svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

อ่านรายละเอียด! "ศาล รธน." เปิดคำวินิจฉัยเต็มปมตัดสิน "พิธา-ก้าวไกล" แก้ 112

23 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ศาลรัฐธรรมนูญ" เผยแพร่รายละเอียดคำวินิจฉัยฉบับเต็ม ปมตัดสิน "พิธา-ก้าวไกล" รณรงค์หาเสียงแก้ไขมาตรา 112 ก่อนมีคำสั่งให้ยุติการกระทำ

23 กุมภาพันธ์ 2567 จากการที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าการกระทำของ "นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 2 ที่ได้เสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง พร้อมมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องดำเนินการตามมาตรา 49 วรรคสอง

ตามที่ "นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร" อดีตทนายความของพระพุทธะอิสระ ได้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองยุติการกระทำ ล่าสุด ทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้เผยแพร่คำวินิจฉัยกลาง โดยมีรายละเอียดดังนี้

อ่านรายละเอียด! "ศาล รธน." เปิดคำวินิจฉัยเต็มปมตัดสิน "พิธา-ก้าวไกล" แก้ 112
 

นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 (เรื่องพิจารณาที่ 19/2566)

นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 2) ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ .. พ.ศ.....(แก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท) เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง

โดยยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และมีคำสั่งรับคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ข้อมูลและพยานหลักฐานของบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยานบุคคลทั้งหมด 6 ปาก รวมทั้งไต่สวนพยานและรับคำแถลงการณ์ปิดคดีของผู้ถูกร้องทั้งสองรวมไว้ในสำนวนแล้วเห็นว่า คดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง

อ่านรายละเอียด! "ศาล รธน." เปิดคำวินิจฉัยเต็มปมตัดสิน "พิธา-ก้าวไกล" แก้ 112

 




 

ผลการพิจารณา

ประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยมีว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 เป็นบทบัญญัติที่มีความมุ่งหมายเพื่อปกป้องคุ้มครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจากภัยคุกคามซึ่งเกิดจากการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เพื่อมิให้มีการใช้สิทธิหรือเสรีภาพที่จะส่งผลเป็นการบั่นทอน ทำลายหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ และสั่นคลอนคติรากฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศไทยที่ดำรงอยู่ให้เสื่อมโทรม หรือต้องสิ้นสลายไป

แม้การเสนอร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎรเป็นวิธีการทางรัฐสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่และอำนาจโดยตรงในการเสนอและพิจารณาร่างกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ แต่เมื่อร่างกฎหมายผ่านกลไกการตรวจสอบโดยฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญยังมีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือร่างกฎหมายได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 21  วรรคหนึ่ง (1)

อันถือเป็นการตรวจสอบและถ่วงดุลฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนั้น การที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กำหนดหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ให้เข้ามาตรวจสอบการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยไม่ได้บัญญัติยกเว้นการกระทำใดไว้เป็นการเฉพาะ การเสนอร่างกฎหมายโดยฝ่ายนิติบัญญัติจึงเป็นการกระทำหนึ่งซึ่งอาจถูกตรวจสอบได้ว่า เป็นการกระทำล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่

อ่านรายละเอียด! "ศาล รธน." เปิดคำวินิจฉัยเต็มปมตัดสิน "พิธา-ก้าวไกล" แก้ 112

ผู้ถูกร้องที่ 1 และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 รวมจำนวน 44 คน เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ..... (แก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท) ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีเนื้อหาให้แก้ไข จากเดิมที่อยู่ในหมวด 1 ลักษณะ 1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรให้อยู่ในลักษณะ 1/2 ซึ่งการที่บทบัญญัติมาตรา 112 อยู่ในลักษณะ 1 เพื่อคุ้มครองความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรและเกียรติยศของประมุขของรัฐ เนื่องจากสถาบันพระมหากษัตริย์มีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ

เพราะพระมหากษัตริย์กับประเทศไทยดำรงอยู่คู่กันเป็นเนื้อเดียวกัน เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติและธำรงความเป็นปีกแผ่นอันหนึ่งอันเดียวกับคนในประเทศ การกระทำผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงเป็นการกระทำผิดต่อความมั่นคงของประเทศ สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 2 ที่บัญญัติว่า "ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" การเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการกระทำ เพื่อมุ่งหวังให้ความผิดตามมาตรา 112 ไม่เป็นความผิดที่มีความสำคัญและความร้ายแรงระดับเดียวกันกับความผิดในหมวด 1 ลักษณะ 1 และไม่ให้ถือเป็นความผิดที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศอีกต่อไป

ผู้ถูกร้องทั้งสองมีเจตนามุ่งหมายที่จะแยกสถาบันพระมหากษัตริย์และความเป็นประเทศไทยออกจากกัน จึงเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้ง การเสนอเพิ่มบทบัญญัติให้ผู้กระทำความผิดสามารถพิสูจน์เหตุยกเว้นความผิดและเหตุยกเว้นโทษได้ ย่อมทำให้การพิจารณาคดีของศาลที่ต้องมีการสืบพยานหลักฐานระหว่างคู่ความในคดีเพื่อพิสูจน์เหตุดังกล่าว จำต้องพาดพิงหรือกล่าวหาสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในสถานะอันควรเคารพสักการะ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และทำให้ข้อความดังกล่าวกระจายออกสู่สาธารณะอันเป็นการเสื่อมพระเกียรติ ไม่ต้องด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ที่บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้

นอกจากนี้ การเสนอร่างกฎหมายให้ความผิดตามมาตรา 112 เป็นความผิดอันยอมความได้นั้น เป็นการมุ่งหมายให้การกระทำความผิดตามมาตรา 112 กลายเป็นความผิดที่เป็นเรื่องส่วนพระองค์ เป็นการลดสถานะความคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ อีกทั้งการเสนอให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์หรือผู้เสียหาย ทำให้รัฐไม่ผู้เป็นเสียหายในความผิดดังกล่าวโดยตรง และสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องกลายเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน

ดังนั้น แม้การเสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จะเป็นหน้าที่ และอำนาจของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผ่านกระบวนการทางนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 133 และร่างกฎหมายดังกล่าวจะไม่ได้รับการบรรจุในวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็ตาม การเสนอร่างกฎหมายนี้ ดำเนินการโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ทั้งสิ้นเพียงพรรคเดียว แต่การที่พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ใช้นโยบายให้แก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รณรงค์หาเสียงในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566

แม้จะไม่มีร่างที่จะแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ให้เห็นว่าจะแก้ไขในประเด็นใด แต่ปรากฎนโยบายดังกล่าวอยู่บนเว็บไซต์ของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 อย่างต่อเนื่อง โดยมีเนื้อหาที่จะแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทำนองเดียวกันกับร่างแก้ไข ที่เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 จึงถือได้ว่า พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ได้ร่วมกับผู้ถูกร้องที่ 1 เสนอร่างกฎหมายดังกล่าว พฤติการณ์ของผู้ถูกร้องทั้งสองที่แสดงออกมีเจตนาที่ต้องการลดทอนการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ลง

โดยผ่านร่างกฎหมายและอาศัยกระบวนการทางนิติบัญญัติ เพื่อสร้างความชอบธรรมโดยซ่อนเร้นด้วยวิธีการผ่านกระบวนการทางรัฐสภา และยังสนอแนวความคิดเห็นดังกล่าวให้แก่ประชาชนทั่วไปผ่านรูปแบบนโยบายของพรรคการเมือง หากประชาชนทั่วไปไม่รู้เจตนาแท้จริงของผู้ถูกร้องทั้งสองอาจหลงตามความคิดเห็นที่แสดงออกผ่านการเสนอร่างกฎหมายและนโยบายของพรรค การที่ผู้ถูกร้องทั้งสองใช้การเสนอกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพื่อลดสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

เป็นการใช้ประโยชน์จากสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อหวังผลคะแนนเสียงและชนะการเลือกตั้ง มุ่งหมายให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชน และทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกโจมตี ติเตียน โดยไม่คำนึงถึงหลักกรพื้นฐานสำคัญว่าพระมหากษัตริย์ต้องดำรงฐานะอยู่เหนือการเมืองและความเป็นกลางทางการเมือง การเสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และใช้เป็นนโยบายพรรคในการหาสียงเลือกตั้งดังกล่าว จึงมีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง นำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด

นอกจากนี้ ปรากฎข้อเท็จจริงว่ามีพฤติการณ์ของกรรมการบริหารพรรค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ทั้งในอดีตและปัจจุบัน แสดงบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมืองสอดรับกับความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ด้วยการรณรงค์ ปลุกเร้า และยุยงปลุกปั่น เพื่อสร้างกระแสในสังคม ให้สนับสนุนการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เช่น กิจกรรม "ยืน หยุด ขัง" และ "คณะราษฎรยกเลิก 112" นายรังสิมันต์ โรม และนางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายดังกล่าว มีการจัดกิจกรรมการปราศรัยใหญ่ที่จังหวัดชลบุรีของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ผู้ถูกร้องที่ 1 นำสติ๊กเกอร์สีแดงปิดลงในช่องยกเลิกมาตรา 112 และปราศรัยบนเวทีแสดงทัศนคติให้เห็นว่า

หากกฎหมายดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไขในสภาผู้แทนราษฎรก็พร้อมที่จะดำเนินการโดยอาศัยวิถีทางอื่นนอกเหนือจากกระบวนการนิติบัญญัติ ประกอบกับพฤติการณ์การเป็นนายประกันให้กับผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีความผิดตามมาตรา 112 ได้แก่ ผู้ถูกร้องที่ 1 นายชัยธวัช ตุลาธน นายรังสิมันต์ โรม นางสาวสุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา นายทองแดง เบ็ญจะปัก นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล และนายธีรัจชัย พันธุมาศ

โดยเฉพาะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ได้แก่ นายปิยรัฐ จงเทพ นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว และนางสาวรักชนก ศรีนอก เป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีความผิดดังกล่าว ซึ่งเป็นการกระทำเข้าองค์ประกอบแห่งความผิดตามกฎหมาย ไม่ใช่การถูกดำเนินคดีเพราะเป็นเรื่องความเห็นต่างหรือเป็นคดีการเมือง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองมีพฤติการณ์ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เพื่อเรียกร้องให้มีการทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยช่อนเร้นผ่านการเสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และใช้เป็นนโยบายพรรคการเมือง

อ่านรายละเอียด! "ศาล รธน." เปิดคำวินิจฉัยเต็มปมตัดสิน "พิธา-ก้าวไกล" แก้ 112

แม้เหตุการณ์ตามคำร้องผ่านพ้นไปแล้ว แต่การรณรงค์ให้มีการยกเลิกหรือการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาของผู้ถูกร้องทั้งสองมีลักษณะดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นขบวนการ โดยใช้หลายพฤติการณ์ประกอบกัน ทั้งการชุมนุมเรียกร้อง การจัดกิจกรรมทางการเมือง การรณรงค์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ การเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร และใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง หากปล่อยให้ผู้ถูกร้องทั้งสองกระทำการดังกล่าวต่อไปย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองจึงเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง ซึ่งมาตรา 49 วรรคสอง บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคตได้

ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นเพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

อีกทั้ง ไม่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยวิธีการ ซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 74

 

logoline