svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

จะจบแบบไหน? ประมวล "คดีคนการเมือง" ที่น่าจับตา ปีมังกรทอง 2567

30 ธันวาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ประมวล "คดีคนการเมือง" ที่น่าจับตา รับปีมังกรทอง 2567 ทั้งคดีถือหุ้นสื่อ "ไอทีวี" ของ "พิธา" และปมหาเสียงแก้ ม.112 "พิธา-ก้าวไกล" ส่วนจะมีคดีอะไร ของใครที่ต้องลุ้นอีก ติดตามได้ที่นี่

เริ่มด้วยคดีการถือครองหุ้นสื่อ "ไอทีวี" ที่เป็นชนวนให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. 

มีจุดเริ่มต้นมาจากเมื่อวันที่ 10 พ.ค.2566 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบพิธา ถือหุ้นบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น

ต่อมา 19 พ.ค.2566 นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน และ นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำพิราบขาว 2006 ยื่นเรื่องร้องเรียนกรณีหุ้นไอทีวี ของนายพิธา เช่นเดียวกัน

29 พ.ค.2566 กกต.เชิญ 3 ผู้ร้องให้ตรวจสอบกรณีหุ้นไอทีวี มายืนยันคำร้องและให้ถ้อยคำเพิ่มเติม ประกอบด้วย "เรืองไกร- สนธิญา-นพรุจ"

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล
6 มิ.ย.2566 นายพิธา โอนหุ้นให้ทายาทเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ หลังเชื่อว่ามีขบวนการพยายามจะฟื้นคืนชีพให้ไอทีวี กลับมาเป็นสื่อฯ เพื่อนำมาใช้สกัดคะแนนนิยมก้าวไกลช่วงเลือกตั้ง

9 มิ.ย.2566 ที่ประชุม กกต. มีมติไม่รับ 3 คำร้องขอให้ตรวจสอบกรณีการถือหุ้นไอทีวีของ "พิธา" ไว้พิจารณา เนื่องจากเป็นการยื่นเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด แต่รับเรื่องไว้พิจารณาตาม มาตรา 151 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. พ.ศ.2561 เหตุรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิสมัครแต่ยังฝ่าฝืน

14 มิ.ย.2566 ป.ป.ช. ยืนยันนายพิธา ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเพิ่มเติมเมื่อปี 2562 พร้อมแนบคำสั่งศาลเป็นผู้จัดการมรดกหุ้นไอทีวีจริง พร้อมให้ข้อมูลดังกล่าวแก่ กกต. หาก กกต.มีการร้องขอ

10 ก.ค.2566 พรรคก้าวไกลส่งหนังสือด่วนถึง กกต. ขอคัดค้าน กกต. ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยกรณีหุ้นไอทีวีของนายพิธาเนื่องจากผิดขั้นตอนมีความเร่งรัดเกินกว่าเหตุ
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล
12 ก.ค.2566 ที่ประชุม กกต. เห็นว่าสมาชิกภาพของพิธา มีเหตุสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) จึงให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย ก่อนที่ศาลรับคำร้อง

19 ก.ค.2566 ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องดังกล่าวไว้ พร้อมมีคำสั่งให้นายพิธา ซึ่งเป็นผู้ถูกร้อง หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

ส่วนคดีหาเสียงแก้ มาตรา 112 

สืบเนื่องจากนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความของอดีตพระพุทธอิสระ ได้ยื่นคำร้องให้อัยการสูงสุดและศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล ที่เสนอร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่.. พ.ศ. ....) เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่ (สำหรับ มาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ ระบุว่า "บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้")

22 พ.ค.2566 นายธีรยุทธ ยื่นหลักฐานร้อง กกต. ตรวจสอบพรรคก้าวไกล และนายพิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกลในขณะนั้น หาเสียงว่าจะแก้ไข มาตรา 112 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

30 พ.ค.2566 นายธีรยุทธ ยื่นคำร้องขอให้อัยการสูงสุด ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สั่งให้พิธาและพรรคก้าวไกลเลิกการกระทำ

16 มิ.ย.2566 นายธีรยุทธ เข้ายื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้พิจารณาวินิจฉัยสั่งให้นายพิธา ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกทำนโยบายการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และขอให้เลิกการให้สัมภาษณ์ โฆษณาใดๆ 

โดยผู้ร้องอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 หากมีการพบเห็นการกระทำที่เข้าข่าย เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันอาจจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้ใช้สิทธิยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด และได้ยื่นคำร้องไปแล้ว เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2566 เมื่อครบ 15 วัน อัยการยังไม่ได้สั่งการใด ๆ  เป็นสิทธิที่จะยื่นร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

26 มิ.ย.2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้สอบถามอัยการสูงสุดว่า มีคำสั่งรับหรือไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ หากมีคำสั่งรับคำร้องขอ ดำเนินการแล้วอย่างไร และผลการดำเนินการเป็นอย่างไร โดยให้แจ้งต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายใน 15 วัน

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล
ต่อมา 12 ก.ค.2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 7 (3) แจ้งให้ผู้รับทราบ โดยให้ นายพิธา และพรรคก้าวไกล ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 54 และเพื่อประโยชน์แก่การพิจารณา แจ้งอัยการสูงสุดว่า หากอัยการสูงสุดได้รับพยานหลักฐานใดเพิ่มเติมให้จัดส่งศาลรัฐธรรมนูญโดยเร็ว

23 ส.ค.2566 ศาลรัฐธรรมนูญอนุญาตให้ผู้ถูกร้องทั้งสอง ขยายระยะเวลายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาครั้งที่ 2 ไว้ จึงให้เลื่อนการพิจารณาต่อไป

4 ต.ค.2566 ศาลรัฐธรรมนูญได้อภิปรายถูกร้องทั้งสองเพิ่งยื่นคำชี้แจง เมื่อวันที่ 26 ก.ย.2566 ตามที่ผู้ถูกร้องทั้งสองขอขยายระยะเวลาเป็นครั้งที่ 2 พิจารณาเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณา ให้บุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำความเห็นและจัดส่งสำเนาเอกสารหลักฐานตามที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนด ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันได้รับหนังสือ

18 ต.ค. 2566 ศาลรัฐธรรมนูญรอคำชี้แจงและพยานหลักฐานจากบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใน 15 วัน

ศาล รธน. นัดเดือน ธ.ค. ไต่สวนพยานคดี "พิธา" ถือหุ้นไอทีวี-หาเสียงแก้ไข มาตรา 112 
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล

22 พ.ย.2566 ศาลรัฐธรรมนูญ นัดพิจารณาคดีเกี่ยวกับ "พิธา" กรณีถือครองหุ้นสื่อไอทีวี และ เสนอแก้มาตรา 112 ที่พรรคก้าวไกลใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง

โดยประเด็นการถือครองหุ้นสื่อไอทีวี กกต. ได้ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการสิ้นสุดสมาชิกภาพ สส. สิ้นสุดลงหรือไม่ จากกการถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน)

ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาและเห็นควรไต่สวนพยานบุคคลต่อไป จึงกำหนดนัดวันไต่สวนพยานบุคคล 20 ธ.ค.2566

ส่วนคดี "พิธา-พรรคก้าวไกล" หาเสียงแก้มาตรา 112 นั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาและเห็นควรไต่สวนพยานบุคคลต่อไป จึงกำหนดนัดวันไต่สวนพยานบุคคล 25 ธ.ค.2566

จับตาเดือน ม.ค.2567 ศาลนัดชี้ชะตา "พิธา-ก้าวไกล"
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล
20 ธ.ค.2566 นายพิธา นำเอกสาร 2 กระเป๋าใหญ่ เข้าแจงศาลรัฐธรรมนูญ ปมถือหุ้นไอทีวี พร้อมบอกมั่นใจในหลักฐาน ไม่กังวล ก่อนศาลนัดฟังคำวินิจฉัย 24 ม.ค.2567

25 ธ.ค.2566 ศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนพยาน รวม 2 ปาก คือ นายพิธา และนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล โดยตอบข้อชักถามของศาลและของคู่กรณี ปมนายพิธา และพรรคก้าวไกล หาเสียงแก้มาตรา 112 ล้มล้างการปกครองหรือไม่ 

โดยศาลนัดแถลงการณ์ด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ และลงมติในวันที่ 31 ม.ค.2567 เวลา 09.30 น. กับนัดฟังคำวินิจฉัย เวลา 14.00 น.

ด้าน นายธีรยุทธ ในฐานะผู้ร้อง เปิดเผยหลังเข้าให้คำไต่สวนว่า ไม่มีสิ่งใดที่ติดค้างใจ ซึ่งตามคำร้อง ปรารถนาเพียงว่า ให้เกิดการหยุด ให้เกิดการยกเลิก ที่จะเปิดช่องทางให้มีการก้าวล่วงถึงสถาบัน คือสิ่งที่ตนต้องการ โดยนายคำร้องไม่ได้มีการให้ศาลพิจารณาถึงการยุบพรรค

ขณะที่ นายพิธา กล่าวว่า ไม่ว่าผลวินิจฉัยออกมาอย่างไร จะเป็นคุณหรือเป็นโทษ ก็ยังคงทำงานกับ พรรคก้าวไกลต่อไป ไม่ได้ยึดติดกับตำแหน่ง แต่หากผลวินิจฉัยเป็นคุณก็จะได้กลับไปปฎิบัติหน้าที่ สส.

ส่วนบทบาทในพรรคก้าวไกล รอความชัดเจนในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีช่วงเดือน เม.ย.2567 ส่วนในอนาคตจะเป็นอย่างไร จะต้องรอผลคำวินิจฉัยของศาลออกมาก่อน 
นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล
ส่วน นายชัยธวัช บอกว่า การไต่สวนผ่านไปได้ด้วยดี เรายังมั่นใจ ทำด้วยข้อเท็จจริงของกฎหมายและเจตนาของเรา สามารถชี้ได้ว่า ไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครอง 

ศาล รธน. นัด 17 ม.ค.2567 ชี้ชะตา "ศักดิ์สยาม" ปมถือหุ้น ขาดคุณสมบัติ รมต.หรือไม่
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีตรมว.คมนาคม

ปี 2567 ยังมีอีกคดีที่ต้องจับตา คือ ปมถือครองหุ้นและเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีตรมว.คมนาคม สมัยรัฐบาลชุดที่ผ่านมา 

คดีนี้ มาจากกรณีฝ่ายค้านเวลานั้น คือ พรรคก้าวไกล และ พรรคประชาชาติ รวม 54 คน เข้ายื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยาม สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่  

ส่งผลให้นายศักดิ์สยาม ต้องถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ในวันที่ 3 มี.ค.2566 จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย แม้จะมีการยื่นคำร้องไปเมื่อวันที่ 10 เม.ย.2566 ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว แต่ก็ไม่เป็นผล
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีตรมว.คมนาคม
นายศักดิ์สยาม เปิดเผยภายหลังเข้ารับฟังการไต่สวน เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า ส่วนตัวขอขอบคุณศาลที่ให้โอกาสชี้แจงในวันดังกล่าว แต่รายละเอียดทั้งหมดต้องรอคำวินิจฉัย เมื่อถามต่อว่า ได้ยื่นพยานหลักฐานครบถ้วนหรือไม่ นายศักดิ์สยาม ได้พยักหน้าตอบรับ

อย่างไรก็ตาม หลังจากไต่สวนเสร็จสิ้น ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 17 ม.ค. 2567 

อัยการส่งฟ้อง "สว.อุปกิต" คดีฟอกเงิน-สมคบยาเสพติด ศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน 13 พ.ค.2567 

นายอุปกิต ปาจรียางกูร สมาชิกวุฒิสภา

อีกคดีหนึ่งที่ต้องติดตามกันต่อในปี 2567 คือ คดีที่พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดียาเสพติด 9 นำตัว นายอุปกิต ปาจรียางกูร สมาชิกวุฒิสภา ยื่นฟ้องต่อศาลอาญา ใน 6 ฐานความผิด ประกอบด้วย

  1. เป็นสมาชิกวุฒิสภาสมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด
  2. ร่วมกันจำหน่ายโดยมีไว้ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 (เคตามีน)โดยไม่ได้รับอนุญาต 
  3. เป็นสมาชิกวุฒิสภาสมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปกระทำความผิดฐานฟอกเงิน
  4. เป็นสมาชิกวุฒิสภาร่วมกันฟอกเงิน
  5. เป็นสมาชิกวุฒิสภาร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรข้ามชาติโดยสมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปกระทำผิดร้ายแรง
  6. มีส่วนร่วมไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในกิจกรรมขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ 

ซึ่งศาลอาญารับฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำที่ ย.1446/2566 โดยศาลอธิบายคำฟ้องเเละสอบคำให้การในวันที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยนายอุปกิต ในฐานะจำเลยปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 13 พ.ค.2567

นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด

นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า ใน 6 ข้อหาที่แจ้งกับนายอุปกิตนั้น เป็นข้อหาที่ตั้งมาตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวน และมีบางส่วนที่อัยการสั่งให้ตรวจสอบ และแจ้งข้อหาเพิ่มเติม 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังถูกอัยการยื่นฟ้อง นายอุปกิต ได้ใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 5 ล้านบาท และใช้บุคคลค้ำประกันในการยื่นขอปล่อยชั่วคราว ก่อนศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว นายอุปกิต ระหว่างการพิจารณา โดยมีหลักทรัพย์ประกันเป็นจำนวน 10 ล้านบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไข มีคำสั่งห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

ย้อนรอยคดี 

คดีนี้ มีที่มาจากกรณีที่ "ป.ป.ส." สนธิกำลัง ตำรวจสืบสวนนครบาล 2 กว่า 100 นาย บุกจับกุมเครือข่ายยาเสพติดรายสำคัญ 5 เป้าหมาย โดยหนึ่งในนั้น คือ "Mr.Tun Min Latt" หรือ "ตุน มิน ลัต" นักธุรกิจชื่อดังชาวเมียนมา ในข้อหา สมคบกันกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด เมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา อีกทั้ง ยังพบความสัมพันธ์ทางด้านธุรกิจกับชาวไทย โดยมีชื่อ นายอุปกิต ปาจรียางกูร สมาชิกวุฒิสภา รวมอยู่ด้วย

นายรังสิมันต์ โรม สส.พรรคก้าวไกล

ต่อมา นายรังสิมันต์ โรม สส.พรรคก้าวไกล อภิปรายในสภา เผยข้อมูลกล่าวหานายอุปกิตว่า มีส่วนพัวพันกับคดียาเสพติดข้ามชาติ และฟอกเงิน

สว.อุปกิต ร่ำไห้สาบาน ยัน ไม่เคยเอี่ยวยาเสพติด

ด้าน นายอุปกิต ออกมาแถลง ยกมือพนมกล่าวสาบานทั้งน้ำตาว่า

"ผมและครอบครัวไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจยาเสพติดอย่างที่โดนกล่าวหา ไม่คิดจะทำ และไม่มีวันทำ แต่หากใครใส่ร้ายกล่าวหาผมและครอบครัว ขอให้ท่านเหล่านั้นและครอบครัวประสบความวิบัติและมีอันเป็นไป" 

พร้อมลุยฟ้องนายรังสิมันต์ ฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 100 ล้านบาท

นี่ก็คือคดีของคนการเมืองที่น่าจับตามอง ในช่วงปีมังกรทอง 2567 ที่จะถึงนี้ ซึ่งต้องมาลุ้นกันต่อว่า เส้นทางในอนาคตข้างหน้า จะเป็นอย่างไร?



อ้างอิง 
https://www.khaosod.co.th/newspaper/newspaper-inside-pages/news_7686097
https://prachatai.com/journal/2023/02/102783

logoline