค่สิ่งก่อสร้างจะสลายตัวไปเลย แต่ทำให้บริเวณนั้นอยู่ต่อไม่ได้อีกหลายชั่วคน ซึ่งก็อดซิลลาไม่ใช่สัตว์ที่เป็นมิตรกับสิ่งมีชีวิตอื่นเลย หากพิจารณาตามหลักฟิสิกส์ที่เราประเมินตามที่ได้กล่าวไป ถึงแม้ในหนังบางภาคจะยกให้ตัวละครก็อดซิลลาเป็นเหมือนเป็นผู้พิทักษ์ค่อยปกปักษ์รักษาชีวิตพวกเรา จากสัตว์ประหลาดขนาดใหญ่อื่นๆ โดยการโจมตีด้วยลมหายใจมรณะ แต่นั่นก็ทำให้สิ่งมีชีวิตโดยรอบไม่สามารถดำรงอยู่ได้ในบริเวณเดิมแน่นอน

Godzilla (2014). ภาพจาก: IMDb

เป็นยังไงกันบ้างครับ อ่านกันมาถึงขนาดนี้เริ่มกลัวสิ่งที่ก็อดซิลลาผู้ปกป้องได้ฝากไว้กับลมหายใจมรณะรึยัง คราวหน้าเราจะเขียนหรือพูดถึงอะไรโดยพยายามเอาหลักการทางวิทยาศาสตร์ไปจับบ้าง เตรียมรออ่านกันได้เลย สำหรับวันนี้ขอไปวนดูหนังเรื่องนี้อีกสักรอบแล้วกันนะครับ และขอให้มันเป็นแค่จินตนาการจากหนังดีกว่า เพราะไม่อย่างนั้น เราคงต้องย้ายไปอยู่ดาวดวงใหม่กันจริงๆ

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

 

บทความโดย ดร. ถกล ตั้งผาติ

logoline