svasdssvasds
เนชั่นทีวี

กีฬา

"ฝรั่งเศส vs โมร็อกโก" จากการต่อสู้ทางการเมืองสู่เวทีฟุตบอลโลก

14 ธันวาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ฟุตบอลโลกรอบตัดเชือกคืนนี้ ฝรั่งเศส จะพบกับ โมร็อกโก ซึงนอกจากจะมีการเข้ารอบชิงเป็นเดิมพันแล้ว ยังเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีที่มีประวัติศาสตร์ความขัดแย้งมายาวนาน โดยเฉพาะเรื่องเชื้อชาติและการเมือง

ฟุตบอลโลก 2022 รอบรองชนะเลิศคืนนี้ แชมป์เก่า "ตราไก่" ทีมชาติฝรั่งเศส จะลงสนามพบกับ "สิงโตแอตลาส" ทีมชาติโมร็อกโก ที่สร้างประวัติศาสตร์เป็นชาติแรกจากทวีปแอฟริกาที่เข้ามาถึงรอบนี้ ในเวลา 02.00 น.

การเผชิญหน้ากันระหว่างโมร็อกโกและฝรั่งเศส ถือเป็นเกมแห่งศักดิ์ศรีที่มีมากกว่าแค่ฟุตบอล แต่เป็นการรื้อฟื้นบาดแผลจากยุคอาณานิคม และจุดประกายการถกเถียงเรื่องอัตลักษณ์ เชื้อชาติ และศาสนา

โมร็อกโก ดินแดนทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกา มีความเกี่ยวพันกับชาติยุโรปมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 โดยตกเป็นอาณานิคมของ สเปน และฝรั่งเศส ก่อนจะได้รับเอกราชในปี 1956

เส้นทางการตกเป็นอาณานิคม และการได้รับเอกราชของโมร็อกโก

  • 1860-1884: สเปนประกาศสงครามกับโมร็อกโก ก่อนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนชายฝั่งตอนเหนือ
  • 1904-1906: ฝรั่งเศสบุกท่าเรือโมร็อกโกเป็นครั้งแรกและเริ่มเก็บภาษี ก่อนที่การเจรจาและทำสนธิสัญญาในสเปนจะทำให้การมีอำนาจของฝรั่งเศสในภูมิภาคนี้ถูกยอมรับอย่างเป็นทางการ
  • 1912: โมร็อกโกกลายเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสหลังจากสนธิสัญญาเฟส ในขณะที่สเปนยังคงควบคุมสองภูมิภาคทางตอนเหนือ
  • 1921-1923: ขบวนการเรียกร้องเอกราชของชาวเบอร์เบอร์สามารถจัดตั้งสาธารณรัฐในเทือกเขาริฟ ก่อนที่จะพ่ายแพ้โดยกองกำลังผสมของสเปนและฝรั่งเศสในปี 1926
  • 1943: พรรค "อิสติกลัล" ในโมร็อโก ก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อเรียกร้องเอกราช โดยได้รับทุนบางส่วนจากสหรัฐฯ และเริ่มล้มล้างการปกครองของฝรั่งเศสอย่างแข็งขัน
  • 1953: ฝรั่งเศส เนรเทศสุลต่านโมฮัมเหม็ดที่ 5 ไปยังมาดากัสการ์ ทำให้เกิดความไม่สงบทั่วประเทศ กระทั่งฝรั่งเศสอนุญาตให้สุลต่านโมฮัมเหม็ดที่ 5 กลับมาในปี 1955 นำไปสู่การปูทางสู่เอกราช
  • 1956: โมร็อกโกประกาศอิสรภาพอย่างเป็นทางการเมื่อฝรั่งเศสยอมสละสถานะดินแดนในอารักขา

โมร็อกโกสมัยตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสและสเปน

 

ด้วยการตกเป็นอาณานิคมของสองชาติยุโรปโดยเฉพาะฝรั่งเศส ทำให้การเผชิญหน้าระหว่างฝรั่งเศสและโมร็อกโกในคืนนี้จะเป็นมากกว่าแค่ฟุตบอล ตั้งแต่ความสัมพันธ์ในยุคอาณานิคมในอดีตไปจนถึงกระแสการอพยพของชาวแอฟริกาเหนือที่หลั่งไหลเข้าไปอยู่ในยุโรป โดยชาวโมร็อกโกจำนวนมากอพยพไปทำงานในโรงงานของฝรั่งเศสในช่วงทศวรรษ 1960-70 และปัจจุบันมีชาวโมร็อกโกในฝรั่งเศสมากถึง 1.5 ล้านคน โดยครึ่งหนึ่งมี 2 สัญชาติ ซึ่งการผสมผสานกันระหว่างคนสองชาตินี้ทำให้สมาชิกในทีมฟุตบอลของทั้งสองประเทศ มีทั้งนักเตะทีมชาติฝรั่งเศสเชื้อสายโมร็อกโก และทีมชาติโมร็อกโกเชื้อสายฝรั่งเศส

ในวันที่ทีมชาติฝรั่งเศสคว้าแชมป์โลก ทั้งในปี 1998 และ 2018 ชาวโมร็อกโกจำนวนมากมองว่านั่นคือความสำเร็จของชาวแอฟริกา เพราะทัพนักเตะ "ตราไก่" เต็มไปด้วยนักฟุตบอลเชื้อสายแอฟริกันที่ถูกดึงตัวไปด้วยแรงจูงใจด้านความสำเร็จในอาชีพ ทำให้เกมในคืนนี้ ชาวโมร็อกโกมองว่า หากทีมของพวกเขาเอาชนะได้ก็จะเป็นการเรียกศักดิ์ศรีของชาติแอฟริกันที่ถูกกดขี่ในศตวรรษก่อนกลับมา

“เชิงสัญลักษณ์ มันจะเรียกศักดิ์ศรีของประเทศและของประชาชนที่ถูกกดขี่โดยอำนาจอาณานิคมกลับคืนมา” อานาส ดาอิฟ ผู้สื่อข่าวที่เป็นหนึ่งในชาวโมร็อกโกที่เกิดในฝรั่งเศส กล่าว

\"ฝรั่งเศส vs โมร็อกโก\" จากการต่อสู้ทางการเมืองสู่เวทีฟุตบอลโลก

ที่ผ่านมา ชาวโมร็อกโกมองว่าพวกเขาเปรียบเสมือนเป็นพลเมืองชั้นสองของฝรั่งเศส ถูกกีดกันในหลายด้าน ทั้งการเหยียดผิว การใช้ความรุนแรงเกินจำเป็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เช่นเดียวกับทางฝั่งของพรรคการเมืองบางส่วนของฝรั่งเศสที่มองว่าการหลั่งไหลเข้ามาของชาวโมร็อกโกกลายเป็นการมาแย่งงานของประชาชนในประเทศ

และนั่นก็ทำให้เกมวันนี้เกิดความหวั่นเกรงว่าจะเกิดความรุนแรงขึ้นไม่น้อย

เชรัลด์ ดาร์มาแน็ง รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของฝรั่งเศส เผยว่าได้เตรียมเจ้าหน้าที่ตำรวจ 10,000 นายคอยประจำการเตรียมพร้อมทั่วประเทศ โดยครึ่งหนึ่งจะอยู่ในเขตกรุงปารีสในวันที่มีการแข่งขัน เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ทั้งก่อนเกม ระหว่างเกม และหลังเกม

\"ฝรั่งเศส vs โมร็อกโก\" จากการต่อสู้ทางการเมืองสู่เวทีฟุตบอลโลก

logoline