svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

รู้หรือไม่ "วันเด็ก" มีที่มาอย่างไร สะท้อนยุคสมัย ผ่านคำขวัญ "นายกฯ"

10 มกราคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กว่า 60 ปี ของวัน "World Children's Day" หรือ "วันเด็ก" ประเทศไทยจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อไร "นายกฯ" สะท้อนถึงเด็ก ผ่านคำขวัญในแต่ละยุคสมัยอย่างไร มาทบทวนความจำกัน

  • วันเด็กเริ่มมีขึ้นตั้งแต่เมื่อไร
  • รัฐบาลไทย เริ่มจัดงานวันเด็กสมัยไหน
  • ทำไมต้องมีคำขวัญวันเด็ก
  • รู้หรือไม่มีนายกรัฐมนตรี ใช้คำขวัญเดียว 3 ปี
  • คำ ในคำขวัญที่ซ้ำกันมากที่สุด

วันที่ 13 มกราคม 2567 ถูกกำหนดให้เป็น "วันเด็กแห่งชาติ" ในปีนี้ โดยที่มาของ "วันเด็ก" เริ่มจาก นายวี.เอ็ม กุลกานี ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศ แห่งสหประชาชาติ ได้ประกาศปฏิญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก โดยกำหนดให้มีขึ้นเป็นครั้งแรก ในวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม พ.ศ. 2498 เป็นวัน "World Children's Day" 

วัตถุประสงค์ เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของเด็กและเยาวชน รวมถึงปลูกฝังให้เด็กๆ เข้าใจบทบาทและรู้จักหน้าที่ในการมีส่วนร่วมกับสังคมในฐานะพลเมืองโลก ทำให้ทั่วโลกเริ่มจัดงานวันเด็กอย่างเป็นทางการนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

วันเด็กในประเทศไทย 

จอมพล ป.(แปลก) พิบูลย์สงคราม
จัดงานและออกคำขวัญวันเด็ก เป็นครั้งแรก เมื่อปี 2499 ว่า "จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม" หลังจากนั้นเว้นวรรคด้วยปัญหาทางการเมือง มาจนถึงปี 2502 ในสมัย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงเริ่มต้นอีกครั้ง และปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน

โดยรัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ ทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาล และเอกชน กำหนดให้มีการฉลองวันเด็กแห่งชาติ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อให้เด็กทั่วประเทศ ได้รู้ถึงความสำคัญของตน เกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ ความรับผิดชอบ ระเบียบวินัย ที่มีต่อตนเองและสังคม มีความยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

แรกเริ่มการฉลอง "วันเด็กแห่งชาติ" ของไทย ยึดตามที่สหประชาชาติกำหนด คือ ทุกปีในวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม แต่ในปี 2506 และ 2507 ไม่สามารถจัดงานวันเด็กได้ทัน เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูฝน ทำให้เด็กไม่สามารถมาร่วมงานได้ จึงเริ่มจัดอีกครั้งในปี 2508 พร้อมทั้งเปลี่ยนวันจัดงาน เป็นวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคม เพราะหมดช่วงฤดูฝนและเป็นวันหยุดราชการ 

เริ่มคำขวัญวันเด็ก

คำขวัญวันเด็กที่นายกรัฐมนตรีมอบให้ เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติของทุกปี จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมา ตั้งแต่ยุค จอมพล ป. มาจนถึงยุคนายกฯ "เศรษฐา ทวีสิน" ซึ่งได้มอบคำขวัญวันเด็กประจำปี 2567 ว่า "มองโลกกว้าง คิดสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย"

คำขวัญของนายกฯ ตั้งแต่ปี 2499 - 2567  

จอมล ป.(แปลก) พิบูลสงคราม 

     2499  "จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม" 

จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ 

     2502  ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า "จงเป็นเด็กที่รักความก้าวหน้า"

     2503  ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า "จงเป็นเด็กที่รักความสะอาด"

     2504  ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า "จงเป็นเด็กที่อยู่ในระเบียบวินัย"

     2505  ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า "จงเป็นเด็กที่ประหยัด"

     2506  ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า "จงเป็นเด็กที่มีความขยันหมั่นเพียรมากที่สุด"

จอมพล ถนอม กิตติขจร 

     2508  "เด็กจะเจริญต้องรักเรียนเพียรทำดี"

     2509  "เด็กที่ดีต้องมีสัมมาคารวะ มานะ บากบั่น สมานสามัคคี"

     2510  "อนาคตของชาติจะสุกใส หากเด็กไทยแข็งแรง เรียนดี มีความประพฤติเรียบร้อย"

     2511  "ความเจริญและความมั่นคงของชาติไทยในอนาคต ขึ้นอยู่กับเด็กที่มีวินัย มีความเฉลียวฉลาด รักชาติยิ่ง"

     2512  "รู้เรียน รู้เล่น รู้สามัคคี เป็นความดีที่เด็กพึงจำ"

     2513  "เด็กประพฤติดีและศึกษาดี ทำให้มีอนาคตแจ่มใส"

     2514  "ยามเด็กจงหมั่นเรียนเพียรกระทำดี เติบใหญ่จะได้มีความสุขความเจริญ"

     2515  "เยาวชนฝึกตนดี มีความสามารถ"

     2516  "เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ"

นายสัญญา ธรรมศักดิ์

     2517  "สามัคคีคือพลัง"

     2518  "เด็กดีคือทายาทของชาติไทย ต้องร่วมใจร่วมพลังสร้างความสามัคคี"

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

     2519  "เด็กที่ต้องการเห็นอนาคตของชาติรุ่งเรือง จะต้องทำตัวให้ดีมีวินัยเสียแต่บัดนี้"

นายธานินทร์ กรัยวิเชียร 

     2520  "รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเยาวชนไทย"

พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ 

     2521  "เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติมั่นคง"

     2522  "เด็กไทยคือหัวใจของชาติ"

     2523  "อดทน ขยัน ประหยัด เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย"

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ 

     2524  "เด็กไทยมีวินัย ใจสัตย์ซื่อ รู้ประหยัด เคร่งครัดคุณธรรม"

     2525  "ขยันศึกษา ใฝ่หาความรู้ เชิดชูชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย"

     2526  "รู้หน้าที่ ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด มีวินัย คุณธรรม"

     2527  "รักวัฒนธรรมไทย"

     2528  "สามัคคี นิยมไทย มีวินัย ใฝ่คุณธรรม"

     2529-2531  "นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม"

     
พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ 

     2532-2533  "รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม"

     2534  "รู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่คุณธรรม นำชาติพัฒนา"

นายอานันท์ ปันยารชุน 

     2535  "สามัคคี มีวินัย ใฝ่ศึกษา จรรยางาม"

นายชวน หลีกภัย 

     2536-2537  "ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม"

     2538  "สืบสานวัฒนธรรมไทย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม"

นายบรรหาร ศิลปอาชา 

     2539  "มุ่งหาความรู้ เชิดชูความเป็นไทย หลีกไกลยาเสพติด"

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ 

     2540  "รู้คุณค่าวัฒนธรรมไทย ตั้งใจใฝ่ศึกษา ไม่พึ่งพายาเสพติด"

นายชวน หลีกภัย 

     2541-2542  "ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย"

     2543-2544  "มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย"

     
นายทักษิณ ชินวัตร

     2545  "เรียนให้สนุก เล่นให้มีความรู้ สู่อนาคตที่สดใส"

     2546  "เรียนรู้ตลอดชีวิต คิดอย่างสร้างสรรค์ ก้าวทันเทคโนโลยี"

     2547  "รักชาติ รักพ่อแม่ รักเรียน รักสิ่งดีๆ อนาคตดีแน่นอน"

     2548  "เด็กรุ่นใหม่ ต้องขยันอ่าน ขยันเรียน กล้าคิด กล้าพูด"

     2549  "อยากฉลาด ต้องขยันอ่าน ขยันคิด" 

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ 

     2550  "มีคุณธรรมนำใจ ใช้ชีวิตพอเพียง หลีกเลี่ยงอบายมุข"

     2551  "สามัคคี มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ เชิดชูคุณธรรม"

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 

     2558  "ความรู้ คู่คุณธรรม นำสู่อนาคต"

     2559  "เด็กดี หมั่นเพียร เรียนรู้ สู่อนาคต"

     2560  "เด็กไทย ใส่ใจศึกษา พาชาติมั่นคง"

     2561  "รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี"

     2562  "เด็ก เยาวชน จิตอาสา ร่วมพัฒนาชาติ"

     2563  "เด็กไทยยุคใหม่ รู้รักสามัคคี รู้หน้าที่พลเมืองไทย"

     2564  "เด็กไทยวิถีใหม่ รวมไทยสร้างชาติ ด้วยภักดีมีคุณธรรม"

     2565  "รู้คิด รอบคอบ รับผิดชอบต่อสังคม"

     2566  "รู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่ความดี"

นายเศรษฐา ทวีสิน   

     2567  "มองโลกกว้าง คิดสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย"

คำที่ใช้ซ้ำมากที่สุด  

  1. ชาติ 19 ครั้ง
  2. วินัย - การเรียน 18 ครั้ง
  3. คุณธรรม 16 ครั้ง   
  4. ขยัน 11 ครั้ง
  5. สามัคคี 10 ครั้ง
  6. ประหยัด - ซื่อสัตย์ 9 ครั้ง  
  7. ประชาธิปไตย 5 ครั้ง 

ทั้งนี้ มีนักวิชาการได้ตีความจากการใช้คำซ้ำ เป็นเพราะว่า ประเทศไทยไม่สามารถพัฒนาเด็กตามที่วางเป้าหมายไว้ได้ จึงมักใช้คำเหล่านี้เพื่อปลูกฝั่งค่านิยมซ้ำๆและคาดหวังว่าจะสามารถทำให้เด็กๆพัฒนาได้ตามคำขวัญวันเด็กแต่ละปี 
 
ไม่ได้หมายถึงความล้มเหลวในการแต่งคำขวัญแต่ละปี แต่หมายถึงยังมีเด็กๆในประเทศอีกมากขาดโอกาสในการเรียนรู้ ขาดวินัย คุณธรรม ไม่มีความสามัคคี ซื่อสัตย์ หรือแม้แต่ยังไม่เข้าใจคำว่าประชาธิปไตย  

วัน "World Children's Day" ทั่วโลกเขาทำอะไร

แคนาดา มีวันพา สส. ไปโรงเรียน ซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญของวันเด็ก โดย สส. จะต้องเยี่ยมโรงเรียนในพื้นที่ตัวเอง 1 ชั่วโมง เพื่อเปิดโอกาสให้ สส. ได้พูดคุย แลกเปลี่ยน เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ให้เด็กมีส่วนในการเสนอปัญหาและวิธีแก้ไข เห็นเด็กเป็นเสียงสำคัญ และให้สิทธิเท่าเทียม ไม่ดูแคลนความคิดของเด็ก

เยอรมนี ใช้โอกาสวันเด็กรณรงค์เรื่องสิทธิเด็ก เช่น ปี 2017 ใช้ชื่อ "Give Children a Voice" ให้เด็กมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยนำความเห็นของเด็กไปเสนอต่อสภาฯ เพื่อกำหนดเป็นนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม

คำขวัญวันเด็ก สะท้อนความคิดของผู้นำถึงเด็กในแต่ละยุคสมัย แต่ข้อเท็จจริงตามคำขวัญ เกิดขึ้นเป็นนามธรรมหรือไม่ แค่ไหน ? 

logoline