svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"สมศักดิ์" สั่ง "กอนช." บูรณาการแก้ปัญหาน้ำท่วมภาคใต้ คุมไม่ให้รุนแรงขึ้น

27 ธันวาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"สมศักดิ์" สั่ง "กอนช." บูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมภาคใต้ ควบคุมไม่ให้รุนแรงขึ้น พร้อมกำชับ "สทนช." จับตาพื้นที่เสี่ยง-ฝนตกหนัก เร่งซ่อมแนวคันริมน้ำ สำรวจความเสียหาย เพื่อเยียวยาด่วน ขอเฝ้าระวังฝนหนัก วันนี้-31 ธ.ค. พร้อมลงไปดูด้วยตัวเองพรุ่งนี้

27 ธันวาคม 2566 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) โดยมี นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายกิตติกร โล่ห์สุนทร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง, นายวิชัย ไชยมงคล ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี, นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ที่ทำเนียบรัฐบาล

โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า ได้มีการจัดตั้งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เพื่อบูรณาการการแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัยภาคใต้ ซึ่งจะติดตามและกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วม รวมทั้งจะมีการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน เพื่อควบคุมสถานการณ์ไม่ให้ทวีความรุนแรง และเกิดผลกระทบน้อยที่สุด ให้สถานการณ์คลี่คลายกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

“ท่านเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ จึงได้กำชับให้ทุกหน่วยงานเร่งช่วยเหลือ ผมจึงขอมอบแนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัยภาคใต้ เพื่อเร่งบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน โดยให้ สทนช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประเมินสถานการณ์ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และวางแผนบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็วที่สุด

บูรณาการแก้ปัญหาน้ำท่วมภาคใต้

พร้อมกันนี้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานปฏิบัติในพื้นที่ภาคใต้ ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ปรับการบริหารจัดการน้ำ ในแหล่งเก็บกักน้ำทุกขนาด ให้สอดคล้องกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยให้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด รวมถึงให้มีการประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสถานการณ์น้ำและการให้ความช่วยเหลือ” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว และกล่าวต่อ

นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้หน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ระดมกำลังเข้าช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มกำลัง รวมถึงให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และให้จัดเจ้าหน้าที่เข้าทำบัญชีความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง ต่อไป โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์และรายงานผลการดำเนินงาน ให้ฝ่ายเลขานุการฯ กอนช. ทราบทุกวันจันทร์ เพื่อสรุปเสนอต่อคณะรัฐมนตรี

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อ ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันคาดการณ์และประเมินสถานการณ์ เพื่อเตรียมรับมือฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้อีกระลอกในช่วงปลายเดือน ธ.ค.นี้ ด้วย เพราะช่วงวันที่ 27 - 31 ธ.ค.นี้ ภาคใต้ยังคงมีฝนตกหนักบางพื้นที่ และจากการติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำพื้นที่ภาคใต้ พบว่า มีอ่างฯขนาดกลางที่ต้องเฝ้าระวังน้ำมาก รวม 19 แห่ง โดยเป็นอ่างฯ ที่มีปริมาณน้ำเกินความจุ 100% จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ อ่างฯคลองแห้ง จ.กระบี่ และอ่างฯคลองหลา จ.สงขลา และเป็นอ่างฯ ที่มีปริมาณน้ำ 80-100% ของความจุ จำนวน 17 แห่ง

สมศักดิ์ นั่งหัวโต๊ะประชุมแก้ปัญหา น้ำท่วมภาคใต้

ปัจจุบันมีพื้นที่ประสบอุทกภัยในภาคใต้ รวม 24 อำเภอ ใน 5 จังหวัด ได้แก่ จ.สตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ จัดกำลังพลให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อุทกภัย พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์สถานการณ์ฝนตกหนัก แจ้งเตือนให้ประชาชนเตรียมรับสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งและเตรียมขนของขึ้นที่สูง

ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ กอนช. จะบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อเร่งคลี่คลายอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด โดยวันที่ 28 ธ.ค.นี้ ตนจะลงพื้นที่จังหวัดยะลา-ปัตตานี เพื่อติดตามสถานการณ์ และมอบถุงยังชีพให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยด้วย พร้อมฝากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมพร้อมในช่วงวันหยุดยาวด้วย เพื่อที่จะได้สามารถเข้าช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ทัน

รัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี

ขณะที่ นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้​ กระทรวงพลังงาน, กระทรวงการคลัง, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวง​กลาโหม และกระทรวงมหาดไทย​ ได้ระดมกำลัง นำเครื่องอุปโภคบริโภคลงไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย ทั้งมอบอาหาร น้ำดื่ม และของใช้จำเป็นให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีความห่วงใยครอบครัวพี่น้องประชาชน และกลุ่มเปราะบางที่มีเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ​ ได้สั่งการทุกหน่วยงานสังกัดในพื้นที่เข้าช่วยเหลือพี่น้องประชาชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนโดยเร็วที่สุด รวมถึงหลังสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ทางกระทรวง พม.จะเข้าไปเยียวยา ทั้งการให้คำแนะนำ การซ่อมแซมบ้านเรือน 

 

“ทั้งนายกรัฐมนตรี และรัฐบาล มีความเป็นห่วงประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาก และได้ลงพื้นที่เมื่อวานนี้ เพื่อติดตามสถานการณ์ด้วยตัวเอง อีกทั้งกำชับเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอให้ดูแลประชาชนที่เดือดร้อนให้ดี ขอเป็นกำลังใจให้พี่น้องชาวใต้​ทุกคน” รองรัดเกล้าฯ​ กล่าว

logoline