svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

17 ม.ค. วันชี้ชะตา "ศักดิ์สยาม" ปมซุกหุ้น กับอนาคตบนถนนการเมือง

17 มกราคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

17 ม.ค.67 "ศาลรัฐธรรมนูญ" นัดชี้ชะตา "ศักดิ์สยาม" ปมซุกหุ้น หจก.บุรีเจริญฯ บทสรุปจะได้ไปต่อบนเส้นทางการเมืองหรือไม่ พร้อมย้อนไทม์ไลน์ คดีเป็นมายังไง

จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ นัดอ่านคำวินิจฉัยกรณี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีต รมว.คมนาคม ซึ่งถูกร้องว่ายังถือหุ้นส่วนและเป็นผู้ถือหุ้นและเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ถือเป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 187 ประกอบ พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี 2543 มาตรา 4(1) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่

"เนชั่นออนไลน์" ขอพาย้อนไปดูเส้นทางคดีนี้ ว่ามีความเป็นมาอย่างไร 

ย้อนไทม์ไลน์ ปม "ศักดิ์สยาม" ซุกหุ้น
นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
19 ก.ค.2565 นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายกล่าวหา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ในขณะนั้น ว่าปกปิดทรัพย์สินของตัวเองในส่วนที่เป็น ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น โดยใช้ลูกจ้างเป็นนอมินี และเมื่อปี 2561 ที่มีข่าวการเลือกตั้ง มีการโอนหุ้นทั้งหมดไปให้นอมินีในวันรุ่งขึ้นทันที ก่อนรับตำแหน่งรัฐมนตรีเพียง 23 วัน นอกจากนี้ ยังมีการนำ หจก.บุรีเจริญฯ มาเป็นคู่สัญญากับรัฐ รับงานในกระทรวงคมนาคมที่ตัวเองเป็นรัฐมนตรี เป็นมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีต รมว.คมนาคม
ต่อมา 20 ก.ค.2565 นายศักดิ์สยาม ชี้แจงในสภาฯ โดยระบุว่า 

  • มีการซื้อขายหุ้นกันจริง มีการโอนเงินกัน 3 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2560-2561 ครั้งแรก 35 ล้านบาท ครั้งที่ 2 อีก 35 ล้านบาท และ ครั้งที่ 3  จำนวน 49.5 ล้านบาท และได้ไปแจ้งการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในปี 2561 ฉะนั้นหลังจากนั้น หจก.บุรีเจริญฯ ทำธุรกิจ ทำธุรกรรมอะไรเป็นเรื่องของเขา ต้องไปสอบถามกับ หจก.เอง 
     
  • ส่วนประเด็นที่ว่าทำไมการซื้อขายหุ้นครั้งนี้ จึงไม่ยื่นหลักฐานไปที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่องนี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกรม หลักฐานที่ต้องยื่นมีเรื่องเดียว คือ มีการเพิ่มเงินลงทุน ฉะนั้นตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค.2561 จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจอย่างใดทั้งสิ้น  
     
  • มีคำถามว่าทำไมไม่รายงาน ป.ป.ช. ขอชี้แจงว่ากิจกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้น ยังไม่ได้เข้าสู่ตำแหน่ง และเข้าสู่ตำแหน่ง รมว.คมนาคม วันที่ 5 พ.ค.2562 ตามกฎหมายต้องแจ้งบัญชีที่มี ณ ขณะนั้น ได้แจ้งไปเรียบร้อย เอกสารต่างๆ ก็ชัดอยู่แล้ว ป.ป.ช. ได้ประกาศต่อสาธารณะ 

ฝ่ายค้าน ยื่น "ชวน" ส่งศาล รธน. ถอด "ศักดิ์สยาม" พ้น รมต.-สส. 
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ (ในขณะนั้น)

25 ม.ค.2566 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน ในขณะนั้น ยื่นเรื่องถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร  ในขณะนั้น ขอให้เสนอเรื่องไปยังประธานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรี และสมาชิกภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ สิ้นสุดลง เหตุมีการกระทำที่ละเมิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 ว่าด้วยวิธีการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี

7 ก.พ.2566 พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ , นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล , พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ยื่นเรื่องถึงประธานสภาฯ อีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้ เคยยื่นคำร้องให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเอาผิดนายศักดิ์สยาม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 แต่ประธานสภาฯ วินิจฉัยไม่ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ อ้างไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ประธานสภาฯ

ส่วนครั้งนี้ สส.ฝ่ายค้าน รวม 54 คน ส่งผ่านประธานสภาฯ ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพความเป็นรัฐมนตรี และ สส. นายศักดิ์สยาม สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (5) ประกอบมาตรา 187 กรณีห้ามรัฐมนตรีถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัด หรือไม่

ศาล รธน. สั่ง "ศักดิ์สยาม" หยุดปฏิบัติหน้าที่ รมว.คมนาคม ปม "ซุกหุ้น"

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีต รมว.คมนาคม
3 มี.ค.2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ให้รับคำร้องไว้วินิจฉัย และสั่งให้นายศักดิ์สยาม หยุดปฏิบัติหน้าที่ รมว.คมนาคม ทันที ตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค.2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย กรณียังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและยังคงเป็นผู้ถือหุ้น และเจ้าของ หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น 

ซึ่งจะทำให้ผู้ถูกร้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วน เป็นการกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 187 ประกอบ พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 มาตรา 4 (1) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีต รมว.คมนาคม
19 มี.ค.2566 นายศักดิ์สยาม เปิดเผยว่า ได้ยื่นขอต่อศาลรัฐธรรมนูญ และศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายเวลาการยื่นเอกสารคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา กรณียังคงไว้ซึ่งหุ้น หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น และเป็นเหตุให้ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ออกไปเป็นเวลา 30 วัน 

ศาล รธน. ยืนคำสั่งเดิม "ศักดิ์สยาม" หยุดปฏิบัติหน้าที่ รมต.

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีต รมว.คมนาคม

11 เม.ย.2566 นายศักดิ์สยาม ได้ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 10 เม.ย.2566 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี 

18 เม.ย.2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคําสั่งไม่รับคําร้องของนายศักดิ์สยาม กรณีขอให้เพิกถอนคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีตามคําร้องยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติม อันจะเป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่เดิม จึงยกคำร้องดังกล่าว

14 มิ.ย.2566  ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาคดี ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องจัดส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมต่อศาลรัฐธรรมนูญ

12 ก.ค.2566 ศาลรัฐธรรมนูญ อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยแล้วเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณา ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องจัดส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ศาล รธน. นัด 17 ม.ค.2567 ชี้ชะตา "ศักดิ์สยาม" คดีซุกหุ้น 

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีต รมว.คมนาคม
14 ธ.ค.2566 นายศักดิ์สยาม เปิดเผยภายหลังเข้ารับฟังการไต่สวน ว่า ส่วนตัวขอขอบคุณศาลที่ให้โอกาสชี้แจงในวันนี้ (14 ธ.ค.) แต่รายละเอียดทั้งหมดต้องรอคำวินิจฉัย  เมื่อถามย้ำว่า ฟังแล้วมีความหนักใจอะไรหรือไม่ นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า รอคำวินิจฉัยดูก่อน เพราะตนได้แจ้งข้อเท็จจริงไปแล้ว เมื่อถามต่อว่า ได้ยื่นพยานหลักฐานครบถ้วนหรือไม่ นายศักดิ์สยาม ได้พยักหน้าตอบรับ

หลังจากไต่สวนเสร็จสิ้น ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 17 ม.ค. 2567 

ย้อนดูสาระสำคัญ คดีซุกหุ้น "ศักดิ์สยาม"

  1. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กับ นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ (ผู้รับโอนหุ้น) "มี-ไม่ได้มีเจตนาที่แท้จริง" ในการทำสัญญาซื้อขายสิทธิลงหุ้น หจก.บุรีเจริญฯ
  2. "มี-ไม่มีการโอนเงิน" เพื่อชำระค่าหุ้นกันอย่างแท้จริง หลักฐานการโอนเงินที่อ้างว่าเป็นการชำระค่าหุ้นนั้นเป็นเพียงธุรกรรมปกติที่บุคคลทั้งสองกระทำระหว่างกัน โดยไม่เปิดเผยต่อบุคคลภายนอกมิใช่การโอนชำระค่าหุ้น  
  3. สัญญาซื้อขายหุ้นฉบับลงวันที่ 26 ม.ค.2561 เป็นการทำนิติกรรม "จริง-ลวง"

เปิดหลักฐาน ซึ่งเป็นข้อกล่าวหา "ศักดิ์สยาม" ที่ได้มีการยื่นต่อศาล 

  1. เงินจำนวน 119.5 ล้านบาท ที่อ้างว่าขายหุ้นให้กับเพื่อนชื่อว่า นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ นั้น แท้ที่จริงแล้ว เป็นเงินของ "ศักดิ์สยาม"เองหรือไม่ 
  2. การโอนหุ้น หจก.บุรีเจริญฯ ให้ นายศุภวัฒน์ เป็นนิติกรรมอำพราง เพื่อให้เป็น "นอมินี" ถือหุ้นแทนหรือไม่ เนื่องจากศักดิ์สยามจะรับตำแหน่งรัฐมนตรี จึงต้องถ่ายหุ้นออกจากตัวเอง 
  3. รายได้และหลักฐานการเสียภาษีของ นายศุภวัฒน์ ซึ่งซื้อหุ้น หจก.บุรีเจริญฯ ไปนั้น สอดคล้องกับฐานะทางการเงิน อันจะสามารถซื้อหุ้นมูลค่าถึง 119.5 ล้านบาทได้จริงหรือไม่  

จาก 3 ประเด็นที่ยกตัวอย่างมานั้น ถ้านายศักดิ์​สยาม สามารถอธิบายจนเคลียร์ข้อสงสัย ก็จะพ้นมลทินในที่สุด แต่หากไม่สามารถชี้แจงได้ ผลที่ตามมาคงไม่ต้องบอกว่าจะเป็นเช่นไร

ดังนั้น จึงต้องจับตาดูกันต่อว่า อนาคตข้างหน้าของ "เดอะโอ๋" ศักดิ์สยาม หลังวันที่ 17 ม.ค.นี้ จะเป็นเช่นไร 

logoline