svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

‘ไสยเวทเลือด’ วิทยาศาสตร์อาวุธจากเลือด ใน Jujutsu Kaisen

02 พฤศจิกายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ในมหาเวทย์ผนึกมาร (Jujutsu Kaisen) 'โจโซ' คือผู้ใช้ไสยเวทเลือดที่เข้าต่อสู้กับ อิตาโดริ ยูจิ คอลัมน์ Sci Off Screen ชวนมาวิเคราะห์วิธีควบคุมเลือดของไสยเวทที่ว่าในมุมวิทยาศาสตร์

มหาเวทย์ผนึกมาร หรือ Jujutsu Kaisen (呪術廻戦) เป็นการ์ตูนที่แต่งโดย เกเกะ อากูตามิ (Gege Akutami) ตีพิมพ์ลงในโชเน็นจัมป์รายสัปดาห์ โดยการ์ตูนเรื่องนี้ถูกทำเป็นอนิเมะเมื่อปี 2020 ถือได้ว่าเป็นอนิเมะที่ได้รับความนิยมและเป็นเรือธงยุคใหม่ของโชเน็นจัมป์ โดยภายในเนื้อเรื่องมีการพูดถึงโลกที่ขับเคลื่อนด้วยไสยเวทและการต่อสู้ที่ไร้จุดสิ้นสุดระหว่างเหล่าผู้ใช้คุณไสย เนื้อเรื่องนั้นเล่าผ่าน อิตาโดริ ยูจิ เด็กหนุ่มผู้ที่ต้องมาพัวพันกับโลกคุณไสยเพราะดันไปกลืนนิ้วของราชาคำสาป สุคุนะสองหน้าเข้า

‘ไสยเวทเลือด’ วิทยาศาสตร์อาวุธจากเลือด ใน Jujutsu Kaisen

อนิเมะซีซันล่าสุด พูดถึงอุบัติการณ์ชิบูยะในวันฮัลโลวีน โดยจุดกำเนิดของสงครามครั้งนี้เกิดขึ้นจากเหล่าวิญญาณคำสาปที่ต้องการผนึกอาจารย์ โกะโจ ซาโตรุ ผู้ถือครองพลังไสยเวทไร้ขีดจำกัดและดวงตาริคุกัน ผู้ที่ไม่มีการโจมตีใดสามารถทำอันตรายตัวเขาได้ ซึ่งวัตถุต้องสาปที่ใช้ในการผนึกโกะโจก็คือวัตถุต้องสาปโกคุมงเคียว ซีนนี้ถือเป็นซีนที่สำคัญมากๆ ของซีซันนี้ รวมทั้งเป็นการเปิดตัว เคนจาคุ ผู้ได้ปลูกถ่ายตนแทนที่สมองของเกะโท ซึ่งได้เสียชีวิตไปใน Jujutsu Kaisen 0 โดยหลังจากที่โกะโจโดนผนึก เหล่าผู้ใช้ไสยเวทจากโรงเรียนไสยเวทที่อยู่ในศึกชิบูยะต้องวิ่งวุ่นหาทางปลดผนึกโกะโจ นำไปสู่ศึกมากมายไม่ว่าจะเป็นการปะทะกันของโฮโซงามิหรือเทพไข้ทรพิษ หรือการปะทะกับเหล่านักสาปแช่งที่อาศัยจังหวะนี้ในการก่อความวุ่นวาย แต่ในวันนี้เราจะมาพูดถึงศึกที่เพิ่งจบไปเมื่อไม่นานมานี้อย่าง การต่อสู้ระหว่าง ‘โจโซ’ และอิตาโดริ ยูจิ หนึ่งในตัวเอกของเรื่อง โดยประเด็นในวันนี้คือพลังไสยเวทในการควบคุมเลือดของโจโซะที่ทำให้เลือดแข็งตัวและใช้เป็นอาวุธได้

‘ไสยเวทเลือด’ วิทยาศาสตร์อาวุธจากเลือด ใน Jujutsu Kaisen
 

โจโซหรือพี่ใหญ่ของเหล่า 9 พี่น้องแผนภาพมรณะ ด้านอาจารย์ผู้เขียนได้แรงบันดาลใจมาจากภาพวาดคุโซซุ (九相図 / Kusōzu) หรือ 9 ระยะ ซึ่งเป็นภาพวาดที่แสดงให้เห็นถึงระยะทั้ง 9 ของการเสียชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่ตายใหม่ๆ ไปจนถึงเหลือแต่เถ้ากระดูก โดย 9 พี่น้องแผนภาพมรณะเคยปรากฎตัวมาแล้วสองคนคือ เอโซ และเคจิซุ ซึ่งปรากฎตัวมาในซีซันที่ 1 และถูกอิตาโดริ ยูจิ ปัดเป่าไป โดยพลังของพี่น้องแผนภาพมรณะคือไสยเวทในการควบคุมเลือด โดยจะมีเพียงโจโซคนเดียวที่มีพลังในการทำให้เลือดแข็งตัวและใช้เป็นอาวุธในการต่อสู้

ภาพวาดคุโซซุ

ในฉากการต่อสู้ เราจะเห็นโจโซปล่อยเลือดให้พุ่งไปคล้ายกับหอกด้วยความเร็วสูงที่หมายจะเอาชีวิตอิตาโดริ ยูจิ หรือที่เรียกว่า ‘เจาะโลหิต’ ซึ่งทักษะในการยิงเลือดออกมาจากร่างกายนี้มีความคล้ายคลึงกับการยิงเลือดออกมาจากดวงตา (autohaemorrhaging) ของกิ้งก่าหนาม (Phrynosomatidae family) ซึ่งทักษะการฉีดเลือดออกมาจากดวงตานี้ กิ้งก่าหนามใช้มันเพื่อหลบหนีผู้ล่า โดยภายในเลือดของพวกมันจะมีสารซึ่งก่อความรำคาญและมีกลิ่นเหม็น ทำให้พวกมันมีโอกาสที่จะวิ่งหนีผู้ล่าไปอย่างรวดเร็ว พวกมันสามารถยิงเลือดออกจากดวงตาได้ไกลถึง 1.5 เมตร โดยสามารถพ่นเลือดได้เนื่องจากกลไกควบคุมกล้ามเนื้อหลอดเลือดดำ ควบคุมให้หลอดเลือดดำบริเวณดวงตาปิด ทำให้เกิดความดันในกระโหลกที่เปลี่ยนไป จนดวงตาทั้งสองข้างโป่งพอง เลือดในหลอดเลือดแดงฝอยจึงไปรวมตัวกันให้เกิดความดันมากพอที่จะพุ่งออกจากดวงตาทั้งสองข้าง โดยในสองนาทีพวกมันสามารถพ่นเลือดได้ถึง 54 ครั้ง โดยไม่จำเป็นต้องกังวลว่าเลือดจะหมดก่อน เนื่องจากพวกมันสามารถผลิตเลือดทดแทนได้ในทันที นอกจากนี้เลือดที่พ่นออกจากดวงตาของพวกมันจะส่งผลเฉพาะกับผู้ล่าในกลุ่มหมา (Canis) และแมว (Felis) เท่านั้น ไม่ได้มีผลในผู้ล่ากลุ่มนก
กิ้งก่าหนาม

ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่าสารเคมีในเลือดที่พ่นออกจากดวงตานี้ถูกเติมจากบริเวณต่อมไซนัส ก่อนที่ต่อมางานวิจัยใหม่ๆ จะเปิดเผยว่าสารข้างต้นปะปนอยู่ในเลือดที่ไหลอยู่ในร่างกายของกิ้งก่าหนามอยู่แล้ว โดยพวกมันได้รับสารเคมีนี้จากการกินมดเก็บเกี่ยว ซึ่งเก็บสะสมสารพิษข้างต้นไว้ในร่างกาย

ไสยเวทโลหิตคือทักษะด้านคุณไสยของเหล่า 9 พี่น้องแผนภาพมรณะในการควบคุมหรือบงการเลือดของตัวเองได้เช่นกัน โดยในเหล่าพี่น้องทั้ง 9 มีเพียงโจโซคนเดียวที่สามารถดึงประสิทธิภาพของไสยเวทโลหิตได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ นั่นคือการควบคุมการแข็งตัวของเลือดเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการต่อสู้ เช่น การสร้างหอกโลหิตที่พุ่งไปด้วยความเร็วสูง สร้างคมมีดจากเลือดในการตัดสิ่งของหรือตัดร่างของคู่ต่อสู้ การใช้เลือดห่อหุ้มหมัดเพื่อเสริมความแข็งแกร่ง การกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดเพื่อเพิ่มศักยภาพในการต่อสู้ รวมถึงการใช้เลือดที่แข็งตัวเป็นอาวุธสำหรับขว้างปา

อย่างไรก็ตามไสยเวทโลหิตนี้เองก็มีข้อจำกัดที่สำคัญ นั่นคือผู้ใช้ไสยเวทไม่สามารถสูญเสียเลือดได้มากกว่า 40% ของปริมาณเลือดทั้งหมด เพื่อป้องกันอาการช็อกจากการสูญเสียเลือด (hypovolemic shock) โดยอาการช็อกจากการสูญเสียเลือดนั้นเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้ เช่น ภาวะขาดน้ำ ภาวะเนื้อตาย (gangrene) ภาวะกรดจากกระบวนการเผาผลาญ (metabolic acidosis)  และภาวะพร่องออกซิเจน (hypoxia) ซึ่งวิธีในการป้องกันภาวะช็อกจากการสูญเสียเลือดคือกลไกที่เรียกว่ากระบวนการแข็งตัวของเลือด (blood coagulation)

กระบวนการแข็งตัวของเลือด

กระบวนการแข็งตัวของเลือดนั้นประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก 3 องค์ประกอบ คือหลอดเลือด (blood vessel) เกล็ดเลือด (platelet) และปัจจัยในการแข็งตัวของเลือด (coagulation factor) เมื่อเกิดบาดแผลซึ่งทำให้หลอดเลือดเกิดการฉีกขาด จะเกิดการหดตัวของหลอดเลือดเพื่อลดอัตราการไหลของเลือด พร้อมกับกระตุ้นการห้ามเลือดขั้นปฐมภูมิ (primary hemostasis) โดยเกล็ดเลือดที่เดิมเคยแยกตัวออกจากกันจะเริ่มจับกันเป็นก้อนเรียกว่า platelet adhesion และ platelet aggregation ซึ่งทำหน้าที่อุดรอยรั่วของผนังหลอดเลือดที่เสียหาย

ต่อมาจะมีการกระตุ้นให้เกิดการห้ามเลือดขั้นทุติยภูมิ (secondary hemostasis) เนื่องจากลิ่มเลือดที่สร้างขึ้นในการห้ามเลือดปฐมภูมินั้นไม่แข็งแรง สามารถหลุดออกได้ง่าย ในขั้นทุติยภูมินี้จึงมีการกระตุ้นปัจจัยการแข็งตัวของเลือดเพิ่มเติมเป็นลำดับขั้น และเปลี่ยนสภาวะ zymogen ซึ่งยังไม่พร้อมทำงาน (inactive) ให้เข้าสู่สภาวะพร้อมใช้งาน (Aative) ที่มีฤทธิ์ในการตัดพันธะของซีรีน (serine) เพื่อเป็นปัจจัยการแข็งตัวตัวต่อไป โดยกระบวนการกระตุ้นการทำงานของปัจจัยการแข็งตัวให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานนี้เรียกว่า proteolytic cleavage โดยปัจจัยการแข็งตัวบางครั้งนอกจากทำหน้าที่ตัดซีรีน แล้วยังทำหน้าที่เป็นโคแฟกเตอร์ (cofactor) ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการแข็งตัวได้อีกด้วย ซึ่งผลลัพธ์สุดท้ายของกระบวนการคือการเปลี่ยนฟิบริโนเจน (fibrinogen) ให้เป็นฟิบริน (fibrin)  ซึ่งจะเกิดการจับตัวกันเป็นโพลิเมอร์ (polymerized) คล้ายร่างแหที่รวบรวมเกล็ดเลือดและเม็ดเลือดแดงให้กลายเป็นลิ่มเลือดขนาดใหญ่เพื่อปิดรอยรั่วของผนังหลอดเลือด

‘ไสยเวทเลือด’ วิทยาศาสตร์อาวุธจากเลือด ใน Jujutsu Kaisen

โดยในอนิเมะเราจะเห็นว่าโจโซนอกจากสามารถทำให้เลือดแข็งตัวได้แล้ว เขาสามารถทำให้เลือดกลับสู่สภาพเดิมที่เป็นของเหลวและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการยังยั้งการแข็งตัวของเลือดผ่านกลไกสองกลไกคือ anticoagulation และ fibrinolysis ซึ่งจะเกิดขึ้นในยามปกติที่ไม่มีความเสียหายของหลอดเลือด โดย anticoagulation เกิดจากการหลั่งสารยับยั้งการจับตัวของลิ่มเลือดโดยมีเป้าหมายที่การตัดพันธะของเกล็ดเลือด ส่วน fibrinolysis นั้นเกิดจากการหลั่งตัวกระตุ้นพลาสมิโนเจน (plasminogen) ที่ไม่พร้อมใช้งานให้อยู่ในรูปพลาสมิน (plasmin) ที่พร้อมใช้งานเพื่อทำหน้าที่ย่อยสลายเส้นใยฟิบริน ทำให้ลิ่มเลือดไม่สามารถเกาะเป็นก้อนใยได้ เนื่องจากไม่มีร่างแหของฟิบรินเกิดขึ้นในบริเวณนั้น

‘ไสยเวทเลือด’ วิทยาศาสตร์อาวุธจากเลือด ใน Jujutsu Kaisen

ถ้าให้เข้าใจง่าย ไสยเวทโลหิตของโจโซคือการควบคุมสมดุลระหว่างกระบวนการสร้างลิ่มเลือดและเส้นใยฟิบริน ซึ่งถูกปล่อยออกมานอกร่างกาย รวมถึงกระบวนการยับยั้งการสร้างลิ่มเลือดและสลายเส้นใยฟิบริน ถ้าหากเรานำกล้องจับภาพความเร็วสูงถ่ายภาพในขณะต่อสู้แล้วเอามาซูมในระดับเดียวกันกับกล้องจุลทรรศน์ เราจะพบกับร่างแหของเส้นใยและลิ่มเลือดจำนวนมหาศาลที่วิ่งวนไปมาตามการควบคุมของโจโซ และถ้าเราผ่าชั้นของลิ่มเลือดหนานี้เข้าไปอีก เราจะพบกับกระแสเลือดที่ไหลกันอย่างยุ่งเหยิงภายในลิ่มเลือดนั้น

ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการต่อสู้ อิตาโดริ ยูจิ ได้หลอกล่อให้โจโซเข้าไปในห้องน้ำที่เต็มไปด้วยความชื้นเนื่องจากท่อน้ำที่แตกเป็นจำนวนมาก ซึ่งน้ำจะส่งผลทำให้ไสยเวทของโจโซไม่สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากไม่สามารถบีบอัดโลหิตได้ ทำให้เสียสภาพการแข็งตัวของเลือด นอกจากนี้เสียงผู้บรรยายการต่อสู้ได้พูดถึงสภาวะที่เม็ดเลือดเมื่ออยู่ในน้ำ แรงดันออสโมซิสของเม็ดเลือดแดงทำให้เซลล์บวมเต่งจนเยื่อหุ้มเซลล์แตก

‘ไสยเวทเลือด’ วิทยาศาสตร์อาวุธจากเลือด ใน Jujutsu Kaisen

เจ้าแรงดันออสโมซิสซึ่งเป็นหัวใจหลักในการต้อนโจโซให้ต้องจนมุม และไม่สามารถใช้ท่าโจมตีด้วยความเร็วสูงอย่างเจาะโลหิตได้ มันคืออะไรกันแน่?

เมื่อตอนเราเป็นเด็กเราน่าจะรู้จักกับการเคลื่อนที่ของสารในสารละลายที่มีความเข้มข้นต่างกัน โดยเราเรียกการเคลื่อนที่นี้ว่าการแพร่ ซึ่งการแพร่ถูกใช้ในหลายๆ บริบทซึ่งเป็นกลไกหลักของร่างกายในการนำเข้าและส่งออกสารผ่านหลอดเลือด รวมทั้งการขับถ่ายของเสียในหน่วยไตและถุงลมปอด แต่สำหรับน้ำแล้ว การแพร่ของน้ำกลับมีความพิเศษที่มากกว่าสารอื่น เพราะว่าเราตั้งชื่อการแพร่ของน้ำด้วยชื่อเฉพาะที่เรียกว่า ‘ออสโมซิส’ โดยออสโมซิสจะเกิดขึ้นเมื่อสารสองฝั่งของเยื่อเลือกผ่านมีความเข้มข้นที่ต่างกัน โดยน้ำจะออสโมซิสจากความเข้มข้นน้อยไปความเข้มข้นมาก (จากที่ที่มีน้ำมากไปน้ำน้อย) โดยความแตกต่างของความเข้มข้นทั้งสองบริเวณนี้ทำให้เกิดแรงดันออสโมซิสที่ไม่เท่ากัน โดยออสโมซิสจะหยุดลงก็ต่อเมื่อแรงดันออสโมซิสของทั้งสองบริเวณมีความเท่ากัน

ดังนั้นเองหากเรานำเยื่อเลือกผ่านที่บรรจุสารละลายความเข้มข้น x หน่วยลงไปในบีกเกอร์สามใบที่บรรจุสารละลายความเข้มข้น x-1, x, x+1 หน่วยเป็นเวลา t หน่วย แล้วค่อยนำเยื่อเลือกผ่านขึ้นมาจากบีกเกอร์ เราจะพบว่าในบีกเกอร์ x-1 เยื่อเลือกผ่านจะดูเหี่ยวลงกว่าปกติ ในขณะที่ในความเข้มข้น x+1 เยื่อเลือกผ่านจะดูเต่งตึงกว่าปกติ ส่วนที่ในความเข้มข้น x จะไม่เกิดความเปลี่ยนแปลง ความแตกต่างของเยื่อเลือกผ่านทำให้เราแบ่งสารละลายทั้งสามบีกเกอร์ได้เป็นสามประเภทเมื่อเทียบกับความเข้มข้นในเยื่อเลือกผ่านที่เราสนใจคือ

  1. สารละลายที่มีความเข้มข้นเท่ากับความเข้มข้นในเยื่อเลือกผ่าน (isotonic solution)
  2. สารละลายที่มีความเข้มข้นน้อยกว่าความความเข้มข้นในเยื่อเลือกผ่าน (hypotonic solution)
  3. สารละลายที่มีความเข้มข้นมากกว่าความความเข้มข้นในเยื่อเลือกผ่าน (hypertonic solution)

‘ไสยเวทเลือด’ วิทยาศาสตร์อาวุธจากเลือด ใน Jujutsu Kaisen

ในเลือดของมนุษย์ประกอบไปด้วยเม็ดเลือดแดงและพลาสมา ซึ่งประกอบไปด้วยน้ำ สารอินทรีย์ และฮอร์โมนต่างๆ โดยผนังเม็ดลือดแดงเปรียบเสมือนกับเยื่อเลือกผ่านที่มีความเข้มข้นของสารเท่ากันกับพลาสมา ดังนั้นในทันทีที่มีน้ำจำนวนมหาศาลถูกปล่อยเข้าสู่พลาสมา ย่อมทำให้ความเข้มข้นของสารในพลาสมาเปลี่ยนไป ทำให้เม็ดเลือดแดงเหมือนลอยอยู่ในสารละลาย hypertonic solution ทำให้น้ำจากภายนอกเซลล์ไหลทะลักเข้าสู่ภายในเซลล์คล้ายกับลูกโป่งน้ำที่ใส่น้ำอยู่เต็มลูก แต่ต่อให้น้ำที่ไหลทะลักผ่านเยื่อหุ้มเซลล์นี้จะค่อย ๆ ปรับความเข้มข้นให้เข้าสู่จุดสมดุลหรือ isotonic solution เซลล์เม็ดเลือดแดงก็ไม่สามารถรองรับน้ำที่ไหลเข้ามาเพิ่มได้อีกทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงนี้แตกและสูญเสียสภาพการเกาะกลายเป็นลิ่มเลือดในที่สุด เหมือนกับน้ำที่ทำให้โจโซะไม่สามารถควบคุมเม็ดเลือดแดงให้มาเกาะตัวเป็นลิ่มเลือดได้

เป็นที่ทราบกันดี ถึงแม้ศึกนี้ อิตาโดริ ยูจิ จะพ่ายแพ้เพราะประสบการณ์ในการต่อสู้ที่น้อยกว่าโจโซะ แต่เมื่อโจโซะได้เห็นเลือดของยูจิก็ตื่นรู้ และเห็นนิมิตว่ายูจิคือน้องชายคนเล็กสุด ซึ่งมีความเกี่ยวข้องทางคุณไสย จึงไม่ได้ฆ่ายูจิในการต่อสู้ครั้งนี้ ซึ่งสิ่งนั้นนำไปสู่เหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงทิศทางของโลกไสยเวทไปตลอดกาล

หากใครสนใจเรื่องราวต่อไปของโลกไสยเวท สามารถติดตามดูการ์ตูน Jujutsu Kaisen ต่อได้ทุกช่องทางถูกลิขสิทธิ์ แต่ถ้าอยากรู้เรื่องความรู้เกี่ยวกับเลือด และข้อมูลวิทยาศาสตร์เรื่องอื่นเพิ่มเติม สามารถติดตามได้ที่ Nation Online และเพจ The Principia ในทุกช่องทางออนไลน์ แล้วเจอกันในบทความหน้านะ

‘ไสยเวทเลือด’ วิทยาศาสตร์อาวุธจากเลือด ใน Jujutsu Kaisen

 


ข้อมูลอ้างอิง

 

บทความโดย พีรวุฒิ บุญสัตย์

logoline