svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ชาวบ้านป่าแดง ร่วมใจสานประเพณี "หามพระดำน้ำ" ขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล

07 พฤษภาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ชาวบ้านป่าแดง จ.เพชรบูรณ์ ร่วมใจอัญเชิญ "หลวงพ่อห้ามญาติ" ประกอบพิธี "หามพระดำน้ำ" ประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดกันมานานหลายร้อยปี เพื่อขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล และปกปักรักษาให้อยู่เย็นเป็นสุข พร้อมเปิดเรื่องเล่าต่อกันมา

7 พฤษภาคม 2567 ชาวบ้านป่าแดง ต.ป่าเลา อ.เมืองเพชรบูรณ์ ได้ร่วมกันประกอบพิธีหามพระดำน้ำ ประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดกันมานานหลายร้อยปี ด้วยเชื่อกันว่า เมื่อได้นำพระพุทธรูปที่ชื่อว่า หลวงพ่อพระทอง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อห้ามญาติ ไปดำน้ำแล้ว จะทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล เชื่อว่าจะปกปักรักษาให้ชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน มีน้ำกินน้ำใช้โดยไม่ขาดแคลน โดยพิธีดังกล่าวจะจัดขึ้นในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี

สำหรับปีนี้ตรงกับวันอังคารที่ 7 พฤษภาคม 2567 ชาวบ้านทุกเพศทุกวัย จะพร้อมใจกันแห่หลวงพ่อห้ามญาติ จากวัดโพธิ์กลางไปรอบหมู่บ้าน เพื่อให้ชาวบ้านได้สรงน้ำพระและเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่หมู่บ้าน โดยชาวบ้านแต่ละบ้านจะใช้ภาชนะรองรับน้ำจากการสรงน้ำเพื่อนำไปผสมน้ำอาบและนำไปสาดรอบ ๆ บริเวณบ้าน โดยเชื่อว่าเป็นน้ำพระพุทธมนต์จากหลวงพ่อห้ามญาติ ที่จะช่วยปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกจากบริเวณบ้าน และเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง 
ชาวบ้านป่าแดง ร่วมใจสานประเพณี \"หามพระดำน้ำ\" ขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล
จากนั้น จะแห่ไปบริเวณศาลคุณปู่หลวง-แม่ย่าใหญ่ คุณปู่แข็ง วังสาน ที่อยู่ท้ายหมู่บ้านเพื่อรำถวายจำนวน 3 รอบ เสร็จแล้วก็อัญเชิญหลวงพ่อห้ามญาติ แห่ขึ้นไปยังอ่างเก็บน้ำป่าแดง เพื่อประกอบพิธีดำน้ำ ก่อนที่จะประกอบพิธีผู้สูงอายุในหมู่บ้านได้นำกล่าวขอขมาต่อพระรัตนตรัย และขอขมาต่อองค์หลวงพ่อห้ามญาติ เสร็จแล้วก็หามลงไปบริเวณที่จัดเตรียมไว้โดยหันหน้าไปทางทิศเหนือจากนั้นก็ประกอบพิธีดำน้ำโดยทำทั้งหมด 3 ครั้ง เสร็จแล้วนำขึ้นมาประกอบพิธีเฉลิมฉลองโดยการรำถวายรอบหลวงพ่อห้ามญาติ 3 รอบ 

ชาวบ้านป่าแดง ร่วมใจสานประเพณี \"หามพระดำน้ำ\" ขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล
จากนั้น ก็แห่นำไปประดิษฐานไว้ที่วัดโพธ์กลางป่าแดงเช่นเดิม ซึ่งหลังจากประกอบพิธีหามพระดำน้ำแล้วชาวบ้านที่มาร่วมพิธีก็จะลงไปอาบน้ำบริเวณประกอบพิธีเชื่อว่าเป็นการชำระล้างสิ่งไม่ดีออกจากร่างกาย รวมทั้งเก็บดอกไม้ที่หลุดลอยออกจากหลวงพ่อห้ามญาติขณะประกอบพิธีเพื่อนำไปบูชาเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว 

เปิดเรื่องเล่าต่อกันมา

"หลวงพ่อพระทอง"
หรือ "หลวงพ่อห้ามญาติ" เป็นพระพุทธรูป มีลักษณะปางห้ามญาติ ลักษณะยืน สูงประมาณ 3 ฟุต พระพักตร์อิ่มเอิบ พระกรรณยาว เชื่อกันว่าเป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสัมฤทธิ์ แต่ชาวบ้านได้นำปูนมาโบกไว้และทาสีทอง เนื่องจากเกรงว่าจะถูกโจรลักขโมยไป กลายเป็นชื่อที่เรียกพระพุทธรูปองค์นี้อีกชื่อหนึ่งว่า หลวงพ่อพระทอง 

ซึ่งประเพณีหามพระดำน้ำนี้ชาวบ้านตำบลป่าเลาได้ปฏิบัติสืบต่อกันประมาณหลายร้อยปี มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่าได้มีพระพุทธรูปองค์หนึ่งกำลังดำผุดดำว่ายอยู่ในแม่น้ำป่าสัก หน้าวัดไตรภูมิ ชาวบ้านจึงได้อัญเชิญประดิษฐานไว้ที่วัดไตรภูมิ ต่อมาพบว่าได้มีน้ำไหลออกมาจากพระเนตรของพระพุทธรูป จึงได้มีการเข้าทรงจึงทราบว่าพระพุทธรูปองค์ดังกล่าวต้องการที่จะมาอยู่เหนือน้ำ จึงได้อัญเชิญมาไว้ที่วัดโพธิ์กลาง บ้านป่าแดง ต.ป่าเลา อ.เมืองเพชรบูรณ์ จวบจนทุกวันนี้ 

ชาวบ้านป่าแดง ร่วมใจสานประเพณี \"หามพระดำน้ำ\" ขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล
สะท้อนถึงพลังแห่งศรัทธาของคนในชุมชน

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจมีความสับสน ว่า "ประเพณีหามพระดำน้ำ" เป็นประเพณีเดียวกันกับ "ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ" ประเพณีที่สำคัญและมีชื่อเสียงมากที่สุดประเพณีหนึ่งของ จ.เพชรบูรณ์ หรือไม่

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร คุณธีระวัฒน์ แสนคำ ได้เขียนเกี่ยวกับทั้ง 2 ประเพณี พบว่า แท้จริงแล้วเป็นคนละงานประเพณีกัน อีกทั้งมีการจัดอยู่คนละแห่ง แต่อยู่ในเขต จ.เพชรบูรณ์เหมือนกัน    

นอกจากนี้ ประเพณีหามพระดำน้ำ มีความผูกโยงกับตำนานความเชื่อของคนในท้องถิ่นบ้านป่าแดง ที่กล่าวถึงพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องการลงไปสรงน้ำในแม่น้ำลำคลอง โดยเชื่อกันว่าถ้าปีใหม่ไม่นำองค์พระไปดำน้ำจะทำให้ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล น้ำท่าไม่อุดมสมบูรณ์ พืชผลทางการเกษตรเกิดความเสียหาย และเกิดอาเพศต่าง ๆ นานา

ที่สำคัญอีกอย่าง คือ ประเพณีนี้ ยังสะท้อนถึงพลังแห่งศรัทธาของคนในชุมชนบ้านป่าแดงอีกด้วย

ชาวบ้านป่าแดง ร่วมใจสานประเพณี \"หามพระดำน้ำ\" ขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล
ขอบคุณข้อมูลจาก : 
https://rituals.sac.or.th

logoline