svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"คุมขังนอกเรือนจำ" สมศักดิ์ ตอบชัด "ทักษิณ" เข้าเกณฑ์ เพราะเหตุผลนี้

20 ธันวาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"สมศักดิ์" แจงยิบ ปัดเกี่ยวข้องระเบียบราชทัณฑ์คุมขังนอกเรื่องจำ เหตุออกมาตั้งแต่ปี 60 ก่อนรับตำแหน่งรัฐมนตรี ยืนยันไม่ได้ใช้ข้อมูลนี้ต่อรองเข้าเพื่อไทย ยอมรับ "ทักษิณ" เข้าเกณฑ์ เพราะไม่ใช่นักโทษอุกฉกรรจ์

20 ธันวาคม 2566 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงยุติธรรม ชี้แจงภายหลังมีชื่อของตนเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับระเบียบของกรมราชทัณฑ์เรื่องการคุมขังนอกเรือนจำ ว่า เป็นระเบียบที่ออกมาตั้งแต่ปี 2560 ก่อนที่ตนเองจะรับตำแหน่งรัฐมนตรี และในปี 2562 ที่ตนเป็น รมว.ยุติธรรม มีการออกกฎกระทรวงในมาตรา 33 พ.ร.บ.ราชทันฑ์ปี 2560 เรื่องการจำแนกผู้ต้องขัง โดยดูเรื่องพฤติกรรมผู้ต้องขัง จนถึงการรักษาพยาบาล ตลอดจนการเตรียมความพร้อมปล่อยตัวในปี 2563

ต่อมามีอดีตข้าราชการและคณะกรรมการสิทธิฯ หารือขอให้มีที่คุมขังนอกเรือนจำกับผู้ต้องขัง หรือผู้ที่ถูกกล่าวหาที่ไม่ควรจะเข้าไปอยู่ในเรือนจำ ซึ่งส่วนตัวเห็นด้วยจึงได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงยุติธรรมและคณะทำงานดำเนินการเรื่องนี้ แต่ยังไม่แล้วเสร็จตนก็ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีก่อน

สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงยุติธรรม

ซึ่งระเบียบราชทัณฑ์ก็ได้ออกตามมาไม่นานนี้ และมีการพาดพิงถึงตนว่า มีการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ต้องขังรายใดรายหนึ่งหรือไม่ พร้อมยืนยันว่า กระบวนดังกล่าวเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมสากล การกำหนดสถานที่คุมขังอื่นที่ไม่ใช่เรือนจำ จึงเป็นเรื่องที่ประเทศสากลดำเนินการ และกฎหมายให้สามารถดำเนินการได้ ตามเกณฑ์จำแนกผู้ต้องขัง 

ส่วนนายทักษิณ จะเข้าเกณฑ์ระเบียบกรมราชทัณฑ์ดังกล่าวหรือไม่นั้น นายสมศักดิ์ มองว่า เข้าเกณฑ์ เพราะโทษไม่เกิน 4 ปี และไม่ได้เป็นบุคคลที่อยู่ในข่ายอันตรายของสังคม ไม่ได้เป็นนักโทษฆ่า ข่มขืน ดังนั้น ในระบบสากล จึงสามารถอยู่ในที่คุมขังได้ และมีอัตราโทษเหลือน้อยมาก 

ยันไม่ได้ออกระเบียบต่อรองกลับเข้าเพื่อไทย

นายสมศักดิ์ ยังชี้แจงกรณีที่มีการตั้งข้อสงสัยที่ได้ย้ายกลับพรรคเพื่อไทย เพราะการดำเนินการระเบียบฉบับนี้ โดยปฏิเสธว่า ไม่ใช่ หากต้องการจะกลับเข้าพรรคเพื่อไทยจริง คงจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นตั้งแต่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีแล้ว และต้องการให้เป็นไปตามครรลอง ที่มีผู้เห็นความไม่เป็นธรรมในระบบสากล แต่กลับไปเข้าทางของคนที่มีโทษน้อย และไม่ได้เป็นอันตรายต่อสังคม เป็นบุคคลที่เป็นประโยชน์กับสังคม จึงเป็นโอกาสของประเทศ และโชคดีที่มีกรณีสำคัญนี้ ทำให้ประชาชนสนใจ

ส่วนกรณีที่มีการตั้งคำถามถึงระเบียบกรมราชทัณฑ์ใหญ่กว่าคำพิพากษาของศาลหรือไม่นั้น นายสมศักดิ์ ยืนยันว่า ระเบียบดังกล่าวไม่ได้มีอำนาจใหญ่กว่าศาล เพราะการบริหารโทษนั้น มี 5 ประเภทได้แก่ ริบทรัพย์ ปรับ กักขัง จำคุก และประหาร แต่กรมราชทัณฑ์มีเพียงการบริหารโทษจำคุก และประหาร แต่การจำคุกไม่ได้บริหารเฉพาะในเรือนจำเท่านั้น เพราะที่ตนได้ดำเนินการไว้ ครอบคลุมถึงการบริหารโทษ การรักษาพยายาม และการรักษาก่อนปล่อย รวมถึงสถานที่คุมขังด้วย ซึ่งเท่าที่ทราบจะมีนักโทษที่น้อยกว่า 4 ปี เข้าเกณฑ์กว่า 10,000 คน แต่เพียงเหตุการณ์ของนายทักษิณนั้น เกิดมาพ้องต้องกัน และเป็นโอกาสดีที่จะนำกรณีดังกล่าวนี้ มาอธิบายต่อสาธารณะ เพราะเป็นบุคคล VIP และประชาชนให้ความสนใจติดตาม แต่ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการดำเนินการเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ใครเป็นการเฉพาะ

 

นักโทษรักษาที่โรงพยาบาลเป็นดุลพินิจแพทย์

นายสมศักดิ์ ยังกล่าวถึงระยะเวลาการรักษาตัวที่โรงพยาบาลของนักโทษว่า ระยะเวลาการรักษาตัวในโรงพยาบาล จะต้องพิจารณาตามความเห็นของแพทย์ และเป็นอำนาจของผู้บัญชาการเรือนจำ ปลัดกระทรวง และรัฐมนตรีตามขั้นตอน และเมื่อพิจารณาตามความเห็นของแพทย์แล้ว ก็พบว่า เป็นเรื่องธรรมดา และในกรณีลักษณะนี้ ในเดือนธันวาคม มีผู้ที่ต้องพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลมากกว่า 30 วันขึ้นไป เกือบ 150 คน ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาก็มีจำนวนมาก แต่ไม่ได้ปิดเผย แต่นายทักษิณ เป็นบุคคลสาธารณะที่สังคมจับจ้อง จึงเป็นข่าว และถือเป็นเรื่องที่ดีมาก เพื่อจะได้ทำความเข้าใจกับสาธารณะ 

ส่วนกรณีที่นายทักษิณเมื่ออยู่ต่างประเทศมีสุขภาพแข็งแรงมาก แต่เมื่อกลับถึงไทยจะเข้าเรือนจำแล้วกลับป่วยหนักนั้น นายสมศักดิ์ เห็นว่า ผู้สื่อข่าวไม่เคยถูกจำคุก จึงควรต้องไปลองสัก 2-3 วัน ก็จะทราบว่า ชีวิตจะเครียด เพราะเสียอิสรภาพ สูญเสียสิ่งต่าง ๆ ที่เคยมี จึงต้องลองเข้าสัก 1-2 คืน ก็จะนอนไม่หลับ คนอายุมากความดันขึ้น ป่วย และเป็นความเสี่ยง ผู้บัญชาการเรือนจำ หรืออธิบดี จึงนำไปกักขังในพื้นที่ที่ตนดูแล เพื่อความปลอดภัยของผู้ต้องขัง และผู้ที่ไม่เคยติดคุก จะต้องไปลองสัก 1-2 คืน ก็จะทราบว่า ทำให้เกิดความเครียด และเป็นต้นเหตุของโรคต่าง ๆ ฉะนั้น เมื่อมีระเบียบตามกฎหมายแล้ว ก็ควรดำเนินการให้ครบถ้วน 

ส่วนกรณีที่นายทักษิณ พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลใกล้ครบ 120 วันแล้ว มีเพียงสภาวะเครียดอย่างเดียวหรือไม่นั้น นายสมศักดิ์ ย้ำว่า โรคเครียด เป็นต้นเหตุของโรคอื่น ๆ เช่น ความดัน เบาหวาน และจะนอนไม่หลับ เมื่อนอนไม่พอแล้ว ก็จะป่วยโรคอื่น ๆ ต่ออย่างภูมิแพ้ รวมถึงยังมีฝุ่น PM2.5 ด้วย ซึ่งบางวันก็ทำให้ไอ ก็มีโอกาสเป็นไปได้ เพราะปัจจุบัน โรคภัยไข้เจ็บมาก และยิ่งผู้ที่อยู่ในเรือนจำด้วย จึงน่าเห็นใจ 

นายสมศักดิ์ ยังย้ำถึงสาเหตุโรคเครียดของนายทักษิณใช่หรือไม่ที่ยังคงทำให้ต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลว่า ไม่สามารถถามเช่นนั้นได้ เพราะเพียงยกตัวอย่างว่า โรคเครียด เป็นเหตุให้เกิดโรคอื่น ๆ ได้มากมายตามหลักวิชการ

ส่วนจะมีโอกาสเปิดเผยโรคของนายทักษิณหรือไม่นั้น นายสมศักดิ์ ชี้แจงว่า เป็นหน้าที่ของราชทัณฑ์

สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

“บิ๊กทิน” ย้ำเพื่อไทยไม่ได้ให้สิทธิพิเศษ “ทักษิณ”

ด้านนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้มีอะไรที่ไปเกี่ยวข้อง หรือไปสนับสนุน หรือไปจัดสิทธิพิเศษให้กับนายทักษิณ

"นายทักษิณเป็นเพียงบุคคลหนึ่งซึ่งเคยก่อตั้งพรรคไทยรักไทย เป็นความผูกพันในเชิงประวัติศาสตร์ในเชิงส่วนตัว แต่คงไม่เอารัฐบาลไปเกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นใครที่จะโยงเข้าหากัน ผมเชื่อว่ารัฐบาลอธิบายได้ เมื่ออธิบายได้ก็ไม่กระทบ"

ทั้งนี้สิ่งที่ทำเป็นมาตรการ และระบบของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ที่ได้ดำเนินการตามระบบ ไม่ได้มีเพียงนายทักษิณคนเดียว ซึ่งระบบนี้ให้ความเป็นธรรมทุกคน

 

ชี้ไม่ได้เป็นโมเดลให้ “ยิ่งลักษณ์” เดินตาม

ส่วนจะเป็นการสร้างโมเดลเพื่อปูทางให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางกลับมาหรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า เรื่อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังไม่มีประเด็นอย่างนี้เข้ามา จะมาหรือไม่ยังไม่รู้เลย

เมื่อถามว่า หากมี พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะครอบคลุม น.ส.ยิ่งลักษณ์ หรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า ยังไม่รู้ว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะออกมาเป็นอย่างไร ยังไม่รู้ว่าครอบคลุมถึงใครบ้าง และยังไม่รู้ว่าเขาเสนอกฎหมายอย่างไร ยังไม่เห็นร่าง และจะผ่านขั้นตอนทางสภาหรือไม่ ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าใครจะได้ประโยชน์บ้าง

วัชระ ยื่นหนังสือด่วนที่สุด ระงับ "ทักษิณ" ไปคุมขังนอกเรือนจำ

ยื่นหนังสือด่วนที่สุด ระงับ นช.ทักษิณไปคุมขังนอกเรือนจำ

ขณะเดียวกันวันนี้ (20 ธ.ค.) นายวัชระ เพชรทอง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ได้ส่งหนังสือถึง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอให้ระงับยับยั้งการที่จะส่งตัว นช.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษไปคุมขังนอกเรือนจำและขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนลงโทษข้าราชการกรมราชทัณฑ์

โดยในหนังสือมีรายละเอียดว่า ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่า นช.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษคดีทุจริตซึ่งขณะนี้ไปรักษาตัวนอกเรือนจำที่โรงพยาบาลตำรวจตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2566 จนถึงปัจจุบันไม่มีอาการเจ็บป่วยจริง มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ นั่งดื่มไวน์ และมีข่าวว่าไม่ได้พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจตลอดเวลานั้น

บัดนี้ครบกำหนดเวลา 120 วัน  คือในวันนี้หากผู้ต้องขังต้องพักรักษาตัวสถานที่รักษาผู้ต้องขังเกินกว่า 120 วัน ตามกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ข้อ 7 (3) ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพต้องมีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี พร้อมกับความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และรายงานให้รัฐมนตรีทราบ

อึ้ง! "ทักษิณ" ไม่ได้กรอกทะเบียนประวัตินักโทษแม้แต่บรรทัดเดียว

ผมขอคัดค้านและให้กระทรวงยุติธรรมพิจารณาดำเนินการ ดังนี้

1. ปฏิบัติตามวิสัยทัศน์ “อำนวยความยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม” และพันธกิจ ข้อ 3 “เพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายและพัฒนากระบวนการยุติธรรม” แต่ยุคท่านทวี สอดส่อง ยิ่งเหลื่อมล่ำไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายแต่ประการใด กลับหย่อนยานและเอื้อประโยชน์ให้ นช.ทักษิณ ชินวัตร

2. นช.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหมายเลข 6650102668 ไม่ได้กรอกแบบประวัติ ร.ท.101 แบบประวัตินักโทษ จำนวน 4 หน้า ในฐานข้อมูลแม้แต่บรรทัดเดียว ไม่ลงรายละเอียดเหมือนนักโทษทั้ง 4 แสนราย นช.ทักษิณ ไม่ได้ให้ข้อมูล เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยก็ไม่กล้าถามยังไม่ได้สอบประวัติ ไม่ได้ทำตามขั้นตอนแต่ประการใดจึงขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เจ้าพนักงานทะเบียนเรือนจำพิเศษกรุงเทพ (ขอให้กันข้าราชการชั้นผู้น้อยไว้เป็นพยาน)

3. ขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้าราชการกรมราชทัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ที่ทำรายงานเท็จและช่วยเหลือ นช.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษไม่ต้องจำคุกอยู่ในเรือนจำแต่อ้างว่าไปรักษาพยาบาลนอกเรือนจำ (ขอให้กันข้าราชการชั้นผู้น้อยไว้เป็นพยาน)

4. ขอสำเนารายชื่อพัศดีทั้งหมดพร้อมลายเซ็นและภาพถ่ายตามที่นายนัทที ทองปลาด ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพซึ่งได้ให้ถ้อยคำกับคณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2566 ว่ามีภาพถ่าย นช.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษที่ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจทุก 2 ชั่วโมง ขอให้เปิดเผยภาพถ่ายและให้ระงับยับยั้งการที่จะส่งตัว นช.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษไปคุมขังนอกเรือนจำเพราะมีการทำรายงานเท็จมาตั้งแต่ต้น

5. ขอให้เปิดเผยรายงานกรมราชทัณฑ์ที่รายงานถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและภาพถ่าย นช.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษพักรักษาตัวอยู่นอกเรือนจำครบ 120 วันเพื่อเปิดเผยให้ประชาชนทราบด้วย

 

logoline