svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เตรียมตัวให้พร้อมถ้าอยากเป็น สว. มาดูขั้นตอนมีอะไรกันบ้าง

นับเวลาถอยหลังสำหรับสมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบัน ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่จะหมดวาระทำหน้าที่ดังกล่าว ในวันที่ 10 พ.ค. ก่อนจะเปิดให้มีการเลือกตั้งใหม่

โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งได้สรุปขั้นตอนและวิธีการสำหรับการเลือกตั้ง สว. ที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งจำแนกออกเป็น 20 กลุ่มอาชีพ ตาม พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 2561 หมวด 1 ผู้สมัครและการสมัครรับเลือกตั้ง มาตรา 10 และมาตรา 11 คือ

1.กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง ได้แก่ ผู้เคยเป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

2.กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

3.กลุ่มการศึกษา ได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

4.กลุ่มสาธารณสุข ได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นแพทย์ทุกประเภท เทคนิคการแพทย์ สาธารณสุข พยาบาล เภสัชกร หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

5.กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

6.กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

7.กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคล ซึ่งไม่ใช่ราชการหรือหน่วยงานรัฐ ผู้ใช้แรงงาน หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

8.กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์ สาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

9.กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อยตามกฎหมาย หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

10.กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากกิจการตามกลุ่มที่ 9

เตรียมตัวให้พร้อมถ้าอยากเป็น สว. มาดูขั้นตอนมีอะไรกันบ้าง  



 

11.กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว ได้แก่ มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการหรือพนักงานโรงแรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

12.กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

13.กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตรกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

14.กลุ่มสตรี

15.กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

16.กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

17.กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

18.กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

19.กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

20.กลุ่มอื่นๆ

สำหรับกระบวนการเลือกตั้ง สว. ถูกกำหนดไว้ในมาตรา 12 (1) ระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ

วิธีการเลือก สว. แต่ละระดับแบ่งเป็น ดังนี้

ระดับอำเภอ

การเลือกรอบที่ 1

  • ผู้สมัครเลือกกันเองในกลุ่ม โดยเลือกตนเองหรือจะลงคะแนนให้คนอื่นได้ ไม่เกิน 1 คะแนน
  • ผู้ได้คะแนนสูงสุดลำดับที่ 1-5 ของแต่ละกลุ่ม เป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้น เพื่อไปเลือกรอบต่อไป


การเลือกรอบที่ 2

  • ผู้สมัครจะต้องเลือกผู้สมัครกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน กลุ่มละ 1 คน จะเลือกกลุ่มเดียวกันหรือตนเองไม่ได้
  • โดยผู้ได้รับคะแนนใน 3 อันดับแรกของแต่ละกลุ่ม เป็นผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอสำหรับกลุ่มนั้น   
     

ระดับจังหวัด

การเลือกรอบที่ 1

  • เลือกกันเองในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งเลือกตนเองได้ แต่จะลงคะแนนให้คนอื่นเกิน 1 คะแนนไม่ได้
  • โดยผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดลำดับที่ 1-5 ของกลุ่มนั้น เป็นผู้ได้รับคัดเลือกขั้นต้น เพื่อไปเลือกรอบต่อไป


การเลือกรอบที่ 2

  • เป็นการเลือกผู้สมัครกลุ่มอื่นในสายเดียวกัน กลุ่มละ 1 คน แต่จะเลือกกลุ่มเดียวกันหรือตนเองไม่ได้
  • โดยผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 2 คน ของแต่ละกลุ่ม จะได้รับเลือกในระดับจังหวัดสำหรับกลุ่มนั้น


ระดับประเทศ

การเลือกรอบที่ 1

  • ผู้สมัครเลือกกันเองในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกิน 10 คน โดยจะเลือกตนเอง หรือลงคะแนนให้ผู้อื่นได้ไม่เกิน 1 คะแนน
  • ผู้มีคะแนนสูงสุด 40 คนของกลุ่มนั้น ผ่านเข้ารอบคัดเลือกต่อไป


การเลือกรอบที่ 2

  • เลือกผู้สมัครกลุ่มอื่นในสายเดียวกัน กลุ่มละไม่เกิน 5 คน โดยจะเลือกกลุ่มเดียวกันหรือตนเองไม่ได้
  • ซึ่งผู้ได้รับคะแนนลำดับที่ 1-10 ได้รับเลือกเป็น สว. ส่วนลำดับที่ 11-15 ให้อยู่ในบัญชีสำรอง


สำหรับขั้นตอนการสมัครรับเลือกตั้ง สว.

  • เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้เลือก สว. มีผลบังคับใช้
  • กกต.จะต้องประกาศภายใน 5 วัน ตั้งแต่มีพระราชกฤษฎีกา เพื่อกำหนดวันเวลารับสมัครเลือกตั้งทั้งระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ
  • ผู้อำนวยการเลือกระดับอำเภอประกาศเพื่อกำหนดสถานที่รับสมัคร วันที่ถัดจาก กกต. ประกาศ
  • เปิดรับสมัครคัดเลือก สว. ภายใน 15 วัน คือ ไม่น้อยกว่า 5 วัน แต่ไม่เกิน 7 วัน
  • ประกาศรายชื่อผู้สมัครภายใน 5 วัน นับแต่วันที่สิ้นสุดเวลารับสมัคร
  • เลือก สว. ระดับอำเภอ ภายใน 20 วัน นับตั้งแต่วันสิ้นสุดเวลารับสมัคร
  • เลือก สว. ระดับจังหวัด ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่เลือกระดับอำเภอ
  • เลือก สว. ระดับประเทศ ภายใน 10 วัน นับแต่วันที่เลือกระดับจังหวัด
  • ประกาศผลหลังเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 5 วัน (รู้ผลประมาณเดือน ก.ค.)

ผู้ที่จะสมัครเพื่อรับคัดเลือกเป็น สว. ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

  • มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
  • มีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปีในวันสมัครรับเลือก
  • มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี ยกเว้น ผู้สมัครในกลุ่มสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ หรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธ์ุ และกลุ่มอัตลักษณ์อื่น
  • ผู้สมัครต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ด้วย

(ก) เป็นบุคคลซึ่งเกิดในอำเภอที่สมัครรับเลือก 
(ข) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในอำเภอที่สมัครรับเลือกมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือก 
(ค) ทำงานอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือก 
(ง) เคยทำงานหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือก แล้วแต่กรณี เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า  2 ปี 
(จ) เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปีการศึกษา

อำนาจหน้าที่ของ สว. มีอะไรบ้าง 

  1. พิจารณาและกลั่นกรองกฎหมาย พิจารณาและกลั่นกรองพระราชบัญญัติ อนุมัติพระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
  2. ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ตั้งกระทู้ถาม เปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภาหรือที่ประชุมรัฐสภา การตั้งกรรมาธิการ 
  3. ให้คำแนะนำหรือความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น


ส่วนลักษณะต้องห้ามของ สว. มีทั้งหมด 26 ข้อ

  1. ติดยาเสพติดให้โทษ
  2. เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
  3. เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ
  4. เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
  5. อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกต้ังไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
  6. วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
  7. อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
  8. ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
  9. เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกในระดับอำเภอ เว้นแต่ ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
  10. เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
  11. เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
  12. เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือ ต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติด ในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือ หรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
  13. เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
  14. อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
  15. เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
  16. เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
  17. เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการเสนอ การแปรญัตติ หรือ การกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการ มีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย
  18. เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่าเป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ ตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
  19. เป็นข้าราชการ
  20. เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เว้นแต่ ได้พ้นจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
  21. เป็นสมาชิกพรรคการเมือง
  22. เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง เว้นแต่ ได้พ้นจากการดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
  23. เป็นหรือเคยเป็นรัฐมนตรี เว้นแต่ ได้พ้นจากการเป็นรัฐมนตรีมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
  24. เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรอืผู้บริหารท้องถิ่น เว้นแต่ ได้พ้นจากการเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
  25. เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตาแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ในคราวเดียวกัน หรือผู้ดำรงตำแหน่งใดในศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ
  26. เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญนี้