svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

รัฐไทยต้องคิดให้ดีก่อนส่งทหารเมียนมาพ่ายศึกกลับประเทศ

08 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"เมียนมา" พ่ายกะเหรี่ยงเคเอ็นยู-พีดีเอฟ โดยยึดเมืองเมียวดี จนทหารต้องขอลี้ภัยเข้าไทย ขณะที่ "กัณวีร์" เตือนรัฐบาลไทยตัดสินใจให้ดีในการส่งเชลยศึกกลับ

KEY

POINTS

  • ทหารเมียนมาขอลี้ภัยเข้าไทยหลังเมียวดีถูกตีแตก
  • "กัณวีร์" แนะรัฐบาลคิดให้ดีก่อนดำเนินการส่งตัวเชลยศึกและต้องยึดหลักสิทธิมนุษยชน
  • เตือนไทยอย่าตกเป็นเครื่องมือ-ชี้ถ้าดำเนินคดีทหารเมียนมาต้องแยกออกเป็น 2 เรื่อง
  • "รมช.ต่างประเทศ" ยันเครื่องบินลงแม่สอดเป็นเรื่องทางการทูตปัดเอี่ยวขนทหาร

 

 

 

8 เมษายน 2567 จากสถานการณ์การสู้รบกันระหว่างทหารเมียนมา กับฝ่ายต่อต้านที่มีทหารสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) และกองกำลังปกป้องประชาชน (พีดีเอฟ) โดยมีรายงานว่า สามารถเข้ายึดกองบังคับการยุทธวิธีของทหารเมียนมา ที่บ้านปางกาน จ.เมียวดี ตรงข้าม ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก

ทหารเมียนมาขอลี้ภัยในไทยหลังเมียวดีถูกยึด

ขณะเดียวกัน ยังสามารถบุกพื้นที่กองพันที่ 275 เมียวดี ซึ่งเป็นค่ายทหารใหญ่ที่สุด ซึ่งตั้งอยู่ในตัวเมืองเมียวดีได้ ทำให้ฝ่ายต่อต้านควบคุมพื้นที่ จ.เมียวดี ได้ทั้งหมด ส่งผลให้ข้าราชการในสังกัดสภาบริหารทหารเมียนมา เช่น ศุลกากร ตรวจคนเข้าเมือง จ.เมียวดี และหน่วยงานต่างๆ ต้องถอนตัวออกจากตัวเมียวดี และถูกถูกอพยพไปกอกาเร็ก ในเขตปกครองของ พันเอกหม่องชิตู

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่ารัฐบาลเมียนมาใช้ช่องทางกระทรวงต่างประเทศ ประสานมายังรัฐบาลไทย เพื่อขอให้เครื่องบินทหารเมียนมา ATR72-600 ลงจอดที่ ท่าอากาศยาน อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อขอลี้ภัยให้กับข้าราชการ ได้แก่ ตม. ตำรวจ เจ้าหน้าที่ทำงานในศาลากลาง และ ส่วนราชการอื่นๆ เบื้องต้นทั้งหมดมารอสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา เข้ามาฝั่งไทย
 

เตือนรัฐไทยคิดให้ดีก่อนส่งกลับ

ขณะที่ "นายกัณวีร์ สืบแสง" สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเมียนมา ทำหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศไทย ขอส่งกลับทหารเมียนมาและครอบครัว 617 คน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การสู้รบในเมืองเมียวดี กลับทางสนามบินแม่สอด จ.ตาก โดยไทยต้องตัดสินใจอย่างระมัดระวังที่จะเปิดสนามบินแม่สอด ส่งกลับทหารเมียนมาที่แพ้สงคราม

กัณวีร์ สืบแสง

ควรดำเนินการยึดหลักมนุษยธรรม

ทั้งนี้ แม้ทำได้ตามหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ IHL แต่อาจส่งผลให้เกิดความรุนแรง และการอพยพของผู้ลี้ภัยจากเมียวดี เพราะสถานการณ์ที่อ่อนไหวบริเวณชายแดน จากกรณีทหารเมียนมาขอให้ส่งเชลยศึกและครอบครัว จำนวน 617 คน ที่แพ้สงครามกับกองกำลังชาติพันธ์ุติดอาวุธบริเวณเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง เมียนมา กลับพื้นที่ส่วนกลางเมียนมา ที่เป็นพื้นที่การดูแลของทหารเมียนมา โดยผ่านการใช้ท่าอากาศยานนานาชาติแม่สอด จ.ตากนั้น ซึ่งไทยสามารถพิจารณาปรับใช้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ กับการร้องขอส่งกลับเชลยศึกเมียนมาผ่านพรมแดนไทย 

 

"หลายคนถามว่าทำได้มั้ย และควรจะเป็นอย่างไร ถึงแม้ผมยังไม่ได้ทำงานเต็มร้อยในกรรมาธิการของสหภาพรัฐสภาโลก ด้านการส่งเสริมการเคารพกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ แต่ขออนุญาตให้ความเห็นตรงนี้ว่า ตามกฎหมายด้านนี้ทำได้เพราะเจตนารมย์ของกฎหมายก็เพื่อให้ความคุ้มครองต่อเชลยศึก (Prisoners of War-POWs) ให้ถูกละเมิดน้อยที่สุดและให้การละเมิดจบโดยเร็วที่สุด โดยการที่กำหนดว่าหลังการปะทะและสงครามเสร็จสิ้นแล้ว สมควรจะต้องส่งกลับเชลยศึกโดยเร็วที่สุด โดยปราศจากความล่าช้าทุกประการ คือ เราควรเห็นว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่สำคัญตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่ต้องปรับใช้ในยามสงคราม" นายกัณวีร์ กล่าว 

 

ควรให้ประเทศเป็นกลางเข้ามาดูแล

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ายังมีข้อกังวลอีกมาก หากไทยอนุญาต แต่ตามกรอบกฎหมายระหว่างประเทศด้านมนุษยธรรมสามารถทำได้ ทั้งการถูกมอบอำนาจ โดย "ฝ่ายที่ชนะ" และการเป็น "ประเทศที่เป็นกลาง" ในการดูแลและการส่งกลับเชลยศึก กฎหมายนี้จะใช้เฉพาะเมื่อสงครามเกิดทั้งสงครามระหว่างประเทศ (international armed conflicts) และสงครามที่ไม่ใช่ระหว่างประเทศ (Non-international armed conflicts) เพียงเท่านั้น

 

"หากไทยถูกร้องขอให้ช่วยในฐานะประเทศที่เป็นกลาง (neutral country) เราก็ควรทำให้เป็นไปตามเจตจำนงและเจตารมณ์แห่งกฎหมายระหว่างประเทศฉบับนี้เสีย และที่สำคัญที่สุดเชลยศึกผู้ถูกส่งกลับแล้ว ต้องไม่กลับไปเป็นกองกำลังอีก นี่คือหลักการที่สำคัญของกฎหมายนี้" นายกัณวีร์ ระบุ

แยก 2 เรื่องดำเนินคดีกับทหารพ่ายศึก

ส่วนข้อกังวลที่ว่าทหารพ่ายศึกจะถูกดำเนินคดีใด ๆ หรือไม่ ต้องแยกออกเป็น 2 เรื่อง คือ

  1. ระเบียบปฏิบัติและกฎหมายภายในกองทัพเมียนมา ก็ว่ากันไปตามกฎและระเบียบภายใน ซึ่งใครก็คงไม่สามารถไปแทรกแซงได้
  2. ในขณะที่ไทยต้องรับผิดชอบดูแลเชลยศึกใดๆ ก็ตาม หากมีข้อกังวลอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นกับตัวเชลยศึกเอง และเป็นการร้องขอใดๆ ตามหลักการร้องขอด้านมนุษยธรรม ไทยก็มีสิทธิเด็ดขาดในการพิจารณาตามหลักการของไทยและรวมถึงจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่ทุกประเทศต้องปฏิบัติตาม โดยเฉพาะเรื่องหลักการไม่ส่งกลับ (non-refouelment) ซึ่งก็คงต้องว่าไปเป็นรายกรณี

ไทยทำ รปจ. รับมือ-อย่าตกเป็นเครื่องมือ

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นอีก จึงขอเสนอให้ไทยทำระเบียบปฏิบัติประจำ (รปจ.) หรือ standard operating procedures (SOPs) ด้านนี้รอไว้ได้เลย แต่ก็ตามต้องคอยดูสถานการณ์ดี และต้องระมัดระวังไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือต่อการสนับสนุนให้เกิดความรุนแรงด้วย และเป็นเรื่องที่ไทยจะต้องเตรียมตัวรับมือ

 

"นี่จึงเป็นการตัดสินใจที่ยากสำหรับรัฐบาลไทย และต้องระมัดระวังไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือต่อการสนับสนุนให้เกิดความรุนแรงด้วย และเป็นเรื่องที่ไทย จะต้องเตรียมตัวรับมือ นอกจากมีผู้ลี้ภัยที่อยู่ประชิดชายแดนกว่า 6 แสนคนแล้ว สถานการณ์ในเมียวดี จะกระทบโดยตรงกับไทย ซึ่งน่าเสียดายที่ข้อเสนอการเปิด Safety Zone ระยะ 5 กิโลเมตร ชายแดนเมียนมา ยังไม่เกิดขึ้น แต่ก็อยากให้ผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เช่นเดียวกับ ระเบียงมนุษยธรรม และระเบียงสันติภาพ ที่ต้องเริ่มทำได้แล้ว" นายกัณวีร์ กล่าว 
 

ทหารเมียนมายังไม่ถูกส่งตัว

นอกจากนี้ เมื่อเวลา 21.30 น. ของวันที่ 7 เม.ย. ที่ท่าอากาศยานนานาชาติแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก เครื่องบินโดยสารแบบเหมาลำ Atr 72-600 Myan Ma Airlines ได้บินมารับทหารเมียนมาที่ชายแดนไทย- เมียนมา ด้าน อ.แม่สอด เพื่อเดินทางกลับไปยังเมียนมา หลังนายทหารเมียนมาทั้งหมดยอมมอบตัวกับ เคเอ็นยู และ พีดีเอฟ หลังฝ่ายต่อต้านได้ยึดค่ายทหาร กรมทหารราบ และที่ตั้งกองบังคับการยุทธวิธี ในพื้นที่บ้านปางกาน บ้านผาลู และในเขตเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมา ตรงข้ามตำบลท่าสายลวด อ.แม่สอด

ซึ่งเครื่องบินได้วางแผนจะรับทหารชุดแรกประมาณ 20 คน ตั้งแต่ระดับยศพลจัตวา พันเอก พันโท และพันตรี พร้อมครอบครัว ประมาณ 20 คน โดยเครื่องบินได้บินมาลงรอที่ท่าอากาศยานแม่สอดประมาณ เกือบ 1 ชั่วโมง แต่คณะนายทหารเมียนมาไม่ได้เดินทางมา จึงบินกลับไปประเทศทันที เนื่องจากทหารเคเอ็นยู และฝ่ายต่อต้านไม่ยอมปล่อย

สำหรับบรรยากาศสนามบินเมื่อช่วงค่ำที่ผ่านมา มีเพียงเจ้าหน้าท่าอากาศยาน ไปรอช่วยกันปฏิบัติหน้าที่ เพื่อดำเนินการจัดการในท่าอากาศยาน พร้อมทั้งไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปในท่าอากาศยานได้ เนื่องจากได้ปิดประตูด้านหน้าไว้

รัฐเมียนมาส่งทหารกลับ 7-9 เม.ย.นี้

ส่วนทหารเมียนมาและครอบครัวที่จะเดินทางกลับไปยังเมียนมามีทั้งหมด 617 คน แยกเป็น

  • นายทหาร 67 นาย
  • ทหารชั้นประทวน 410 คน
  • ทหารหญิง 56 คน ครอบครัว 81 คน 


โดยทางรัฐบาลทหารเมียนมาได้ประสานกับทางรัฐบาลไทย ผ่านกระทรวงการต่างประเทศ และใช้เวลาไปรับทหารเมียนมาเป็นเวลา 3 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 - 9 เม.ย.นี้

ปัดเครื่องบินมาขนทหารแต่เกี่ยวกับด้านการทูต

ขณะที่ "นายจักรพงษ์ แสงมณี" รมช.ต่างประเทศ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว จักรพงษ์ แสงมณี - Jakkapong Sangmanee ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นมีการนำเครื่องบินมารับทหารเมียนมาในไทย โดยระบุ ว่า

จักรพงษ์ แสงมณี

เรื่องเครื่องบินเมียนมาที่เป็นข่าว ได้ตรวจสอบแล้ว พบว่าเป็นเรื่องการขอนำเครื่องบินพลเรือนมาลง เพื่อขนสิ่งของพลเรือน ไม่ได้มีการขนกำลังทหาร หรืออาวุธ หรือการขอลี้ภัยตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด เป็นเรื่องคำขอทางการทูตเพื่อนำเครื่องบิน พลเรือนมาขนย้ายสิ่งของทางการทูต ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติครับ

"นพดล" ชง 4 ข้อแก้ปัญหาเมียนมา

"นายนพดล ปัทมะ" สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ในฐานะอดีต รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า สถานการณ์ที่กองกำลังกะเหรี่ยงเคเอ็นยู ได้ยึดเมืองเมียวดี ตรงข้ามแม่สอดและในขณะนี้มีผู้อพยพหนีภัยสงครามข้ามแดนมาแล้วบางส่วนนั้น โดย กมธ.ต่างประเทศ ได้เคยมีข้อเสนอแนะถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง 4 ข้อซึ่งยังใช้ได้ทุกข้อ คือ

  1. รีบตั้งกลไกติดตามสถานการณ์ในเมียนมาอย่างใกล้ชิด
  2. มีแผนรองรับผู้อพยพหนีภัยสงครามและผลกระทบการสู้รบในเมียนมา
  3. ช่วยเหลือทางมนุษยธรรมให้ครอบคลุมทั้งคนเมียนมาและชนกลุ่มน้อยที่ได้รับผลจากการสู้รบ 
  4. ผลักดันการเจรจาสันติภาพในเมียนมาโดยผ่านกลไกทรอยก้าพลัส ไทยควรเป็นหัวหอกเชิญประธานอาเซียน จีน อินเดีย เข้ามาผลักดันการเจรจาสร้างสันติภาพในเมียนมา ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ตรงเป้าที่สุด  และได้จังหวะเวลาที่สุด

ถามทางการพร้อมรับมือแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เหตุการณ์กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ สู้รบกับทางรัฐบาลทหารเมียนมานั้น เป็นเรื่องที่ฝ่ายความมั่นคงรับทราบมาอย่างต่อเนื่อง แต่มีคำถามว่าไทยมีแผนรองรับที่ทันการและครอบคลุมหรือไม่ เนื่องจากการสู้รบน่าจะดำเนินการไปอย่างต่อเนื่องในฤดูแล้ง และจะมีคนหลบหนีภัยสงครามมาเป็นจำนวนมาก

นพดล ปัทมะ

นอกจากนั้น อาจจะมีคนหนีการเกณฑ์ทหารในเมียนมาข้ามแดนเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งถามว่าระบบการตรวจสอบ และการขึ้นทะเบียนคนเข้าเมืองทันการและสามารถรองรับได้เพียงใด มิฉะนั้น ในอนาคตไทยจะมีบุคคลที่เข้าเมืองแต่ไม่มีเอกสารเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจจะกระทบต่อปัญหาความมั่นคงในอนาคตได้

 

"จากสถานการณ์ล่าสุดในเมียนมา จึงขอตอกย้ำข้อเสนอ 4 ข้อที่คณะ กมธ.ต่างประเทศ เคยเสนอไปแล้วเพื่อให้ภาครัฐไปดำเนินการ โดยเฉพาะ ข้อ 1 และ ข้อ 2 เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในระยะยาว" นายนพดล ระบุ 

จังหวะไทยเป็นหัวหอกผลักดันสันติภาพ

ขณะเดียวกัน ผู้หนีภัยสงคราม ไทยต้องช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าการหลบภัย อาหาร อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่าต้นเหตุของปัญหา คือ การสู้รบ และคิดว่าเวลานี้น่าจะเป็นเวลาที่เหมาะสมมาก ในการผลักดันกระบวนการสันติภาพในเมียนมา โดยการตั้งทรอยก้าพลัส เพื่อโน้มน้าวทุกฝ่ายในเมียนมาหันหน้ามาพูดคุยกันเพื่อสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในเมียนมา เพราะถ้ามีการสู้รบกันต่อไปคนที่ต้องรับภาระมากที่สุดก็คือประเทศไทยซึ่งเรามีความปรารถนาดี อยากเห็นสันติภาพ เสถียรภาพ และเอกภาพในเมียนมา

 

"ไทยควรเป็นหัวหอกหลักในการร่วมมือคุยกับทางประธานอาเซียน จีน อินเดีย และควรดำเนินการทันทีเพราะข้อเสนอในเรื่องนี้นั้น นักวิชาการและผู้สันทัดกรณีเรื่องเมียนมา ก็ได้เสนอแนะรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง ถ้าทำได้ก็จะปูทางไปสู่สันติภาพอย่างยั่งยืน เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุและตรงจุดที่สุด รวมทั้งจะเพิ่มพูนบทบาทของไทยในเวทีโลกด้วย" อดีต รมว.ต่างประเทศ กล่าว 


ชายแดนไทย-เมียนมายังสงบ

ขณะที่ บรรยากาศบริเวณหน้าด่านชายแดนแม่สอด บ้านริมเมย ตลาดท่าสายลวด รวมถึงบริเวณริมแม่น้ำเมย ฝั่งตรงข้ามวัดห้วยมหาวงค์ ต.มหาวัน อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมายังคงเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย หลังมีรายงานว่าฝ่ายต่อต้านคือ กะเหรี่ยงเคเอ็นยู และ พีดีเอฟ สามารถเข้ายึดกองบังคับการยุทธวิธี ของทหารเมียนมา ที่บ้านปางกาน จ.เมียวดี ได้สำเร็จ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 เม.ย. ที่ผ่านมา รวมทั้งบุกพื้นที่กองพันที่ 275 เมียวดี ซึ่งเป็นค่ายทหารที่ใหญ่ที่สุด อยู่ในตัวเมืองเมียวดีได้แล้ว

ชายแดนแม่สอด

ทำให้ฝ่ายต่อต้านสามารถควบคุมพื้นที่ จ.เมียวดี ได้ทั้งหมด ส่งผลให้ข้าราชการในสังกัดสภาบริหารทหารเมียนมาใน จ.เมียวดี และหน่วยงานต่างๆ ต้องถอนตัวออกจาก จ.เมียวดี และถูกอพยพไปกอกาเร็ก ในเขตปกครองของ พันเอกหม่องชิตู

ซึ่งทำให้มีความกังวลว่า รัฐบาลทหารพม่าอาจตอบโต้ด้วยการใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดในพื้นที่ใกล้เขตดินแดนประเทศไทย

 

logoline