svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

กมธ.รับห่วงที่มา สว.ไม่อิสระ-แนะไทยกลับไปมีสภาเดียว

24 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กมธ.พัฒนาการเมืองฯ จัดเสวนาเตรียมความพร้อมก่อนลุยสนาม สว. ด้าน "ไอติม พริษฐ์" รับห่วง 4 ข้อมาที่มาสภาสูงไม่อิสระจริง วอน กกต. เปิดให้มีผู้สังเกตการณ์ในการเลือก เพื่อความโปร่งใส

24 มีนาคม 2567 ใกล้เข้ามาทุกขณะสำหรับวาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาล ยุค คสช. โดยจะสิ้นสุดในเดือน พ.ค.นี้

โดยคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ได้จัดกิจกรรมเสวนาหัวข้อ "เตรียมความพร้อม ลุยสนาม สว." เพื่ออบรมเชิงปฏิบัติการให้กับผู้ประสงค์จะลงสมัครรับคัดเลือกเป็น สว. ชุดใหม่ และประชาชนทั่วไป เกี่ยวกับกระบวนการคัดเลือก สว. อำนาจหน้าที่ของ สว. และการมีส่วนร่วมของประชาชน

สำหรับ สว. ชุดใหม่ จะผ่านระบบการเลือกกันเองในสายอาชีพ 20 กลุ่ม ซึ่งใช้ระบบนี้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้เป็นการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

"พริษฐ์" ห่วง 4 ข้อที่มาวุฒิสมาชิก

"นายพริษฐ์ วัชรสินธุ"
สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ในฐานะประธาน กมธ.พัฒนาการเมืองฯ ยอมรับว่า มี 4 ข้อห่วงกังวลต่อกระบวนการคัดเลือก สว.ชุดใหม่ ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 แม้เจตนาของกฎหมายไม่ต้องการให้พรรคการเมืองเข้าไปมีส่วนสนับสนุนผู้สมัคร แต่ข้อสังเกตที่มี คือ กระบวนการคัดเลือก สว.ชุดใหม่ แบบแบ่งกลุ่มอาชีพแบบเลือกกันเอง

1. สว.ชุดใหม่ยังคงมีโครงสร้างอำนาจที่มาขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย และกระบวนการได้มาซึ่ง สว. แม้ สว.ชุดใหม่ จะมีโครงสร้างอำนาจที่มีความชอบธรรมมากขึ้น แต่ สว.ชุดใหม่ ยังมีอำนาจยับยั้งการแก้รัฐธรรมนูญ อำนาจการรับรองตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ

 2. กระบวนการคัดเลือก สว.ไม่สอดรับกับเป้าหมายในการได้มาซึ่ง สว.ที่มีความเชี่ยวชาญ หรือเป็นที่ยอมรับในแต่ละสาขาอาชีพ เพราะกระบวนการที่ถูกออกแบบมา มีหลายส่วนที่ไม่น่าจะนำไปสู่เป้าหมายได้

3. กระบวนการคัดเลือก สว.เสี่ยงต่อการบล็อกโหวตจัดตั้ง แทนที่จะเกิดการแข่งขันกัน เพราะกติกาปัจจุบันเอื้อต่อการทำให้ผู้สมัคร สว.มีความพยายามจัดตั้งเครือข่าย และกระจายไปในทุกกลุ่มอาชีพและทุกอำเภอ ทุกจังหวัด เพื่อให้มาร่วมกันเลือกตัวเองไปเป็น สว.ซึ่งป้องกันได้ยาก แต่ผู้ออกแบบกติกาก็รับรู้ตั้งแต่แรกอยู่แล้วว่าปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้น

4. กระบวนการคัดเลือก สว. ยังมีความซับซ้อน และไม่ชัดเจน ซึ่งระเบียบ สว.ล่าสุด เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะตรวจสอบคุณสมบัติอย่างไร ใช้เกณฑ์อะไร และจะพิจารณาใบสมัครและข้อโต้แย้งเรื่องคุณสมบัติ จะทันตามกรอบเวลาหรือไม่ หากผู้สมัครมีเป็นหลักแสนคน และมีระยะเวลาพิจารณาไม่กี่สัปดาห์
 

"จึงอยากให้ กกต.ออกระเบียบ หรือประกาศที่เกี่ยวข้องการแนะนำตัว หรือรณรงค์หาเสียงของผู้สมัครว่าเมื่อไหร่ และระเบียบหรือประกาศจะเอื้อต่อการให้ประชาชน เข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับผู้สมัครได้มากแค่ไหน กกต.จะอนุญาตให้มีผู้สังเกตการณ์อิสระจากภาคประชาชนไปร่วมได้หรือไม่เพื่อให้เกิดความโปร่งใส" นายพริษฐ์ กล่าว 


"ธงทอง" แย้มสภาสูงมีไว้ทำไม? แล้วมายังไง?

ขณะที่ "ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ" ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ได้ให้ข้อมูลในประเด็นว่า สว. มีไว้ทำไม ซึ่งในปี  2540 สว.มาจากการเลือกตั้งโดยตรง และมีอำนาจในการเลือกและแต่งตั้งองค์กรอิสระต่าง ๆ ต่อมาในรัฐธรรมนูญ 2550 ก็เปลี่ยนเป็นเลือกตั้งครึ่ง แต่งตั้งครึ่ง

ทั้งนี้ หากย้อนไปเริ่มตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ว่าที่มาที่ไปของการมีสภาสูง รัฐธรรมนูญชั่วคราว 10 ธันวาคม 2475 ระบุให้มีสภาเดียว คือ สภาผู้แทนราษฎร แต่มีสมาชิกสองประเภท สภาสูงเกิดขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2489 ตอนนั้นเรียก "พฤฒสภา" แล้วเปลี่ยนมาเป็นวุฒิสภา และเรื่อยมาจนถึงรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560

อย่างไรก็ตาม โดยในรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับมีที่มาของ สว. แตกต่างกันไป อำนาจหน้าที่หลักของ สว. คือ กลั่นกรองกฎหมายที่ผ่านจากสภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ พิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตรวจสอบฝ่ายบริหาร และในรัฐธรรมนูญ 2560 ยังกำหนดในบทเฉพาะให้ สว. มีอำนาจในการให้ความเห็นชอบผู้ซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกด้วย

"เจิมศักดิ์" ชี้วุฒิทำงานอิสระต้องมาจากเลือกตั้งเท่านั้น

ส่วน "รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง" อดีต สว. ให้ความเห็น ว่า สว. เป็นตัวแทนของผู้ที่อยู่ในอำนาจทางการเมืองในเวลานั้น ๆ เป็นสภาพี่เลี้ยงที่ปรึกษา ก่อนปี 2540 สว. ส่วนใหญ่มาจากการแต่งตั้ง แต่พอหลังปี 2540 เป็นครั้งแรก ที่กำหนดให้มี สว. จำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน หรือที่เรียกว่า รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

ขณะเดียวกัน ต่อมารัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้มี สว. มาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้งอย่างละครึ่ง และรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ สว. มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด โดย คสช. อีกทั้ง กำหนดให้ สว. มีจำนวน 200 คน มาจากการเลือกกันเอง โดยบุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพที่หลากหลายของสังคม มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี และสามารถดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียวเท่านั้น

 

"หากมองดูตามสัดส่วนกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่มตามสัดส่วนที่เท่ากัน มีแต่ระดับอาชีพกลุ่มบน ยังไม่มีกลุ่มอาชีพตัวแทนรับชาวบ้านหรือชุมชน ซึ่งประชาชนกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มใหญ่ในสังคมด้วย อย่าปฏิเสธว่าจะไม่มีการบล็อคโหวต เพราะการเมืองไทยมีบ้านใหญ่ทุกจังหวัด มีพรรคการเมืองจับมือกันได้อยู่ดี และตอนนี้ยังตอบไม่ได้ว่า สว. จำเป็นต้องมีไหม หรือควรมีสภาเดียว" รศ.ดร.เจิมศักดิ์ กล่าว 


ต้องคุมอำนาจให้เป็นตามกติกาสากล

อย่างไรก็ดี หาก สว. มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยสุจริต ก็ควรมีอำนาจเยอะ แต่ถ้า สว.มาจากการแต่งตั้งที่ไม่เป็นอิสระ ก็ควรมีอำนาจลดลงเป็นปกติสากล เพราะอย่าลืมว่า สว. มีไว้เป็นสภาพี่เลี้ยง สภาที่ปรึกษา ถ้าไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ก็ต้องจับตากติกาว่า สว. กับ สส. อาจจะต้องประนอมอำนาจกัน เพราะอำนาจไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง สว.มีต้นทุนเยอะ ปีละหลายพันล้านบาท แล้วคุ้มค่าหรือไม่ 

ไทยควรยกเลิกวุฒิกลับไปมีสภาเดียว

ด้าน "นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ" อดีต สว. กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเป็นผลผลิตของอำนาจ ต้องใช้กฎหมายเป็นโครงสร้างในความสัมพันธ์ของอำนาจนั้น การเมืองไทยยังเป็นระบบชินพื้นที่ หาก สว.ชุดใหม่ จะเข้ามาทำงานก็ขอให้คุยวิสัยทัศน์กันตรง ๆ ต้องใช้วิชาชีพอย่างเป็นธรรม เพื่อสะท้อนความเหลื่อมล้ำออกมาให้ได้ ไม่ใช่ไปสร้างเครือข่ายกันในระดับบนอีก

 

"สว.จึงต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน จะเลือกตรง เลือกไขว้ สุดท้ายไม่พ้นการล็อคแบบจัดตั้ง หาก สว.ไม่มีอิสระในการทำงานแล้ว ก็ยากที่จะเปลี่ยนผ่านช่วงรอยต่ออำนาจของฝ่ายอนุรักษ์นิยมนี้ เพราะ สว. ชุดนี้ ถูกแต่งตั้งมาเพื่อค้ำยันโครงสร้างของรัฐเก่าฝ่ายอนุรักษ์นิยม และถือว่ารัฐธรรมปี 60 เป็นรัฐธรรมชั้นยอดเยี่ยม ที่ครอบงำระบบอนุรักษ์นิยมมากที่สุด ประเทศไทยจึงเป็นประชาธิปไตยแบบไฮบริด" นพ.นิรันดร์ ระบุ

 

อย่างไรก็ตาม จึงอยากให้ สว.มาจากการเลือกตั้ง จะได้ทำงานอย่างอิสระ มีอำนาจมากในการปฏิรูประบบโครงสร้างไทยที่วิกฤตอยู่ขณะนี้ และมองว่าประเทศไทยควรมีสภาเดียว ยกเลิก สว.ไป แต่บทบาทของ สส. ในสภาก็ต้องปรับปรุงด้วย 
 

logoline