svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"จุลพันธ์"เผยยังไม่ได้หนังสือจากผู้ตรวจฯเรียกแจงเงินหมื่นดิจิทัล

22 มกราคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"จุลพันธ์" เผย รบ. ยังไม่ได้รับหนังสือจากผู้ตรวจการแผ่นดินให้แจงโครงการเงินหมื่นดิจิทัล ย้ำพร้อมอธิบายทุกฝ่ายให้เข้าใจ ยันไร้กดดันขอให้รัฐบาลเร่งความชัดเจน ชี้รอความเห็น ป.ป.ช. ก่อนนัดประชุม ขณะที่ "พิชิต ชื่นบาน" ชี้ขอเสนอแนะมาไม่ถูกจังหวัด วอนดูความเป็นจริง

22 มกราคม 2567 ยังต้องจับตาโดยเฉพาะหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศไว้เป็นสัญญาประชาคม ว่าจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจพร้อมกับสามารถยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนได้ คือ ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ท่ามกลางเสียงคัดค้านที่เกรงว่าโครงการนี้จะส่งผลกระทบต่อชาติ


โดย "นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์" รมช.คลัง กล่าวว่า กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินรับเรื่องร้องเรียนตรวจสอบนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต และส่งหนังสือขอให้ชี้แจงรายละเอียดภายในวันที่ 30 ม.ค.นั้น ขณะนี้รัฐบาลยังไม่ได้รับหนังสือ ถ้าส่งมาก็พร้อมที่จะไปชี้แจงทำความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นส่วนงานใดก็ตาม ที่ประสงค์จะรับทราบข้อมูล

 

"เราก็ยินดีตอบสนอง และส่งรายละเอียดโครงการ ซึ่งมีความพร้อมแล้วที่จะส่งให้ โดยขณะนี้สถานการณ์ก็ไม่ต่างจากเดิม เพราะรัฐบาลรอความเห็นจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ว่าจะส่งเอกสารความเห็นมาให้รัฐบาลได้เมื่อไหร่" นายจุลพันธ์ กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อส่งมาแล้วก็จะมีการนัดประชุมคณะกรรมการนโยบายฯ เพื่อหาหนทางในการดำเนินการต่อ และชี้แจงทำความทุกฝ่ายให้เข้าใจตรงกัน เพื่อเดินหน้านโยบายซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แก้ไขปัญหาให้กับประชาชน และการมาลงพื้นที่ในวันนี้ (22ม.ค.) แม้จะไม่ได้พูดในเรื่องนี้ แต่ก็รับทราบได้ว่าประชาชนไม่ได้มีกำลังในการจับจ่ายใช้สอย   เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้มีการหมุนเวียน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น 

เมื่อถามย้ำว่า การให้เวลารัฐบาลชี้แจง 30 วันเพียงพอหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ตนเองยังไม่เห็นหนังสือดังกล่าว จึงขอไม่ตอบ ถ้าหากส่งมาและให้รัฐบาลส่งกลับวันไหนก็จะส่งวันนั้น สามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว ส่วนกรณีที่ผู้ตรวจฯ ขอให้รัฐบาลเร่งโครงการแจกเงินดิจิทัลให้เกิดความชัดเจนโดยเร็วนั้น มองว่าไม่ได้เป็นการกดดัน

ขณะที่ "นายพิชิต ชื่นบาน" ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการเผยแพร่ข้อเสนอแนะที่เกี่ยวกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โดยมีการกล่าวอ้างว่าเป็นข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อคณะรัฐมนตรี ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 32 ต่อมา "นายนิวัติไชย เกษมมงคล" เลขาธิการ ป.ป.ช. ชี้แจงว่า ขณะนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่มีความเห็นใดๆ เกี่ยวกับโครงการดังกล่าว เพราะต้องรอคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่ละคนส่งความเห็นสรุปกลับมาก่อนจะมีมติ และส่งความเห็นไปยังรัฐบาล  

อย่างไรก็ตาม ร่างเอกสารที่เกี่ยวกับข้อเสนอแนะโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ที่เผยแพร่ออกมานั้น มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตถึงช่วงเวลาความเหมาะสม ต่อข้อเสนอแนะ ว่า "ถูกจังหวะ หรือไม่" เพราะโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เป็นหนึ่งในโครงการที่นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายไว้ต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566 ซึ่งต่อมาครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2566 เห็นชอบในหลักการให้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินฯ เพื่อทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย วัตถุประสงค์ และแนวทางการดำเนินโครงการฯ หลักเกณฑ์และเงื่อนไข และแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการฯ เพื่อเสนอต่อ ครม. 

ภายหลังคณะกรรมการนโยบายฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการ เพื่อทำการศึกษา พิจารณา วิเคราะห์การดำเนินโครงการ ฯ และแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการ รวมทั้งเสนอแนะนโยบาย วัตถุประสงค์ แนวทาง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการดำเนินโครงการ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบาย โดยปัจจุบันโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบาย ที่จะพิจารณาแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ในการดำเนินโครงการ ซึ่งยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะต้องพิจารณาข้อเท็จจริง ความเห็น หรือข้อสังเกตของกรรมการในคณะกรรมการนโยบาย รวมทั้งข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนที่เกี่ยวข้องให้รอบคอบและรอบด้านเสียก่อนตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นไว้

นอกจากนี้ เมื่อคณะกรรมการนโยบาย พิจารณาแล้วเสร็จ จะต้องเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาอีกครั้ง หากครม.เห็นชอบก็ยังมีกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ ที่จะดำเนินการเสนอร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน ต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 133 อีก เมื่อร่างพ.ร.บ.กู้เงิน เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ยังมีขั้นตอนที่ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยจะได้ร่วมกันพิจารณารายละเอียดต่างๆ ของโครงการร่วมกันอีกครั้ง หากได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ยังมีกระบวนการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างพระราชบัญญัติกู้เงินจากศาลรัฐธรรมนูญอีก

ท้ายสุดหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพ.ร.บ.กู้เงินไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ก็จะเข้าสู่การประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมาย และจะทำให้กระทรวงการคลังก็จะมีอำนาจในการกู้เงินได้ กระบวนการต่างๆ ที่กล่าวมานี้ เป็นกระบวนการตามกฎหมายอันเป็นกระบวนการตรวจสอบ ตามครรลองในวิถีทางของประชาธิปไตย ที่รัฐบาลได้กระทำบนพื้นฐานโดยสุจริตตามหลักการของรัฐธรรมนูญ ไม่มีเจตนาซ่อนเร้นหรือแอบแฝง เพื่อหาทางลงตามที่มีหลายฝ่ายวิจารณ์แต่ประการใด

 

"เพราะรัฐบาลเห็นว่าโครงการดังกล่าวมีความสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และสามารถช่วยเหลือประชาชนครอบคลุมมากกว่า 50 ล้านคน โดยที่ยังมีประชาชนอีกมากมายที่ยังคงเฝ้ารอโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet อยู่ ซึ่งรัฐบาลพยายามที่จะเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่ แม้ข้อเสนอแนะต่างๆ เกี่ยวกับโครงการของรัฐบาลที่ ภาคส่วนต่างๆ ดำเนินการตรวจสอบอยู่จะเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงที่เป็นที่ยุติ ไม่ควรสมมุติฐาน หรือคาดหมายล่วงหน้าในสถานการณ์ที่ไกลเกินกว่าที่ควรจะเป็น" นายพิชิต ระบุ

 

อย่างไรก็ดี เมื่อปัจจุบันโครงการยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบาย ที่ ครม.แต่งตั้งขึ้น ซึ่งยังไม่ได้เริ่มดำเนินการใดๆ เพื่อที่จะกู้เงิน การที่หลายฝ่ายเร่งรีบให้ข้อเสนอแนะต่อโครงการจึงอาจเร็วไปหน่อย ไม่ถูกจังหวะเท่าที่ควร และอาจกลายเป็นอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน จึงได้แต่วิงวอนผู้มีอำนาจทั้งหลาย โปรดเหลียวตามองดูประชาชน และรอดูจังหวะที่เหมาะสมดีกว่าไหม 

 

 

logoline