svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

สรุปวันที่สองถกงบ 67 "ก้าวไกล" ตัดงบศูนย์ต้านข่าวปลอม-ปภ.ซื้อ ฮ.แพงเว่อร์

21 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สรุปภาพรวมวันที่สองพิจารณางบประมาณ 67 สส.ส่วนใหญ่เห็นตาม กมธ.เสียงข้างมาก ปรับลดงบ "ก.ดีอีเอส" 72 ล้าน "ก้าวไกล" ฉะศูนย์ต้านข่าวปลอมไร้ประโยชน์-แก้แก๊งคอลเซ็นเตอร์เหลว ส่วนมหาดไทยตั้งงบซื้อ ฮ. ดับไฟ แพงเกิน 

KEY

POINTS




 

21 มีนาคม 2567 ถือเป็นวันที่สองของการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วาระ 2 และวาระ 3 ระหว่างวันที่ 20-22 มี.ค. โดยเป็นการพิจารณารายมาตราตามลำดับ

โดย "NationSTORY" สรุปเนื้อหาการอภิปรายวันนี้ (21มี.ค.) ซึ่งไฮไลท์ของช่วงเช้า เป็นการพิจารณาในมาตรา 16 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส ซึ่ง กมธ.วิสามัญ เสนอปรับลด 72 ล้านบาท จากงบประมาณเดิม 5,419 ล้านบาท เหลือ 5,347 ล้านบาท 

ขอตัดงบ "ดีอีเอส" หลังมีข่าวทุจริต

"นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ" สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะ กมธ.วิสามัญ ผู้สงวนคำแปรญัตติ ได้เสนอให้ปรับลดงบประมาณลง รวม 13 รายการ เนื่องจากมีข่าวว่า ทาง สตง. ตรวจสอบพบการทุจริตในหลายโครงการของกระทรวงนี้ และงบประมาณก็คงออกได้เพียงครึ่งหนึ่ง จึงขอให้ดูผลสอบของ สตง. ก่อน

หนุนกรมอุตุฯ เฉือน 19 ล้าน ซื้อเครื่องวัดฝุ่น

ขณะที่ "นายณัฐพล โตวิจักษ์ชัยกุล" สส.เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล ในฐานะ กมธ.วิสามัญ เสียงข้างน้อย เห็นด้วยกับกรมอุตุนิยมวิทยา ที่ได้ตัดงบจัดซื้อเครื่อง LIDAR PDL ซึ่งเป็นเครื่องยิงเลเซอร์ตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองในชั้นบรรยากาศ เพื่อเก็บสถิติและใช้พยากรณ์ปริมาณฝุ่น PM2.5 แต่ละวัน วงเงิน 19 ล้านบาท เนื่องจากมีราคาแพงเกินจริง ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ไทย สามารถสร้างเองได้ โดยมีราคาต้นทุนไม่ถึง 1 ล้านบาท อีกทั้ง มีความเหมาะสมกับประเทศมากกว่า  

 

"ศูนย์ต้านข่าวปลอม" ไม่ควรได้เงินสนับสนุน

ส่วน "นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล" สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน เสนอให้ตัดงบในส่วนของโครงการศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม หรือ "ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม" จำนวน 69.57 ล้านบาท โดยให้เหตุผลว่า มีการเลือกตรวจสอบข้อเท็จจริงเฉพาะหน่วยงานราชการ 

ขณะเดียวกัน ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแบ่งข้อมูลที่ตรวจสอบได้ แต่ไม่ได้เผยแพร่ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

  1. หน่วยงานไม่สามารถชี้แจงได้
  2. หน่วยงานปฏิเสธการตอบกลับ
  3. หน่วยงานไม่ประสงค์เผยแพร่

ทั้งนี้ สิ่งนี้ทำให้หายสงสัยว่าทำไมศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมถึงตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานราชการเท่านั้น เพราะตลอดเวลาตั้งแต่ตั้งศูนย์แห่งนี้ขึ้นมา การส่งเรื่องไปให้หน่วยงานราชการ ไม่ใช่การขอให้ตรวจสอบ แต่คือการขออนุญาตว่าหน่วยงานราชการจะยอมให้เผยแพร่หรือไม่ หน่วยงานว่าอย่างไรศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ก็มีหน้าที่แค่ทำไปตามนั้น

 

"นี่คือหลักฐานที่ชัดเจนที่สุดว่าตลอด 4 ปี 5 เดือน ตั้งแต่ก่อตั้งมา ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมไม่เคยมีความเป็นกลาง ไม่เคยมีความเป็นอิสระ เป็นแค่เครื่องมือของรัฐในการผูกขาดความจริงแบบที่รัฐอยากให้ประชาชนรู้ และปกปิดความจริงที่รัฐไม่อยากให้ประชาชนเห็นเท่านั้น และผมยืนยันว่าโครงการแบบนี้ไม่ควรได้รับงบประมาณจากภาษีประชาชนแม้แต่บาทเดียว" นายปกรณ์วุฒิ กล่าว


 

สายด่วนเยอะแต่แก้ปัญหามิจฉาชีพไม่ได้

ด้าน "น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์" สส.กรุงเทพ พรรคก้าวไกล เห็นว่า การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์ จะมีสายด่วน 1441 ที่เอาไว้แจ้งมิจฉาชีพ แต่ก็มีสายด่วนของหน่วยงานอื่น เช่น 1599

 

"เรามีสายด่วนเยอะมาก แต่ประชาชนจำไม่ได้ และยังพบปัญหามิจฉาชีพ ที่ร้องเรียนมิจฉาชีพ ทำให้ประชาชนงงว่า หากร้องเรียนไปแล้ว จะเป็นตำรวจจริงหรือไม่ ตอนนี้ตำรวจทำงานไม่ทันมิจฉาชีพ ไลน์แอดที่ยิงไป 4-6 อัน มิจฉาชีพหมด สรุปอันไหนจริงกันแน่ พอไปถามเจ้าหน้าที่ก็โยนงานข้ามกันไปมาว่าสายด่วนไหนจริง สายด่วนไหนปลอม" น.ส.ศศินันท์ กล่าว 

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก 279 เสียง ต่อ 146 เสียง เห็นชอบตามการปรับแก้ของ กมธ.วิสามัญ ทำให้กระทรวงดีอีเอส ได้รับงบประมาณปี 67 ไป 5,347 ล้านบาท

หั่น 25 ล้านจ้างที่ปรึกษารัฐใช้รถอีวี

ส่วนช่วงบ่ายเป็นการพิจารณา มาตรา 17 งบประมาณกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่ง กมธ.เสียงข้างมากเห็นชอบปรับลด 38 ล้านบาท

โดย กมธ.เสียงข้างน้อย รวมถึง "นายร่มธรรม ขำนุรักษ์" สส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ที่เห็นควรตัดงบการจ้างที่ปรึกษาโครงการศึกษาผลประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม ในการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าของรัฐ จำนวน 25 ล้านบาท ของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม หรือ "กรมโลกร้อน" เพราะมองว่าแพงเกินจำเป็น 

หวั่นล็อกสเปคบริษัทติดตั้งระบบเตือนภัย

นอกจากนี้ "ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ" สส.ภูเก็ต พรรคก้าวไกล ได้ขอตัดลดงบ 5% ของกรมทรัพยากรน้ำ เนื่องจากพบความผิดปกติ ในเรื่อง ระบบเตือนภัยน้ำท่วม - ดินถล่ม ที่มีงบกว่า 2.3 หมื่นล้านบาท แต่ทีโออาร์ ผิดสเปค ทำให้ต้องซ่อมแซมบ่อยจนสิ้นเปลืองงบประมาณ และลดมาตรฐานการกันน้ำ ทั้งที่อยู่กลางฝุ่นกลางแจ้ง ซึ่งควรจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและตรงสภาพภูมิอากาศจริง

ขณะเดียวกัน ยังกังวลเรื่องการล็อคสเปคให้กับบริษัทเอกชนเจ้าเดิม เพราะพบว่า บริษัท ส. เคยมีคดีความกับกรมทรัพยากรน้ำ แต่เมื่อประมูลรอบใหม่ บริษัท ท. ที่ชนะ กลับเป็นบริษัทลูกเดียวกันกับ บริษัท ส. ซึ่งต่างก็มีเจ้าของคนเดียวกัน คือ บริษัท ด. ถือว่าฮั้วกันหรือไม่ 

เกลี่ยงบไม่สอดรับกับภารกิจจำเป็น

ด้าน "นายจักรวาล ชัยวิรัตน์กูล" สส.สุโขทัย พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการเกลี่ยงบไม่สมดุลในกระทรวงทรัพย์ฯ เนื่องด้วยกรมอุทยานแห่งชาติได้งบ 5,600 ล้านบาท ทั้งที่มีรายได้จากการเก็บค่าเช่าอุทยานมากอยู่แล้ว โดยมีรายได้ต่อปี 1,000 ล้านบาท แต่กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ที่มีส่วนสำคัญแก้ปัญหาภัยแล้ง กลับได้รับงบประมาณไม่เพียงพอ อย่างกรมป่าไม้ มีอุปกรณ์ดับไฟป่า แค่ไม้กวาด เครื่องเป่าลม ควรได้รับงบเพิ่มเพื่อไปซื้ออุปกรณ์ดับไฟป่าที่ทันสมัย

"นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี" สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ที่กระทรวงทรัพย์ฯ ไม่ให้ความสำคัญ ทำให้ปัญหามีความรุนแรงขึ้น รวมถึงการเกลี่ยงบประมาณภายในหน่วยงานที่ไม่เป็นธรรม และเพียงพอกับหน่วยงานที่มีหน้าที่แก้ปัญหาภัยแล้ง โดยงบกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ถูกปรับลดลงเหลือ 870 ล้านบาท ถูกตัดทิ้ง ทั้งที่ประเทศมีวิกฤติเรื่องน้ำ แต่กลับไม่ติดอาวุธให้หน่วยงาน

มุ่งงานอีเวนท์มากกว่าบรรลุยุทธศาสตร์

ขณะที่ งบกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมมีความทับซ้อนกับกรมควบคุมมลพิษ มีแต่งบงานอีเวนต์เป็นตัวตั้ง ที่ไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ควรเน้นเป้าหมายเรื่องการบรรลุยุทธศาสตร์ในการลดก๊าซเรือนกระจกให้ชัดเจน

ตัด 2% งบซื้อคุรุภัณฑ์ไม่ตอบโจทย์ดับไฟป่า

สำทับ "นายมานพ คีรีภูวดล" สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่ขอตัดงบ 2% เนื่องจากพบข้อสงสัยอุปกรณ์เป่าลม ที่ใช้ดับไฟป่า เสนอไว้แค่ 100 เครื่องทั้งประเทศ เครื่องละ 7,000 บาท แต่กลับไปจัดงบในส่วนการจัดซื้อคุรุภัณฑ์ประจำ 18 ชุด ชุดละ 1.2 ล้านบาท รวม 21 ล้านบาท

 

"วิธีคิดแบบนี้ มองว่าไม่ตอบโจทย์การทำงานจริง เพราะไม่รู้ว่าครุภัณฑ์ที่ว่าคืออะไร ไม่ระบุชัดเจน ดังนั้น การจัดงบประมาณจึงไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และเห็นว่าควรจัดเครื่องมือให้สอดคล้องกับความจำเป็น เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ที่ประชาชน และเจ้าหน้าที่สามารถนำไปใช้ได้" นายมานพ ระบุ   


ซื้อเครื่องมือดับไฟตามความจำเป็น

จากนั้น "นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์" สส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะกมธ. ชี้แจงว่า ในส่วนของการซื้อเครื่องมือดับไฟป่า เข้าใจว่าซื้อตามความจำเป็นในแต่ละปี ถ้าปีไหนชำรุด กรมอุทยานก็จะจัดซื้อประเภทที่ขาดแคลน ทำให้มีความแตกต่างทางการซื้อเครื่องมือแต่ละปีจะไม่เหมือนกัน

อุทยานมีรายได้แต่ไม่เพียงพอ

ส่วนรายได้อุทยานหรือเงินนอกประเภท มาจากการจัดเก็บรายได้นอกอุทยาน จากนักท่องเที่ยว เงินรายได้เอาไปตัด 5% ให้กับท้องถิ่น ส่วนที่สองให้กับหัวหน้าอุทยานเอาไว้ใช้ ประมาณ 10-15% เพื่อบำรุงบ้านพักอุทยาน ส่วนที่เหลือจะส่งเข้ากองกลาง ซึ่งเงินจำนวนนี้ไม่เพียงพอเนื่องจากอุทยานแห่งชาติ มีเกือบ 200 แห่ง นอกจากนั้นยังมีวนอุทยาน

ฝุ่นพิษเกิดจากหลายปัจจัยทุกฝ่ายต้องช่วย

สำหรับปัญหา PM2.5 ที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน เนื่องด้วยปีนี้เกิดจากภาวะภัยแล้ง ปรากฏการณ์เอลนีโญ่ทิ้งช่วง ประชาชนเผาพืชไร่ รวมถึงเกิดจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเชื่อว่ากระทรวงทรัพย์ฯ ก็เร่งแก้ไข เช่น รณรงค์ไม่ให้เผาป่า เรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนรวมทุกคนต้องช่วยกัน จะมอบหมายให้กระทรวงทรัพย์ฯ กระทรวงเดียว จะแก้ไขนาน วันนี้รัฐบาลส่งเสริมและเร่งรัดให้ประชาชนปลูกต้นไม้ สร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ เพื่อไม่ให้เกิดความแห้งแล้ง และเห็นว่าเพื่อนสมาชิกจะเห็นใจกระทรวงทรัพยากรฯ ไม่ปรับลดงบประมาณ

ก่อนสุดท้ายที่ประชุมลงมติเห็นชอบตัดงบประมาณกระทรวงทรัพย์ฯ ตาม กมธ.เสียงข้างมาก

"ก้าวไกล" กาง 4 เหตุผลตัดงบ มท. ซื้อ ฮ.ดับไฟ

ต่อมาเป็นการพิจารณา มาตรา 20 กระทรวงมหาดไทย โดย สส.พรรคก้าวไกล อาทิ นายอิทธิพล ชลธราศิริ สส.ขอนแก่น เสนอตัดงบกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) 142.3 ล้านบาท และในการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ดับเพลิง KA-32 มูลค่า 949 ล้านบาท จำนวน 1 ลำ เพราะเป็นงบตั้งไว้ในปี 2567 แต่ผูกพันงบประมาณปี 2568 เป็นเงิน 806 ล้านบาท แม้จะมีความจำเป็นแต่ก็ต้องปรับลด เนื่องจาก

1.ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่ต้องซื้อในเวลานี้ ปัจจุบัน ปภ.มีเฮลิคอปเตอร์รุ่นเดียวกัน 4 ลำ ใช้งานตั้งแต่ปี 2563 -2567 แค่ 25 ภารกิจ เฉลี่ยบินปีละ 5 ภารกิจ เป็นภารกิจดับไฟ ช่วยเหลือประชาชน 20 ภารกิจ ล่าสุดเพิ่งไปโชว์ภารกิจดูดน้ำดับไฟป่าให้นายกฯดูที่จ.เชียงใหม่  

2.ราคาแพง การจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ 4 ลำก่อนหน้านี้ ราคาจัดซื้อในต่างประเทศไม่ถึงลำละ 500 ล้านบาท รวมอุปกรณ์ดับเพลิง แต่ ปภ. จัดซื้อลำละ 949 ล้านบาท ตอนที่ สส.ฝ่ายรัฐบาลเป็นฝ่ายค้าน เคยคัดค้านการจัดซื้อดังกล่าว ขอให้แสดงจุดยืนเหมือนเดิม

3.การปฏิบัติภารกิจไม่ทันท่วงที ไม่เคยเห็นการดับไฟในอาคารสูงแม้แต่ครั้งเดียว ทั้ง 4 ลำ ไม่มีที่จอด ต้องอาศัยศูนย์กลางการบินกองทัพบก จ.ลพบุรี เป็นที่จอด และ ปภ.ไม่มีนักบินของตัวเอง ต้องยืมนักบินกองทัพบก ถ้าเกิดไฟไหม้ตึกสูงที่ กทม. ต้องใช้เวลาบินจากลพบุรีมา กทม. 45 นาที และหาแหล่งน้ำดิบมาเติม จะทำภารกิจได้ทันหรือไม่

4.การดับไฟป่าไม่ใช่ภารกิจหลัก ปภ. เป็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีเฮลิคอปเตอร์ดับไฟป่าอยู่แล้ว การจัดซื้อครั้งนี้ ผู้เสนอราคาแค่รายเดียว เป็นรายเดิม ผิดปกติหรือไม่

 

"ทราบว่าปี 2568 ปภ.จะตั้งงบซื้อเฮลิคอปเตอร์รุ่นนี้อีก 2 ลำ ไม่รู้มีอะไรหอมหวาน การจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ดังกล่าวถูกคณะอนุ กมธ. งบประมาณรายจ่ายปี 2567 ตัดงบทิ้งไปแล้ว แต่กลับมาคืนงบประมาณจัดซื้อให้ใหม่ในชั้นกมธ.ชุดใหญ่" นายอิทธิพล กล่าว 

logoline